บทคัดย่อ "ดีเบต" รธน.40 VS รธน. 50 : จรัญ-เจิมศักดิ์-สมคิด VS นิธิ-จาตุรนต์-วรเจตน์

 

 

ประชาไท - 4 ส.ค. 50 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. เวลา 9.00น. มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายประชาชนตรวจสอบการเลือกตั้ง (พีเน็ต) เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) จัดเวทีดีเบต (การประชันความคิด) จุดเด่น-ข้อด้อยของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ณ หอประชุม บ้านมนังคศิลา โดยได้รับความร่วมมือในการถ่ายทอดสด ผ่านทางเนชั่นแชนแนล และเว็บไซต์ประชาไท

 

เวทีครั้งนี้ มีตัวแทนเข้าร่วมการประชันความคิดจากฝ่ายสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และจากฝ่ายนักวิชาการ โดยแบ่งการประชันความคิดออกเป็นคู่ๆ ดังนี้

 

คู่ที่ 1: นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม และรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กับ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

คู่ที่ 2: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกและประธานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ของ ส.ส.ร. กับ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

 

คู่ที่ 3: ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ส.ส.ร.และเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กับ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

รายการทั้งหมด แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงที่ 1-3 ให้แต่ละคู่อภิปรายคนละ 20 นาที จากนั้นให้ตอบคำถามคนละ 5 นาที หากพูดเกินเวลาที่กำหนด จะมีตุ๊กตาไปยืนเตือนข้างๆ และในช่วงสุดท้าย เป็นช่วงสรุปประเด็น โดยแต่ละฝ่ายเลือกตัวแทนเพื่อสรุป

 

ก่อนจะเริ่มการอภิปรายในแต่ละคู่ จะมีการจับฉลากสีเขียวและสีแดงว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายเริ่มอภิปรายก่อน ซึ่งฝ่ายที่อภิปรายก่อนจะได้สิทธิตอบคำถามทีหลัง ทั้งนี้เมื่อ ผลการจับฉลากออกมา ปรากฏว่าในทั้ง 3 คู่ ฝ่าย ส...เป็นฝ่ายเริ่มอภิปรายก่อนทั้งสิ้น

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงาน มีพริตตี้ในชุดสีเขียว แจกสติ๊กเกอร์ "19 สิงหาคม ไฟเขียวรัฐธรรมนูญ 2550" และมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจกกระดาษให้ถามคำถาม โดยแจ้งว่า ให้ผู้ที่เข้าร่วมถามคำถามได้ แต่ว่าทุกๆ คำถามจะถูกนำไปสกรีนก่อนจะขึ้นเวที ขณะที่เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ก็มาแจกโปสเตอร์ไม่รับรัฐธรรมนูญที่หน้างาน

 

 

 

พริตตี้ในชุดสีเขียว แจกสติ๊กเกอร์ "19 สิงหาคม ไฟเขียวรัฐธรรมนูญ 2550" ขณะที่เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ก็มาแจกโปสเตอร์ไม่รับรัฐธรรมนูญ

 

นายจรัญ ภักดีธนากุล สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเริ่มต้นว่า การจัดทำรัฐธรรนูญ ไม่มีทางที่จะได้ของที่สมบูรณ์ 100% หาที่ติมิได้ ซึ่งเขาอธิบายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไว้สองประเด็น คือ เรื่องกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเนื้อหาสาระ

 

นายจรัญกล่าวถึงกระบวนการจัดทำว่า แม้การเริ่มต้นจะไม่สวย เพราะมาจากการอภิวัฒน์รัฐประหาร แต่นี่เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ทั้ง กมธ.ยกร่าง และ ส.ส.ร. ก็ไม่ได้ทำงานตามบงการของใคร แต่มีวิธีที่วิ่งเข้าหาประชาชน

 

ในด้านของเนื้อหาสาระ นายจรัญกล่าวได้นำเอารัฐธรรมนูญ 2540 มาพิจารณาจุดดีจุดด้อยแล้วแก้ไขต่อยอด ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังขอความเห็นชอบจากประชาชนอยู่นี้ จึงไม่ใช่ของอะไรที่ ส.ส.ร.คิดขึ้นมาเอง แต่มีฐานที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 นั่นเอง

 

