Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ อาจารย์ประจำคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรรมการเครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ ให้สัมภาษณ์ในรายการมองคนละมุม สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน มช. (F.M.100) ว่า ที่สื่อภาคปชช.ไม่รับ รัฐธรรมนูญ50 เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิรูปสื่อ


 


ทำไมเครือข่ายสื่อภาคประชาชน และนักวิชาการจึงออกมาคัดค้านรัฐธรรมนูญ 2550 และทัศนะต่อการระบุในมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญว่า ให้มี "องค์กรหนึ่ง" จัดสรรสื่อแทนที่จะเป็น 2 องค์กรนั้นเป็นอย่างไร


มันมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่คำพูด แต่ดำเนินการที่จะออกกฎหมายลูกต่าง ๆ เพื่อทำให้สิทธิของภาครัฐแข็งแกร่งขึ้น ในขณะเดียวกัน สิทธิของภาคประชาชนจะลดลง ดังนั้น ถ้าพูดถึงประเด็นที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่า องค์กรอิสระที่จะเกิดขึ้นจะให้มีองค์กรหนึ่ง คำนี้สำหรับบางท่านอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ดูเหมือนว่าไปเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ แต่ถ้าดูจริงๆ แล้วและได้ติดตามอย่างใกล้ชิดจะเห็นว่า คำ ๆ นี้ มันทำให้เห็นความพยายามที่จะปรับโครงสร้างของเทคโนโลยี


 


คนที่ได้ติดตามมาจะเห็นว่า เวลาที่เราพูดถึงเรื่องขององค์กร รัฐธรรมนูญปี 40 เปิดโอกาสกว้างมาก คือ ระบุว่าให้มีองค์กรอิสระ เท่ากับให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะไปพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ในกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ว่าควรเป็นอย่างไร


           


ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อปี 2543 ช่วงก่อนหน้านั้นก็อภิปรายอย่างละเอียดกว้างขวางมาก ทั้งเหตุผลเชิงหลักการ เหตุผลทางแนวปฏิบัติ และพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องของความสมดุลระหว่างเนื้อหากับเทคโนโลยี ก็สรุปตอนนั้นว่า ต้องเป็น 2 องค์กรเพื่อให้ถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งนี่คือกฎหมายลูก


 


 


คำว่า "องค์กรหนึ่ง" ในรัฐธรรมนูญ 2550 มีนัยยะความสำคัญเชิงอำนาจอย่างไรบ้าง


มีความสำคัญมาก เพราะจริงๆ แล้ว การกำหนดอย่างนั้น บางท่านอาจบอกว่าเป็นเรื่องแค่ภาษา และองค์กรจะมีกี่องค์กรก็ได้ แต่ดิฉันคิดว่า นี่เป็นการอธิบายเชิงการเล่นภาษา


 


การระบุว่ามี "องค์กรหนึ่ง" มันชี้ชัดว่าต้องการรวบอำนาจ เพราะจากประสบการณ์ เราเห็นการต่อสู้ เกี่ยวกับการถ่วงดุลอำนาจมาชัดเจนต่อเนื่อง เพราะว่าการอภิปรายที่จะออกกฎหมายลูก คือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ก็มีตรรกะอันนี้อยู่แล้ว ถึงกลุ่มที่ต้องการกระจายอำนาจกับกลุ่มที่ต้องการรวบอำนาจ และได้รับข้อสรุปออกมาว่า จะเป็นผลดีต่อประชาชนมากกว่าถ้ามีการกำกับดูแลออกเป็น 2 องค์กร


 


เมื่อได้ข้อสรุปอย่างนั้นแล้ว ดิฉันคิดว่าฝ่ายที่รู้สึกว่าตัวเองจะเสียประโยชน์จากการที่ให้มีองค์กรที่มากำกับดูแลทางด้านการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ ก็จะพยายามทำให้เป็นองค์กรเดียวมานานแล้ว ดังนั้น พอสามารถบรรจุคำนี้ได้ในรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นว่าเป็นการปูทาง เพราะสิ่งที่รัฐบาลในช่วงนี้ทำก็คือ เตรียมร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฉบับแก้ไขขึ้นมาใหม่ ซึ่งสอดคล้องกันเลยว่า นอกจากจะปรับให้เหลือองค์กรเดียวตามรัฐธรรมนูญ โดยที่กระบวนการนี้มีมาก่อนที่รัฐธรรมนูญจะลงประชามติ


 


ฉะนั้น สาระสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การเข้าไปตัดทอนอำนาจขององค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลคลื่นความถี่ด้วย เช่น ให้อำนาจคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้สามารถระงับการออกอากาศรายการด้วยวาจา ตรงนี้ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน


 


 


กฎหมายตัวนี้ เตรียมคลอดออกมาแล้วใช่ไหม


กฎหมายตัวนี้เป็นร่างเตรียมที่จะออก คือเป็นร่างที่ไปแก้ไข พ.ร.บ.เดิม มันชี้ให้เห็นว่า องค์กรอิสระจะมีอำนาจใหญ่มาก เมื่อก่อนต้องมีการตรวจสอบ เช่น อาจจะมีการบันทึกรายการไว้ หลังจากนั้น เมื่อตรวจสอบแล้วเห็นว่ามีความผิดก็จะมีการลงโทษ ซึ่งมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การตำหนิ ภาคทัณฑ์  เพื่อให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ได้เตือนกันในสังคมของประชาธิปไตย เพื่อที่จะคงไว้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น


 


แต่ร่าง พ.ร.บ.ที่เตรียมประกาศ กลับมีข้อความที่ชี้ให้เห็นว่า อำนาจรัฐแข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก ไม่เพียงแต่สามารถระงับการออกอากาศได้ด้วยวาจาเท่านั้น แต่ยังคงอำนาจรัฐอื่นๆ ไว้อีกมากมาย ซึ่งเมื่อเราดูโดยรวมอย่างต่อเนื่องแล้ว อาจจะชี้ให้เห็นว่า ตรงนี้เป็นเรื่องการตั้งใจลิดรอนสิทธิอำนาจของประชาชน เพราะในท้ายที่สุด เจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาชน หรือภาคเอกชนที่มาทำธุรกิจ ก็มีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะขอใช้คลื่นความถี่ มันกลายเป็นว่า กฎหมายที่เตรียมร่างไว้ใหม่ คงสภาพความเป็นเจ้าของสื่อในหน่วยงานรัฐไว้ทั้งสิ้น


 


 


นี่ถือเป็นการถอยหลังของเสรีภาพ ของสื่อเลยใช่ไหม


ใช่ค่ะ ย้อนไปไกลมากเลย เพราะว่ามันเป็นการทวนเจตนารมณ์อย่างชัดเจน เพราะเจตนารมณ์คือต้องการเปิดโอกาสที่เรียกว่า ยุติการผูกขาดการใช้คลื่น อยู่ในกลุ่มเฉพาะของภาครัฐ หรือกลุ่มธุรกิจเอกชน และให้ภาค ปชช.เข้ามามีส่วนร่วม แต่ตอนนี้เหมือนกับเกิดความรู้สึกว่า เมื่อรัฐเป็นเจ้าของสื่อก็ควรจะเป็นเจ้าของสื่อต่อๆ ไป ฉะนั้น หน่วยงานของกลาโหมก็ดี หน่วยงานของกรมประชาสัมพันธ์ก็ดี ก็ยังสามารถใช้สื่อที่ตนครอบครองอยู่โดยไม่จำเป็นต้องคืนคลื่นความถี่ให้กับองค์กรอิสระเลย


 


 


ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ รัฐธรรมนูญปี 50 ว่าด้วยเรื่องของสื่อ ได้เข้าไปลบล้างพัฒนาการของรัฐธรรมนูญปี 40 ใช่ไหม


