ประภาส ปิ่นตบแต่ง : ประชาธิปไตยทางตรง ไม่ใช่หัวใจของร่างรัฐธรรมนูญ 2550

ประชาไท - 14 .. 50 ในงานเสวนาเรื่อง "แลไปข้างหน้า สังคม-การเมืองไทยหลังลงประชามติ 19 สิงหาคม" ซึ่งเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ร่วมกันจัดขึ้น ณ ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มธ. เมื่อวันที่ 13 .. ที่ผ่านมานั้น

 

ในวงเสวนา ประกอบไปด้วย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เข้าร่วมวงเสวนา

 

"ประชาไท" เก็บความทัศนะของแต่ละท่าน ที่มีต่อมุมมองของการ "แลไปข้างหน้า" ภายหลังการลงประชามติรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 สิงหาคมที่จะถึงนี้

 

 

 

00000

 

ประภาส ปิ่นตบแต่ง

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

"การทำประชามติครั้งนี้ เราเห็นชัดว่ามันเป็นการระดมมติมหาชนแบบที่ไม่ได้มาจากหลักการพื้นฐานประชาธิปไตย หรือเรียกว่าเป็นมติฟาสซิสต์ มาจากการจัดตั้ง ระดมมวลชนมา โดยเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องชาติ เรื่องความมั่นคง

 

"ตัวอย่างที่เห็นได้คือการอาศัยกลไกของกอ.รมน. ที่ฟื้นฟูขึ้นมา และสถาปนาผ่านพรบ.ความมั่นคง และอีกตัวอย่างคือ เรื่องที่มหาดไทยอาศัยกลไกการอบรมประชาธิปไตยผ่านวิทยากรแม่ไก่หมู่บ้านละ 30% กลไกนี้ชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีการระดมทหารซึ่งปลดประจำการให้มารายงานตัว แล้วมีการอบรมให้กลับไปขยายกลุ่มชาวบ้านให้มาลงคะแนนสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นโดยตั้งใจ

 

"เราคงเผชิญในสิ่งที่เรียกว่าซึมยาว ในระบอบประชาธิปไตยค่อนใบ ในรัฐทหารใหม่ นี่คงเป็นสิ่งที่เราต้องรับมือหลังลงประชามติครั้งนี้"

 

ประภาสกล่าวว่า เขาไม่คิดว่ามีอะไรใหม่ไปจากหลังรัฐประหาร 19 กันยา และนี่คือการสถาปนารัฐทหารใหม่ ประชาธิปไตยค่อนใบ คือการประนีประนอมระหว่างอำนาจทหาร ระบบข้าราชการให้กลับคืนมา

 

ตัวอย่างเช่น เรื่องแผนพัฒนาจังหวัดเป็นนิติบุคคล นี่อาจเป็นประเด็นที่เห็นได้ชัดว่า รัฐราชการกลับคืนมาแน่นอน

 

อย่างไรก็ดี ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังยอมให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจ แต่ก็ทำให้อ่อนล้าลง ถ้าอ่านรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด จะเห็นว่า มีมาตรา 177 (2) ระบุไว้ว่า รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่สามารถลงคะแนนได้ คะแนนจะหายไปอีก 35 คน นี่เป็นตัวอย่างที่ว่า ภาคการเมืองจะอ่อนแอ

 

"ที่ผมเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยค่อนใบนั้น เพราะผมคิดว่า การเมืองในส่วนอำนาจของประชาชน ก็คงไม่สามารถขวางพลังของประชาชนได้ ก็ยอมให้มีประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่อย่างไรก็ดี โครงใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันเกิดขึ้นจากความกลัว สีเหลืองของหน้าปกเหลืองรัฐธรรมนูญ ก็มาจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์แบบจตุคาม ถ้าพูดกันตามตรงก็คือกลัวผีทักษิณหลอกหลอน เสียจนไม่รู้จะทำยังไง แล้วก็มองว่าประชาชนโง่ การร่างฉบับนี้น่าจะอยู่ในวิญญาณที่ว่าประชาชนโง่ เลือกตั้งก็ถูกซื้อเสียง ระบอบทักษิณก็เป็นเหยื่อของทักษิณาประชานิยม"

 

แม้จะมีการพูดกันมากว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนมาเล่นการเมืองด้วยตนเอง ไม่เป็นเพียงแต่ผู้ดูอีกต่อไป แต่ประภาสมองว่า เมื่อวิญญาณของรัฐธรรมนูญนี้มาจากทัศนคติที่มองว่าประชาชนไม่พร้อม เราจึงเห็นการเมืองภาคประชาชน การเมืองแบบมีส่วนร่วม หรือประชาธิปไตยทางตรงมีลักษณะที่ก้ำกึ่ง

 

เช่น มีการพูดถึงเรื่องการขยายเรื่องการลงประชามติโดยประชาชน ผมคิดว่าวันนั้น อ.สมคิด เลิศไพฑูรย์พูดไม่ถูก ที่บอกว่า ลงประชามติแล้วมีอำนาจผูกมัดให้รัฐบาลหรือผู้ดำเนินโครงการดำเนินนโยบายไปปฏิบัติตาม แต่ถ้าพูดถึงประชาธิปไตยทางตรงแล้ว ประเด็นสำคัญคือต้องให้ประชาชนเป็นฝ่ายริเริ่มเข้าชื่อเพื่อทำประชามติเองได้ และประชามติต้องมีอำนาจในการผูกมัด แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อำนาจในการริเริ่มการทำประชามติอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ผู้ดำเนินโครงการ ว่าจะเริ่มหรือไม่เริ่ม เลือกหรือไม่เลือก

 

อีกเรื่องที่พูดกันมากคือ การริเริ่มการออกกฎหมายโดยประชาชน ที่มีการพูดถึงว่าลดลงไปเหลือหมื่นรายชื่อนั้น แต่ประเด็นสำคัญคือ เรื่องการริเริ่มมันไม่ยาก แต่กระบวนการที่เมื่อถูกผลักไปสู่สภาหรือองค์กรนิติบัญญัติที่มันเป็นทางการแล้ว อันนั้นเป็นปัญหา การริเริ่มออกกฎหมายโดยประชาชน ที่ไหนก็แล้วแต่ มันต้องถูกผูกพันไปสู่การลงประชามติ แม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

 

การริเริ่มที่ประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ แต่สุดท้ายกระบวนการก็เข้าไปสู่รัฐสภา ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมันทำได้ยากมาก ประชาธิปไตยทางตรงหรือมีแบบส่วนร่วมที่พูดถึงกันหนักหนามันไม่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ และห่างไกลจากประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในแบบสากล

 

อีกประเด็นหนึ่งคือ การกล่าวอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้เกษตรกรเข้ามาร่วมกำหนดนโยบายทางด้านการเกษตร พูดถึงการสภาเกษตรนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลนี้ผ่านญัตติว่าด้วยสภาเกษตรแห่งชาติ ซึ่งเป็นประเด็นที่เกษตรรายย่อยสู้กันมาตั้งแต่ปี 36-37 ปรากฏว่า สภาเกษตรกรยังไม่ทันจะเกิด แต่สภาเกษตรแห่งชาติผ่านเข้าสภาไปแล้ว

 

"นี่คือสิ่งที่เราต้องดูนอกพานด้วย ถ้าเราดูนอกพานกับสิ่งที่เกิดขึ้น มันจะเห็นความขัดแย้ง เห็นถึงวิญญาณที่ต่างกันกับสิ่งที่ส...โฆษณา

 

"การเมืองที่จะทำให้ประชาชนเป็นผู้เล่น ผ่านทิศทางการปฏิรูปการเมืองที่จริงจัง มันไม่ใช่หัวใจของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้"

 

"สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะเป็นปัญหา เหมือนที่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นมา ในเรื่องการบังคับใช้ในบทบัญญัติต่างๆ เหล่านี้ ถามต่อไปว่า สภาพการเมืองหลังประชามติจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่ามันจะไม่แตกต่างจากตอนนี้ นั่นคือการสถาปนาประชาธิปไตยค่อนใบภายใต้รัฐทหารใหม่ การผ่านประชามติคงเป็นกลไกส่วนหนึ่งที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เราอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก และเรามีประกาศคปค.ฉบับที่ 6 ที่บอกว่าพี่น้องชาวนาชาวไร่กรรมกร เราเห็นอกเห็นใจท่าน แต่หลังรัฐประหารมานี้อย่าเคลื่อนไหวใดๆ ห้ามชุมนุมทางการเมือง  ดังนั้น การจับนอกพื้นที่ 35 จังหวัดเขตกฎอัยการซึก ยังทำได้ ดังนั้น พรบ.ความมั่นคงทำให้รัฐทหารสืบทอดลงหลักปักฐานไประยะยาว นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน"

 

ประภาสคาดการณ์ว่า สิ่งที่เราจะเห็นต่อไปข้างหน้า ก็คือพรรคการเมืองส่วนใหญ่เล่นเกมประนีประนอมแบ่งสรรอำนาจกับระบบราชการทหาร นอกจากนี้ เราจะต้องพบกับกฎหมาย นโยบาย ที่กระทบต่อภาคประชาชน ซึ่งกฎหมายแบบนี้จะถูกเร่งออกมาอย่างชัดเจนและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เช่นกรณีที่เกิดกับสภาเกษตรแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีพรบ.เกี่ยวกับทรัพยากรที่ผ่านสภาไปแล้วมากมาย ภาคประชาชนกำลังเผชิญกับการแปรรูปทรัพยากรออกมาขาย และกฎหมายเหล่านี้จะผ่านได้เร็วมากเพราะเราอยู่ในยุคทหาร สนช.ก็มาจากการแต่งตั้ง นี่คือสิ่งที่ภาคประชาชนจะเผชิญหน้า

 

ทั้งหมดนี้ คือประชาธิปไตยจากการกำกับจากข้างบน ประชามติและกลไกต่างๆ ที่ได้ทำอยู่ขณะนี้ จะเป็นวัฒนธรรมหรือเป็นประชาธิปไตยที่มาจากการกำกับจากข้างบน แล้วเราก็เผชิญกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะตึงอีกยาวนาน ขณะที่ภาคประชาชนก็อ่อนแอ ไม่ได้ขึ้นมาทำอะไรมากนัก

 

ชนชั้นนำในภาคประชาชนก็คงไปสู่การเมืองอย่างเป็นทางการ บางท่านมีข่าวว่าจะลงผู้ว่ากทม. ก็คงเป็นเรื่องดี แต่ผมคิดว่าพลังต่างๆ เหล่านั้นคงจะอ่อนแอไปมาก

 

"มันคงถึงทางสองแพร่ง ว่าเราคงต้องมาทบทวนกันว่า ประชาธิปไตยของเราจะจรรโลงไปสู่ประชาธิปไตยค่อนใบ หรือเราจะทบทวนกันในภาคประชาชนที่จะออกจากค่อนใบใต้รัฐทหารไปสู่ปชตทางตรง แบบมีส่วนร่วม ที่ไม่ใช่อำนาจจตุคามรามเทพซึ่งเป็นจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญ 2550 และนี่คงเป็นภารกิจร่วมของทุกคน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท