Skip to main content
sharethis

เรื่องและภาพโดย  คิม ไชยสุขประเสริฐ


 


เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ร่วมกันจัดงาน "รวมพลคนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร" การรณรงค์โค้งสุดท้ายเพื่อเคลื่อนไหวไม่รับรัฐธรรมนูญ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมเริ่มต้นตั้งแต่เวลาบ่ายโมง ด้วยปาฐกถา "ฐานะและบทบาททางประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญในระบบประชาธิปไตยไทย" โดย รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปะศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อด้วยการเสวนาในหัวข้อ "แลไปข้างหน้าสังคมการเมืองไทย หลังลงประชามติ 19 สิงหา" ซึ่งมีผู้ร่วมงานแน่นขนัดห้องประชุมจิ๊ด เศรษฐบุตร


 



 


ภายหลังจบการเสวนาเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ผู้ร่วมกิจกรรมราว 500 คนที่ส่วนใหญ่สวมเสื้อดำและแดงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้รวมตัวกันที่ลานหน้าตึกโดม มธ. ก่อนขบวนเคลื่อนออกทางประตูหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมชูป้ายผ้าและโปสเตอร์มีข้อความเชิญชวนโหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญ 50 เดินไปตามถนนราชดำเนิน เพื่อไปร่วมทำกิจกรรมต่อยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดย ในขบวนประกอบไปด้วยรถตุ๊กตุ๊กติดโปสเตอร์สีแดง และรถเครื่องเสียงประกาศเจตนารมณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะลงประชามติกันในวันที่ 19 ส.ค.นี้ไปตลอดเส้นทาง


 


ฝนตกก็ไม่หวั่น


เมื่อขบวนเดินมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มผู้ชุมนุมได้กระจายตัวกันล้อมรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเริ่มการไฮปาร์กประกาศเจตนารมณ์ของการรวมตัวเพื่อต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และคณะรัฐมนตรีใต้อำนาจทหาร พร้อมรณรงค์ร่วมแสดงเจตนารมณ์คัดค้านโดยการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คมช. ในขณะเดียวกันกลุ่มมีอาสาสมัครก็เดินแจกเอกสาร "โหวดล้มร่างรัฐธรรมนูญ 19 สิงหา พร้อมกันทุกคูหา" ให้กับผู้ขับขี่ยานพาหนะ และประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา ท่ามกลางเมฆฝนที่ตั้งเค้ามาอย่างรวดเร็ว... ไม่นานนักฝนก็เริ่มลงเม็ด


 



 


 



 


ไม่ว่าฝนจะเทกระหน่ำลงมามากเพียงใด แต่ผู้มาร่วมขบวนทุกคนก็ยังยืนล้อมรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกันต่อ ในขณะที่ตำรวจหลายสิบนายและผู้ที่มาสังเกตการณ์ต่างวิ่งไปหลบฝนยังอาคารใกล้เคียง จากนั้นทีมงานได้แบกบันไดพร้อมผ้าสีดำผืนใหญ่ และมีตัวแทนปีนขึ้นบนยอดพานรัฐธรรมนูญ เพื่อนำผ้าสีดำผืนใหญ่ที่มีรูปวาดรองเท้าบู๊ทเหยียบพานรัฐธรรมนูญ และข้อความ "โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญ คือล้มรัฐประหาร 19 สิงหา พร้อมกันทุกคูหา"  ขึ้นไปคลุมพานรัฐธรรมนูญ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น.


 



 



 


หลังจากการคลุมผ้าอย่างทุลักทุเลท่ามกลางสายฝนเสร็จสิ้น สายฝนก็เริ่มซาลงในช่วงใกล้ค่ำ เวทีพูดคุยจึงเริ่มมีสีสันขึ้น ตัวแทนของเครือข่าย 19 กันยาฯ และกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ผู้จัดงานได้ขึ้นอ่านประกาศ  "รวมพลคนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร"  ทั้งฉบับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ซึ่งกล่าวโดยสรุปถึงเหตุผลและการเรียกร้องให้ผู้รักประชาธิปไตยหันมาร่วมมือกันแสดงเจตจำนงของตนเอง เพื่อปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐประหาร หยุดยั้งการสถาปนาระบอบอำมาตยาธิปไตย สกัดกั้นการเข้ามามีอำนาจทางการเมืองของทหารและคณะอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงเริ่มถักทอประชาธิปไตยด้วยมือของตัวเอง โดยการออกเสียงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 50


 


"หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติ เราขอเชิญชวนพี่น้องผู้รักประชาธิปไตยทั้งประเทศ ร่วมกันแสดงพลังพร้อมเพรียงกันโดยทันทีเพื่อกดดันให้ คมช. นำรัฐธรรมนูญ 40 กลับมาใช้ โดยไม่มีการแก้ไขในสาระสำคัญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งภายใน 60 วัน" ผู้อ่านคำประกาศระบุ


 


บก.ลายจุด ชี้ความเป็นอยู่ของประชาชนเชื่อมโยงกับความสามารถของรัฐบาล


นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ และกรรมการแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ขึ้นกล่าวต่อหน้าผู้ชุมนุมว่า การฉีกรัฐธรรมนูญเป็นการละเมิดอำนาจประชาชน และกล่าวถึงการที่คณะทหารจะคืนอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือนภายใน 2 สัปดาห์ แต่เวลาผ่านมากว่า 11 เดือน คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายใต้ชื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กลับไปยุ่มย่ามในการบริหารประเทศ ด้วยการที่ประธานคมช.เข้าไปประชุมในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยนั่งคู่กับนายยกรัฐมนตรี


 


อีกทั้งยังกล่าวถึงการปกครองประเทศโดยใช้ความกลัว นั่นคือการคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึกในพื้นที่ 35 จังหวัด หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ ทั้งที่การประกาศใช้กฎอัยการศึกจะมีบังคับใช้เพียงในภาวะศึกสงคราม โดยนายสมบัติให้เหตุผลของการยังคงกฎหมายนี้ว่า เพราะนี่คือคำสั่งทำสงครามกับประชาชน


"ประชาชนแค่เพียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ถูกหาว่าคนพวกนี้คือคนไม่รักชาติ และทหารของคมช.ตั้งธงไว้ว่าพวกนี้คือศัตรูของชาติ เขาอนุญาตเราแค่คิดแต่เราห้ามพูด ถ้าสั่งให้เราหยุดคิดได้มันก็จะสั่งให้เราหยุดคิดไปแล้ว แต่ถ้าเราคิดไม่เป็น เราก็เป็นได้แค่สัตว์เลี้ยง" แกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์กล่าว


 


นายสมบัติกล่าวเป็นคำถามกับผู้ร่วมชุมนุมถึงการทำงานของรัฐบาลว่า วันๆ คิดแก้ปัญหาประเทศชาติหรือเปล่า พร้อมให้คำตอบว่าคณะรัฐบาลนี้ไม่เห็นความสำคัญของประชาชน สิ่งที่รัฐสนใจคือมีกลุ่มไหนที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์สั่นคลอนอำนาจของตัวเองบ้างเท่านั้น ซึ่งเรียกเสียงปรบมือไปทั่วบริเวณ


 


นายสมบัติกล่าวต่อถึงการใช้งบประมาณของกองทัพซึ่งอ้างว่าเพื่อรักษาความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มงบประมาณแก่กระทรวงกลาโหม การเพิ่มกองกำลังรักษาความมั่นคง 60,000 ตำแหน่ง ทั้งที่เห็นว่าประชาชนตกงาน และกล่าวถึงงบจัดซื้ออาวุธที่สูงกว่างบสวัสดิการซึ่งให้กับประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะคนยากไร้


 


 "เวลาเพิ่มงบประมาณคุณเห็นคนจนคนยากไร้บ้างไหม การที่เศรษฐกิจมันล้มเหลว ไม่ใช่อยู่ที่ประชาชนโง่ ประชาชนขี้เกียจ แต่เพราะผู้บริหารประเทศนั้นโง่ นั้นขี้โกง ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนนั้นเชื่อมโยงกับความสามารถของรัฐบาล" นายสมบัติกล่าว


 


หลายเครือข่ายร่วมประกาศแถลงการณ์


จากนั้นพรรคแนวร่วมประชาชน สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทย กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กลุ่มกรรมกรปฏิรูป และกลุ่มคนงานโรงงานไทยศิลป์ ประกาศแถลงการณ์ ไม่เอารัฐธรรมนูญทหารและเดินหน้าสร้างรัฐสวัสดิการของประชาชน โดยกล่าวว่ารัฐธรรมนูญที่ผู้ใช้แรงงานและชนชั้นล่างส่วนใหญ่ต้องการคือรัฐธรรมนูญที่กินได้ ที่พูดถึงรัฐสวัสดิการที่เป็นระบบก้าวหน้า แต่รัฐธรรมนูญ 50 ไม่มีและมีส่วนที่แย่กว่านั้นคือ การศึกษาและการรักษาพยาบาลไม่ต่างอะไรกับรัฐธรรมนูญ 40 คือเรียนฟรี 12 ปี และคนจนเท่านั้นที่มีสิทธิรักษาฟรี อีกทั้งที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ยิ่งเป็นการถอยหลังไปก่อนรัฐธรรมนูญ 40


 


การระบุชัดเจนว่าสามารถเอารัฐวิสาหกิจที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเข้าไปขายในตลาดหลักทรัพย์ได้เพียงแค่ให้รัฐถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ก็ไม่ต่างอะไรกับกรณีของ ปตท. และในส่วนของสิทธิมนุษยชนเองก็ไม่ได้ก้าวหน้าในทุกมาตราดังที่รัฐบาลทหารกล่าวอ้าง โดยยกตัวอย่างการบัญญัติไว้ในท้ายมาตราว่า "ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ" ผลคือกฎหมายที่เล็กกว่าสามารถใช้บังคับซ้อนแทนที่รัฐธรรมนูญ อีกทั้งการเพิ่มอำนาจประชาชนด้วยการลดจำนวนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายหรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อให้เมื่อลดเหลือ 1 คน ก็ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลอะไรได้ เพราะต้องผ่านการพิจารณา และต้องถูกแปรญัตติเปลี่ยนแปลงเนื้อหาอีกมากมาย


 


"ไม่ว่าการประชามตินี้ผลจะเป็นอย่างไร เราก็ไม่สามารถหยุดการต่อสู้เพื่อให้ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการได้ นั่นรวมทั้งการคัดค้าน พ.ร.บ.ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่าง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เราเชื่อว่าไม่มีใครทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงนอกจากเรารวมตัวกันเพื่อต่อสู้" ตัวแทนกลุ่มแรงงานกล่าวสรุปแถลงการณ์


 


ต่อด้วยประกาศแถลงการณ์โดยกลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (สสส.) ที่ประณามการรัฐประหารและการลงประชามติในวันที่ 19 ส.ค. ว่าเป็นวันอัปมงคลที่จัดโดยรัฐบาลทหารสับปะลังเค ซึ่งข่มขู่บังคับให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้กลุ่ม สสส. ยังได้ประกาศจุดยืนร่วมกับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยไม่รับรัฐธรรมนูญเผด็จการ พร้อมยื่นข้อเสนอ คือ ให้ สนช. ยุติบทบาทร่างกฎหมายและการใช้อำนาจในรูปแบบต่าง อีกทั้งให้คมช.ยกเลิกกฎอัยการศึก คืนอำนาจประชาชนให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว โดยการใช้รัฐธรรมนูญ 40


 


นายพิศาล บุญสิริ ศิลปินเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน กล่าวถึงเหตุผลของการรงค์ไม่รับร่างว่า รัฐธรรมนูญ 50 เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความชอบธรรม ประชาชนไม่มีส่วนร่วม การเขียนรัฐธรรมนูญปิดหูปิดตาประชาชน และรัฐธรรมนูญปี 50 เป็นรัฐธรรมนูญที่เทิดทูนอำนาจศักดินา จากนั้นผู้ร่วมชุมนุมจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทย กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กลุ่มกรรมกรปฏิรูป และกลุ่มคนงานโรงงานไทยศิลป์ ได้เดินทางกลับไปก่อนเนื่องจากเกิดเหตุขัดข้องในโรงงาน แต่การปราศรัยและประกาศจุดยืนโดยกลุ่มต่างๆ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังคงดำเนินต่อไปสลับกับการแสดงดนตรีโดยวงโฮม มหาวิทยาลัยรามคำแหง แม้ผู้ร่วมชุมนุมจะดูบางตาลงมาก


 


จนกระทั่งเวลาประมาณ 21.30 น. การปราศรัยจึงจบลง โดยมีผู้ชุมนุมอาสาสมัครอยู่ราว 30 คน คงกำลังรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเฝ้าดูกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะมาทำการปลดผ้าคลุมพานรัฐธรรมนูญ ในคืนนั้นกว่าที่ผู้ทำหน้าที่เวรยามแต่ละคนจะได้นอนหลับพักผ่อนเอาแรงก็เป็นเวลาของวันใหม่ เพราะต่างสรรหากิจกรรมเพื่อไม่ให้ง่วงเหงา ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลงปลุกใจ เล่นหมากรุก หรือตั้งวงพูดคุยกัน นอกจากนี้ยังมีผู้สนใจในกิจกรรมนี้ รวมทั้งเครือข่ายที่มีอุดมการณ์ร่วม ต่างแวะเวียนมาเยี่ยมเยือน และบางส่วนเข้าร่วมกิจกรรมจนถึงเช้า


 


เจรจาครั้งแรกกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ


เวลาประมาณตี 4 ของรุ่งเช้าวันที่ 14 ส.ค. หลังจากเหนื่อยล้าจากการเฝ้าเวรยามมาทั้งคืน ก็มีเหตุให้ผู้ชุมนุมต้องตื่นตัวขึ้นเตรียมตั้งรับกับเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังจะมาถึง โดยมีการตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ จากนั้นได้กระจายตัวกันนั่งคล้องแขนล้อมพานรัฐธรรมนูญด้วยความสงบ พร้อมให้เหตุผลต่อกันว่าการนั่งและการคล้องแขนเป็นสิ่งที่บอกได้ว่าจะไม่มีการใช้กำลัง อันจะนำมาซึ่งการปราบปรามด้วยความรุนแรงดังเหตุการณ์หน้าบ้านสี่เสาร์ฯ ที่ผ่านมา


 


ในเวลาไม่นานนักเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการนครบาล 6 ราว 50 นาย ก็ได้นำกำลังพร้อมอาวุธสำหรับสลายการชุมนุมครบมือ พร้อมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจประมาณ 7 คน เข้ามายังบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แจ้งให้ผู้ชุมนุมทำการปลดผ้าคุมออก โดยแจ้งข้อกล่าวหาตามความผิดในพระราชบัญญัติ รักษาความสะอาด และ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 แต่ภายหลังจากการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่และตัวแทนผู้ชุมชุนประมาณ 30 นาที ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ได้ถอนกำลังกลับไป


 


ภูมิวัฒน์ นุกิจ ผู้ประสานงาน พลเมืองภิวัฒน์ ผู้ทำหน้าที่เจรจากับตำรวจกล่าวว่า การเจรจาเมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. นั้นผู้ชุมนุมได้แจ้งจุดยืนที่จะยืนหยัดถึง 8 โมงเช้า แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยินยอม จึงมีการพูดคุยตกลงกันว่าให้ปลดผ้าคลุมออกก่อนเวลา 6 โมงเช้า ซึ่งเจ้าหน้าที่จะกลับมาอีกครั้ง แต่ก็มีสมาชิกบางส่วนไม่เห็นด้วยที่จะให้ปลดผ้า ดังนั้นจึงต้องรอการพูดคุยของทางกลุ่ม


 


"อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน สร้างจากเงินภาษีของประชาชน ดังนั้นประชาชนควรได้ใช้ประโยชน์ และอีกเหตุผลหนึ่งคือความชอบธรรมเพื่อที่จะบอกให้รู้ว่าทุกวันนี้บ้านเมืองไม่มีประชาธิปไตย คลุมผ้าไว้เป็นสัญลักษณ์ของความมืดบอด" นายภูมิวัฒน์กล่าวถึงเหตุผลของกิจกรรมนี้


 


ไม่ใช้กำลัง... การมาเยือนอีกครั้งของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง


เมื่อใกล้ถึงเวลา 06.00 น.ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้ข้อสรุปร่วมกันในการใช้สันติวิธีในการขัดขืน แต่ไม่ใช้กำลังต่อสู้ โดยใช้วิธีเหมือนครั้งแรก คือ นั่งคล้องแขนล้อมรอบพานรัฐธรรมนูญที่ถูกคลุมผ้าปิดไว้ ไม่เปิดทางให้เจ้าหน้าที่เข้ารื้อถอนผ้าออกโดยง่าย เมื่อถึงเวลาที่นัดหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 10 นาย พร้อมเจ้าหน้าที่เทศกิจได้กลับมายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และหลังจากมีการเจรจาไม่ใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่จึงวงหลงจกมกรได้ทำการพาดบันไดเพื่อปีนขึ้นไปนำผ้าคลุมลงมาจากพานรัฐธรรมนูญ ซึ่งในเหตุการณ์ขณะนั้นแม้จะมีการฉุดยื้อกัน แต่ก็ไม่มีการใช้ความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น


 



 


 



 


ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่เทศกิจทำการปลดผ้าคลุม โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมสถานการณ์อยู่นั้น ทางผู้ชุมนุมได้ร่วมกันร้องเพลง  "ปณิธานแห่งเสรีชน" และบางคนถึงกับหลั่งน้ำตาไปพร้อมๆ กับการพยายามที่จะดึงปลายผ้าคลุมเอาไว้


 


"ปลดไปเถอะครับ... แต่ท่านไม่มีวันได้หัวใจของพวกเราไป ไม่มีวันได้ใจของมวลชน ท่านเองก็คือผู้ถูกกระทำเสมอมา ระบบที่ท่านเป็นอยู่คือที่ที่เค้าหล่อหลอมอยากให้เป็น แล้วท่านจะมีหัวใจเพื่อประชาชนได้อย่างไร ท่านเองคือหนึ่งมวลประชา เงินภาษีที่เอาไปใช้มันมาจากน้ำเหงื่อน้ำไคลของพวกเรา ท่านจงยืนก้มหน้าให้พวกเผด็จการต่อไปเถอะครับ" ภัทรดนัย จงเกื้อ สมาชิกกลุ่ม 19 กันยาฯ พูดระบายความรู้สึกขณะมองดูเจ้าหน้าที่เทศกิจทำการปลดผ้าคลุม


 


แห่ผ้าดำกลับธรรมศาสตร์


เวลาล่วงเลยไปกว่า 1 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จึงได้ปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้น ผืนผ้าที่คลุมพานรัฐธรรมนูญถูกฉีกแยกออกเป็น 3 ผืน และปลดลงมากองบนพื้น หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้ช่วยกันถือผืนผ้าเดินกลับมายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 



 


นายอุเชนทร์ เชียงเสน ผู้ประสานงานเครือข่าย 19 กันยาฯ กล่าวถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า เป็นงานใหญ่ครั้งสุดท้ายของกลุ่ม 19 กันยาฯ และต่อไปก็จะเป็นการกระจายเอกสารข้อมูลส่งไปให้เครือข่าย ซึ่งภารกิจหลักของกลุ่ม คือ 1.การเปิดพื้นที่ผ่านสื่อเพื่อให้มีการเปิดเวทีให้แก่ทั้ง 2 ฝ่าย 2.การเชื่อมร้อยเครือข่ายต่างๆ และ 3.ทำสื่อส่งถึงคนให้มากที่สุด การเคลื่อนไหวในตอนนี้ทำให้คนพูดเรื่องนี้กันมากขึ้น แม้ไม่อยากเปิดแต่ก็ปิดไม่ได้


 


นายอุเชนทร์กล่าวต่อถึงอนาคตหากร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านการลงประชามติว่า ทางกลุ่มจะมีการดำเนินการฃชวนเครือข่ายมาคุยกันต่อ เพราะประชามติไม่มีใครรับได้ จะให้ประชาชนถูกมัดมือชก รับสิ่งไม่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net