ใช่ค่ะ แม้ว่าจะเห็นเป็นแค่คำๆ เดียว แต่คำๆ นั้นมันเป็นแม่บทใหญ่ ซึ่งจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเขียนละเอียด เพราะการเขียนละเอียดเกินไป เท่ากับไปลิดรอนสิทธิอำนาจนิติบัญญัติที่จะเกิดขึ้นของรัฐบาลในอนาคต มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องออกกฎหมายลูก และการที่ไปเขียนแม่บท เรียกได้ว่าชัดเจน บีบรัดมาก


 


ก็แปลว่า คณะนิติบัญญัติไม่ต้องคิดอะไรต่อ นอกจากคิดเฉพาะรายละเอียด แต่โครงสร้างมีคนคิดไว้ให้แล้ว และเป็นโครงสร้างซึ่งลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะเมื่อก่อนเราเคยพูดกันว่า กรมประชาสัมพันธ์มีหน้าที่ชัดเจนก็จริง แต่ว่ามีคลื่นความถี่ทั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ในความดูแลมากเกินความจำเป็น เมื่อเทียบกับหน้าที่ที่มีหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงกลาโหม ก็มีสื่ออยู่ในความครอบครองมาก ซึ่งก็มากเกินความจำเป็น


 


ก็จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ท่านมีความจำเป็นต้องใช้เท่าไหร่ ท่านสามารถใช้ได้เท่าไหร่ เพื่อประโยชน์สูงสุดตามอำนาจหน้าที่ของท่าน แต่ที่เหลือต้องกระจายกลับคืนมาเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น ตรงนี้มันกลายเป็นว่า เจตนารมณ์ถูกทอดทิ้ง แล้วยังระบุให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐสามารถประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ประเภทบริการสาธารณะได้


           


ในส่วนนี้เมื่อฟังเผินๆ อาจจะดูเหมือนให้อำนาจท้องถิ่น แต่อย่าลืมว่า อบต.เป็นหน่วยงานภาครัฐ ถ้าเมื่อ อบต.ได้ หน่วยงานที่เป็นภาคประชาชนก็จะไม่ได้ มันสะท้อนว่าช่องทางการสื่อสารที่ครอบครองโดยรัฐมันก็ยังมีจำนวนมหาศาล ในสัดส่วนแล้วก็จะครอบครองพื้นที่สื่อ แล้วก็สามารถให้ข้อมูลจากภาครัฐไหลสู่ภาค ประชาชน ซึ่งเป็นลักษณะการสื่อสารทางเดียว เป็นลักษณะการไหลของข้อมูลทางเดียวมากขึ้น ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อ คือจะต้องเกิดการกระจายเพื่อสังคมให้ได้ยิน ได้เห็น ได้รับรู้ ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย เป็นข้อมูลข่าวสารสองทาง เป็นข่าวสารเชิงแนวระนาบ เกิดการพึ่งพาตนเอง ระหว่างชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ภูมิปัญญาระหว่างชุมชน ตรงนี้ก็จะหมดไป


 


ฉะนั้น ในแง่ของคนที่ทำงานด้านการปฏิรูปสื่อ ดิฉันคิดว่าคนที่ติดตามมาจะเห็นความพยายามตรงนี้ชัด ดังนั้น ก็จะประกอบเป็นภาพได้ว่า การที่รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดได้กำหนดคำที่มีนัยยะไปกระทบต่อโครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เปิดโอกาสให้ ปชช.มีส่วนร่วมและยังเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ก็ถือว่าไม่ใช่ข้อความที่พึงประสงค์ที่จะให้อยู่ในรัฐธรรมนูญ


 


 


เท่าที่ฟัง จะเห็นว่ามีความพยายามที่รัฐจะกลับไปยึดสื่อ ซึ่งสิ่งที่ส่อแววคือ มีการเข้าไปปรับปรุงกฎหมายแล้ว นอกจากนี้ยังมีอะไรอีกบ้างที่ได้ส่อแววว่ามันเป็นต้นเหตุ เป็นปัจจัยที่เขาต้องกลับเข้ามายึดอีก


ในช่วงนี้ ถ้าคนที่ติดตามเรื่องกฎหมาย มีการพยายามยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร 8 ฉบับ ทั้งยกร่างและแก้ไข และถ้าฟังดูเผินๆ ก็เหมือนกับเป็นเรื่องดี ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550, ร่าง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ร่าง พ.ร.บ.ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับแก้ไข) ร่าง พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมภาพยนตร์


 


ฟังดูแล้วเหมือนว่าสังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีระเบียบ ระบบแล้ว แต่ถ้าได้อ่านในเนื้อหา จะเห็นว่ามันเป็นระเบียบระบบที่มีความละเอียดอ่อน และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของคน มันน่าจะต้องใช้เวลาที่จะพิจารณาอย่างรอบคอบ น่าจะให้มีคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น


 


แต่จริง ๆ แล้วในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่เคยมีช่วงระยะเวลาที่ออกกฎหมายได้เร็วขนาดนี้ เช่น การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หลายท่านอาจจะบอกว่าอาชญากรรมคอมฯ เยอะ น่าจะมีการจัดระเบียบ แต่พอไปดูรายมาตราจะเห็นว่า ความจริงการเข้าไปตรวจสอบหรือเข้าไปดู หรือฟังรายการ หรือการต้องเก็บข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบ เป็นเรื่องที่ต้องกระทำโดยอำนาจรัฐ โดยไม่ต้องแจ้งให้บุคคลที่ให้บริการคอมฯ หรือให้บริการอินเตอร์เน็ตอยู่ทราบ


 


 


นั้นหมายความว่า ตร.เข้าไปค้น หรือจับโดยที่ไม่ต้องมีหมายศาล ลักษณะจะคล้ายกันใช่ไหม


คล้ายกัน เพราะจริงๆ แล้ว สิทธิมนุษยชนไม่มีเลย เพราะใครเข้าไปใช้ของคุณก็จะต้องถูกตรวจสอบย้อนหลัง ไม่ใช่แค่ของผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการก็จะโดนด้วย แล้วก็เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล คือเจ้าหน้าที่ สามารถเข้าไปค้น ยึด อายัดสื่อคอมฯ ได้ ซึ่งก็ไม่ต่างกับ ก.ม.ยึดแท่นพิมพ์ หรือ กฎหมายควบคุมเครื่องส่งกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์


           


ฉะนั้น ตรงนี้ก็จะทำให้เกิดคำถามว่า แล้วในสถานการณ์ทางการเมืองที่รัฐอยากควบคุมความคิดเห็นของ ประชาชน มันอาจจะเป็นช่องทางในการเลือกปฏิบัติให้รัฐเข้าไปยึด ตรวจค้น ปิดเว็บไซต์ที่รัฐไม่ชอบ หรือแม้กระทั่ง ร่างพ.ร.บ.ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ฟังดูแล้วดูเหมือนกับจะดี


 


แต่พอไปอ่านในรายละเอียดแล้ว ก็จะครอบคลุมถึงเรื่อง ภาพ เสียง แม้กระทั่งรอยสัก ถ้ามีลักษณะยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ในที่นี้ก็คือ ยั่วยุอารมณ์ทางเพศ ซึ่งความหมายกว้างมาก ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติในการที่จะตีความ เช่น มีวัยรุ่นซักคนกำลังอยู่ในวัยที่ชอบความท้าทาย สักรูปที่ดูค่อนข้างจะโป๊ นิดๆ ก็จะถูกจับแล้ว ซึ่งความจริงแล้วก็อาจเป็นแค่การเตือนโดยผู้ปกครองหรือโรงเรียน ให้เขารู้จักความเหมาะสม ควรไม่ควรก็น่าจะพอแล้ว


 


ในกรณีที่ผ่านมาก็มี กรณีที่ได้รับการยกตัวอย่าง อย่างกว้างขวางมาก มีเจ้าหน้าที่ไปค้นแล้วจับ เจ้าของร้านหนังสือการ์ตูน และให้เหตุผลว่า ร้านนั้นขายการ์ตูนโดราเอมอน ซึ่งมีภาพที่ยั่วยุพฤติกรรมอันตราย เพราะชิซุกะซึ่งเป็นเด็กผู้หญิงที่ตัวละครในเรื่องหลายคนชอบเธอและเป็นคนเรียบร้อย แต่ว่าชิซุกะใส่ชุดอาบน้ำ ถ้าใครรู้จักการ์ตูนโดราเอมอนดีก็จะรู้สึกว่ามันไม่น่าไปเกี่ยวกับ การยั่วยุพฤติกรรมอันตราย


           


ก็เลยคิดว่า แล้วการใช้วิจารณญาณตรงนี้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ใช้ก็แปลว่า เจ้าหน้าที่อาจเลือกปฏิบัติ


 


 


หมายความว่ากระบวนการตัดสินใจ เรื่องของอำนาจการจัดการ มอบให้กับทางเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไป การชี้เป็นชี้ตาย หรือว่าชี้ ผิด-ถูก เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ใช้ดุลพินิจของตนเอง แล้วอะไรคือหลักการใหญ่ในการตัดสินใจร่วม


ตรงนี้ยังไม่แน่ชัดค่ะ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. เหล่านี้ ไม่ได้ระดมความเห็นที่กว้างขวางพอ ยกตัวอย่างเมื่อย้อนกลับมาที่ รัฐธรรมนูญมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญปี 50 จะเห็นว่าที่รัฐบาล ระบุว่ามีการให้สิทธิมีการระดมความคิดเห็นต่าง ๆ มากมาย ดิฉันคิดว่ามันไม่เพียงพอ และความคิดเห็นของนักวิชาการและภาค ปชช. ไม่ได้รับการรับฟัง


 


เช่น ก่อนหน้านี้ สมาคมวิชาชีพด้านวิทยุโทรทัศน์ ส่วนภาควิชาการ องค์กรเอกชน รวม 26 องค์กร ก็ได้คัดค้านการหลอมรวมองค์กรอิสระแล้ว และในเครือข่ายนี้จะยกบางองค์กร เช่น สถาบันนักวิชาการ สื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (สสมท.) คระวารสารศาสตร์ มธ. นิเทศศาสตร์จุฬา สื่อสารมวลชน มช. ทั้งหมดนี้ก็ได้คัดค้านกันมาแล้ว และให้เหตุผลชัดเจนเลยว่า ขัดต่อเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่ออย่างไร จะปิดกั้นโอกาสการเข้าถึงสื่อของผู้ประกอบการรายย่อยและภาคประชาชนอย่างไร จะไม่ให้หลักประกันด้านการผูกขาดสื่อโดยรัฐและทุนใหญ่ ก็อธิบายเหตุผลชัดเจนมาโดยตลอด


 


แต่ความเห็นรัฐก็ยังเป็นความเห็นหลัก ซึ่งเป็นความเห็นที่ทำให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับร่าง รัฐธรรมนูญซึ่งชี้ให้เห็นว่าองค์กรที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และองค์กรที่ศึกษาและรู้จัก หรือเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงยังไม่ได้มีโอกาสที่จะ เข้าไปมีโอกาส มีพื้นที่ในการนำเสนอเหตุผล มันก็เลยสะท้อนว่าแล้วพอถึงอนาคต ยิ่งมีการผลักดัน พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งมันก็ยิ่งน่ากลัวว่า พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เหมือนกับเป็นอำนาจซ้อนรัฐ มันก็เหมือนกับการที่กฎหมายทุกฉบับอาจจะกลายเป็นหมันไปเลยก็ได้ ถ้ากฎหมายว่าด้วยความมั่นคงนี้มีอำนาจ


           


เพราะการให้สิทธิบอกว่าให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่การปฏิบัติกฎหมายตัวนี้จะถูกเป็นข้ออ้างว่า แม้ รัฐธรรมนูญจะเปิดโอกาสให้คุณได้ใช้สิทธิ แต่ในขณะเดียวกันคุณทำผิด กฎหมายความมั่นคง แล้วกฎหมายความมั่นคง สามารถไปใช้ 8 ฉบับที่เป็นนัยยะที่ส่อให้เห็นว่า เรื่องทั้งหมดที่ทำไม่ได้ทำแค่ผิดกฎหมายเฉพาะเรื่องเท่านั้น แต่เป็นการผิดเรื่องของความมั่นคงด้วย ก็เลยเหมือนเราย้อนยุคไปสู่ยุคที่เราแบ่งขั้วความคิดและมองคนคิดต่างเป็นศัตรู ซึ่งยุคนั้น ความรุนแรงในสังคมไทยจะเข้มข้น


 


 


ผลกระทบในแง่ระบบอำมาตยาธิปไตยกลับเข้ามาโดยเฉพาะในเรื่องของสื่อ อาจารย์คิดว่าในกระบวนการพัฒนาการของประชาธิปไตยในสังคม จะชะงักหรือดิ่งลงไปตรงไหน


ก็หวังว่ามันจะไม่ดิ่งลง แต่วันคงต้องชะงักแน่นอน และมีแนวโน้มที่จะต้องระวังอย่างมาก เพราะมันจะกลับไปสู่ยุคที่ข้อมูลข่าวสารถูกครอบงำโดยวิธีคิดจากภาครัฐอย่างเดียว ไม่ค่อยมีช่องทางในการสื่อสาร มันก็จะสะท้อนว่าสังคมไม่มีความอดทนต่อความเห็นต่าง


 


ฉะนั้น มันก็อาจจะนำไปสู่การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้กฎหมายหลายฉบับ ภายใต้ความคิดเกี่ยวกับเรื่องความรักษาความมั่นคงของชาติไปจัดการคนที่คิดต่าง และถ้าประชาชนไม่มีช่องทางที่จะสะท้อนความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น ความรุนแรงในการจัดการ คนคิดต่าง ก็จะเข้มข้นทวีคูณ เพราะการปิดกั้นความคิดนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม และนำไปสู่การเผากรมประชาสัมพันธ์มาไม่รู้กี่รอบแล้ว


 


และพอมีการปฏิรูปสื่อซึ่งเห็นว่าน่าจะนำไปสู่ยุคที่ความเห็นต่าง เป็นความเจริญงอกเงยของสังคมประชาธิปไตย ทุกคนมีความอดทนอดกลั้นสูง กลายเป็นยุคที่จะไม่อดทนอดกลั้น เป็นยุคที่คนเห็นต่างจะถูกเบียดให้ตกขอบหรือถูกทำลายไป ดังนั้น ถ้ารัฐบาลสนับสนุนกฎหมายแบบนี้ และคนเห็นต่างก็ยังไม่มีพื้นที่วันหนึ่งความรุนแรงก็มีโอกาสเกิดขึ้น


 


 


อาจารย์คิดอย่างไรกับการลงประชามติที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 ส.ค.นี้


ดิฉันคิดว่า ก็เป็นสิทธิของประชาชนแต่ละท่านที่จะลง แต่อยากขอร้องว่าการลงประชามติขอให้ฟังความเห็นให้รอบด้าน แต่ในแง่ของเครือข่ายสื่อภาคประชาชน ก็ได้แถลงการณ์ไปเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา และได้แสดงจุดยืนในด้านสิทธิเสรีภาพด้านสื่อ


 


เพราะเราเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิรูปสื่อ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net