Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 14 ส.ค. 50 ในงานเสวนาเรื่อง "แลไปข้างหน้า สังคม-การเมืองไทยหลังลงประชามติ 19 สิงหาคม" ซึ่งเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ร่วมกันจัดขึ้น ณ ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มธ. เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมานั้น


 


ในวงเสวนา ประกอบไปด้วย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เข้าร่วมวงเสวนา


 


"ประชาไท" เก็บความทัศนะของแต่ละท่าน ที่มีต่อมุมมองของการ "แลไปข้างหน้า" ภายหลังการลงประชามติรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 สิงหาคมที่จะถึงนี้


 


 


000


 


พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์


คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


5 คำถามที่มองแบบ "แลไปข้างหน้า"


รัฐธรรมนูญแบบไหนที่เราได้ใช้ หากประชามติให้ผ่าน?


การเมืองแห่งความกลัว.. ขดลวดสปริงที่ชำรุด?


สิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2550?


แรงกดดันที่ลดลงจากสังคม?


ลดการผูกขาดอำนาจรัฐในรัฐธรรมนูญใหม่?


 


 


 


"ข้อมูลมีหลายแบบ อยู่ที่จะเชื่อแบบไหน" พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มประเด็นโดยยกตัวอย่างล่าสุดที่เกิดขึ้นว่า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำสำรวจความเห็นประชาชนพบว่า จะมีประชาชนที่ออกมารับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ถึง 70% แต่ขณะเดียวกัน เมื่อทำสำรวจภายในชุมชนรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เอง กลับพบว่า เสียงของผู้ไม่รับร่างกลับสูงกว่า คือ มีผู้ไม่รับร่าง 174 เสียง มีผู้รับร่าง 171 เสียง และบัตรเสียทั้งหมด 8 ใบ โดยจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมดมีมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานของการเลือกตั้งที่ผ่านมา


 


นั่นคือ ข้อมูลมีอยู่หลายแบบ อยู่ที่จะเชื่อแบบไหน โดยพิชญ์ท้าทายให้ผู้เข้าร่วมเสวนาคิดว่าข้อมูลใดมีความน่าสนใจกว่า ระหว่างการสำรวจที่สถาบันรับจ้างไปทำภายนอก ซึ่งผลออกมาว่ารับร่างรัฐธรรมนูญมีมากกว่า กับโพลล์ภายในสถาบัน ซึ่งก็เป็นสถาบันที่มีหน้าที่ผลิตความรู้และความเนียนในการทำรัฐประหาร แต่กลับสะท้อนเสียงที่ไม่รับรัฐธรรมนูญสูงกว่า


 


พิชญ์กล่าวต่อว่า แม้แต่การเรียกระบอบการปกครองของไทยนั้น ก็ยังมีวิธีการเรียกหลายอย่าง เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็จะเรียกว่าเป็น "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" แต่ขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ เคยกล่าวไว้เมื่อราวปี 2517-2518 อธิบายย้อนหลังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ว่าเป็นการอภิวัตน์เพื่อไปสู่ "ระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย"


 


ทั้งนี้ พิชญ์ได้ตั้งคำถามสำคัญเอาไว้ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอยู่กี่ฉบับ


 


สำหรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น พิชญ์กล่าวถึงเนื้อหาภายในว่า มีคำแนะนำจากฝ่ายส.ส.ร.ที่ว่า หากอ่านไม่ไหวให้อ่านส่วนท้ายเล่มซึ่งได้สรุปไว้เป็นสาระสำคัญแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่หน้า 170


 


เนื้อหาในนั้นระบุว่า "ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ร่างขึ้นบนสถานการณ์ที่จะต้องนำพาประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จัดให้มีการเลือกตั้งต่อไป" แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการทำรัฐประหาร


 


เขากล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญกำลังบอกว่า เรากำลังจะไปเจอการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่ถ้าได้ดูเวทีดีเบต หรือฟังส.ส.ร.ที่ออกมาพูด กลับพบว่าไม่เคยเห็นส.ส.ร.ที่แสดงความมั่นใจในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในฐานะที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เลย


 


นอกจากนี้ จากข้อมูลในหน้า 170 ของร่างรัฐธรรมนูญปกเหลือง ระบุถึง เจตนารมณ์สำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ว่ามี 4 แนวทางคือ การคุ้มครอง ส่งเสริม และขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่, การลดการผูกขาดอำนาจรัฐและขจัดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม, การทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรม และจริยธรรม และการทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


 


"คำถามของผมคือ จริงหรือที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขยายสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชน ซึ่งนี่คือท่าไม้ตายสำคัญของส.ส.ร.นี้ ที่มักจะอ้างเสมอว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ขยายสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชนอย่างเห็นได้ชัด จริงหรือที่รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ลดการผูกขาดจากอำนาจรัฐ และขจัดอำนาจอย่างไม่เป็นธรรม จริงหรือที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรม มีจริยธรรม และจริงหรือที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ" พิชญ์กล่าว


 


อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติ ยังเป็นกระบวนการที่ทำขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ประชาชน 35 จังหวัดไม่สามารถแสดงออกทางความคิดได้ เพราะยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก การทำประชามติครั้งนี้ไม่มีบรรยากาศของเสรีภาพและอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็น อีกทั้งข้อมูลที่ออกมา บอกแต่เพียงด้านดี มีแต่โฆษณาแฝง


 


เขากล่าวว่า หากจะบอกว่า จะรับหรือไม่รับ ต้องแน่ใจว่ารู้จริง แต่จะทำได้อย่างไร ในเมื่อการจะบอกว่ารู้จริงได้นั้นมันเกิดขึ้นภายใต้สภาพการณ์ที่เราจะต้องมีข้อมูลที่รอบด้าน คำถามคือรัฐบาลให้ข้อมูลครบหรือไม่ ให้ข้อมูลแค่ด้านเดียวหรือเปล่า รวมไปถึงว่า เรามีอิสรภาพที่จะรู้และตัดสินใจจริงไหม


 


ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงประเด็นของการ "แลไปข้างหน้า" นั้น พิชญ์ตั้งประเด็นไว้ 5 ประเด็นคือ


 


 


หนึ่ง อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากการลงประชามติ


เขากล่าวว่า เราจะได้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นระบบแพคเกจ ไม่ได้มีสถานภาพสูงกว่ากฎหมายอื่นๆ ซึ่งเรามีความเชื่อหรือถูกทำให้เชื่อโดยวิชาการกฎหมายเบื้องต้นมาโดยตลอดว่า มันมีลำดับชั้นทางกฎหมาย และรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ


 


แต่ทั้งนี้ พิชญ์อธิบายว่า รัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในชุดกฎหมายประเพณี ไม่ใช่กฎหมายวัฒนธรรม และไม่ได้หมายความว่ารัฐธรรมนูญไม่สำคัญ ตัวอย่างกฎหมายของประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่มันมีกฎหมายจำนวนมากที่ว่าด้วยการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน รัฐธรรมนูญจะเป็นหนึ่งในกฎหมายเหล่านั้น แต่ไม่ได้เหนือกฎหมายเหล่านั้น


 


พิชญ์กล่าวว่า จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญก็เป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประชาชนกับรัฐ แต่มันยังมีกฎหมายอาญา มีกฎหมายล่าสุดที่เพิ่งผ่านไปคือกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีกฎหมายที่กำลังจะผ่านคือกฎหมายว่าด้วยความมั่นคง ชุดกฎหมายเหล่านี้ตอบว่า ขณะที่ประชาชนถือรัฐธรรมนูญในการต่อสู้กับการเมือง อำนาจรัฐก็ใช้กฎหมายอื่นในการจัดการกับประชาชน และทั้งหมดนั้นเป็นชุดของกฎหมาย ไม่ได้มีอะไรเหนืออะไร และไปๆ มาๆ รัฐธรรมนูญนี้เผื่อที่ให้กฎหมายอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว คือเมื่อมีกฎหมายอื่นบัญญัติ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ทำอะไรไม่ได้


 


นั่นคือ รัฐธรรมนูญไม่ได้มีศักดิ์ศรีด้อยกว่ากฎหมายอื่น แต่รัฐธรรมนูญมีที่ทางเทียบเคียงกับกฎหมายอื่น ฉะนั้นวิธีคิดในอนาคตคือ ถ้ามีอะไรอย่าไปแก้แต่ที่รัฐธรรมนูญเพราะเชื่อว่ารัฐธรรมนูญมีศักดิ์สูงกว่ากฏหมายอื่น ถ้าปัญหาอยู่ที่กฎหมายอาญาก็แก้ที่กฎหมายอาญา ปัญหาที่กฎหมายความมั่นคงก็อย่าให้มันผ่าน แต่ไม่ต้องไปเอาทุกอย่างมายัดลงในรัฐธรรมนูญ กฎหมายไหนมีปัญหาก็แก้ที่ปัญหานั้น


 


"มันไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่สูงกว่ากฎหมายอื่น และไม่มีกฎหมายอื่นที่สูงกว่ารัฐธรรมนูญ มันเป็นกฎหมายที่อยู่ในตระกร้าเดียวกัน อยู่ที่ฝ่ายไหนเลือกอะไร วิธีคิดเรื่องลำดับชั้นทางกฎหมายใช้ไม่ได้กับสังคมเรา"


 


 


สอง การเมืองแห่งความกลัว


ในอนาคตอันใกล้ เรากำลังจะเจอสิ่งทีเรียกว่าการเมืองแห่งความกลัวต่อไปเรื่อยๆ เพราะผู้คนจำนวนมากที่ไปลงประชามติครั้งนี้ ไม่ได้มีอิสรภาพในการลงประชามติ เพราะอิสรภาพส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่เกิดจากตัวเรา ว่าเราหลุดพ้นจากความกลัวไหม แต่ไปลงประชามติเพราะเชื่อว่าถ้าไม่ลงจะนองเลือด ถ้าไม่ลงแล้วจะไม่มีการเลือกตั้ง มันขัดกับหลักคิดสำคัญของประชาธิปไตย คุณไม่ได้ลงเพราะมั่นใจในสิ่งที่จะไปลง แต่เพราะกลัวว่าจะเกิดสิ่งอื่นๆ สิ่งนี้จะปกครองสังคมไทยต่อไปเรื่อยๆ


 


เรากำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่าอาณานิคมในรูปแบบใหม่ เพราะการเมืองแบบอาณานิคมก็คือการเมืองที่คนกลุ่มน้อยสามารถปกครองคนกลุ่มใหญ่ แล้วทำให้คนกลุ่มใหญ่ไม่มีอำนาจ ทำให้คนกลุ่มใหญ่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ ไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะรับชะตากรรมของตนเอง จำเป็นต้องให้คนอื่นๆ ซึ่งมีคุณสมบัติเหนือว่าตน มาปกครองตน


 


"เขาไม่ได้เลือกผู้แทน เขาเลือกคนที่เหนือกว่าเขามาปกครองเขา เขาเลือกคนดีมาปกครอง ไม่ได้เลือกตัวแทนของเขา เขารู้สึกว่าอำนาจยังไม่เป็นของเขา เขาจำเป็นต้องแบ่งอำนาจนี้ให้กับผู้รู้ผู้มีคุณธรรมอีกจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพราะเขาเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่กลายเป็นคนกลุ่มน้อยที่ไม่กล้าตัดสินชะตากรรมของตัวเอง" พิชญ์กล่าว


 


"การเมืองในอนาคต ไม่ใช่การเมืองที่ก้าวไปข้างหน้า มันคือขดลวดสปริงที่ชำรุด เรากำลังเจอพ.ศ.ข้างหน้าที่เสื่อมลงเรื่อยๆ"


 


 


สาม จริงหรือที่ว่ารัฐธรรมนูญใหม่ขยายสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนอย่างแท้จริง


คำตอบคือ จริงครึ่งเดียว ขณะที่หากอ่านตามตัวบทซึ่งบอกว่ามีเพิ่มขึ้นนั้น แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ประชาชนเป็นเพียงผู้ถูกปกครองที่ได้รับการหยิบยื่นสิทธิให้ แต่ประชาชนไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นสถาบันการเมืองที่มีอำนาจชี้ขาดได้เลย ขัดกับเจตนารมณ์ตั้งแต่ 2540 ที่ต้องการให้ประชาชนมีอำนาจเพิ่มขึ้น ทว่าอำนาจที่กำลังให้ประชาชนในรัฐธรรมนูญใหม่ คืออำนาจซึ่งแลกเปลี่ยนกับความจงรักภักดีกับระบบการเมือง


ใหม่


 


พิชญ์กล่าวว่า ทำไมเราไม่กล้าคิดว่า จะร่างรัฐธรรมนูญที่มีหมวดที่ว่าด้วย "ประชาชน" ทั้งที่เรามีหมวดพระมหากษัตริย์ มีหมวดสภา มีหมวดศาล


 


"เราไม่มีหมวดประชาชน เพราะประชาชนไม่ใช่สถาบันการเมืองในจินตนาการของผู้เขียน ประชาชนเป็นเพียงหนึ่งคน หนึ่งคน หนึ่งคน ซึ่งเป็นที่มาของอำนาจอธิปไตย แต่อำนาจอธิปไตยนั้น คนอื่นมาใช้แทน ตัวเองสามารถใช้ได้นิดๆ หน่อยๆ ในฐานะผู้ริเริ่มกระบวนการ แต่ควบคุมกระบวนการเหล่านั้นแทบจะไม่ได้เลย"


 


ดังนั้น เวลาที่บอกว่ารัฐธรรมนูญใหม่ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนมากขึ้นนั้น เป็นการให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนในฐานะที่เป็นผู้อ่อนแอ แล้วก็หยิบให้เขา แต่มันไม่สามารถทำงานได้จริง


 


พิชญ์กล่าวว่า ถ้าอยากจะให้มีสิทธิเสรีภาพจริง ปฏิรูปไปเลย เขียนบทที่ทำให้ประชาชนมีสถานะทางการเมือง เขียนไปเลยว่าใช้อำนาจทางตรงได้กี่อัน ใช้อำนาจทางอ้อมได้กี่อัน ไม่ใช่เขียนกระจัดกระจายแล้วบอกว่า รับเถอะ เพราะประชาชนได้มากขึ้นตามมาตราต่างๆ เพราะสุดท้าย ประชาชนยังไม่สามารถรวมตัวกันได้ในอำนาจแบบนั้น


 


 


สี่ แรงกดดันของสังคมที่มีต่อการเมืองจะลดลง


พิชญ์กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ร่างมาจากจากแรงกดดันทางสังคม ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีฐานมาจากแรงกดดันทางสังคมที่แสดงออกโยที่สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งต้องยอมแก้รัฐธรรมนูญให้มีบทเฉพาะการในการให้ สสร. เข้ามาทำการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ และสภาผู้แทนราษฎรต้องลงมติรับร่างรัฐธณรมนูญฉบับดังกล่าวภายใต้แรงกดดันทางสังคม ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่มีแรงกดดันทางสังคม เรามีแต่แรงกดดันจากคมช. ที่ตั้งคนเหล่านี้มาเป็นส.ส.ร.


 


 


ห้า จริงหรือ ที่การมีรัฐธรรมนูญใหม่จะลดการผูกขาดของอำนาจรัฐ


คำตอบคือจริงครึ่งเดียว ลดเพียงการผูกขาดอำนาจจากการเมือง แต่เพิ่มการผูกขาดของรัฐจากข้าราชการประจำ ภายใต้เสื้อคลุมของศาล ดึงศาลมาทำทุกอย่างเพราะเหมือนศาลจะเป็นอันสุดท้ายที่จะเป็นทางออกของการเมืองบริสุทธิ์


 


ปัญหาที่มันเกิดขึ้นคือ ไม่มีใครคุมศาลได้ ช่วงปลายของรัฐบาลทักษิณนั้น เราจะเห็นว่าศาลเริ่มมีเสียงที่ชัดเจนขึ้นเพราะมีแรงกดดันจากหลายสถาบันไปที่ศาล แต่ศาลไม่สามารถทำงานได้เองด้วยคุณธรรม  จริยธรรม และความรู้ ศาลทำงานได้เมื่อมีประชาชนและสถาบันอื่นๆ กดดันศาล ให้ศาลอยู่กะร่องกะรอย


 


เขากล่าวว่า การแทรกแซงหรือไม่แทรกแซงศาล เป็นเพียงหนึ่งกระบวนการ แต่คุณไม่สามารถไปพึ่งพาคุณธรรมของศาลในการตัดสินได้ เพราะนี่เป็นการเมืองแบบประชาธิปไตย เรื่องสังคมกดดันศาลก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าในอนาคตจะมีไหม เพราะพูดอะไรก็จะถูกติงว่าละเมิดศาล เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ยังไม่เห็นว่าจะมีกระบวนการอะไรในการกดดันศาล ภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่


 


ประชาชนอาจจะวิ่งเข้าไปตามช่องนั้นช่องนี้ที่ผู้ร่างเขียนเอาไว้เปรอะไปหมด แต่การที่จะรองรับประชาชนในฐานะพลังนอกสภาที่กดดันสภานั้น ยังไม่แน่ว่าจะทำได้ภายใต้กฎหมายที่กำลังจะออกมา ประชาชนในฐานะสถาบัน ภายใต้ประชาธิปไตยทางตรง จะเป็นได้มากน้อยแค่ไหนภายใต้วิธีการเขียนแบบนี้


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net