Skip to main content
sharethis

มีชัย ฤชุพันธุ์-สมคิด เลิศไพฑูรย์-รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์-เกษียร เตชะพีระ ขึ้นเวที---มีชัยชี้สังคมไทยเทหมดหน้าตักดึงศาลสู่การเมือง หลังเข้ารูปเข้ารอยควรเก็บศาลขึ้นหิ้ง, รังสรรค์วิเคราะห์การเมืองถอยไปก่อนปี 2540 ชี้ประชามติไม่เป็นธรรม-หลักเกณฑ์โหวตรับต้อง 2 ใน 3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง, เกษียร ระบุแก้เผด็จการทุนด้วยการฟื้นเผด็จการทหาร กีดกันไทยรักไทย-คนรากหญ้า สังคมไม่มีทางสงบ, สมคิด เผยมีการตั้งใจอธิบาย รธน.คลาดเคลื่อน พร้อมแจงทุกข้อข้องใจ

ประชาไท - 17 ส.ค.50 ภายในงานมติชนแฟร์ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการจัดเสวนา เรื่อง "คว่ำ-ไม่คว่ำ ร่างรัฐธรรมนูญ ชาติรอด-ไม่รอด"โดยมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ, ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. และ รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. เข้าร่วม

 

มีชัย ฤชุพันธุ์ เริ่มต้นกล่าวถึงกระบวนการต่างๆ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ว่า ในระหว่างรอเสียงประชามตินี้ คณะร่างจะต้องไปทำกฎหมายลูก ภายใน 45 วัน ซึ่งก็จะครบกำหนดในวันลงประชามติพอดี แล้วนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สนช.ได้รับแล้วต้องทำกฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 45 วันซึ่งก็คือราวต้นเดือนตุลาคม หลังจากนั้นระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งจึงเริ่มต้นโดยกำหนดให้เลือกตั้งภายใน 90 วัน ซึ่งก็น่าจะเป็นภายในเดือนธันวาคมนี้ การเลือกตั้งน่าจะเป็นไปตามที่นายกฯ กำหนดไว้คือ 23 ธ.ค.50

 

หากมีการคว่ำรัฐธรรมนูญ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องร่วมกันหารือหยิบ รธน.ฉบับใดฉบับหนึ่งที่เคยใช้แล้วปรับปรุงแก้ไข้ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน คือต้องแล้วเสร็จภายใน 19 ก.ย. และเมื่อมีรธน.แล้วก็ต้องมีกฎหมายลูกตามมา ซึ่งจะเลือกตั้งได้เมื่อใดก็แล้วแต่สภาจะเขียนกำหนดไว้ ผู้ร่างกฎหมายลูกซึ่งปกติคือ กกต. ก็ต้องยกร่างกฎหมายลูก เมื่อ ครม.เห็นชอบกฎหมายลูกก็จะส่งให้ สนช. โดยไม่มีเวลากำหนดว่าต้องเสร็จเมื่อไร

 

มีชัย กล่าวต่อว่า ในชีวิตได้เกี่ยวข้องกับการร่าง รธน.มาไม่น้อย และพบว่า รธน.ทุกฉบับ ไม่สามารถทำให้ถูกใจทุกคนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เรื่องบางเรื่องอยากเขียนอย่างหนึ่งแต่เขียนไม่ได้ เพราะที่ประชุมไม่เอาด้วย ฉะนั้น การจะคว่ำหรือไม่คว่ำ รธน. ก็แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะรู้สึกว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นที่พอใจหรือไม่  

 

อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า ดูจากโครงสร้างแล้ว ร่าง รธน.50 ไม่ได้ต้องการทำให้รัฐบาลอ่อนแอ แต่ต้องการแก้ปัญหาจากช่องว่างของ รธน.40 ที่ตั้งใจจะให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งโดยเด็ดขาดเพื่อให้เดินหน้านโยบายได้เต็มร้อย แต่ล้มเหลวในระบบถ่วงดุลตรวจสอบ เพราะองค์กรอิสระไม่ได้อิสระจริง ร่าง รธน.50 จึงแก้ปัญหาฝ่ายบริหารที่แข็งจนไม่ได้ถ่วงดุล หากพึ่งองค์กรอิสระไม่ได้ก็ยังสามารถนำคดีสู่ศาลได้ ทำให้ประชาชนมีทางเลือก นอกจากนี้โครงสร้างในการจัดระบบการสรรหาที่ใช้ประธานศาลต่างๆ มาสรรหา ก็เป็นทางเลือกในการคัดเลือกบุคคลที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไปอยู่ในองค์กรอิสระ

 

"ปัจจุบันนี้เราเชื่อถือสถาบันตุลาการ เป็นสถาบันที่มีเกียรติ เราก็หันไปหาสถาบันนี้เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการเมืองให้มากที่สุด เหมือนกับเราเทหมดหน้าตัก เหมือนเราเอาสิ่งที่ดีที่สุดแล้วมาใช้ ผมจึงมีความเห็นว่า เมื่อเหตุการณ์เข้ารูปเข้ารอยเราควรจะถอยกลับ ควรรักษาท่านไว้ใช้ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน เพราะการเมืองมันขัดแย้งกันตลอดเวลา"

 

ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ กล่าวต่อว่า ในวิชาเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญถือเป็นเอกกะสถาบัน อันเป็นกฎกติกาที่ควบคุม กำกับ ตรวจสอบสังคมการเมือง และในอีกด้านก็ให้อำนาจในการผลิตกฎกติกาชุดต่างๆ ในการควบคุมกำกับ เชื่อมโยงสมาชิกในสังคม ดังนั้น ในฐานะที่รัฐธรรมนูญเป็นสัญญาสังคม ก็ต้องมีคุณสมบัติสามประการ 1. เป็นธรรมต่อสมาชิกทั้งมวลในสังคม 2. เกื้อกูลให้ตลาดการเมืองส่งมอบบริการความสุขให้ประชาชน 3.ประชาชนยอมรับ

 

รังสรรค์ ได้วิเคราะห์ในเกณฑ์ความเป็นธรรมของ รธน.ว่า มีปัญหา 4 ประเด็นคือ 1.ความไม่สอดคล้องต้องกันของตรรกวิทยาของ รธน. เพราะร่างฉบับนี้ใช้ข้อสมมติในพฤติกรรมที่แตกต่างกันของมนุษย์ในสังคม มองประชาชนเป็นคนที่ต้องการหาประโยชน์ส่วนตัวสูงสุด เป็นจุลอัปรียชน มองนักการเมืองเป็นมหาอัปรียชน ในอีกด้าน รธน.มองตุลาการเป็นอรหันต์ นี่เป็นการใช้ข้อสมมติซึ่งแตกต่างกันในการออกแบบ รธน. ทั้งที่น่าจะต้องใช้ข้อสมมติบนพื้นฐานเดียวกัน บทบัญญัติจึงเป็นไปในทางควบคุมกำกับประชาชนและนักการเมืองอย่างเข้มงวด

 

2.กลไกการถ่วงดุลอำนาจอธิปไตย ร่าง 50 สืบทอดจารีตการเขียน รธน.ให้อำนาจอธิปไตยก้าวก่ายกันและกัน ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ 2475 และมากขึ้นตามลำดับ ร่าง 50 ให้อำนาจตุลาการเพิ่ม แต่ไม่ได้สร้างกลไกเพิ่มเติมในการใช้อำนาจตุลาการ เป็นครั้งแรกที่ตุลาการก้าวไปใช้อำนาจนิติบัญญัติ เสนอร่างกฎหมายได้ และมีบทบาทมีอำนาจมาก

 

"การเพิ่มอำนาจของตุลาการ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายความน่าเชื่อถือของตุลาการ ในอดีตตุลาการน่าเชื่อถือเพราะมีอำนาจจำกัด ถ้าตัดสินคดีด้วยความเที่ยงธรรม ความน่าเชื่อถือก็เกิด ในอนาคตการที่อำนาจตุลาการก้าวล่วงไปในอำนาจนิติบัญญัติ และเรื่องต่างๆ เป็นการเปิดช่องทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันตุลาการเอง"

 

3.ประโยชน์ทับซ้อน ร่าง รธน. 50 มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะแม้จะห้าม กมธ.ร่างฯ สมัคร ส.ส. หรือ ส.ว. แต่ไม่ได้ห้าม ส.ส.ร. ขณะเดียวกันมีการขยายเวลาเกษียณอายุราชการของผู้พิพากษาและอัยการในบทเฉพาะกาล แต่ไม่ได้บอกว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการที่เป็น ส.ส.ร. หรือ กมธ.จะไม่ได้ประโยชน์จากหมวดนี้ รวมถึงการบัญญัติให้มีการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพอย่างเพียงพอด้วย

 

4.การฟื้นคืนระบอบประชาธิปไตย ร่าง รธน. 50 ทำให้ระบอบอำมาตยาธิปไตยฟื้นคืน เห็นได้จากสมาชิกวุฒิสภาที่เกือบครึ่งมาจากการคัดสรร โดยที่ ส.ว.ก็ยังคงมีอำนาจกว้างขวางเหมือนรัฐธรรมนูญปี 40

 

รังสรรค์กล่าวต่อถึงประเด็นสองที่ว่า ร่างนี้เอื้ออำนวยให้ตลาดการเมืองผลิตความสุขแก่ประชาชนหรือไม่ โดยเขาระบุว่า นักการเมือง รัฐบาลมีหน้าที่ผลิตบริการความสุขบริการแก่ประชาชน ตลาดการเมืองในอุดมคติต้องมีการแลกเปลี่ยนระหว่างเมนูนโยบายกับคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ร่าง รธน.50 จะทำให้เบี่ยงเบนไปจากตรงนั้นและจะพาการเมืองไทยไปสู่ระบอบพหุพรรค ก่อนปี 2540 เพราะเปลี่ยนระบบการแบ่งเขตเลือกตั้งและระบบปาร์ตี้ลิสต์

 

"มันมีผลสำคัญคือทำให้ตลาดการเมืองไม่ใช่ตลาดแลกเปลี่ยนระหว่างเมนูนโยบายกับคะแนนเสียงเลือกตั้งอีกต่อไป และยังลดทอนความเข้มแข็งของฝ่ายบริหาร โดยการสร้างกลไกตรวจสอบเกินพอดี รัฐบาลจะเป็นรัฐบาลผสม อายุจะสั้น รัฐบาลที่อ่อนแอยากจะผลิตบริการความสุขส่งมอบให้ประชาชนได้" รังสรรค์กล่าว

 

ประเด็นสุดท้ายเรื่องการยอมรับของประชาชน รังสรรค์ระบุว่ามันเป็นเกณฑ์สำคัญมาก โดยผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ดูว่าร่างนี้มีที่มาจากที่ไหน มีตัวแทนประชาชนมีส่วนในการร่างหรือไม่ และร่างเสร็จแล้วก็จำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจ ถกอภิปรายเนื้อหาบทบัญญัติต่างๆ แต่ร่าง รธน. 50 ให้เวลาน้อย มีความไม่เป็นธรรมในการถกอภิปราย โดยรัฐบาล และ คมช.พยายามดันให้ประชาชนรับ นอกจากนี้ยังไม่มีการกำหนดกฎในการลงคะแนนเสียงประชามติ ซึ่งเขาเห็นว่าควรจะใช้กฎเสียง 2 ใน 3 หรืออย่างน้อยที่สุดคือ ครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จึงจะถือว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติ

 

เกษียร เตชะพีระ กล่าวว่า จะมองตัว รธน.นี้ในมุมการเมือง โดยโยงตัวบทเข้ากับสภาพแวดล้อมของสังคมการเมืองไทยที่ผ่านมาใน 3 ประเด็น คือ 1.อะไรคือเกณฑ์ที่เราจะใช้ได้ในการพิจารณาว่าจะคว่ำหรือไม่คว่ำ 2.พิจารณาความเกี่ยวพันของร่าง รธน.นี้ กับเผด็จการทุนนิยมของระบอบทักษิณ 3. พิจารณาความเกี่ยวพันของร่าง รธน.นี้กับเผด็จการทหาร คปค.

 

ในประการแรก เกณฑ์การเมืองที่ใช้ตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอยู่ที่ว่าคนนั้นมองว่าอะไรคือภัยคุกคามเฉพาะหน้าที่ร้ายแรงกว่า ระหว่างเผด็จการทุนนิยมของระบอบทักษิณ กับเผด็จการทหารของ คปค. หากเป็นอย่างแรกก็ไปรับ หากเป็นอย่างหลังก็ต้องไม่รับ

 

ประการที่สอง ร่าง รธน.นี้โยงกับเผด็จการทุนนิยมของระบอบทักษิณอย่างไร เกษียร ระบุว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เคยกล่าวถึงแผน 4 ขั้นของ คปค.ในจัดการกับระบอบทักษิณซึ่งมีการยุบพรรค ดำเนินคดีอาญาเรื่องทุจริตกับแกนนำ การที่ คตส.ตรวจสอบและอายัดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ และสุดท้ายคือการลงประชามติ

 

เกษียรระบุว่า อำนาจของเผด็จการทุนนิยม แท้ที่จริงแล้วอยู่ที่อำนาจทุนใหญ่และฐานคะแนนเสียงที่ค่อนข้างเหนียวแน่นและคงเส้นคงวา ร่าง รธน.นี้เข้ามาตัดตอนและลิดรอนอำนาจการเมืองผ่านการเลือกตั้ง โดย 1.ลดอำนาจนักการเมืองจากการเลือกตั้ง เพราะเปลี่ยนวิธีเลือกตั้ง ทำให้การนำระดับชาติของพรรคการเมืองอ่อนลง และจะทำให้อิทธิพลของนักเลือกตั้งท้องถิ่นมากขึ้น 2.เพิ่มอำนาจข้าราชการตุลาการ และบุคคลจำนวนหนึ่งที่เป็น "คนดี" มาทำหน้าที่ใน ส.ว. และองค์กรอิสระ 3.ประกันความอิสระโดยสัมพัทธ์ของข้าราชการประจำจากนักการเมือง ห้ามนักการเมืองก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการ และ4.ทหารได้รับการยอมรับรับรองว่ามีสิทธิอำนาจในการตัดสินใจว่าใคร ควรได้อะไร เมื่อไร อย่างไร โดยเฉพาะมาตรา 309 ที่แม้มีเจตนาดีแต่อาจถูกคนคิดมิชอบไปตีความได้ว่า รับรองสิทธิอำนาจนี้ของทหาร

 

"มันทำให้อำนาจทางการเมืองเหวี่ยงสวิงจากทุนใหญ่และบรรดาคนจน คนชายขอบ ไปสู่ ทหาร ตุลาการ คนดีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง"

 

อย่างไรก็ตาม เกษียร ระบุด้วยว่า ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่การเปลี่ยนอำนาจใหม่ ซึ่งเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจระลอกใหม่ของโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิดกลุ่มทุนใหญ่ที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจโลก และพวกคนจนชายขอบ โดยกลุ่มทุนที่ต้องการบริหารอำนาจรัฐเองได้ปรากฏเป็นพรรคไทยรักไทยและคนยากจนเป็นฐานมวลชนเขา

 

"เพื่อขจัดปัญหาระบอบทักษิณ แล้วเราปิดประตูนี้ ทำให้ประตูที่คนเหล่านี้จะเข้าสู่อำนาจรัฐลำบากมากขนาดนั้น ผมไม่คิดว่ามันจะนำไปสู่ความสงบ ไปสู่ความสมานฉันท์ ผมคิดว่ามันจะนำไปสู่ภาวะตึงเครียดซึ่งเราอึดอัดเหมือน 20 ที่แล้วเหมือน 14 ตุลา 16 ถึง 2535 ฉะนั้นมันใหญ่กว่าเรื่องระบอบทักษิณ มันเป็นเรื่องของคนสองกลุ่มที่ขอมีส่วนแบ่งในอำนาจรัฐ (กลุ่มทุนใหญ่ที่ผูกโยงกับเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์และคนจน คนชายขอบที่ถูกแย่งชิงทรัพยากร และเป็นฐานเสียงให้ไทยรักไทย) คำถามคืออะไรคือระบอบการเมืองที่จะปรองดองคนเหล่านี้เข้ามาร่วมกันใช้อำนาจรัฐได้ โดยไม่ทำลายคนอื่น ไม่รังแกคนอื่น ซึ่งผมไม่คิดว่ามีคำตอบในร่างรัฐธรรมนูญ 2550 "

 

ประเด็นต่อมา ร่างนี้เกี่ยวพันอย่างไรกับ คปค. เกษียรกล่าวว่า จากประสบการณ์ของต่างประเทศในการจัดการให้ภาวะไม่มีเสรีภาพเป็นเผด็จการ ไปสู่ภาวะของเสรีภาพประชาธิปไตยนั้น ต้องจัดการกับปัญหาของระบบราชการที่ มีอำนาจล้นฟ้า ทุจริตเยอะ และไม่พร้อมรับผิดให้ได้ ซึ่งจะแก้โดย 1.ต้องทำให้อำนาจการเมืองจากการเลือกตั้งอยู่เหนือข้าราชการประจำ 2.ให้ระบอบราชการปลอดการเมือง 3.ให้ทหารถอยทัพกลับค่าย แต่ร่าง รธน.กลับทำในทางตรงกันข้ามทั้งหมด

 

"รัฐธรรมนูญนี้รับรองสิทธิของทหารที่ใช้กำลังอาวุธตัดสินชี้ขาดได้ ว่าใครควรจะใช้อำนาจทางการเมือง"

 

สมคิด เลิศไพฑูรย์ กล่าวว่า ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองของฝรั่งเศส ระบุว่า รธน.ที่ดี ต้องค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และต้องสร้างดุลยภาพระหว่างสามอำนาจ ที่ผ่านมาคนวิจารณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพน้อย เพราะวิจารณ์ไม่ได้ เนื่องจากร่าง รธน.นี้เพิ่มเรื่องนี้ไปมาก ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ รธน.หลายเรื่องมีความคลาดเคลื่อน ทั้งโดยไม่ตั้งใจ และที่ตั้งใจ เช่น การส่ง จม.ไปที่ต่างๆ ว่าถ้าประชามติผ่านก็ยังจะไม่มีการเลือกตั้ง หรือกรณีที่พูดกันว่าหากร่าง รธน.ผ่านประธานองคมนตรีจะได้รับการยกฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทั้งที่จริงบทบัญญัติเรื่ององคมนตรีเขียนกันมาต่อเนื่องโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร

 

"เราเอาเรื่องรัฐธรรมนูญไปผูกกับการรัฐประหาร หรือระบอบทักษิณ ซึ่งผมในฐานะคนร่างไปรับผิดชอบขนาดนั้นไม่ได้"

 

สมคิดได้แจกแจงทีละประเด็นถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน 1.เรื่องอำนาจตุลาการที่พูดกันมากว่าได้รับการเพิ่มอำนาจมาก ทั้งที่ รธน.ปี 40 ตุลาการก็เข้าไปมีบทบาทสรรหาองค์กรตาม รธน.อยู่แล้ว นอกจากนี้คณะร่างฯ ยังได้จัดระบบการตรวจสอบอำนาจศาลหลายประการ เช่น การลดอำนาจศาลฎีกาลงให้ต้องพยายามพิจารณาเฉพาะข้อกฎหมาย, ให้ผู้ตรวจการตรวจสอบศาลได้เป็นครั้งแรก, การถอดถอนตุลาการ ผู้พิพากษาทำได้โดยประชาชนเข้าชื่อ 20,000 ชื่อ, ศาลต้องแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน (มาตรา 264)

 

2.เรื่องรัฐบาลไม่เข้มแข็ง สมคิดกล่าวว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอาจนำไปสู่รัฐบาลผสมหลายพรรค แต่ผู้ร่างฯ ไม่ได้มีเจตนาให้รัฐบาลอ่อนแอ โดยสมคิดตั้งข้อสมมติว่า ต่อให้ใช้ระบบการเลือกตั้งเขตละ 3 คน แต่หากพรรคสมาชิกไทยรักไทยไม่ถูกตัดสิทธิ์ก็น่าจะยังได้เสียงส่วนใหญ่ อีกทั้งรธน.ก็ยังให้รัฐบาลมีบทบาทได้เหมือนเดิม

 

3.เรื่องห้ามรัฐบาลแทรกแซงข้าราชการประจำ เป็นการเขียนบนพื้นฐานว่าถ้าแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง พรรคการเมืองนั้นทำไม่ได้ แต่ถ้าแทรกแซงเพื่อการบริหารปกติเขาทำได้ เพื่อให้เกิดดุลยภาพระหว่างฝ่ายประจำกับฝ่ายการเมือง

 

4.เรื่อง ส.ว.จากการสรรหา สมคิดระบุว่ามีคนพยายามสร้างทฤษฎีว่าคนที่มาจากการแต่งตั้งถอดถอนคนที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ ถ้าเข้าใจเช่นนั้นขอให้กลับไปอ่านตำราของอังกฤษใหม่ ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน มันขึ้นกับการวางระบบว่าต้องการระบบของประเทศอย่างไร อีกทั้ง 74 คนก็มาจากการสรรหาที่มีการเสนอชื่อและกลั่นกรอง ไม่ใช่แต่งตั้ง

 

"ผมเห็นด้วยว่าเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าการเลือกตั้ง แต่มันจะได้ ส.ว.ที่เป็นอิสระและเป็นกลางมากกว่าที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้บอกว่าจะดีกว่าทั้งหมด แต่มันเป็นทางเลือกหนึ่งของสังคม จะได้คนที่หลากหลาย"

 

5.เรื่องงบทหาร ที่เพิ่มขึ้น เขากล่าวว่า เป็นเพียงการเลือกหยิบบางเรื่องมาอธิบาย ทั้งที่มาตราอื่นๆ ที่พูดถึงภาคส่วนอื่นๆ งบประมาณก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น กองทุนสนับสนุนทางการเมืองของภาคประชาชน ระบบสวัสดิการของคนไร้ที่อยู่ งบประมาณขององค์กรอิสระ งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 รธน.ปัจจุบันอาจมีข้อด้อยหลายข้อ ผมยอมรับ แต่โดยภาพรวม รธน.นี้ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนพยายามวิเคราะห์

 

6. มาตรา 309 ที่อธิบายว่าเป็นการนิรโทษกรรม คมช. สมคิดระบุว่าไม่ใช่เช่นนั้นเลย เพราะการนิรโทษกรรมได้เสร็จสิ้นไปแล้วตาม รธน.ชั่วคราว 2549 การกำหนดมาตรานี้เป็นแค่การอุดช่องว่างทางกฎหมายที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เผื่อจะมีปัญหาบางประการเกิดขึ้น

 

"สิ่งที่เราพยายามทำคือ ทำให้ความขัดแย้งที่อยู่นอกระบบมาเป็นความขัดแย้งในระบบ ถ้ามีการเลือกตั้งภายในปีนี้ ความขัดแย้งก็จะอยู่ในสภาแทนที่จะไปอยู่บนถนน หรือในสนามหลวงอย่างที่เป็นอยู่"

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net