นายจรัญกล่าวถึงข้อด้อยในฉบับ 2540 ซึ่งก็ได้ปรับปรุงลงในร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไปแล้วนั้นว่า ได้แก่เรื่องรัฐบาลเข้มแข็งจนไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งแก้ไขในเรื่องสัดส่วนส.ส.ที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระถูกแทรกแซงจากการเมือง ซึ่งแก้ไขโดยการจัดสัดส่วนของคณะกรรมการสรรหาใหม่ให้มีที่มาจากองค์กรที่อิสระและเป็นกลาง นั่นคือ ศาล และประเด็นสุดท้าย คือ เรื่องที่รัฐธรรมนูญ 2540 ไม่เน้น คือเรื่องจริยธรรมและคุณธรรมของคนทำงานให้แผ่นดิน ซึ่งแก้ไขโดยนำเอาเรื่องจริยธรรมและคุณธรรมมากำกับผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งระบบ

 

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญ 40 ได้แก้ปัญหาการเมืองก่อนหน้านั้น ด้วยการสร้างคุณภาพของรัฐสภา ทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง เพื่อจะใช้กลไกของรัฐหรือระบบราชการได้สะดวกขึ้น สร้างกลไกตรวจสอบทั้งในระบบและจากภาคสังคม และระวังไม่ให้ทุนเข้ามาครอบงำทางการเมือง แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่เพียงพอ โดยก่อนรัฐประหาร 19 กันยา 49 ทุกฝ่ายก็ยอมรับข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 40 แม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเองก็ยอมรับว่า หลังเลือกตั้งจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะโดยความจริงใจหรือเพราะโดนกดดันก็ตาม แต่ทุกฝ่ายยอมรับว่าจะต้องแก้

 

แต่เมื่อมีการรัฐประหารและตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โจทย์ในการร่างรัฐธรรมนูญกลับเหลือเพียงเรื่องของรัฐบาลที่เข้มแข็งเกินไปจะทำให้เกิดการใช้อำนาจที่ในทางฉ้อฉล ซ้ำยังดึงเอาเพียงประสบการณ์ เฉพาะของชนชั้นกลางในเมืองเท่านั้นมาตอบปัญหา ไม่ได้มองประสบการณ์ทางการเมืองของชนชั้นล่างซึ่งมีปัญหาทางการเมืองที่เผชิญอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 40 เหมือนกัน เพราะไปด่วนสรุปเสียก่อนว่า ชนชั้นล่างซื้อสิทธิขายเสียงเพียงอย่างเดียว

 

ส่วนคำตอบของโจทย์รัฐธรรมนูญ 50 คือ ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอในทางการเมือง มีรัฐบาลผสมหลายพรรค เช่นเดียวกับสภาพการเมืองไทยก่อนหน้าที่จะใช้รัฐธรรมนูญ 40 การเมืองในระบบกลับไปสู่การฮั้วกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถ้าเมื่อไหร่ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ เมื่อนั้นระบบราชการจะคุมตัวนักการเมืองหรือระบบการเมืองแทนเสมอ

 

ยิ่งไปกว่านี้ในรัฐธรรมนูญ 50 ไปยกอำนาจในการเลือกสรรคณะกรรมการองค์กรอิสระทั้งหลายให้ฝ่ายตุลาการไว้ค่อนข้างมาก ซึ่งจะทำให้มีการก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจอธิปไตยระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นอันตรายกับฝ่ายตุลาการเองในระยะยาว

 

ทั้งนี้ การตรวจสอบฝ่ายบริหารที่จะมีพลังที่สุด คือ สังคม ซึ่งจะตรวจสอบได้เมื่อมีสิทธิเสรีภาพ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ให้ไว้มากมาย อาจจะยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 40 หรือ สอง คือ ต้องมีบทบาทในทางการเมือง สิทธิเสรีภาพที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ เมื่อไม่ได้ใช้ประสบการณ์ชาวบ้าน จึงมองไม่เห็นว่าสิทธิเสรีภาพหลายอย่างที่ให้ไว้ในรัฐธรรมนูญ 40 และขยายในรัฐธรรมนูญ 50 เป็นสิ่งที่มีในกระดาษ ร้ายไปกว่านั้น กฎหมายที่เสนอโผล่เข้าไปในสภา ถูกเรียงคิวไว้ท้ายสุด ดองไปจนหมดวาระ คิดว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนาดี แต่ไม่ได้ใช้ประสบการณ์จริงของชาวบ้านมาศึกษาว่าจะขยายสิทธิเสรีภาพนั้นยังไง

 

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 50 ยังไม่ได้ให้บทบาททางการเมืองกับชาวบ้านมากนัก เช่น การเปิดเผยผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการของรัฐให้ประชาชนรู้ ไม่ให้สิทธิในการยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นี่คือบทบาททางการเมืองซึ่งรัฐธรรมนูญ 40 ก็ไม่ได้ให้ และฉบับนี้ก็ไม่ได้ให้

 

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า นอกจากร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องคิดถึงร่าง พ.ร.บ. อีก 4 ฉบับที่ผ่าน ครม. ไปแล้วและกำลังจะเข้า สนช. ซึ่งทั้ง 4 ฉบับนั้นมีผลในการทำลายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 50 หมด ไม่ว่าเรื่องของการกระจายอำนาจการปกครอง หรือสิทธิเสรีภาพ เป็นการยกเว้นกฎหมายรัฐธรรมนูญเอาไว้ก่อนด้วยกฎหมายเล็กๆ 4 ฉบับ เช่น กฎหมายว่าด้วยร่างระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นต้น

 

"ผมไม่เชื่อว่า การเมืองจะสงบได้ ถ้าคุณผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะว่าจะมีคนจำนวนหลายล้านคนที่ออกมาลงประชามติ และไม่ได้ออกมาลงประชามติ ที่เห็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ชอบธรรม คุณไม่สามารถมีการเมืองที่สงบโดยมีประชาชนเป็นหลายล้านคนรู้สึกว่า รัฐบาลไม่ชอบธรรม สภาก็ไม่ชอบธรรม ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ชอบธรรม ไอ้นั่นไอ้นี่ก็ไม่ชอบธรรมหมด เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น ผมคิดว่า จำเป็นจะต้องไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อทำให้ คมช.และรัฐบาลหันไปเลือกรัฐธรรมนูญที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ รัฐธรรมนูญปี 40"

 

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า ขึ้นอยู่กับการให้น้ำหนักใน 3 ส่วน คือ หนึ่ง ส่วนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ที่จะช่วยประเทศในอนาคตได้อย่างไร ส่วนที่สองคือกระบวนการจัดทำที่คิดเอาเองหรือได้รับฟังความเห็นของประชาชนกว้างขวางแค่ไหน และสามที่มาของการร่างว่ามาจากการรัฐประหาร หรือมาจากกระบวนการอย่างไร โดยแสดงความเห็นว่าแต่ละท่านที่พูดที่ร่วมพูดคุยมีการให้น้ำหนักไม่เหมือนกัน แต่โดยส่วนตัวนั้นให้ความสำคัญกับเนื้อหา 50 เปอร์เซ็นต์ กระบวนการจัดทำ 35 เปอร์เซ็นต์ และให้ที่มา 15 เปอร์เซ็นต์

 

"ถามผม ถ้าถอยหลังไปได้ก็จะให้น้ำหนักกับที่มา แต่เมื่อวันนี้ย้อนถอยหลังไม่ได้ เมืองไทยมีรัฐประหารอยู่แล้ว และต้องเดินหน้ากันต่อไป การให้น้ำหนักที่มาจึงลดลงจากเดิมเพราะเงื่อนไขไม่เหมือนเดิม" ดร.เจิมศักดิ์กล่าว

 

ในการอภิปราย ดร.เจิมศักดิ์ในฐานะกรรมาธิการประสานการมีส่วนร่วมและประชามติ และอยู่ฝ่ายสนับสนุนการรณรงค์รับร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยมีส่วนร่วมในสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 40 รัฐธรรมนูญปี 50 นี้เป็นการเก็บเอาสิ่งดีๆ ในรัฐธรรมนูญปี 40 เอาไว้พร้อมแก้ไขสิ่งบกพร่องไม่ว่าจะเป็น

การลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชนชนโดยการให้มีองค์กรอิสระตรวจสอบการทำงานของรัฐตลอดจนการลดจำนวนผู้ที่จะร่วมลงชื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีลงจากตำแหน่ง การห้ามย้ายพรรคยกเข่ง การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพต่างๆ และการกำหนดคุณลักษณะของ ส.ว.ที่กล่าวว่าเป็นการพยายามยกระดับวุฒิสภา ให้เป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเรื่องการเพิ่มอำนาจประชาชน ในเรื่องมีสิทธิที่จะนำเสนอกฎหมาย การเรียนฟรี ตั้งแต่ ชั้นม. 1 - ม. 6 การรักษาสุขภาพฟรี และกรณีการเจรจาการค้าเอฟทีเอ ที่ประชาชนควรมีสิทธิรับรู้อย่างเข้าใจ

 

"รัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 309 มาตรา ถามผมว่าผมชอบทุกมาตราไหม ผมไม่ชอบอยู่ประมาณ 30 กว่ามาตรา แต่ถามว่าผมจะรับร่างรับธรรมนูญฉบับนี้ไหม วันที่ 19 สิงหาคม ผมจะไปโหวตว่ารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ถูกใจคนทุกมาตรา แต่ต้องดูภาพองค์รวม แล้วดูว่าประเทศไทยจะเดินต่อไปในอนาคต" ดร.เจิมศักดิ์กล่าว

 

 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า การจะมีรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งจะต้องตอบปัญหาสำคัญว่าจะเป็นกฎหมายหลักหรือจะเป็นกฎหมายสูงสุดที่ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนั้นหรือไม่ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือไม่และประชาชนจะใช้อำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นได้อย่างไร การใช้อำนาจต้องมีการแบ่งแยกกันพอสมควร ไม่ใช่ก้าวก่ายแทรกแซงกัน ที่สำคัญในการตรวจสอบต้องเชื่อมโยงกับประชาชน ประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพทางการเมืองในทางที่จะกำหนดการปกครองหรือการบริหารบ้านเมืองได้

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการลงประชามติจึงได้ไปศึกษารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 พบว่ามีปัญหาร้ายแรงมากถึงขั้นว่าไม่น่าเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญได้ด้วยซ้ำ เพราะขาดหลักการสำคัญที่กล่าวมาข้างต้น เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่สร้างเสริมความมั่นคงของระบอบเผด็จการและระบอบอมาตยาธิปไตยอย่างชัดเจน แม้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพมีการเน้นมากขึ้นแต่ยังมีปัญหาในเชิงปฏิบัติ

 

ในรัฐธรรมนูญ 2550 จะทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่สามารถทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทยหรือจะทำได้น้อยมาก เพราะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในลักษณะที่ย้อนกลับไปสู่อดีต ส่วนการตรวจสอบหน่วยราชการก็ทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญนี้บอกว่าห้าม ส.ส. ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ การก้าวก่ายแทรกแซงอาจทำให้พ้นจากตำแหน่งได้ด้วย ส่วนพรรคการเมืองก็จะอ่อนแอลงมากโดยเสนอนโยบายอะไรไม่ได้เนื่องจากนโยบายส่วนใหญ่กำหนดไว้หมดแล้วในแนวนโยบายแห่งรัฐ

 

นายจาตุรนต์ ระบุถึงผู้มีอำนาจที่แท้จริงจากรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า มี 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ คมช. และกลไกกับบุคคลที่ คมช.ตั้งขึ้น กลุ่มสองคือ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งบวกกับศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นโดย ส.ส.ร.โดยทั้งหมดนี้ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเลย และกลุ่มที่สามคือข้าราชการหรือระบบราชการ 

 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 ให้ประธานศาลกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญสรรหา ส.ว.สรรหา 74 คน หรือเกือบครึ่งหากหาเสียง ส.ว.เพิ่มอีกนิดหน่อยก็จะได้เสียงส่วนใหญ่ โดย ส.ว.มีอำนาจในการถอดถอนได้แม้แต่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี แต่ในเมื่อ ส.ว. มาจากศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แล้วจะสามารถไปถอดถอนประธานศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญได้อย่างไร การตรวจสอบกันจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะอำนาจมันไขว้ไปมาและก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจกันมากเกินไปด้วย ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อศาลในระยะยาวเพราะมาเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป

 

อีกบทหนึ่งที่มีปัญหามากคือเรื่องนิรโทษกรรมตัวเอง ถือเป็นเรื่องเสียหายมาก เพราะเมื่อทำอะไรผิดกฎหมายไว้ก็ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การนิรโทษอย่างนี้จึงเท่ากับเป็นการรับรอง ยอมรับการรัฐประหาร

 

โดยสรุปเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาคือไม่เป็นประชาธิปไตย ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีอำนาจ แต่อำนาจจะไปอยู่ที่ผู้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การปกครองแบบนี้ประชาชนจะไม่มีทางเสนอความต้องการและไม่มีใครมารับเอาความต้องการของประชาชนไปแก้ปัญหาประเทศ ยิ่งวิกฤติจะยิ่งลำบากเพราะว่ากลไกที่บริหารปกครองประเทศไม่ต้องฟังประชาชน โดยรวมแล้วรัฐธรรมนูญจึงเป็นส่วนหนึ่งของกลไกอีกหลายอย่างที่จะสร้างเสริมทำให้เกิดความมั่นคงของระบอบเผด็จการ ระบอบอมาตยาธิปไตย ก็คือข้าราชการหรือผู้ที่ไม่มาจากการเลือกตั้งเป็นใหญ่ในการปกครองบริหารประเทศ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

 

ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่พูดกันมากคือมาตรา 309 เป็นการนิรโทษกรรมให้ คมช.หรือไม่ว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีบทบัญญัติใดให้ คมช.เข้ามามีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากคนนอก และนายกรัฐมนตรีหรือคมช. ก็ไม่ได้มีอำนาจแต่งตั้ง ส.ว.แต่ประการใดทั้งสิ้น อีกทั้ง คมช.ต้องพ้นจากตำแหน่งไปเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นโดยเร็วภายในปีนี้ ทั้งหมดนี้จึงไม่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย

 

"มาตรา 309 มีการฟังคนอื่นพูดกันเยอะว่ามาตรานี้เขียนนิรโทษกรรม คมช. ไม่มีครับ มาตรา 309 พูดว่าสิ่งที่ถูกต้องในปี 2549 ให้ถือว่าถูกต้องต่อไป ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ผิดให้ผิดต่อไป ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ผิดขอให้ถูก เขียนว่าสิ่งที่ถูกขอให้ถูกต่อไป ถามว่าเขียนแบบนี้ผิดตรงไหน มีบทบัญญัติตรงไหนบ้างที่นิรโทษกรรม คมช. การนิรโทษกรรมได้หมดสิ้นไปแล้วตามรัฐธรรมนูญปี 49 เพราะรัฐธรรมนูญ 49 ได้นิรโทษกรรม คมช.ไปแล้ว ในทางกฎหมายจึงไม่ต้องนิรโทษกรรม คมช.อีกต่อไป"

 

ดร.สมคิดกล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 40 ฉบับปี 40 มีข้อดีมากมายแต่ก็มีข้อเสียไม่น้อย รัฐธรรมนูญปี 50 ผู้ยกร่างพยายามจะแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้น โดยเฉพาะการสร้างดุลยภาพระหว่างอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ไม่ได้เป็นการลดทอนอำนาจบริหารให้รัฐบาลอ่อนแอและเพิ่มอำนาจให้ตุลาการตามที่กล่าวอ้าง พร้อมกันนี้นายสมคิดได้ยกตัวอย่าง การสร้างดุลยภาพโดยการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายนิติบัญญัติเช่น การลงมติในเรื่องต่างๆ ของส.ส.นั้น ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงมติพรรค ส่วนศาลก็มีการตรวจสอบโดยผู้ตรวจการรัฐสภา

 

ส่วนประเด็นปัญหาที่พูดถึงกันมากเรื่อง ส.ว.ส่วนหนึ่งมาจากการสรรหานั้น ดร.สมคิดยืนยันว่าเป็นรูปแบบที่หลายประเทศที่ปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยใช้กัน เช่น อังกฤษ เบลเยี่ยม เพราะหากให้ ส.ว.ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง ก็จะซ้ำรอยปัญหาเดิม เพราะ ส.ว.มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด

 

นอกจากนี้ดร.สมคิดยังกล่าวถึงข้อเด่นในรัฐธรรมนูญปี 50 ว่า ในเรื่องสิทธิเสรีภาพและอำนาจของประชาชนนั้น รัฐธรรมนูญนี้ทำได้ดีกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนรายชื่อประชาชนในการเสนอกฎหมายและถอดถอนนักการเมืองจาก 50000 เหลือ 20000 รายชื่อ รวมทั้งถอดถอนตุลาการได้ด้วย และยังเป็นครั้งแรกที่บัญญัติให้ประชาชนเข้าชื่อกันแก้รัฐธรรมนูญได้

 

 

รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มีจุดบกพร่องในเรื่องของที่มา กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญมีผลประโยชน์ทับซ้อน และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญขาดเอกภาพ รวมทั้งขัดแย้งต่อหลักความเป็นกฏหมายสูงสุดด้วย

 

เนื่องจาก "ที่มา" ของร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาจากการทำรัฐประหาร นี่จึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มาอย่างถูกต้องชอบธรรม เมื่อศึกษาจากประวัติศาสตร์จะพบว่ารัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาโดยไม่ถูกต้องชอบธรรมนั้น มักก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของเนื้อหาตามมาเสมอ

 

นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 อ้างถึงเรื่องจริยธรรมเอาไว้มาก มีการพูดถึงจริยธรรมของนักการเมือง แต่ไม่ได้พูดถึงจริยธรรมของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งบางส่วนก็มาจากองค์กรที่มีผลประโยชน์โดยตรงจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญบางคนจะกลับมาเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการลงประชามติด้วย

 

ในส่วนของการออกแบบโครงสร้างสถาบันทางการเมือง รศ.ดร.วรเจตน์ แย้งว่าการสรรหาวุฒิสมาชิกในร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งมี 2 ทาง คือ การเลือกตั้ง (76 เสียง) และการแต่งตั้ง (74 เสียง) ไม่ใช่โครงสร้างทางการเมืองที่ถ่วงดุลกันด้วยความเป็นประชาธิปไตย

 

การที่ฝ่ายรับร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า แม้แต่ประเทศอังกฤษก็ยังมี "สภาขุนนาง" ซึ่งมาจากการ "แต่งตั้ง" จึงเป็นการอ้างอิงที่ไม่คำนึงถึงอำนาจของสภาดังกล่าว เพราะสมาชิกสภาขุนนางของอังกฤษจะไม่มีอำนาจถอดถอนนายกฯ ซึ่งเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ของไทย มอบอำนาจให้แก่วุฒิสมาชิกซึ่งมาจากการแต่งตั้ง โดยจะมีบทบาทเทียบเท่ากับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งทุกประการ ทั้งที่ ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งไม่อาจเรียกว่าเป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง เพราะขาดการเชื่อมโยงกับประชาชน

 

เช่นเดียวกับการจัดการบัญชีรายชื่อ ส.ส.ซึ่งฝ่ายรับร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่าประชาชนในบางพื้นที่สามารถเลือกนักการเมืองได้ 3 ราย ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ประชาชนมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น รศ.ดร.วรเจตน์แย้งว่า บางพื้นที่มีขนาดเล็ก ประชาชนมีสิทธิเลือก ส.ส.ได้เพียงรายเดียว ต่อให้ประชาชนต้องการเลือก ส.ส.3 ราย เหมือนอย่างเขตใหญ่ๆ ก็ทำไม่ได้อยู่ดี การจัดการบัญชีรายชื่อเช่นนี้จึงยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน และที่ฝ่ายรับร่างฯ บอกว่าวิธีนี้สามารถจัดการปัญหา "ซื้อเสียง" ได้นั้น รศ.ดร.วรเจตน์มองว่าการแบ่งเขตที่ใหญ่ขึ้น อาจยิ่งทำให้การแข่งขันเพื่อกว้านซื้อเสียงรุนแรงกว่าก็เป็นได้

 

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.วรเจตน์ ยอมรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 มีข้อดีที่สิทธิเสรีภาพและการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจนักการเมือง เพื่อมิให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งเกินไป โดยมีบทบัญญัติว่า ผู้เป็นนักการเมืองต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน แต่ข้อดีนี้ยังไม่ดีพอ เมื่อพิจารณาแล้วว่า องค์กรบางองค์กรที่เกาะเกี่ยวกับอำนาจทางการเมือง เช่น ผู้สรรหาองค์กรอิสระ หรือผู้ที่จะแต่งตั้ง ส.ว.กลับไม่ต้องมีการตรวจสอบแต่อย่างใด ซึ่งที่จริงแล้ว ทั้งสองฝ่ายควรอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

 

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือเรื่องมาตรา 309 ซึ่งฝ่ายรับร่างฯ กล่าวว่าไม่มีข้อความใดในมาตรานี้ชี้ชัดว่าจะนิรโทษกรรมให้ คมช. แต่ถ้าพิจารณาจากถ้อยคำที่บัญญัติไว้ จะเห็นว่ามาตราดังกล่าวรับรองว่าการกระทำของ คมช.ทั้งหมด มีความถูกต้องชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นการทำรัฐประหาร การออกกฏอัยการศึก ฯลฯ เพราะมาตรา 309 อ้างถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2549 ที่ คมช.ประกาศนิรโทษกรรมตัวเอง และระบุว่า การกระทำใดๆ ที่รัฐธรรมนูญปี 49 รับรองว่าถูกต้อง ก็จะดำรงความถูกต้องนั้นต่อไปในร่างรัฐธรรมนูญปี 50

 

รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าวโดยสรุปว่า สิ่งใดที่ชอบหรือถูกต้องแล้วในตัวมันเอง ก็ไม่จำเป็นต้องรับรองก็ได้ ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ในแง่ของ "ที่มา" หรือ "เนื้อหา" และชั่งน้ำหนักข้อดี-ข้อเสีย เชื่อว่ารัฐธรรมนูญปี 50 จะไม่ได้ช่วยยุติปัญหาใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้เลย

 

ในช่วงท้ายการอภิปราย ผู้ดำเนินรายการให้ตัวแทนฝ่ายสนับสนุนและตัวแทนฝ่ายคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แสดงความเห็นสรุปฝ่ายละ 5 นาที โดยผู้อภิปรายฝ่ายสนับสนุนได้เลือก นายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นตัวแทนสรุป ส่วนส่วนผู้อภิปรายฝ่ายคัดค้านได้เลือก รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์

 

โดยรศ.ดร.วรเจตน์ เรียกร้องให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และยืนยันว่า ไม่ว่าอย่างไรการเลือกตั้งก็จะต้องเกิดขึ้น และอาจรวดเร็วกว่าขึ้นอยู่กับความจริงใจของ คมช.และองค์กรที่เกี่ยวข้อง และแสดงความมั่นใจว่า คมช. ไม่กล้าหยิบรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาใช้ นอกจากรัฐธรรมนูญ 2540

 

"การโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นการยกระดับการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยในทางอุดมการณ์ ในทางคุณค่า ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการทำให้ประเทศไทยเดินไปในวิถีทางที่นานาอารยประเทศยอมรับ"

 

โดยนักกฎหมายมหาชนผู้นี้กล่าวทิ้งท้ายว่า "การโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นทางออกของสังคมไทย ไม่ให้เกิดความตีบตันในวันข้างหน้า เรียกร้องเอา 2540 กลับมาใช้ให้มีฐานของความชอบธรรม แล้วก็ปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่มันบกพร่องต่อไป เพราะไม่ว่าอย่างไรๆ ก็ตาม แม้จะมีการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ต้องมีการแก้ไขแน่นอน และเมื่อมีการแก้ไขแล้ว ทำไมจึงไม่เอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้"

 

ด้านนายจรัญ ภักดีธนากุล ตัวแทนสรุปของฝ่าย ส.ส.ร.ย้ำว่า สิ่งที่ รศ.ดร.วรเจตน์กล่าวนั้นเป็นความเชื่อ ไม่ชัดเจนแน่นอน และไม่ราบรื่นเท่ากับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ และหากลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะให้ผลดีคือ "ยุติระบบปฏิวัติรัฐประหารทันที" จรัญกล่าว พร้อมกับย้ำถึงมาตรา 309 ที่มีข้อกังวลว่า มีเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น มิใช่คุ้มครองการกระทำผิดแต่อย่างใด

 

หลังการดีเบต ทางผู้จัดได้ให้นักศึกษา 6 คนนำกุหลาบแดงไปมอบให้ผู้อภิปรายแต่ละคนเพื่อยื่นให้แก่คู่อภิปรายของตนเองด้วย

 

 

ดูวิดีโอคลิปดีเบตได้ที่  http://www.prachatai.com/live/20070803

 

 

............................

เกี่ยวข้อง

คำต่อคำ ดีเบต "รับ-ไม่รับ" รธน.50 : จรัญ ภักดีธนากุล vs นิธิ เอียวศรีวงศ์

คำต่อคำ ดีเบต "รับ-ไม่รับ" รธน.50 : เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง vs จาตุรนต์ ฉายแสง

คำต่อคำ ดีเบตประวัติศาสตร์ "รับ-ไม่รับ" รธน.50 : สมคิด เลิศไพฑูรย์ VS วรเจตน์ ภาคีรัตน์

คำต่อคำ ดีเบต "รับ ไม่รับ" รธน.50 : บทสรุปสองฝ่าย โดย "วรเจตน์" และ "จรัญ"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท