Skip to main content
sharethis


 


 


ยุทธการปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายหลายสิบจุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2550 เป็นต้นมา มีผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนมากรวมล่าสุดมากกว่า 1,000 คน


 


ในจำนวนดังกล่าว พ.อ.อัคร ทิพย์โรจน์ โฆษกกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร หรือ พตท. ระบุว่า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ผู้ถูกควบคุมตัวที่มีหลักฐานชัดเจน คือ มีคดีติดตัวและมีหมายจับ ทางพนักงานสอบสวนจะนำตัวไปดำเนินคดีทันที อีกกลุ่มหนึ่งยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ ซึ่งเป็นแนวร่วมที่เป็นเพียงผู้สนับสนุนการก่อเหตุไม่สงบ เช่น เป็นผู้โรยตะปูเรือใบ หรือตัดต้นไม้ขวางถนน


 


พ.อ.อัคร บอกว่า ผู้ถูกควบคุมตัวหรือแนวร่วมที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนหรืออาจมีบ้าง ซึ่งพอจะฟ้องได้ แต่เจ้าหน้าที่ต้องการให้ร่วมมือในการแก้ปัญหาความไม่สงบ ซึ่งต้องอาศัยการพูดคุย จึงนำตัวเข้าสู่กระบวนการซักถามที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศสฉ.) ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งก็คือศูนย์วิวัฒน์สันติเดิมนั่นเอง


 


โดยเป็นควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ระยะเวลา 30 วัน หากในระหว่างนี้พนักงานสอบสวนยังไม่แจ้งข้อหาเพื่อดำเนินคดี ก็ต้องปล่อยตัวกลับไปทันที


 


แต่เนื่องจากผู้ถูกควบคุมตัวมีจำนวนมาก ประกอบกับศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ มีสถานที่คับแคบ จึงมีการนำตัวผู้ถูกควบคุมบางส่วนแยกไปควบคุมตัวที่ค่ายรัตนพล อำเภอคลองหอยโข่ง และค่ายพระปกเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่ง พ.อ.นิพนธ์ รองสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ระบุว่าทั้งหมดก็ยังอยู่ในการดูแลของศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์


 


อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผู้ถูกควบคุมตังบางส่วนจะถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดำเนินคดีเนื่องจากจะครบกำหนดการควบคุมตัว 30 วันนั้น ได้มีการดำเนินการบางอย่าง แทนการถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา


 


นั่นคือการนำผู้ถูกควบคุมตัวบางส่วนไปฝึกอบรมอาชีพระยะเวลา 4 เดือน ที่ศูนย์ฝึกอาชีพ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มี นายสุรสีห์ โกศลนาวิน เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ โดยความร่วมมือของกองทัพภาคที่ 4 การกระทรวงแรงงาน และการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


 


นายพงษ์จรัส รวยร่ำ อนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า ผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้มี 2 กรณีเท่านั้น ถูกควบคุมตัวเนื่องจากถูกซัดทอด กับผู้ที่เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดตรวจพบสารประกอบระเบิดตามร่างกายหรือเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และต้องเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ


 


"ทั้งสองกรณีเป็นหลักฐานที่พอฟ้องได้ ซึ่งเราเห็นว่า ถ้าปล่อยให้ถูกดำเนินคดีต่อไป ไม่น่าจะเกิดประโยชน์กับเขา เพราะอาจต้องใช้เวลาต่อสู้คดีนาน 3 ปี ต้องเสียค่าทนายและอาจต้องหาเงินมาประกันตัว ยิ่งหากศาลมีคำพิพากษายกฟ้องก็จะยิ่งไม่เกิดประโยชน์กับเขาเลย"


 


เขาบอกว่า วิธีการนี้เป็นการเยียวยาด้วย ซึ่งคล้ายๆ กับนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดที่ถือว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วยจำเป็นต้องนำตัวไปบำบัดนั่นเอง เมื่อได้รับการฝึกอาชีพแล้ว หากประสงค์จะทำงานต่อ ก็จะหางานให้ทำหรือถ้าจะทำงานในต่างประเทศ เช่น ประเทศในตะวันออกกลางก็ต้องฝึกอบรมต่ออีกระยะหนึ่ง


 


ขณะที่นายสุรสีห์ โกศลนาวิน ระบุว่า เนื่องจากขณะนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่เป็นสถานการณ์สงคราม ดังนั้นการใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาในภาพรวมได้ เพราะถือว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ที่ถูกหลอกให้หลงผิด ดังนั้นจำเป็นต้องเอาตัวเขาออกมาจากขบวนการโดยให้เขาเปลี่ยนความคิดก่อน


 


"เราได้ให้ทางเลือกกับเขาว่า จะอยู่กับเราเพื่อฝึกอาชีพหรือจะอยู่ในมือของตำรวจ โดยการต่อสู้คดี ไม่ได้บังคับให้เข้าร่วม ซึ่งนอกจากได้ฝึกอาชีพแล้ว ยังปลอดภัยจากการถูกซ้อมทรมานที่อาจเกิดขึ้นได้ ญาติสามารถไปเยี่ยมได้ทุกวัน ซึ่งนี่เป็นทางเลือกที่ดีและปลอดภัยที่สุดสำหรับตัวเขา"


 


นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงวันละ 100 บาท ต่อคน แต่จะได้รับก็ต่อเมื่อฝึกอบรมครบตามหลักสูตรในระยะเวลา 4 เดือน รวมทั้งสิ้น 12,000 บาท


 


เมื่อฝึกอบรมครบหลักสูตรแล้ว หากพวกเขาเลือกที่จะกลับบ้าน โดยไม่ยอมหางานทำต่อนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะไม่ถูกดำเนินคดีต่อไป โดยจะมีการเจรจากันระหว่างคณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าว กับพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการและกองทัพภาคที่ 4 ขอให้ไม่ดำเนินคดี ยกเว้นเขาจะกลับไปก่อเหตุอีกครั้ง


 


ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าว เริ่มจากอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้นำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้น โดยมีการประชุมกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 ที่กระทรวงแรงงาน มีพล.ต.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าสำนักงานแม่ทัพภาคที่ 4 นายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าร่วม วันต่อมาประชุมกันอีกครั้งที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


 


ในการประชุมครั้งนั้น นายพงศ์จรัส บอกว่า เดิมทีทางกองทัพภาคที่ 4 ต้องการให้คณะอนุกรรมการฯ ไปยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อน แต่ได้อธิบายว่า แต่ผู้ถูกควบคุมตัวเหล่านี้ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะพนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหา หากถูกแจ้งข้อหาแล้ว ไม่สามารถดำเนินการด้วยวิธีการได้อีก แต่ในระหว่างการฝึกอบรม หากพนักงานสอบสวนมีพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็สามารถนำตัวไปดำเนินคดีได้ตามปกติ


 


แต่ในที่สุดที่ประชุมได้ข้อตกลงว่า ทางกระทรวงแรงงานรับจะฝึกอบรมอาชีพให้ ส่วนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับจะสนับสนุนงบประมาณให้ผู้เข้ารับการฝึกอาชีพ โดยจะให้เป็นเบี้ยเลี้ยงวันละ 100 บาทต่อคน ส่วนกองทัพภาคที่ 4 จะดูแลเกี่ยวกับการดำเนินคดีผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าว


 


โดยผู้ถูกควบคุมตัวชุดแรก ที่เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 11 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา ชุดต่อมาที่สมัครใจเข้าร่วมรับการฝึกอบรม 18 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยจะออกเดินทางวันที่ 15 สิงหาคม 2550


 


ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวที่ค่ายอื่นๆ ยังไม่มีผู้สมัครใจเดินทางไป ซึ่งทางกองทัพภาคที่ 4 ได้ดำเนินนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวได้ฝึกอาชีพเองที่จังหวัดชุมพรและระนอง


 


นายพงษ์จรัส บอกว่า แม้ว่าทางกองทัพภาคที่ 4 จะสนับสนุนวิธีการนี้ แต่ในระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการบางส่วนก็ยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีการนี้ในตอนแรก โดยให้เหตุผลว่า ผู้ถูกควบคุมตัวแต่ละคนกว่าจะควบคุมตัวได้ ยากเย็นแสนเข็ญ อีกทั้งผู้ที่เสียชีวิตจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจำนวนมาก ใครจะรับผิดชอบและรับประกันว่าจะไม่มีผู้ถูกทำร้ายอีก หากไม่ดำเนินคดีพวกเขา


 


ด้านนายสุรสีห์ บอกว่า เขาต้องอธิบายในเรื่องนี้มาก เนื่องจากสังคมเข้าใจว่า ไม่ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีคนทำผิด จะทำให้เจ้าหน้าที่ถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งไม่ใช่เพราะผู้ถูกควบคุมตัวเหล่านี้ ยังไม่ถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา เป็นเพียงผู้ต้องสงสัยเท่านั้น ซึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเองก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย


 


"วิธีการนี้คือการสกัดจากการเป็นผู้ต้องสงสัยไปเป็นผู้ต้องหา ยกเว้นจะมีพยานหลักฐานเพิ่มเติม หากปล่อยให้ถูกดำเนินคดีตามปกติ การขอประกันตัวขณะนี้ศาลอาจไม่อนุญาตเนื่องจากมีกรณี 8 อุสตาซที่หายตัวไปหลักจากได้รับการประกันตัว"


 


ผู้ถูกควบคุมตัวชุดแรกเดินทางไปเข้ารับการฝึกอบรม ปรากฏว่าผู้ออกมาต่อต้านด้วยเช่นกัน โดยคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ที่มีนางอังคณา นีละไพจิตร เป็นประธาน ได้ส่งหนังสือไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 ขอให้ชี้แจงการดำเนินโครงการดังกล่าว


 


โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า โครงการนี้สร้างความสับสนและความไม่พอใจให้กับญาติผู้ถูกควบคุมตัว เนื่องจากพวกเขาคาดหวังว่าจะได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระหลังจากถูกควบคุมตัวจนครบกำหนด 30 วัน


 


นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า โครงการนี้มีลักษณะหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการละเมิดหลักนิติรัฐในการควบคุมบุคคลที่ต้องสงสัย และเป็นโครงการที่ขัดต่อหลักการดำเนินคดีอาญาชั้นก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


 


ขณะที่ พระนาย สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พูดถึงเรื่องนี้ว่า ทีแรกมีการหารือว่าจะให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการ แต่ตนเห็นว่า ให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนดำเนินการน่าจะดีกว่า แต่ก็เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว แต่มีข้อแม้ว่าทุกฝ่ายต้องเห็นด้วย และทาง ศอ.บต.จะสนับสนับสนุนเรื่องการประกอบอาชีพในอนาคต


 


"หากต่อสู้คดีแล้วสุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้องก็จะไม่เกิดประโยชน์ เพราะคนที่ถูกควบคุมตัวบางคนไม่ต้องการทำความผิด แต่หลงผิดที่เข้าร่วมขบวนการ ดังนั้นการนำตัวมาฝึกอบรมอาชีพ ก็เพื่อจะได้เอาตัวเขาหลุดออกจากวงจรการก่อความไม่สงบ"


 


เขาบอกว่าวิธีการนี้ เป็นการดำเนินกระบวนการยุติธรรมด้วยเช่นกัน แต่เป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ซึ่งก็คือในบางคดีหากสามารถตกลงกันได้ก่อนที่จะถึงศาล ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้มากกว่า


 


"ที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์มาแล้วว่า บางคดีที่ศาลพิพากษาแล้ว ปรากฏว่า เมื่อคู่กรณีกลับไปถึงหมู่บ้านแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็มองหน้ากันไม่ติด กลายเป็นความขัดแย้งในหมู่บ้านขึ้นได้ ดังนั้นวิธีการจึงเป็นการลดคดีเข้าสู่ศาล"


 


ผู้ถูกควบคุมตัวรายหนึ่งอายุ 24 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส บอกว่า ที่แรกก็ไม่เข้าใจว่าทำไม่ต้องไปฝึกอบรมอาชีพด้วย เพราะเชื่อว่าอีกไม่กี่วันก็จะได้กลับบ้านแล้ว แต่มารู้ทีหลังว่า ไม่มีใครถูกปล่อยกลับ เพราะถ้าไม่เลือกไปฝึกอบรมอาชีพทางตำรวจก็จะเอาตัวไปขึ้นศาล ซึ่งต้องเสียเงินค่าทนายอีกเยอะ พ่อแม่มีฐานะยากจนไม่มีเงินสู้คดีแน่นอน


 


ขณะที่ญาติผู้ถูกควบคุมตัว อย่างนางเจ๊ะตีเมาะ โด ชาวบ้านหมู่ที่ 8 ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา บอกว่า ลูกชาย 2 คน และลูกเขยอีก 1 คน ถูกควบคุมตัวไปวันที่ 18 มิถุนายน 2550 กับเพื่อนบ้านอีก 3 คน ซึ่งหลังจากทั้ง 3 ถูกควบคุมตัวไป ทำให้ภาระการเลี้ยงดูหลานตัวเล็กๆ ถึง 6 คน ตกมาอยู่ที่เธอ


 


เธอบอกว่า ฐานะของเธอไม่ค่อยดีนัก แต่ก็พอหาเงินมาเลี้ยงหลานทั้ง 6 คนได้ ถ้าลูกและเขยของเธอเข้ารับการฝึกอาชีพด้วยซึ่งจะได้วันละ 100 บาท ก็ยังดีแม้ไม่ได้กลับมาทำงานที่บ้านและเลี้ยงลูก แต่ถ้าให้สู้คดีแล้วต้องเสียเงินด้วย เธอก็คงจะหาเงินไม่ไหวเช่นกัน แต่ที่แน่ๆ เธอบอกว่า ถึงอย่างไรก็อยากให้ลูกและลูกเขยได้กลับบ้านอยู่ดี


 


หากพิจารณาวิธีการดังกล่าวจะพบว่า มีส่วนคล้ายกับวิธีการที่ระบุในมาตรา 17 สัตต แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 ที่ระบุให้ผู้อำนวยการการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาปฏิบัติแทนการถูกฟ้องคดี โดยให้ผู้ต้องหาดังกล่าวเข้ารับการ อบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน


 


ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เสนอให้รัฐบาลได้นำมาตรา 17 สัตต มาใช้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางลงพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยอมมอบตัว แต่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ปฏิเสธ โดยระบุว่า ในกฎอัยการศึกก็มีมาตราต่างๆ อยู่พอสมควร


 


พ.อ.อัคร พูดถึงเรื่องนี้ว่า เห็นด้วยกับคณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 ที่มองว่า ผู้ที่ถูกควบคุมตัวเป็นผู้หลงผิด จำเป็นต้องนำมาเยียวยา และการสู้รบกันเพื่อความเมามันและสะใจนั้น ไม่มีทางจะแก้ปัญหาได้


 


"กฎหมายคล้ายมาตรา 17 สัตต ขึ้นมา ก็จะเป็นทางออกหนึ่งให้กับคนที่อยู่ในขบวนการก่อความไม่สงบ แต่การออกกฎหมายต้องใช้เวลานาน ขณะที่การต่อสู้มีอยู่ทุกวัน แต่ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายลักษณะเดียวกับมาตรา 17 สัตต ออกมา จึงต้องใช้วิธีการอบรมอาชีพไปก่อน"


 


อย่างไรก็ตาม พ.อ.อัคร บอกว่า การจะออกกฎหมายลักษณะนี้ได้ ก็จำเป็นต้องอธิบายให้คนทั้งประเทศเข้าใจเหมือนกันก่อนว่า ผู้เข้าร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ คือผู้ที่หลงผิด จำเป็นต้องเยียวยาและต้องให้โอกาสให้เขา เปลี่ยนความคิดซึ่งต้องใช้เวลา


 


เขายังเชื่อด้วยว่า การออกกฎหมายลักษณะนี้อาจจะผ่านได้ยาก แต่หากร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.... ที่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผ่านสภาและประกาศใช้เมื่อไหร่ การออกกฎหมายลักษณะเดียวกับมาตรา 17 สัตต อาจจะออกเป็นกฎหมายลูกของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ...


 


"เมื่อออกกฎหมายคล้ายมาตรา 17 สัตต มาแล้ว ก็จะทำให้กลุ่มคนในขบวนการแสดงตัวออกมาได้ เพื่อออกมาต่อสู้ในทางสังคม เพราะปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ก็เกิดจากความผิดพลาดทางสังคมนั่นเอง"


 


นอกจากกระบวนการในการรองรับผู้ถูกควบคุมตัวมาแล้ว การดำเนินการอีกส่วนหนึ่งที่น่าจะควบคู่กันไป คือการเจรจากับแกนนำขบวนการก่อความไม่สงบ โดยอาจใช้ช่องทางกฎหมายคล้ายมาตรา 17 สัตต ในการแสดงตัวได้ หากมีการออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา


 


พล.ต.จำลอง ขุนสงค์ เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 บอกว่า มีคนที่ต้องการออกจากขบวนการหลายคนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งอยู่ในระดับปฏิบัติการ หากมีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นก็สามารถใช้ช่องทางนี้


 


ส่วนการการเจรจานั้น พล.ต.จำลอง ขอใช้คำว่ากระบวนการพูดคุย ซึ่งบอกแต่เพียงสั้นๆ ว่ากำลังดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปเท่านั้น


 


เชื่อว่ายังมีอีกหลายยุทธการในการจัดการกับกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุร้ายซึ่งจะนำสู่การปิดล้อมจับกุมของเจ้าหน้าที่ และผู้ที่ถูกควบคุมจำนวนมากนั้น หากไม่ดำเนินคดีแล้ว จะหาอำนาจอะไรมารองรับวิธีการอื่น และมันจะได้ผลอย่างไรต้องติดตาม


 


 


 


.............................................................................


 


 


สำหรับเนื้อหาของ มาตรา 17 สัตต แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 บัญญัติไว้ดังนี้


 


ในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าพนักงานสอบสวนเห็นว่าผู้ต้องหาคนใดได้กระทำความผิดดังกล่าว เพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมีเหตุที่ไม่สมควรดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคนใด ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนสำหรับผู้ต้องหาคนนั้น พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีเขตอำนาจเหมือนท้องที่ที่มีการสอบสวน ถ้าผู้อำนวยการการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ตามวรรคหนึ่งเห็นชอบด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวนว่า ไม่สมควรดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ให้ผู้อำนวยการการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาปฏิบัติแทนการถูกฟ้องคดี โดยให้ผู้ต้องหาดังกล่าวเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน และจะกำหนดเงื่อนไขให้มารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นครั้งคราวตามที่กำหนดภายหลังการอบรมแล้วด้วยก็ได้ แต่จะกำหนดระยะเวลาที่ให้มารายงานตัวเกิน 1 ปีไม่ได้ การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามวรรคสอง จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ต้องหายินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้ว และเมื่อผู้ต้องหาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วนแล้ว จะฟ้องผู้ต้องหาอีกไม่ได้


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net