Skip to main content
sharethis

ณภัค เสรีรักษ์


นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


1. อภิจารีตรัฐธรรมนูญไทย[1]


 


แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะมีฐานะเป็น "สถาบันหลัก" ทางการเมือง ที่มีอิทธิพลหรืออาจกล่าวว่าเป็นตัวกำกับสังคมการเมือง แต่ขณะที่รัฐธรรมนูญส่งอิทธิพลต่อพัฒนาการทางการเมือง พัฒนาการทางสังคมการเมืองก็ส่งอิทธิพลต่อพัฒนาการของรัฐธรรมนูญด้วย อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่ายังมี "ปัจจัยเชิงสถาบัน" ที่คอยกำกับรัฐธรรมนูญและพัฒนาการของสังคมการเมืองประชาธิปไตยไทยอีกชั้นหนึ่ง


 


ผู้เขียนขอเรียกปัจจัยเชิงสถาบันดังกล่าวว่า "อภิจารีตรัฐธรรมนูญ" ซึ่งมีความหมายถึง ลักษณะพื้นฐานบางประการที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร และไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย แต่เป็นแบบแผนหรือบรรทัดฐานที่คอยกำกับรัฐธรรมนูญ กำกับโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม ซึ่ง "อภิจารีตรัฐธรรมนูญ" นี้เองเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐธรรมนูญไทยไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะกฎกติกาสูงสุด และตกอยู่ในวงจร "ร่าง-ใช้-ฉีก" อย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ตลอดเวลาจนที่ไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด


 


ในทัศนะของผู้เขียน "อภิจารีตรัฐธรรมนูญไทย" ประกอบไปด้วย


 


ประการแรก รัฐธรรมนูญเป็นผลผลิตของการแย่งชิงอำนาจและการประสานประโยชน์ กล่าวคือ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เนื้อหาของรัฐธรรมนูญจะเป็นตัวสะท้อนสังคมการเมืองในช่วงเวลานั้น เช่น ธรรมนูญการปกครองฯ 2475 ซึ่งรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราก็พบว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ของคณะราษฎรในการจำกัดอำนาจของฝ่ายเจ้า เป็นต้น หรือรัฐธรรมนูญ 2492 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่พูดถึง "ประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ก็สามารถสะท้อนสถานการณ์ช่วงนั้นได้คือการที่ฝ่ายนิยมเจ้าเริ่มฟื้นฟูอุดมการณ์ของฝ่ายตนขึ้นมาในสังคมไทย


 


ประการที่สอง ยอมรับการรัฐประหาร, ฉีกรัฐธรรมนูญ และร่างรัฐธรรมนูญใหม่หลังรัฐประหาร ในสังคมการเมืองไทย เมื่อเกิดความขัดแย้งหรือเมื่อประสานประโยชน์กันไม่ได้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมักแก้ปัญหาด้วยการทำปฏิวัติรัฐประหาร แล้วตั้งตัวเป็น "องค์อธิปัตย์" กระทำการฉีกรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นแทน วงจรดังกล่าวเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนการรัฐประหารถือเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาสังคมไปแล้ว


 


ประการที่สาม รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ต้องมี กล่าวคือ ไม่ว่าระบอบการเมืองจะผันผวนมากเพียงใด อยู่ในระบอบการปกครองแบบใด แต่ประเทศนี้ก็ต้องมีรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นกฎกติกาสูงสุด อย่างไรก็ดี การมีรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าสังคมการเมืองนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะเป็นไปได้ว่าอาจมีรัฐธรรมนูญที่รองรับการใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมหรือรองรับอำนาจที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยได้เช่นกัน


 


ประการที่สี่ กษัตริย์ไทยเป็นผู้ทรงคุณงามความดี มีบุญบารมี มีคุณธรรม จึงอยู่ "เหนือ" การเมือง ในความหมายที่ "สูงส่งกว่า" การเมือง (มิใช่ "ไม่เกี่ยวข้อง" กับการเมือง) การพูดคุย-ถกเถียง-วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนธรรมดาผู้ไม่มีบุญบารมีไม่ควรกระทำ หรือกระทำไม่ได้


 


ประการที่ห้า ประชาธิปไตยแบบไทยเป็นระบอบการปกครองที่ไม่เหมือนใครในโลกที่คนไทยควรจะภูมิใจ คือประเทศไทยมี "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" การกระทำใดๆที่(ถึงแม้ว่าจะขัดต่อหลักการประชาธิปไตยแต่ถ้าการกระทำนั้น)ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขย่อมเป็นกระทำที่น่ายกย่อง สรรเสริญ และควรเอาเยี่ยงอย่าง


 


มิใช่หรอกหรือว่า "อภิจารีตรัฐธรรมนูญ" ข้างต้นล้วนเป็น "อภิจารีต" ที่กำลังฝังรากลึกไปเรื่อยๆในสังคมไทย พร้อมกับค่อยๆบ่อนทำลายพัฒนาการประชาธิปไตยของสังคมไทย ผู้เขียนจึงเห็นว่า ตราบเท่าที่ "อภิจารีต" เหล่านี้ยังคงไม่ถูกขุดรากถอนโคนไปจากสังคมไทย "การเมืองที่กินได้" ก็คงมีสภาพเป็นเพียงแค่ความฝัน และประชาธิปไตยไทยคงไม่สามารถก้าวเดินไปได้ไกลกว่านี้เป็นแน่แท้


 


2. รัฐธรรมนูญ 2550 กับอนาคตสังคมการเมืองไทย


 


การปฏิวัติรัฐประหารได้สร้างจารีตอย่างหนึ่งขึ้นในสังคมการเมืองไทย คือเรื่องการฉีกรัฐธรรมนูญแล้วร่างฉบับใหม่ขึ้นใช้แทน ตามจารีตดังกล่าว หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน ปีที่แล้ว คณะรัฐประหารก็ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ2540 ทิ้ง และดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


 


ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นผลผลิตของการรัฐประหารนั้นกำลังจะเข้าสู่การลงประชามติ ในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 หรือ 1 เดือนก่อนครบ 1 ปีการรัฐประหาร ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนชาวไทยจะได้ลงประชามติ "รับ-ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งร่างภายใต้การปกครองของคณะเผด็จการ


 


ก่อนจะกล่าวถึงการลงประชามติ ผู้เขียนจะลองวิเคราะห์สังคมการเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 (หมายความว่า สมมติว่าประชามติครั้งที่ผ่านการเห็นชอบ) ว่าจะเป็นเช่นไร ในเบื้องต้นผู้เขียนเห็นว่าสังคมการเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 มีแนวโน้มว่าจะเป็นสังคมการเมืองแบบ "นีโอ-อภิชนาธิปไตย"


 


"นีโอ-อภิชนาธิปไตย" ในที่นี้ ผู้เขียนขอให้คำจำกัดความว่าเป็นระบอบการเมืองที่นำโดย "อภิชน" อำนาจอธิปไตยเป็นของ "อภิชน" แต่จะมีรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจาก "อภิชน" ในยุคโบราณ คือการใช้อำนาจจะ "เนียน" กว่าเมื่อก่อน ความโจ่งแจ้งจะน้อยลง หรืออาจนำความคิดเรื่อง "ความดี-คุณธรรม" มาบดบังความโจ่งแจ้งดังกล่าว


 


ที่ผู้เขียนเห็นว่าจะเป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจาก "อภิจารีต" ในสังคมไทยที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้นเกี่ยวกับความคิด "กษัตริย์นิยม" ในรูปแบบที่เป็นผู้มี "บุญบารมี-ทรงคุณธรรม-ทศพิธราชธรรม" แนวคิดแบบนี้จะเป็นรากฐานในการคิดเกี่ยวกับ "ผู้นำ" หรือ "ผู้บริหารประเทศ" ว่าจะต้องเป็น "คนดี-มีคุณธรรม-ทำเพื่อชาติ"


 


ซึ่งคนประเภทดังกล่าวมักจะอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูงกลุ่มหนึ่งที่มีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับ "วัด" และ "วัง" ขณะที่จะมองว่านักการเมืองอาชีพเป็น "อัปปรียชน" ที่หวังเพียงจะเข้ามาหาประโยชน์จากการเมือง ดังนั้นกลุ่ม "อภิชน" ดังกล่าวก็จะสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นกลุ่มคนที่ "เหนือ" การเมืองในความหมายของการอยู่ "สูงส่งกว่า" การเมืองของนักการเมือง("สกปรก")


 


คนที่ตกอยู่ภายใต้วาทกรรม "ผู้มีบารมี-คุณธรรม" ดังกล่าวก็จะเห็นว่า ประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องของ "คนดี" (ในแบบที่ "อภิชน" หรือ "รัฐ" พยายามจะนิยาม) ไม่ได้เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของ "อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย" หรือเรื่อง "สิทธิเสรีภาพ" แต่อย่างใด


 


กระแสความคิดดังกล่าวปรากฏอยู่ในหลายๆส่วนของรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจทางการเมืองแก่ฝ่ายตุลาการ, ความไม่สัมพันธ์กันของที่มาและอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา, การพยายามสร้างความอ่อนแอให้ฝ่ายบริหาร ฯลฯ ซึ่งได้มีผู้อภิปรายไว้เป็นจำนวนมากแล้ว ผู้เขียนจึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูดถึง ณ ที่นี้


 


ยิ่งไปกว่านั้น การพิจารณาถึงสภาพสังคมการเมืองไทยต่อจากนี้ไม่สามารถจะดูแต่เพียงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ แต่ต้องดูทั้ง "แพคเกจ"[2] ไม่ว่าจะเป็น ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร, ร่างพระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ เป็นต้น เพราะกฎหมายเหล่านี้ล้วนเป็นการสถาปนาอำนาจของ คมช.ให้สูงส่งกว่าเดิมโดยอาศัย "ความมั่นคง" (ของใครไม่ทราบ) เป็นเครื่องมือ


 


สังคมการเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 จึงมีแนวโน้มที่จะได้รัฐบาลที่อ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพ หรืออาจเป็นได้เพียงแค่หุ่นเชิดของเหล่าอภิชนซึ่งได้วางแผนไว้หมดแล้ว การถ่วงดุลอำนาจอธิปไตยไม่เท่ากันฝ่ายตุลาการจะมีอำนาจมากกว่าและสามารถเข้ามาก้าวก่ายอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร กลุ่มตุลาการจะเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจชี้นำสังคม


 


นอกจากนี้ "แพคเกจกฎหมาย" ของคณะรัฐประหารที่มักอ้าง "ความมั่นคง" อยู่ตลอดเวลานั้น จะเป็นผลให้เกิดสภาวะ "รัฐซ้อนรัฐ" และเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายทหาร โดยเฉพาะ ผบ.ทบ.ในฐานะ "ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน" (จาก "พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ")


 


ยิ่งกว่านั้น เมื่อประกอบบทบัญญัติทางกฎหมายทั้งในรัฐธรรมนูญปี50 และในแพคเกจกฎหมายของ คมช. กับ วาทกรรม "คนดี-มีคุณธรรม" ที่รายล้อมอยู่ ก็จะผลักดันให้เหล่าอภิชน ไม่ว่าจะเป็นศาล, ทหาร, ระบบราชการ ยกสถานะขึ้น "เหนือ" การเมืองของนักการเมือง "สกปรก" ที่ "เลวกว่า-คุณธรรมน้อยกว่า" ด้วยการณ์ดังกล่าวเมื่อกลุ่ม "อำมาตย์" เหล่านี้ยกสถานะขึ้นไป "เหนือ" การเมืองแล้ว สถานะของสถาบันกษัตริย์ย่อมถูกผลักให้สูงส่งขึ้นไปอีก


 


การรัฐประหาร 19 กันยาจึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการสถาปนาระบอบ "นีโอ-อภิชนาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมเป็นประมุข" ที่มี "เปลือก" เป็นประชาธิปไตย แต่ "แก่น" เป็น "อำนาจบารมีนิยม" หรืออาจพูดอย่างหยาบๆได้ว่า "ประชาธิปไตยไทย" จะเดินไปสู่ "ประชาธิปไตยแบบที่ชนชั้นนำต้องการ" ที่มีแต่ "รูปแบบ" แต่ไม่มี "เนื้อหา"


 


ผลจากการรัฐประหารครั้งนี้จึงมิใช่เป็นเพียงการล้มรัฐบาลทักษิณ หากแต่เป็นการยกสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สูงส่งขึ้นไปอีก รวมถึงเป็นการผลิตซ้ำ "อภิจารีตรัฐธรรมนูญ" ที่ผู้เขียนได้เสนอไว้ในส่วนก่อนหน้านี้อีกด้วย


 


3. "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการ เพื่อเปิดฟ้าใหม่ประชาธิปไตยไทย


 


จากที่กล่าวไปแล้วร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จะเป็นประตูสู่ "ประชาธิปไตยแบบที่ชนชั้นนำต้องการ" เป็นระบอบการปกครองที่ยึดมั่นเชื่อถือใน "อำนาจบารมี" ให้อำนาจแก่อภิชนขุนนางข้าราชการ แต่ไม่ไว้ใจประชาชน และเมื่อประกอบกับแพคเกจของคณะรัฐประหารแล้วภาพแห่งการมุ่งสถาปนาอำนาจของชนชั้นนำยิ่งชัดเจนขึ้น


 


นอกเหนือไปจากเนื้อหาแล้วที่มาก็เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการพิจารณา รัฐธรรมนูญที่มาจากปากกระบอกปืนย่อมเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรม บวกกับกระบวนการประชามติที่เปรียบเสมือนการมัดมือชกยิ่งทำให้รัฐธรรมนูญยิ่งไร้ความชอบธรรมเข้าไปใหญ่


 


ผู้เขียนเสนอว่าเมื่อมองถึง "ที่มา" และ "เนื้อหา" ของร่างฯดังกล่าวก็คงเพียงพอแล้วต่อการประกาศจุดยืนในการ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าลองคิดให้ลึกไปกว่านั้น มิใช่หรอกหรือว่าโจทย์ที่แท้จริงของการลงประชามติครั้งนี้มิได้อยู่เพียงที่เนื้อหาหรือที่มาของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 หากแต่เป็นคำถามที่ว่า "จะเอายังไงกับอำนาจทหาร อภิชน อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย" [3]


 


เพื่อเปิดฟ้าใหม่ประชาธิปไตยไทย ผู้เขียนขอเชิญชวนประชาชนผู้ที่ต้องการ "ประชาธิปไตยที่กินได้" ร่วมลงมติ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เหล่า "อภิชน" รับรู้ว่า "ประชาชน" มีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจอนาคตของตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น การ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลง "อภิจารีตรัฐธรรมนูญ" ก็เป็นได้






[1] ผู้เขียนตั้งชื่อโดยตั้งใจใจจะ "ล้อ" กับ "จารีตรัฐธรรมนูญไทย" ของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และ "อภิรัฐธรรมนูญไทย" ของ สมชาย ปรีชาศิลปะกุล ดู รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, การแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 10 :จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม (กรุงเทพฯ: คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์/openbooks, 2550) ; สมชาย ปรีชาศิลปกุล, ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี พ.ศ.2550: อภิรัฐธรรมนูญไทย (กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2550)



[2] เกษียร เตชะพีระ, รัฐราชการอาญาสิทธิ์เพื่อความมั่นคง และการสอดส่องเบ็ดเสร็จ, มติชนรายวัน, 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2550, p.6



[3] ดู ธงชัย วินิจจะกูล, โจทย์ที่แท้จริงของการลงประชามติและทางเลือก, www.prachatai.com,  17/7/2550 หัวข้อที่ 4

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net