ออกหมายจับทักษิณ-หญิงอ้อคดีที่ดินรัชดาฯ นักวิชาการติง ส่ง"ทักษิณ" ฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไม่ง่าย !

15 ส.ค.50  -  เมื่อเวลา 10.50 น. นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ หัวหน้าคณะทำงานคดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก เข้าพบเจ้าหน้าที่แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอรับหมายจับคดีดำหมายเลขที่ อม.1/2550

 

คดีระหว่าง นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 กระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 4 ,100, 122 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 , 83 , 86 , 90 , 91 ,152 และ 157 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานรัฐ ฯ และเป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น

 

ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 ส.ค.50 ให้ออกหมายจับพ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 โดยให้อัยการโจทก์ดำเนินการตามหมายจับ เพื่อนำตัวจำเลยทั้งสองเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีครั้งแรก วันที่ 25 ก.ย. เวลา 10.00 น.

 

นายเศกสรรค์กล่าวว่า หลังจากเข้ารายงานให้ นายพชร ยุติธรรม อัยการสูงสุด ทราบแล้วจะนำหมายจับทั้ง 2 ฉบับเสนอ นายสมศักดิ์ บุญทอง รองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีนี้ตั้งแต่แรก เพื่อร่างหนังสือนำส่งหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ให้กับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ภายในวันนี้ พร้อมให้เจ้าหน้าที่นำหมายจับส่งให้กับคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) และกระทรวงการต่างประเทศด้วย

 

โดยนายเศกสรรค์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของอัยการในการดำเนินการตามหมายจับว่า ตน ได้ร่วมประชุมกับคณะอัยการฝ่ายคดีต่างประเทศเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ใช้ในการประสานขอความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อขอให้ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานเป็นผู้ร้ายข้ามแดนตามหมายจับของศาลฎีกาฯ ซึ่งตนนำสำนวนคำฟ้องคดีนี้ และรายงานกระบวนพิจารณาคดีทั้งหมด ส่งให้คณะอัยการฝ่ายคดีต่างประเทศศึกษาและพิจารณาไปพร้อมๆ กับขั้นตอนที่ สตช. จะต้องดำเนินการติดตามตัวจำเลยตามหมายจับ โดยการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน อัยการยืนยันว่ามีกฎหมายที่จะประสานขอความร่วมมือกับประเทศอังกฤษเพื่อส่งตัวทั้งสองกลับมาอย่างแน่นอน แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเป็นกฎหมายตัวใดบ้าง ซึ่งอัยการต้องพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับฐานความผิดและข้อกำหนดของกฎหมายในการประสานขอความร่วมมือต่างประเทศอย่างรอบคอบ

 

ส่วนกระบวนการติดตามตัวจะสามารถนำทั้งสองมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลในนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 25 ก.ย.นี้ หรือไม่ ยังไม่สามรถตอบได้ เพราะการดำเนินการแต่ละขั้นตอนต้องใช้ระยะเวลา แต่อย่างไรก็ดียืนยันว่าอัยการจะพยายามทำทุกวิธีการเพื่อติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน มาให้ได้

 

ขณะที่ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ผู้ตรวจราชการสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า การขอตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และภริยา เป็นผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศอังกฤษ ไม่เป็นเรื่องยากเพราะระหว่างไทยกับอังกฤษเคยลงนามในประกาศสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ ร.ศ.130 บังคับใช้อยู่แล้ว แต่หากจะเกิดปัญหาน่าจะเกิดจากขั้นตอนปฏิบัติของศาลอังกฤษในการไต่สวนซึ่งจะใช้เวลาพอสมควร ตัวอย่างที่ทางการไทยประสานขอความร่วมมือให้ส่งตัวนายปิ่น จักกะพาก อดีตผู้บริหารเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนกิจ จำเลยคดีฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์แต่การไต่สวนนายปิ่น อ้างข้อต่อสู้ว่าเป็นคดีทางการเมือง สุดท้ายศาลอังกฤษ มีคำสั่งไม่ส่งตัวนายปิ่น เพราะเห็นว่าข้อหาคดีของนายปิ่นไม่เป็นความผิดที่จะส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้

         

"ถ้าถามว่า การขอตัวจำเลยคดีนี้มาจะยากหรือง่าย คงตอบว่าเราจะเดาใจศาลอังกฤษได้ยาก ซึ่งขั้นตอนปฏิบัติศาลอังกฤษก็ต้องทำการไต่สวนอีกชั้นหนึ่งด้วยก่อนจะมีคำสั่งว่าจะให้ส่งตัวกลับหรือไม่ ซึ่งจะใช้เวลานาน"

 

นายอรรถพล ยังกล่าวด้วยว่า หากครบกำหนดดำเนินการตามหมายจับ ซึ่งศาลฎีกา ฯ นัดพิจารณาคดีครั้งแรกอีกครั้งในวันที่ 25 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น. แล้วถ้าไม่มีตัวจำเลยมาปรากฏต่อหน้าศาล ในการพิจารณาคดีมีวิธีปฏิบัติได้ 2 แนวทาง 1.ศาลอาจใช้ดุลยพินิจมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจาสารบบความเป็นการชั่วคราวจนกว่าจำเลยจะมาปรากฏต่อหน้าศาล และ

 

2.ศาลมีอำนาจพิจารณาและไต่สวนพยานหลักฐานลับหลังจำเลยได้โดยอาศัยข้อกำหนดระเบียบการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ. 2543 ข้อ 10 ประกอบข้อกำหนดมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542

         

ส่วนแนวทางใดจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีตนไม่สามารถตอบไม่ได้ เพราะคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้วจึงขอให้เป็นดุลยพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งใด ๆ ต่อไป

 

 

นักวิชาการติงไม่ง่ายอย่างคิด ส่ง"ทักษิณ"ฐานะผู้ร้ายข้ามแดน

นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวหลังศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกหมายจับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า คงเป็นเรื่องยากที่ศาลจะขอเรียกตัวจำเลยมาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศ ในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศ

 

ถ้าประเทศไทยมีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน มีความพยามของรัฐบาลจริงจังในการดำเนินคดีที่จะดึงพ.ต.ท.ทักษิณกลับมาอาจจะมีโอกาสบ้าง แต่ไม่ง่ายในกรณีการส่งผู้นำทางการเมือง แม้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่ขอลี้ภัยทางการเมือง แต่ในทางปฏิบัติแล้วหลายประเทศก็อาจมีข้อแม้มากมาย เรื่องนี้ต้องคิดค่อนข้างมาก ในกรณีนี้ รัฐบาลไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งระบอบประชาธิปไตย การตัดสินคดีต่างๆ ของพ.ต.ท.ทักษิณ อาจถูกมองว่าบุคคลหรือกระบวนการนั้นโปร่งใส แต่ภายใต้ระบอบการปกครองของไทยในขณะนี้ที่ไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตย

 

ฉะนั้น การให้ความร่วมมือการดำเนินคดีในกรณีนี้อาจจะมีปัญหากับประชาคมโลก จากคนของเขาเอง ประชาชนของเขาเองและอาจจะทับซ้อนในแง่จุดยืนทางการเมือง กฎหมายขึ้นกว่าเดิม โดยทั่วไปประเทศใดที่มีรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหารก็จะไม่ได้รับความร่วมมือทางการเมืองจากประเทศตะวันตก ดังนั้น เรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่มีข้อบังคับ แต่บางกรณีอาจมีช่องว่างที่หลีกเลี่ยงได้ พอเป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองในลักษณะที่มีจุดยืนแตกต่างกัน ในบางประเทศอาจมีกฎหมายไม่ให้ความร่วมมือกับประเทศที่มาจากรัฐประหาร เราเองอาจจะพิจารณาและระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นพิเศษ

 

"พ.ต.ท.ทักษิณ กลายเป็นบุคคลสำคัญทางเศรษฐกิจ มีการลงทุน ดำเนินกิจกรรมทั้งเปิดเผยและปกปิด ซึ่งบางเรื่องเราก็ไม่อาจทราบได้ อาจจะมีสายสัมพันธ์โยงใยกับนักการเมืองท้องถิ่นของกลุ่มทุนในประเทศอังกฤษ ซึ่งผมมองว่านักการเมืองเหล่านั้นอาจจะวิ่งเต้นล๊อบบี้ให้รัฐบาลอังกฤษกดดันไม่ให้มีการส่งตัวพ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อไปดำเนินคดีต่างๆ ขณะเดียวกันอังกฤษก็ต้องทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทยที่แม้ว่าจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่หากมองดูแล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็อาจมีผลกระทบได้ ผมคิดว่าอังกฤษเขาคงรอให้ไทยมีการเลือกตั้ง ดูแนวโน้มการพิจารณาคดี ดูท่าทีรัฐบาลใหม่ว่าจะมีการเรียกร้องเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เขาคงพิจารณาประเด็นเหล่านี้ด้วย" นักวิชาการจุฬาฯ กล่าว

 

เมื่อถามว่าการที่ศาลจะพิจารณาครั้งแรกใหม่ในเดือนกันยายนนี้จะส่งผลให้คดีมีความล่าช้า และเอื้อประโยชน์ต่อพ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า คงเป็นไปตามขั้นตอนปกติของกระบวนการยุติธรรม แต่อาจเป็นไปได้ที่จะเป็นโอกาสให้พ.ต.ท.ทักษิณ ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทางการเมือง มารณรงค์เรียกร้อง ตามที่พูดอยู่เสมอว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่มีความชอบธรรม มีทหารหนุนหลังและต้องการกดดันตนเองผ่านขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ทำให้ประเด็นเหล่านี้มีความเป็นจริงขึ้นเพราะการดำเนินคดีพ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะมีประเด็นทางการเมืองเกิดขึ้นได้ และพ.ต.ท.ทักษิณ อาจใช้โอกาสนี้เป็นเครื่องมือต่อรองกับรัฐบาลไทย

 

 

 

...................................................

เรียบเรียงจาก : เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น และเว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท