นปก.-เครือข่ายอีสาน บุกสภา เรียกร้องสนช.ยุติบทบาทกรณีถอด "จรัล ดิษฐาอภิชัย"

ประชาไท - วานนี้ (15 ส.ค.50) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ประกอบด้วย กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย กลุ่มรากหญ้าเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร รวมถึงกลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมภาคอีสาน (กสส.) และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ปักหลักชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อเรียกร้องให้สนช.ยุติบทบาท โดยเฉพาะกรณีเข้าชื่อถอดถอนนายจรัลิ ดิษฐาอภิชัย ออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากเป็นหนึ่งในแกนนำในการเคลื่อนขบวนไปประท้วงยังหน้าบ้านสี่สาเทเวศร์ของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.50

 

จดหมายเปิดผนึกของกลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสานระบุว่า สนช.ไม่มีความชอบธรรมจะยกตนเองไปเป็นวุฒิสภา และกรณีการกล่าวหานายจรัล ของสนช.นั้น จำเป็นต้องมีตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน โดยต้องมีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลาง ประกอบด้วยตัวแทนจากภาคประชาชนหลายฝ่ายที่ไม่มีประวัติในการสนับสนุนการรัฐประหาร  มิใช่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดย สนช. ซึ่งเป็นผลผลิตโดยตรงของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 

 

ขณะที่แถลงการณ์ของกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย กลุ่มรากหญ้าเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหารนั้น ประณาม สนช.ที่มีพฤติกรรมรับใช้เผด็จการทหารทั้งในการพิจารณาถอดถอนนายจรัล ตลอดจนการตรากฎหมายเพื่อรับใช้การสืบทอดอำนาจเผด็จการมากว่า 10 เดือน ทั้งยังประณามกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคนอื่น ๆ ที่มิได้แสดงบทบาทในการปกป้องนายจรัล และมิได้ต่อสู้กับเผด็จการมาตั้งแต่ต้น จนเผด็จการเติบใหญ่กล้าแข็งมาถึงทุกวันนี้ พร้อมระบุว่า การกระทำของนายจรัลเพื่อต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องประชาธิปไตยเป็นเรื่องถูกต้องเหมาะสมแล้ว

 

 

 000

 

 





 

แถลงการณ์

ประณามสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาโจรรับใช้เผด็จการ

           

ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาวาระถอดถอนนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ออกจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เสนอโดยสมาชิกสภาบัญญัติแห่งชาติกว่า 90 คน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมานั้น

            กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย กลุ่มรากหญ้าเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าวดังต่อไปนี้

1.พวกเราขอยืนยันไม่ยอมรับมติ ความเห็น และการกระทำใดๆทุกประการของ สนช. เพราะที่มาของ สนช.มาจากการแต่งตั้งของเผด็จการ คมช. ดังจะเห็นได้จากบุคคลต่างๆที่ได้รับเลือกเป็นสนช. ประกอบด้วยบุคคลที่เคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ปูทางไปสู่การรัฐประหาร19 กันยายน 2549  และบุคคลที่ออกมาสนับสนุนค้ำยันให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหาร รวมทั้งนายทหาร ตำรวจ ข้าราชการสื่อมวลชน นักวิชาการ ฯลฯ ที่ถูกแต่งตั้งโดย คมช. ดังนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงไม่ใช่ผู้แทนของประชาชน แต่เป็นสภาโจรที่รับใช้เผด็จการ และไม่มีความชอบธรรมใดๆทั้งสิ้นที่จะดำเนินการถอดถอนนายจรัล

2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถูกฉีกโดยคณะเผด็จการ  และคมช.ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549  สนช.ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้เพื่อถอดถอนนายจรัล  การกระทำดังกล่าวจึงยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นได้ชัดเจนว่า สนช.อ้างอิงตัวเองจากอำนาจเผด็จการ และใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมนี้มากลั่นแกล้ง คุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย

3.พวกเราเห็นว่า การรัฐประหารคือการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นการทำลายสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างร้ายแรง  การออกมาทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการของนายจรัล เป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมกับบทบาทและฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ต้องมีหน้าที่ในการส่งเสริม ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและประชาธิปไตย อีกทั้งการขับไล่เผด็จการยังเป็นสิทธิอันชอบธรรมของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนายจรัลได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ สนช.ที่เป็นทาสรับใช้เผด็จการอย่างซื่อสัตย์เอาการเอางาน

4.พวกเราขอประณาม สนช.ที่มีพฤติกรรมรับใช้โจรกบฏทั้งในการพิจารณาถอดถอนนายจรัล ตลอดจนการตรากฎหมายเพื่อรับใช้การสืบทอดอำนาจเผด็จการมากว่า 10 เดือน และขอประณามกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคนอื่น ๆ ที่มิได้แสดงบทบาทในการปกป้องนายจรัล และมิได้ต่อสู้กับเผด็จการมาตั้งแต่ต้น จนเผด็จการเติบใหญ่กล้าแข็งมาถึงทุกวันนี้

พวกเราขอเรียกร้องให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยร่วมกันคัดค้าน ประณาม เผด็จการและผู้ที่มีพฤติกรรมรับใช้เผด็จการทุกคน และร่วมกันคว่ำรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิเสธเผด็จการและผลพวงของการรัฐประหารทุกประการ รวมทั้งเพื่อเป็นการปฏิเสธการสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อไป

กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย

กลุ่มรากหญ้าเพื่อประชาธิปไตย

เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร

แถลง ณ หน้ารัฐสภา

15 สิงหาคม 2550

 

 

 

 

 

 





 

จดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายประชาชนภาคอีสาน

 

            ตามที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดยนายคำนูณ สิทธิสมานและคณะ เข้าชื่อขอให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติดำเนินกระบวนการถอดถอน นาย จรัล ดิษฐาอภิชัย ออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยอ้างรัฐธรรมนูญปี 2549 มาตรา 5 ที่ประกาศใช้โดยคณะรัฐประหาร

กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมภาคอีสาน (กสส.) และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ดังมีรายชื่อแนบท้ายจดหมายเปิดผนึก ขอแสดงความเห็นและข้อเรียกร้องดังนี้

1. เครือข่ายฯ เห็นว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่มีความชอบธรรมที่จะยกฐานะตนเองไปเป็นวุฒิสภา โดยอาศัยการตีความรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการปี 2549 มาตรา 5  เพื่อใช้อำนาจถอดถอน นายจรัล ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อันเป็นตำแหน่งในองค์กรอิสระที่มีที่มาตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีความยึดโยงกับประชาชน  นอกจากนี้ เครือข่ายฯ เห็นว่า สนช. มีความพยายามฉวยโอกาสใช้อำนาจหน้าที่ของตนแทนวุฒิสภา ในการคัดเลือกบุคคลผู้จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

2. เครือข่ายฯ เห็นว่า ข้อกล่าวหาของ สนช. ที่มีต่อนายจรัล ดิษฐาอภิชัย จำเป็นต้องมีตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน โดยต้องมีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลาง ประกอบด้วยตัวแทนจากภาคประชาชนหลายฝ่ายที่ไม่มีประวัติในการสนับสนุนการรัฐประหาร  มิใช่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดย สนช. ซึ่งเป็นผลผลิตโดยตรงของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 

 3. เครือข่ายฯ เห็นว่า สนช. ไม่ได้ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติอย่างเหมาะสม ซ้ำยังมีการยกร่างกฎหมายหลายฉบับที่มีเนื้อหาสาระลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน  เช่น พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงฯ ทั้งที่ สนช. มิได้มาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน แต่กำลังจะออกกฎหมายที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง ตลอดจนเป็นร่างกฎหมายที่มุ่งให้อำนาจแก่ข้าราชการเจ้ากระทรวงผู้เสนอร่างกฎหมายนั้น ไม่ว่าจะเป็น พ... คุ้มครองแรงงาน  ... ป่าชุมชน พ... แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ     

จากเหตุผลข้างต้น เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้ สนช. ยุติบทบาททั้งหมดนับแต่บัดนี้  รอให้มีการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐสภาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย แต่ในระหว่างนี้ขอให้ สนช. ส่งคืนเงินเดือนท่านละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อเดือน กลับไปให้สำนักงานรัฐสภาไว้ใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ขอยืนยันว่า นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ได้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านผู้ถูกละเมิดสิทธิจากเจ้าหน้าที่ของรัฐมาโดยตลอด และทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ในการตรวจสอบและไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ    การกล่าวหานายจรัลจึงเป็นตัวอย่างล่าสุดของการใช้อำนาจเผด็จการคุกคามแม้กระทั่งกรรมการองค์กรอิสระที่มีที่มาจากรัฐธรรมนูญของประชาชน

 

กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมภาคอีสาน (กสส.) และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

1.                  นายพิชิต พิทักษ์

2.                   นายอภิชาติ ศิริสุนทร

3.                   นายทูนเกียรติ  กมลเนตร

4.                   นายดนุพล สอนตาง

5.                   นายองอาจ ชาวสวนงาม

6.                   นายนันทโชติ ชัยรัตน์

7.                   นายสถิต ยอดอาจ

8.                   นายศรายุทธ์ ตั้งประเสริฐ

9.                   นางนีรนุช เนียมทรัพย์

10.               นางสุภาวดี บุญเจือ

11.               นายเลื่อน ศรีสุโพธิ

12.               นายเดชอนันต์ พิลาแดง

13.               นายนีณวัฒน์ เคนโยธา

14.               นายสุพิทักษ์ วีระพล

15.               นายวราเชนทร์ เชื้อบุญมา

16.               นายไกรทอง เหง้าน้อย

17.               นายจักรพงษ์ แก้วพเนา

18.               นายนิรัตติศัย ขันทอง

19.               นายพลจักร นวนพั่ว

20.               นายสุเนตร เพียสุพรรณ์

21.               นายภูมิอนันต์ สะอาด

22.               นายสมศักดิ์ แก้วโสภา

23.               นายวิรัตน์ บุญชาย

24.               นายอนุพงษ์ จรดรัมย์

25.               นายประธาน คงเรืองราช

26.               นายหนูเกิด ทองนะ

27.               นายสุพจน์ แก้วแสนเมือง

28.               นายธนภพ มุขขันธ์

29.               นายธิปไตย ฉายบุญทอง

30.               นายฤทธิชัย ภูตะวัน

31.               นายนิวาส โคตรจันทึก

32.               นายปราโมทย์ ผลภิญโญ

33.               นายชัน ภักดีศรี

34.               นายวันชัย ฉอ้อนศรี

35.               นายทศพล พลเยี่ยม

36.               นายสมพงษ์ สิงห์ทิศ

37.               นายไพทูรณ์ พรหมนอก

38.               นายเมธา วีพิทักษ์

39.               นายปรีชา พะวงศ์

40.               นายวิมล สามสี

41.               นายอนุชา แหสมุทร

42.               นายพิษณุ ไชยมงคล

43.               นายเจษฎา โชติกิจภิวาทย์

44.               นายวัชระ บุญผิว

45.               นายแพทย์กิตติภูมิ จุฑาสมิธ

46.               นายพิสาร หมื่นไกล

47.               นายรุ่งวิชิต คำงาม

48.               นายบุญทัน กมล

49.               นายสมเกียรติ วงศ์เฉลิมมัง

50.               นายสไว มาลัย

51.               นายสามารถ ป้องนาค

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท