Skip to main content
sharethis


โดย รัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ


พรรคแนวร่วมภาคประชาชน


 


 


ปวงชนชาวไทยทุกคนทราบดีครับว่าวันที่ 19 สิงหาคมนั้นเป็นวันที่พวกเราต้องไปลงประชามติ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อก้าวต่อไปของประชาธิปไตยที่ถูกทาง พวกเราทุกคนทราบดีว่า รัฐธรรมนูญนี้มีข้อเสียแอบซุกซ่อนเอาไว้อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น…


(ถ้าท่านทราบเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญดีแล้วให้ข้ามประเด็นเหล่านี้ไปอ่าน พาร์ทต่อไปได้เลย)


 


ประเด็นที่ 1 เรื่องการสืบทอดอำนาจ


มาตราที่ 308 เกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการปฎิรูปกฏหมาย โดยคณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน


มาตราที่ 111 เกี่ยวกับการสรรหา ส.ว. ถึง 74 คนที่มีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน


            สะสมอีก 2 คนเป็น 76 คนจะเป็นเสียงข้างมากในสภา


สะสมอีก 16 คนเป็น 90 คนจะสามารถถอดถอนทุกตำแหน่งทางการเมืองได้ไม่เว้นแม้แต่นายกรัฐมนตรี


อีกทั้ง ส.ว. ชุดนี้ยังมีส่วนในกระบวนการการสรรหาองค์กรอิสระ


และยังทำการคัดค้าน ข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาตรา 291 ระบุไว้ได้อีกด้วย


            ตรงจุดนี้เราต้องทำความเข้าใจ อย่าไปเชื่อคำโกหกของ ส.ส.ร. ว่าต่างประเทศก็มีการสรรหาสภาสูงกัน เราต้องดูที่อำนาจหน้าที่สภาสูงของต่างประเทศที่ทำการสรรหามา ว่ามีอำนาจหน้าที่แตกต่างจาก ส.ว. ไทย


 


ประเด็นที่ 2 ความไม่เท่าเทียม


ข้อความส่วนหนึ่งของมาตราที่ 77 ระบุว่า รัฐต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ ในขณะที่มาตรา 84 วรรค 3 ลดเงินสวัสดิการของประชาชนผ่านวาทกรรมเรื่อง การรักษาวินัยทางการคลัง 2 มาตรานี้บอกอะไรแก่เรา? 2 มาตรานี้บอกเราว่า รัฐต้องมีเงินให้ทหาร แต่ไม่ต้องมีเงินให้ประชาชนในการสร้างสวัสดิการต่างๆ ให้ประชาชน


 


ประเด็นที่ 3 รัฐธรรมนูญนี้สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจแบบ เสรีนิยมมากว่าเดิม


            มาตราที่ 84 วรรค 1 สนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรี


            มาตราที่ 84 วรรค 11 สนับสนุนให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจถึง 49%


            เราทุกคนเคยเจ็บช้ำกับการต่อต้านการแปรรูป รัฐวิสาหกิจมาแล้ว ต่อต้านการแปรรูปมหาวิทยาลัยนอกระบบมาแล้ว เจ็บช้ำกับการทำสัญญาการค้าเสรีมาแล้ว (แม้ว่าส.ส.ร.จะบอกว่าทำ FTA ต้องผ่านรัฐสภาก่อนก็ตาม แต่เราไม่เห็นด้วยกับการทำสัญญา FTA) แสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้คนส่วนมากของสังคมอย่างแท้จริง


 


ประเด็นที่ 4 กฎหมายลูก


            รัฐธรรมนูญฉบับนี้สอดรับกับร่าง พ.ร.บ. ต่างๆ ที่ลิดรอนสิทธิประชาชนซึ่งคณะรัฐบาลชุดนี้ต้องการออกมาได้ทุกร่างไม่ว่าจะเป็น


            ร่าง พ.ร.บ. ปกครองท้องที่ ร่าง พ.ร.บ. บริหารแผ่นดิน


ร่าง พ.ร.บ.ข่าวกรอง ร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงแห่งชาติ


 


 ประเด็นที่ 5 ที่มา


            มาจากการรัฐประหาร และจะสร้างวัฒนธรรมการรัฐประหารให้อยู่คู่กับสังคมไทยต่อไปในอนาคต


ผมเชื่อว่า ถ้าปวงชนชาวไทยได้รับทราบและตระหนักถึงความจริงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พวกเขาจะกาช่องไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อนำฉบับ 40 กลับมาใช้และเรียกร้องให้มีการปฎิรูปการเมืองหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 แน่นอน แต่โจทย์ที่แท้จริงตอนนี้คือเรื่องของประชามติ ว่าการทำประชามติครั้งนี้นั้นยุติธรรมจริงหรือเปล่า? เราลองมาดูตัวอย่างกันสัก 6 กรณี


 


            กรณีที่ 1 กรณีการลงประชามติภายใต้กฏอัยการศึก 35 จังหวัด


กฏอัยการศึกนั้นไม่อนุญาติให้พวกเรารณรงค์ให้พี่น้องของพวกเราชาวไทย ทราบข้อเสียของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ อีกทั้งยังมีสื่อของทางภาครัฐ กรอกหูทุกๆวันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่เอื้อสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนมากที่สุด


 


            กรณีที่ 2 กรณีผู้ใช้แรงงาน


 ผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก (นับแสนๆ คน หรือ อาจจะถึงล้าน) ซึ่งเป็นผู้เสียประโยชน์โดยตรงต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่สามารถกลับบ้านที่ต่างจังหวัดไปเพื่อลงประชามติได้ และส่วนมากจะสูญเสียสิทธิในการลงประชามติ


 


กรณีที่ 3 การโฆษณาของภาครัฐ


            กรณีที่ 3.1 ถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้เลือกตั้งช้า กรณีการเลือกตั้งนั้นขึ้นอยู่กับความจริงใจของรัฐบาลชุดนี้ เขาทำตัวเหมือนโจรที่เอาการเลือกตั้งมาเป็นตัวประกันให้คนยอมรับร่างเพื่อที่เขาจะปล่อยตัวประกันให้เป็นอิสระ และเขาก็จะสืบทอดอำนาจต่อไปได้อย่างมีความสุข (ย้อนดูประเด็นที่ 1)


           


กรณีที่ 3.2 รับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อในหลวง ผมเชื่อว่าการที่เราจะชอบ หรือไม่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เกี่ยวกับความจงรักภักดีใดๆ ทั้งสิ้น


           


กรณีที่ 3.3 เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลกับเวลาที่เสียไป และงบประมาณแผ่นดินที่เสียไป (จากคำอ้างของ ดร.ปัญญา อุดชาชน) ในประเด็นนี้ผมมองว่า รัฐไม่ควรจะปฎิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ และรัฐธรรมนูญที่ออกมาก็ไม่ชอบธรรมเพราะสรรหา บุคคลไปนั่งในสภาร่างรัฐธรรมนูญ 100 คนโดยไม่ผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยที่ยอมรับได้ ถ้ารัฐไม่อยากจะเสียงบประมาณแผ่นดินอย่างจริงใจ รัฐควรจัดให้มีการเลือกตั้งภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และค่อยมีการปฎิรูปการเมืองจะเป็นทางออกที่ดีกว่า


                       


กรณีที่ 3.4 รับไปก่อน เพราะรัฐธรรมนูญนี้เปิดโอกาสให้แก้ไขได้ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นแก้ไขได้ในมาตราบางมาตราที่ไม่สำคัญเพราะมี ส.ว. ที่มาจากการสรรหาถึง 74 คนที่สามารถคัดค้านการเสนอแก้รัฐธรรมนูญของภาคประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จ


           


กรณีที่ 3.5 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนประชาชนจาก 5หมื่นชื่อ เหลือ 1หมื่นชื่อเพื่อเสนอร่างกฏหมาย แต่กฏหมายใดๆ ที่ ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้ออกมา ก็สามารถใช้ ส.ว. สรรหา 74 คนคัดค้านได้ การให้แก้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญได้ ส.ว.สรรหา 74 คนก็สามารถคัดค้านได้


 


กรณีที่ 4 ความกลัวของประชาชนที่ถูกสร้างมาจาก…


กรณีที่ 4.1 ถ้าเราไม่รับร่าง คมช. สามารถไปดึงรัฐธรรมนูญฉบับใดมาปรับแก้และนำไปใช้ก็ได้ ผมอยากเรียนถามทุกๆ ท่านที่เชื่อแบบนี้จริงๆ นะครับ ถ้ารัฐธรรมนูญ 2550 ที่เขาอ้างว่าดีนักหนาไม่ผ่าน เขาจะกล้าเอาฉบับที่แย่กว่ามาให้ใช้เหรอครับ?


 


กรณีที่ 4.2 กลัวผิดกฎหมาย ตอบ การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผิดกฏหมายครับ


 


กรณีที่ 4.3 กลัวทักษิณกลับมามีอำนาจ (จากวาทกรรมของฝ่ายพันธมิตรประชาชนพื่อประชาธิปไตยที่แสดงท่าทีสนับสนุนการรัฐประหารตลอดเวลา) เราต้องตีโจทย์ให้ออกก่อนว่าตอนนี้ เรากำลังจะรับรัฐธรรมนูญที่จะเป็นภาระกับเรา และลูกหลานเราต่อไปในอนาคต ไม่ใช่รับอาวุธวิเศษในการปราบปรามทักษิณ การที่ทักษิณจะกลับมามีอำนาจนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะการกระทำของทักษิณว่าทำอะไรบ้างนั้น กระจ่างชัด แต่เราก็เชื่อว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นเราสามารถป่าวประกาศความผิดของพวกเขาได้อย่างเสรี ไม่เหมือนกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารที่ประกาศกฎอัยการศึกเป็นเวลาเกือบ 11 เดือนแล้ว และให้ประชาชนทำประชามติโดยยังไม่มีการยกเลิกกฏอัยการศึก (กรณี 35 จังหวัดทำประชามติใต้กฎอัยการศึก)


 


กรณีที่ 4.4 กลัวจะเสียเนื้อหาที่ดีๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไป เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบางส่วนที่ก้าวหน้า เช่น การยกเลิกโทษประหาร หรืออะไรก็ตาม แต่เนื้อหาเหล่านี้มาจากการผลักดันของภาคประชาชน อีกทั้งเนื้อหาในอีกหลายๆ ส่วนยังแย่อยู่ (กลับไปดูประเด็นด้านบน) ดังนั้นเราจึงไม่ควรเสียดายเนื้อหาบางส่วนในรัฐธรรมนูญนี้ เพราะถ้าเราปฎิรูปการเมืองเนื้อหาในส่วนที่ก้าวหน้าต้องมีการยกมาพูดถึงในรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปแน่นอน


 


กรณีที่ 5 ความเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลาการลงประชามติ 


ที่มีการยืดเวลาไปถึง 4 โมงและยืดเวลาต่อไปเรื่อยๆ

จนกว่าคนทุกคนที่มาแสดงตนใช้สิทธิออกเสียงที่อยู่บริเวณคูหาและยังไม่ได้รับบัตรลงประชามติจะลงเสร็จ ตรงจุดนี้อยากจะตั้งข้อสังเกตไว้เฉยๆ เพราะปกตินั้นหีบเลือกตั้งจะปิด 3 โมงและไม่มีการต่อเวลาให้กับผู้ที่ต่อแถวอยู่บริเวณคูหา เพื่อที่จะเป็นการป้องกันการโกงในการนับคะแนนที่จะต้องนับในช่วงดึก


 



จาก http://www.ect.go.th/thai/referendum/referendum.html 


 


            กรณีที่ 6 เวลาในการพิรจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ให้ประชาชน


มีเวลาในการอ่านร่างที่สมบูรณ์แล้วเพียง 1 เดือนเท่านั้นซึ่งน้อยมากถ้าจะต้องอ่านร่างรัฐธรรมนูญให้เข้าใจ และเห็นจุดบอดทั้งเล่ม อาจจะยังมีกรณีอื่นที่ผมมองข้ามไปบ้าง เช่น ทหารมีอิสระในการไปลงประชามติจริงหรือ? (อันนี้เป็นคำถามนะครับ)


 


