บทความ: เมื่อ นศ.ป.โท มช. วิพากษ์ต้องโหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญทองเค พ.ศ. 2550

ชัยพงษ์ สำเนียง                                                                                                   
นศ.ปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์
 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

1.ที่มาไม่ชอบธรรม                                                                                                         
ร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 เกิดจากคณะรัฐประหารภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คมช.) ทำการโค่นล่มอำนาจรัฐบาลพลเรือน สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้ารัฐบาล และกล่าวหารัฐบาลทักษิณว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบ กอบโกยผลประโยชน์เข้าสู่พวกพ้องวงศ์ตระกูลของตนเองนั้น

อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นรัฐบาลทักษิณ เป็นรัฐบาลพลเรือนที่ได้อำนาจมาด้วยฉันทานุมัติจากประชาชน ฉะนั้น การจะล้มล้าง หรือทำลาย (ไม่ไว้วางใจย่อมเป็นอำนาจของประชาชนในการตรวจสอบเคลื่อนไหวตามกรอบของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ และกระบวนการกำลังจะดำเนินไป?) มิใช่เกิดจากคมหอกกระบอกปืนที่จะมาโค่นล้ม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคมหอกกระบอกปืนและผู้ถืออาวุธ (ที่ซื้อมาจากภาษีประชาชน) มีอำนาจมากกว่า "เสียงและสิทธิ" ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ

การรัฐประหารครั้งนี้ ได้ชี้เห็นถึง "ประชาธิปไตยแบบไทย" ที่สร้างบรรทัดฐานของการใช้อำนาจในการล้มล้างสถาบันทางการเมืองต่างๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภา รัฐบาล ฯลฯ รวมถึง "รัฐธรรมนูญ" ที่เป็นเสมือนเครื่องมือจัดความสัมพันธ์อำนาจของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม

และการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยังแสดงให้เห็นวุฒิภาวะของสังคมไทย ที่เป็น "สังคมพึ่งพิง" ที่ต้องการใช้ "อำนาจอื่น" ทั้งในระบบและนอกระบอบมาแก้ปัญหาของชาติมากกว่าใช้วิถีทางตาม "ครรลอง"

สังคมไทยเมื่อตราบใดยังเรียกร้องหา "อำนาจอื่น" มาแก้ไขปัญหา สังคมไทยย่อมไม่เกิดการเรียนรู้ ปล่อยให้ชนชั้นนำเป็นผู้เล่น "เกมส์แห่งอำนาจ" กำหนดทิศทางประเทศที่พวกเราเป็นเจ้าของ ไปตามใจชอบ พอเสวยอำนาจก็ไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการ นำประเทศ "ตกเหว" อย่างนี้ต่อไปนะหรือ

ในการนี้ คณะรัฐประหารได้จัดตั้งกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม แม้คณะรัฐประหารจะอ้างชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย แต่กระบวนการถือว่าไม่ถูกต้อง เป็นปฏิกิริยาต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งวิธีการรัฐประหาร หรือการใช้ความรุ่นแรงในการยึดอำนาจไม่ถือว่าเป็นกระบวนการ "แก้ไขปัญหา" ในระบอบประชาธิปไตย

ฉะนั้น องค์กร บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารจึง "ไม่ถูกต้องชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยพูดง่ายๆ ว่าเป็น "องค์กรเถื่อน" (ถ้าเรายังศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยที่มีหัวใจสำคัญว่า "อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวไทย")

อำนาจในวิถีทางประชาธิปไตยย่อมมาจาก "มวลมหาชนองค์กร หรือกลุ่มคนใดที่จะเป็นตัวแทนของประชาชน ในการร่างรัฐธรรมนูญย่อมมาจากประชาชน มิใช่มาจากการรัฐประหาร และด้วยเหตุผลข้างต้น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 จึงเป็น "องค์กรเถื่อน" ในวิถีทางประชาธิปไตย ไม่มีความชอบธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น เพราะมาจากรัฐประหารมิใช่มาจากประชาชน

ฉะนั้น รัฐธรรมนูญที่ร่างโดย "องค์กรเถื่อน"ในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่มีความชอบธรรม และไม่สามารถเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ในการปกครองประเทศได้อย่างชอบธรรม

ถึงเวลาแล้วครับที่พี่น้อง "ประชาชน" ต้องออกมาแสดงพลัง เพื่อบอกให้ "อำนาจอื่น" ทั้งทหาร ข้าราชการ ขุนศึก "ศักดินา" กลับกรมกองบ้านช่องของตนเองได้แล้ว โดยการ "โหวตล้มรัฐธรรมนูญเถื่อน" ที่ร่างโดย "องค์กรเถื่อน"

      2. ความไม่สมดุลในการจัดโครงสร้างเชิงอำนาจในรัฐธรรมนูญ                                 

รัฐธรรมนูญในสังคมต่างๆ เป็นเครื่องมือในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนกลุ่มต่างๆในสังคม เพื่อสร้างความเสมอภาค เท่าเทียมและปกป้องสิทธิเสรีภาพของกลุ่มต่างๆ เพื่อให้สังคมเกิดดุลยภาพ และเกิดสันติประชาธรรม

รัฐธรรมนูญจึงมีความจำเป็นต้องสร้างดุลแห่งอำนาจของคนกลุ่มต่างๆ อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (เท่าที่จะเป็นไปได้) จะให้อำนาจตกแก่กลุ่มใดมากไปไม่ได้

แต่ร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างจากความกลัว "ระบบทักษิณ" จึงสร้างระบบที่ดึงอำนาจสู่ชนชั้นนำ (ที่อ้างว่ามีคุณธรรม ความดีมากกว่าคนอื่นในสังคม แต่ก็พิสูจน์มานักต่อนักว่าไม่จริง)

การดึงอำนาจไปแขวน หรือฝากไว้กับชนชั้นนำ หรือองค์กรต่างๆ ที่ต่างอ้างคุณงามความดี นำมาสู่ปัญหาในการตรวจสอบ ปัญหาในการจัดความสมดุลของอำนาจ ความลักลั่นของบทบัญญัติที่ไม่อาจเป็นจริงได้ เช่น

1. การคัดสรรวุฒิสมาชิกจำนวน 74 คนจากจำนวน 150 คน เราไม่อาจตรวจสอบได้ว่าบุคคลที่ถูกคัดสรรเป็นคนที่ "ดี" และทำงานให้แก่ประชาชนได้จริงหรือไม่ รวมถึงวุฒิสมาชิกที่มาจากการคัดสรร (แต่งตั้ง)หลุดลอยจากการตรวจสอบของประชาชน เพราะคนเหล่านี้จะไม่คำนึงถึงคะแนนนิยมจากประชาชน เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงไม่จำเป็นต้องห่วงคะแนนเสียง และเมื่อเกิดญัตติสาธารณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยก็ไม่มีกระบวนการกดดันวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งนี้ได้เลย

นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังสร้างองค์อิสระ (ที่คิดว่าเป็น "เทวดา") มาควบคุม ตรวจสอบ องค์กรต่างๆ ที่ล้วนเลือกสรรจากชนชั้นนำ เช่น ผู้พิพากษา อธิบดี ปลัดกระทรวง เข้ามาเป็นคณะกรรมการ ซึ่งองค์กรเหล่านี้หลุดลอยจากการตรวจสอบของประชาชนโดยสิ้นเชิง

2. ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติมาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ในหลายที่ แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงเลย เพราะองค์กรปฏิบัติต่างๆ เช่น ข้าราชการไม่นำพาต่อเสียงของประชาชน ยิ่งหลังการรัฐประหาร 19  กันยายน 2549 ยิ่งมีการเอ่ยอ้างว่าเป็นคณะรัฐประหารภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าข้าราชการไม่จำเป็นต้องรับใช้ประชาชน ทั้งๆ ที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน แต่ในทางกลับกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้างให้ข้าราชการเป็น "นาย"ประชาชน

รวมถึงการอ้างว่าเป็นข้าราชการ"ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ยังเป็นกระบวนการสร้างเกราะป้องกันการตรวจสอบของข้าราชการ ดังมีตัวอย่างข้าราชการหญิงนางหนึ่งอ้างว่าเป็นข้าราชการ"ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ"เพื่อปฏิเสธคำถามต่อสื่อมวลชน ข้าราชการจึงมีสถานะเป็น "นาย"ของประชาชน มิใช่ผู้รับใช้ประชาชน!?

รวมถึงการนำ "ข้าราชการแก่ๆ" ที่มีความคิดแบบ "ดึกดำบรรพ์"ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกมาเป็นรัฐมนตรีที่วันๆ ยุ่งแต่เครื่องแต่งกายของเด็กนักเรียนนักศึกษาคุณธรรม และมารยาทไทยแท้ซึ่งไม่แน่ว่ามีจริงหรือเปล่ามาบริหารประเทศ จนทำให้เกิดวิกฤตค่าเงิน บริษัทล้มระนาว คนตกงานเป็นเบือ ไม่เห็นอดีตข้าราชการแก่ๆ ที่อ้างว่ามีคุณธรรมแก้ปัญหาได้แม้แต่น้อย

แม้แต่การกำหนดให้ประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือการบัญญัติเรื่องสิทธิ อำนาจของท้องถิ่น แต่ก็ไม่อาจเป็นจริงได้เลย เมื่ออำนาจในการปฏิบัติยังอยู่ในมือข้าราชการ และก็ได้พิสูจน์มานักต่อนักแล้ว เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่ข้าราชการไม่เห็นด้วย สุดท้ายก็ตกไป (อย่ามาหลอกเลยครับท่านกรรมาธิการยกร่างเถื่อน)

3. ระบอบการอ้างคุณงามความดีอย่างพร่ำเพรื่อในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น คำว่าธรรมาภิบาล คุณธรรม พอเพียง โปร่งใส สุจริต ฯลฯ ล้วนเป็นคำที่ "โตๆ" และตรวจสอบ หาเกณฑ์มาตรฐานมาวัดไม่ได้ทั้งสิ้น และเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้าง "เทวดา" ท่ามกลางประชาชนที่คนร่างรัฐธรรมนูญมองว่า "โง่" "เลว" "ต่ำ" กว่าพวกที่ร่างฯ และกำลังจะเสวยอำนาจในองค์กรอิสระต่างๆ อยู่

คุณธรรม และความดีจึงไม่ใช่มาตรฐานในการวัดคนในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อทำงานให้แก่ประชาชน เพราะคุณธรรมความดีเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานรวมถึงวางอยู่บนฐานการตรวจสอบของสังคมนั้นด้วยมิใช่คำที่โต และโก้อยู่ลอยๆ เหมือนดังที่อ้างกันอยู่ ณ ปัจจุบัน และบางครั้งก็พิสูจน์แล้วว่าไอ้ที่อ้างว่ามีคุณธรรมความดี แต่แท้จริงโคตรโกงและเลวฉิ...หาย แต่ "หน้าเนื้อใจเสือ" เอาคุณธรรมความดีบังหน้าก็มีถมไป

4. การดึงอำนาจออกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมารวมศูนย์อยู่ในระบบข้าราชการ ตามรัฐธรรมปี 2540 มีบทบัญญัติที่ต้องการให้พี่น้องประชาชนมีองค์กรที่ปกครองกันเองในท้องถิ่น เช่น อบต. อบจ. เทศบาล ฯลฯ เพื่อให้เกิดประชาสังคม คนท้องถิ่นตรวจสอบ ควบคุม คัดเลือกจากคนท้องถิ่น โดยการโอนกิจการบางอย่างให้ท้องถิ่นดำเนินการ และองค์กรเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นพัฒนาการมาในระดับหนึ่ง

แต่หลัง 19 กันยายน คณะรัฐประหารและรัฐบาลมีความไม่วางใจองค์กรท้องถิ่นเหล่านี้มองว่าเป็นกลุ่มอำนาจเก่าจึงมีการสลาย และทำลายให้องค์กรเหล่านี้อ่อนแอ โดยผ่านมติคณะรัฐมนตรีต่ออายุกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ สามารถดำรงตำแหน่งได้ถึงอายุ 60 ปี จากเดิมที่มีวาระปี เพื่อคานกับกลุ่มองค์กรท้องถิ่นจากเดิมที่ผู้ใหญ่บ้านเป็นองค์กรหนึ่งในการ "เล่นการเมืองของชาวบ้าน" ก็หลุดลอยกลายเป็น "ข้าราชการจำแลง" ไปในที่สุด

นอกจากนี้เหล่าผู้ดีเก่า (ๆๆๆๆ) ที่อ้างคุณงามความดีก็ "ใส่ป้าย" ว่าสมาชิกองค์กรส่วนท้องถิ่น คือ ที่มาของการทุจริต ต้องควบคุม ปราบปราม ต้องเอาข้าราชการที่อาจจะโกงยิ่งกว่ามาปราบโดยให้อำนาจในทางต่างๆ...พูดง่ายๆ คือ "ใช้โจรมาปราบโจร" นั่นเอง

5. การเปลี่ยนเขตเลือกตั้งให้ใหญ่ขึ้น ในกรณี ส.ส.ทำให้ ส.ส.ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน เพราะเขตที่ใหญ่ประชาชนไม่สามารถควบคุม หรือกดดันให้ ส.ส. ทำตามความต้องการของประชาชนได้ รวมถึงการที่ ส.ส.ในแต่ละเขตอาจมีไม่เท่ากัน บางเขตมี 1 คน 2 คน 3 คน ทำให้เกิดความลักลั่นว่าบางคนมี 1 เสียง เสียง 3 เสียงบ้าง

ท่านกรรมาธิการเห็นประชาชนคนไทยมีค่าไม่เท่ากันหรืออย่างไรจึงทำให้คนแต่ละคนมีสิทธิมีเสียงไม่เท่ากัน ฉะนั้นไอ้มาตราที่บอกคล้ายๆ ว่า "มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าเท่ากันโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติศาสนา" ก็ไร้ค่าสิครับ

      3.รัฐธรรมนูญทองเค                                                                                                      
ร่างรัฐธรรมนูญปี
2550 เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ในปฏิบัติไม่สามารถใช้ได้เลย เนื่องด้วยเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของบ้านเมือง เป็นร่างรัฐธรรมนูญของเผด็จการที่สร้าง "รัฐซ้อนรัฐ" คือ ในร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลายที่

แต่ในทางปฏิบัติ ทหารร่วมกับกลุ่มขุนนางข้าราชการกลับเสนอให้ออก พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในฯ ที่มีบทบัญญัติที่ขัดและแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การเข้าตรวจค้นบ้านประชาชนในกรณีที่อ้างความมั่นคงโดยไม่ต้องมีหมายศาล การจำกัดการชุมนุมของประชาชน หรืออะไรก็ตามที่อ้างเรื่องความมั่นคงก็สามารถดำเนินการได้

และการให้นิยามความมั่นคงก็นิยามโดยทหาร หรือผู้มีอำนาจฝ่ายเดียว ประชาชนไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ "ความมั่นคง" (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นความมั่นคงในการสืบทอดอำนาจของ คมช. หรือความมั่นคงของประเทศชาติและประชาชนกันแน่)

นอกจากนี้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังได้สร้างระบบ "นายกฯ สองคน" คือ "นายกฯ ฝ่ายพลเรือน" ที่อาจถูกทหารแทรกแซงเพราะไม่มีอาวุธในมือและอ่อนแอ รวมถึงรักษาผลประโยชน์ของตนเองเกินกว่าจะยอมทัดทานการใช้อำนาจของนายกฯ ทหาร

และ "นายกฯ ทหาร" หรือผู้บัญชาการทหารบกที่เป็น ผอ.รมน. ตาม พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในฯ ที่มีทั้งกำลังรบและอาวุธในมือ ซึ่งจะเป็นผู้นิยาม "ความมั่นคง" ของประเทศชาติและพวกพ้อง ซึ่งอาจมีอำนาจเหนือ "นายกฯ พลเรือน" เพราะมีอาวุธในกำมือ (ซึ่งก็ซื้อโดยภาษีประชาชนนี้ละ)

"นายกฯ ทหาร" จะสร้างเครือข่ายผ่าน กอ.รมน. ประจำจังหวัด ประจำอำเภอ ประจำตำบล โดยผ่านระบบข้าราชการ ก็แสดงว่าผู้ว่าฯ นายอำเภอมี "นายสองคน" แล้วท่านคิดว่าข้าราชการจะวางตัวอย่างไร แล้วนี่จะไม่บอกว่ามี "นายกฯ สองคน" ได้อย่างไร

การทำให้ประเทศไทยมี "นายกฯ สองคน" แบบเขมร (ซึ่งก็น่าจะดีไม่หยอกครับเจ้านาย) และไอ้ พ.ร.บ. "ความมั่นคง" นี้ละจะเป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งการชุมนุมเรียกร้อง การตรวจสอบ เคลื่อนไหวเพื่อรักษาความเป็น "คน" ก็จะถูกจำกัด

แล้วท่านกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่เห็นมีท่านใดออกมาคัดค้านสักพะหน่อ หมายความว่าไงครับ แปลว่าไอ้ร่างรัฐธรรมนูญของท่านมี "ศักดิ์" ต่ำกว่า พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ฉบับนี้อีกหรือ

ถ้าเป็นอย่างนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ "ทองเค ของเก๊" ซิครับโฆษณาขายชาวบ้านว่าเป็นของดีเป็นบทบัญญัติที่เพิ่มสิทธิเสรีภาพ และจะไม่มีกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.ฉบับใดมาขัดหรือแย้งไม่ได้ แล้วไอ้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่ทั้งขัดทั้งแย้ง มันคืออะไร ขอเสียงกรรมาธิการยกร่างหน่อยครับ

นี่แค่พระราชบัญญัติความมั่นคงฯ ที่กำลังจะออกฉบับเดียวนะครับ ไม่รวมมติคณะรัฐมนตรีในเรื่อง ต่ออายุกำนันผู้ใหญ่บ้าน การปิดเขื่อนปากมูน ล้วนเป็นมติที่ขัดแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งนั้น แล้วจะให้เรา(ประชาชน) รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้อย่างไร ในเมื่อมันไม่สามารถปฏิบัติได้จริงเลยในหลักการ

ท้ายสุดถ้าพี่น้องประชาชนเห็นว่า

"การรัฐประหารไม่ใช่วีถีทางประชาธิปไตย"

"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างปัญหาให้สังคม"

"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง"

"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ข้าราชการเป็น "นาย"ประชาชน"

"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำลายองค์กรส่วนท้องถิ่น"

"ร่างรัฐธรรมนูญเป็นทองเค ไม่ใช่ทองแท้" ฯลฯ

พวกเราต้องร่วมกัน "โหวตล้ม" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้ทหาร ข้าราชการศักดินา กลับกรมกองบ้านช่องไปซะ เพราะประเทศนี้เป็นประเทศของประชาชน ซึ่ง "ฟ้าจะเป็นสีทองผ่องอำไพประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน"

"ขอเชิญพี่น้องออกไปลงประชามติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ในวันที่ 19 สิงหาคม ศกนี้ เพื่อคืน "ประชาธิปไตย" สู่สังคมไทย"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท