Skip to main content
sharethis

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช


คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


บทนำ


 


ในบรรดา 309 มาตราของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เรื่องหนึ่งที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือ "มาตรา 309" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ "การนิรโทษกรรม"


 


ประเด็นก็คือ มีความจำเป็นเเละเหมาะสมเพียงไร ที่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะรับรองเรื่องนิรโทษกรรมไว้ เเละมาตรา 309 นั้นมีไว้เพื่อใคร เเละควรหรือไม่ที่จะนิรโทษกรรมต่อไปอีกหลังจากที่รัฐธรรมนูญ 2550 มีผลใช้บังคับหากร่าง 2550 ผ่านประชามติ


 


วัตถุประสงค์ของข้อเขียนนี้พยายามทำความกระจ่างกับคำถามข้างต้น


 


 


1. นิรโทษกรรมคืออะไร


นิรโทษกรรมหมายถึง การตรากฎหมายย้อนหลังเป็นคุณเเก่ผู้กระทำความผิดทางการเมืองหรือความผิดอาญาก็ได้ เเก่บุคคล หรือ กลุ่มบุคคล โดยบุคคลดังกล่าวจะไม่ตกอยู่ภายใต้การดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้ลืมความบาดหมางกับเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นเเล้ว


 


 


2. เงื่อนไขด้าน "องค์กร" ผู้มีอำนาจตรากฎหมายนิรโทษกรรม


จากการศึกษากฎหมายนิรโทษกรรมของไทยที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งปรากฎอยู่หลายฉบับ พบว่า หากไม่นับพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนเเปลงการปกครองเเผ่นดิน พุทธศักราช 2475 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนั้น โดยปกติ กฎหมายนิรโทษกรรมจะตราอยู่ในรูปของ "พระราชบัญญัติ" หรือ "พระราชกำหนด" เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารเท่านั้นที่มีอำนาจตรากฎหมายนิรโทษกรรม


 


เเต่ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 (ซึ่งผู้ร่าง ประสงค์จะให้เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เเละเป็นผลผลิตของส.ส.ร. ที่มาจากคมช.) เดินตามมาตรา 222 ของรัฐธรรมนูญปี 2534 ซึ่งออกในสมัยรสช. โดยมาตรา 309 กลับรับรองเรื่องนิรโทษกรรมไว้ ขณะที่หากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2517 ที่ร่างในบรรยากาศประชาธิปไตยมากกว่านี้ มาตรา 4[1] กลับห้ามมิให้มีการนิรโทษกรรมไว้อย่างชัดเจน


 


เนื่องจากมีหลักกฎหมายทั่วไปว่า "บุคคลไม่สามารถอ้างประโยชน์จากการกระทำความผิดของตนได้" หรือหลัก "ไม่มีใครเป็นผู้พิพากษาในเรื่องที่ตนเองมีส่วนได้เสีย" [2] การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ควรให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้จะสมควรกว่า


 


อีกทั้งมีเรื่องการลงประชามติของรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งไม่ควร "ยืมมือประชาชน" มาฟอกตัวให้กับผู้กระทำความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญเเละองค์กรเฉพาะกิจอย่างคตส.ด้วย


 


 


3. เงื่อนไขด้าน "เวลา"


รากศัพท์ของคำว่า "amnesty" มาจากภาษากรีก คือ "amnestia" เเปลว่า "ทำให้ลืม" คือลืมจากเหตุการณ์หรือความผิดในอดีต (past offense)


 


วัตถุประสงค์ของกฎหมายนิรโทษกรรมคือ ทำให้สังคมลืมเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นเเละสิ้นสุดลงเเล้ว ดังนั้น ในกฎหมายนิรโทษกรรมของไทยนั้น ในอดีตจะเขียนไว้ในสองลักษณะ


 


ลักษณะเเรก จะกำหนดวันที่จะได้รับนิรโทษกรรมไว้อย่างชัดเจน เช่น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเเก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาเเละประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516


 


ลักษณะที่สอง ซึ่งมักจะใช้กับการนิรโทษกรรมเเก่ผู้กระทำรัฐประหารนั้น กฎหมายมักจะเขียนนิรโทษกรรมกับบรรดาการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายนิรโทษกรรมจะประกาศใช้ ดังปรากฎให้เห็นจาก พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเเก่ผู้ทำรัฐประหาร พ.. 2490 มาตรา 3 ซึ่งบัญญัติว่า


 


"บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เนื่องในการกระทำรัฐประหารเพื่อเลิกใช้รัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เเละประกาศใช้รัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 หากเป็นการผิดกฎหมายใดๆ ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดเเละความรับผิดโดยสิ้นเชิง เเละการใดๆ ที่ได้กระทำ ตลอดจนบรรดาประกาศเเละคำสั่งใดๆ ที่ได้ออกสืบเนื่องในการกระทำรัฐประหารที่กล่าวเเล้ว ให้ถือว่าเป็นอันชอบด้วยกฎหมายทุกประการ"


 


ความทำนองเดียวกันก็ปรากฎในพระราชนิรโทษกรรมเเก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการเเผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.. 2500 (มาตรา 3) เเละ พระราชนิรโทษกรรมเเก่ผู้กระทำการปฎิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.. 2501 (มาตรา 3) เเละ พระราชนิรโทษกรรมเเก่ผู้กระทำการปฎิวัติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิการยน พ.. 2514 (มาตรา 3)


 


กล่าวให้ง่ายเข้า กฎหมายจะนิรโทษกรรมได้ 3 ช่วงเวลาเท่านั้นคือ


1. ก่อนวันทำรัฐประหาร (เช่นการตระเตรียมการทั้งหลาย)


2. วันทำรัฐประหาร เเละ


3. หลังวันทำรัฐประหาร


 


เเต่ทั้งนี้ ต้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมมีผลใช้บังคับเท่านั้น ซึ่งก็ต้องไปดูว่า กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนั้นๆ มีผลใช้บังคับเมื่อใด โดยปกติเเล้วจะเขียนไว้สองเเบบคือ มีผลให้ใช้บังคับตั้งเเต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา


 


ซึ่งหมายความว่า การกระทำหลังจากกฎหมายนิรโทษกรรม เเม้จะเกิดขึ้นเป็นผลเกี่ยวเนื่องหลังจากวันทำรัฐประหารก็ตาม เเต่หากการกระทำนั้นมีผลต่อเนื่องมายังวันที่กฎหมายนิรโทษกรรมมีผลใช้บังคับเเล้ว ความผิดต่อเนื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่กฎหมายนิรโทษกรรมมีผลใช้บังคับ ก็ไม่ได้รับการยกเว้นความผิดอีกต่อไป


 


ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเเก่ผู้กระทำการปฎิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 มาตรา 3 บัญญัติว่า "บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการปฎิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ก็ดี ….เเละไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้น หรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด…."


 


ผลในทางกฎหมายก็คือ "การกระทำในวันที่กล่าวนั้น" ซึ่งหมายถึงวันทำรัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เเละ "ก่อนวันที่กล่าวนั้น" ซึ่งหมายถึงวันก่อนวันทำรัฐประหาร หรือก่อนวันที่ 20 ตุลาคม เเละ "หลังวันที่กล่าวนั้น" คือหลังวันทำรัฐประหารที่ 20 ตุลาคม พ.. 2501 ย่อมได้รับการนิรโทษกรรม


 


เเต่เมื่อมาตรา 3 บัญญัติว่า "ให้ใช้กับบรรดาการกระทำก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ" ก็ต้องไปดูว่า กฎหมายนี้ใช้บังคับเมื่อใด


 


มาตรา 2 ของพ.ร.บ.นี้ระบุว่า "พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งเเต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป" พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเเก่ผู้กระทำการปฎิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.. 2501 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2502 ดังนั้น บรรดาการกระทำที่กระทำขึ้นก่อนวันทำรัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม พ.. 2501 ก็ดี วันทำรัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม พ.. 2501 ก็ดี เเละรวมถึงวันหลังวันทำรัฐประหารก็ดี เรื่อยมาจนถึงวันที่ 2 เมษายน 2502 ก็ดี ล้วนได้รับการนิรโทษกรรมทั้งสิ้น


 


เเต่บรรดาการกระทำนับตั้งเเต่วันที่ 3 เมษายน 2502 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายนิรโทษกรรมเริ่มประกาศใช้ เเม้จะเป็นผลมาจากการปฎิบัติตาม "คำสั่ง" หรือ "ประกาศ" ของคณะรัฐประหารก็ตาม ย่อมไม่ได้รับอานิสงค์ของกฎหมายนิรโทษกรรมด้วย ซึ่งย่อมหมายความว่า การกระทำนั้น ๆ เป็นความผิดเเละต้องได้รับโทษ


 


มีข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ตราขึ้นหลังจากที่มีการทำรัฐประหาร ในบทเฉพาะกาลมักจะบัญญัติรับรองให้บรรดาคำสั่งหรือประกาศของคณะรัฐประหารยังคงมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป [3] เเต่มิได้ไปไกลถึงขนาดนิรโทษกรรมหรือห้ามมิให้ฟ้องร้องกับผู้ปฎิบัติตามคำสั่งหรือประกาศของคณะรัฐประหาร เเม้ว่าการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นหลังจากที่กฎหมายมีผลใช้บังคับเเล้วก็ตาม เเต่คราวนี้ เนื้อความของมาตรา 309 คล้ายคลึงกับมาตรา 222 ของรัฐธรรมนูญปี 2534 ซึ่งออกในสมัยรสช.มาก เเม้ว่าถ้อยคำจะเเตกต่างกัน


 


กล่าวคือ มาตรา 222 ได้รับรองให้บรรดา "คำสั่ง" เเละ "ประกาศ" ของรสช. ซึ่งออกใช้บังคับก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป เเละการยกเลิกหรือเปลี่ยนเเปลงประกาศหรือคำสั่งของรสช. ดังกล่าว ไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อการปฎิบัติหน้าที่ของบุคคลซึ่งได้กระทำไปตามคำสั่งหรือประกาศดังกล่าว เเละให้บุคคลนั้นได้รับความคุ้มครอง ผู้ใดจะนำไปฟ้องร้องในทางใดมิได้


 


ในขณะที่มาตรา 309 [4] (ซึ่งโยงกับมาตรา 36 และ 37) รับรองว่า ประกาศ คำสั่ง รวมถึงการกระทำที่ปฎิบัติตามคำสั่งและประกาศ ย่อมชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะกระทำ "ก่อน" หรือ "หลัง" ใช้รัฐธรรมนูญปี 2549 และ 2550 (ถ้าประชามติผ่าน) ซึ่งย่อมส่งผลให้องค์กรเฉพาะกิจอย่าง คตส. หรือ คมช. ที่ได้กระทำการใดๆ โดยอาศัยประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารนั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเเละรัฐธรรมนูญต่อไป เเม้ว่าการกระทำนั้นจะกระทำขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญ 2550 มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญเเล้วก็ตาม


 


ซึ่งการยอมรับให้มีการตรากฎหมายลักษณะเช่นนี้ดำรงอยู่ต่อไป จะมีผลเป็นการบั่นทอนหลักนิติรัฐ ทำให้คตส. เเละคมช. อาจปฎิบัติหน้าที่โดยละเลยต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นๆ ก็ได้ เพียงอ้างว่าตนได้ปฎิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหาร เเละได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 309 เเล้ว อันเป็นการจำกัดสิทธิในกระบวนยุติธรรมของผู้ถูกกล่าวหา


 


อีกทั้งยังเกิดปัญหาตามมาว่า หากร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติ ประกาศใช้เป็นกฎหมายเเล้ว ก็ไม่มีการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาคำสั่ง ประกาศ เเละการกระทำที่ปฎิบัติตามคำสั่งหรือประกาศนั้นไม่ได้ด้วย เนื่องจากมาตรา 309 ได้รับรองเรียบร้อยเเล้วว่า "การนั้น" เเละ "การกระทำ" นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้


 


การเขียนเช่นนี้เท่ากับหนีการตรวจสอบจากศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการละเมิดหลักนิติรัฐที่ยอมรับให้มีกลไกการทบทวนตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ เเละมีผลทำให้หลัก "ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ" เป็นหมันไป


 


 


 


4. พ.ร.บ. ให้ความคุ้มครองเเละห้ามฟ้องร้องบุคคลผู้ปฎิบัติการเกี่ยวเเก่มาตรา 17 เเห่งรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.. 2508 [5]


 


หากมองย้อนกลับไปในทางประวัติศาสตร์จะพบว่า มาตรา 222 (สมัยรสช) เเละร่างมาตรา 309 (สมัยคมช.) มิใช่ของใหม่ เเต่เป็นมรดกทอดมาตั้งเเต่ปีพ.. 2508 เเล้ว


 


โดยพ.ร.บ.ให้ความคุ้มครองฯ นี้ ออกมาหลังจากการทำรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร เเต่พ.ร.บ.ดังกล่าวออกโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะนายกรัฐมนตรี


 


เนื้อหาสาระสำคัญของพ.ร.บ.นี้ ให้ความคุ้มครองมิให้ฟ้องร้องนายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรี อันเป็นผลมาจากการที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 17 ไม่ว่าจะได้มีคำสั่งหรือการกระทำก่อนหรือหลังวันที่พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ เเละถ้ามีการฟ้องร้องอยู่ในระหว่างที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับอยู่ ให้ศาลจำหน่ายคดีเสีย


 


กล่าวง่ายๆ ก็คือ กฎหมายนี้ให้ความคุ้มกันเเก่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีรวมทั้งผู้ได้รับมอบอำนาจหรือปฎิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 17 ซึ่งคนไทยรับรู้มาโดยตลอดว่ามาตรา 17 เป็นมาตรา 17 ที่ให้อำนาจเเก่นายกรัฐมนตรีจะกระทำอะไรก็ได้ หากการกระทำนั้นกระทำในนามของ "ความมั่นคงของรัฐ" หรือในนามของ "รักษาราชบัลลังก์" มาตรา 17 จึงเปรียบเสมือน "เช็คเปล่า" ที่นายกรัฐมนตรีกรอกตัวเลขตามใจชอบ


 


ประเด็นสำคัญอยู่ที่พ.ร.บ.ให้ความคุ้มครองฯ นี้ ใช้คำว่า "ไม่ว่าจะได้มีคำสั่งหรือกระทำก่อนหรือหลังวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ" ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกับมาตรา 222 เเละร่างมาตรา 309 เเม้มาตรา 309 ของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 (ซึ่งโยงกับมาตรา 36 เเละ 37 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี พ.. 2549) จะมิได้มีความรุนเเรงเท่ากับมาตรา 17 ก็ตาม เเต่ผลในทางกฎหมายคล้ายกันคือ เป็นการให้ความคุ้มกัน (Immunity) เเก่ผู้ปฎิบัติตามคำสั่งก็ดี ประกาศก็ดีของคณะรัฐประหารว่า ชอบด้วยกฎหมาย เเละชอบด้วยรัฐธรรมนูญปี พ.. 2550


 


ซึ่งเท่ากับตัดช่องทางมิให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาประกาศเเละคำสั่ง รวมทั้งการกระทำคตส. หรือคมช. เเม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 จะมีผลใช้บังคับเเล้วก็ตาม


 


สรุปก็คือ กฎหมายนิรโทษกรรมจะมีผลใช้บังคับกับเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นก่อนวันที่กฎหมายประกาศใช้ เเต่มาตรา 309 บัญญัติว่า "บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายเเละรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นเเละการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้"


 


หมายความว่า หากร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติ ก็มีผลทำให้บรรดาการทำใดๆ เช่น การปฎิบัติหน้าที่ของคตส. (อาจรวมถึงคมช.ด้วย) ไม่อาจถูกตรวจสอบได้ เเม้ว่าการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญ 2550 นี้มีผลใช้บังคับเเล้วก็ตาม


 


และดังที่ได้กล่าวมาเเล้วว่า เจตนารมย์ของนิรโทษกรรมคือ การลืมเหตุการณ์ในอดีต ไม่ใช่ลืมเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น


 


 


บทส่งท้าย


 


หากยอมรับการตรารัฐธรรมนูญชนิดบิดเบือนหลักกฎหมายนิรโทษอย่างมาตรา 309 เเล้ว ก็เท่ากับยอมให้บั่นทอนหลักนิติรัฐอีกครั้ง เเละเเทนที่จะสร้างความสมานฉันท์เเก่คนในชาติอันเป็นวัตถุประสงค์ของกฎหมายนิรโทษกรรม เเต่กลับถูกดัดเเปลงบิดเบือนเป็นวิธีการป้องกันตนเองให้รอดพ้นจากการดำเนินคดีเเละควบคุมตรวจสอบตามกฎหมาย ซึ่งก็เท่ากับยอมรับโดยปริยายว่า สิ่งที่คณะรัฐประหารเเละบรรดาองค์กรที่เป็นผลผลิตของรัฐประหารได้กระทำหลังจาก 19 กันยายนนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เเละไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หลังจากการทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมาก็มีการบั่นทอนหลักนิติรัฐครั้งเเล้วครั้งเล่า ในคดียุบพรรคมีการยอมรับว่า การตรากฎหมายย้อนหลังลิดรอนสิทธิของพลเมืองได้ ตราบเท่าที่ไม่เข้าข่ายโทษอาญา 5 สถานเป็นอันใช้ได้ เเต่คราวนี้ เปิดช่องให้มีการนิรโทษกรรมล่วงหน้าได้


 


"กฎหมายนิรโทษ" จึงมิได้เป็นอะไรมากไปกว่า "เครื่องมือ" รับใช้ของเผด็จการที่หาทางหนีที่ไล่มิให้ใครมาเอาผิดตามกฎหมายได้


 


หลักนิติรัฐจะกลับมาดำรงอยู่อีกครั้งในสังคมไทยหรือไม่ ประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบในวันที่ 19 สิงหาคมนี้






[1] มาตรา 4 บัญญัติว่า การนิรโทษกรรมเเก่ผู้กระทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้


 



[2] หลักนี้เป็นของกฎหมายคอมมอนลอว์ เเต่ผู้เขียนเห็นว่าหลักดังกล่าวมีเหตุผลที่ดีสามารถนำมาอธิบายการออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้


 



[3] เช่น รัฐธรรมนูญปี 2511 มาตรา 183 บัญญัติว่า "บรรดาคำสั่งซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการโดยอ้างมาตรา 17 เเห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ให้คงมีผลใช้บังคับต่อไป"


หรือรัฐธรรมนูญปี 2521 มาตรา 206 บัญญัติว่า "บรรดาคำสั่งซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2519 หรือตามความในมาตรา 27 เเห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 ที่ยังใช้บังคับอยู่ในวันใช้รัฐธรรมนูญนี้ให้คงมีผลใช้บังคับต่อไป การยกเลิกหรือเปลี่ยนเเปลงคำสั่งดังกล่าวให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ"


 



[4] มาตรา 309 บัญญัติว่า "บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายเเละรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นเเละการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้"


 



[5] พ.ร.บ.นี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 82 วันที่ 6 สิงหาคม 2508

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net