กรณีอื่นๆ ที่เป็นปัญหา


ความไม่ทันเกมส์การเมืองของนักวิชาการบางคน ที่ชอบอ้างว่า ถ้าเราไปลงประชามติวันที่ 19 สิงหาคมเท่ากับเรายอมรับความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พศ.2549 การมองแบบนี้เป็นการมองที่คับแคบและไร้คำตอบที่จะให้แก่ประชาชน คุณละเลยการออกเสียงของประชาชนโดยการรณรงค์ให้มีการทำบัตรเสียบ้าง รณรงค์ให้มีการไม่ไปออกเสียงประชามติบ้าง ซึ่งการกระทำเหล่านี้นั้นจะเอื้อประโยชน์ให้ คมช. ซึ่งพยายามจะแบ่งมวลชนของฝ่ายเราออกเป็น 2 สาย สายหนึ่ง Vote No อีกสายหนึ่ง No Vote ว่ากันตามตรง ถ้าเราเอา Vote No กับ No Vote มารวมกันเราอาจจะ "มีลุ้น" ในการที่ร่างจะไม่ผ่านก็เป็นได้


           


แล้วถ้าเรา No Vote แล้วร่างมันผ่าน ผมอยากถามพวกนักวิชาการพวกนี้ เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นะครับว่า ถ้าร่างผ่านแล้วคุณจะเสนอให้ประชาชนทำอะไรต่อ? ละเมิดรัฐธรรมนูญ ให้โดนจับติดคุกฟรีๆ ใช่มั้ย?


           


หรือว่าอย่างไรครับ?


           


คุณต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า เปอร์เซ็นต์ต่อผลการเลือกตั้งมีผลอย่างไรต่อท่าทีของ คมช. ที่จะทำหลังผลการประชามติ ถ้าเปอร์เซ็นต์ที่เขาชนะมันสูงๆ เขาจะกล้าทำอะไรหลายๆ อย่างโดยไม่ต้องกลัวเสียงของประชาชน เพราะมีความชอบธรรมเป็นเสียงข้างมาก แต่ถ้าเปอร์เซ็นต์ที่เขาชนะมันสูสีใกล้เคียงการจะทำอะไรแบบโจ่งแจ้ง คงต้องเกรงใจประชาชนบ้าง


 


            ข้อเสนอของผม


1.ก่อนการลงประชามตินะครับ เราควรจะร่วมกันประณาม และบอกกล่าวให้ประชาชนทั่วไปรับทราบมากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ เกี่ยวกับความฉ้อฉลของการลงประชามติครั้งนี้


 


2.เราควรใส่เสื้อสีดำไปลงประชามติ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และมีการรณรงค์ให้ใส่เสื้อสีดำไปกาช่องไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อที่เวลาภาพข่าวออกมาแล้วถ้ามีคนใส่เสื้อดำเยอะๆ แต่ว่าร่างรัฐธรรมนูญ50 นี้บังเอิญผ่านขึ้นมา


 


เราจะเห็นถึงความ ขัดแย้งกันของสิ่งที่ตาเห็นกับคะแนนที่ออกมา และจากนั้นเราจะมีความชอบธรรมในการต่อสู้กับรัฐธรรมนูญเถื่อนนี้ทันทีจากภาพข่าวที่ออกมา


 


ปล. บทความฉบับนี้สามารถแจกจ่ายได้ทุกๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็น ทางอินเทอร์เน็ต ปริ้นท์เพื่อแจกจ่าย ฯลฯ โดยไม่ยินยอมให้แก้เนื้อหาใดๆ ภายในบทความ เพื่อใช้ในการรณรงค์ให้คนสวมเสื้อดำไปกาไม่รับร่าง รัฐธรรมนูญ


 


สำหรับคุณงามความดีใดๆ ที่ท่านพึงพอใจในบทความชิ้นนี้ขอยกให้เป็นคุณงามความดีของพรรคแนวร่วมภาคประชาชน ที่หล่อหลอมแนวความคิดต่างๆ ขึ้นมาแก่ผู้เขียน แต่สำหรับส่วนที่ไม่ดีใดๆ อาจเป็นส่วนของความบิดเบี้ยวทางความคิดของผู้เขียน ทางผู้เขียนขอน้อมรับด้วยตัวเองด้วยความเต็มใจ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net