Skip to main content
sharethis

ทำนายโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,


คณะทำงานศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย


              


               ผมเริ่มเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาในวันที่ 15 สิงหาคม เวลา 24.11 น. อีกไม่กี่วันจากนี้จะเป็นวันตัดสินชะตาประเทศไทยด้วยการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550


              


               ซึ่งถ้าให้ผมคาดเดาจากวันนี้ ผมเดาได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไงก็ต้องผ่านแน่ๆ จะผ่านแบบใสๆ หรือขัดใจคนดูผมคงไม่พูดถึง แต่ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา คิดว่าคงไม่ช้าเกินไป เพราะคิดว่าต้องผ่านแน่ๆ (แต่ถ้าถึงเวลาจริงแล้วไม่ผ่าน คืนนั้นคงเป็นคืนที่ผมจะหลับฝันดี)


              


               ก่อนที่จะเริ่มต้นการทำนายชะตาประเทศไทย ผมมีสิ่งที่อยากให้ทุกคนดูร่วมกันดังต่อไปนี้


1.  รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ให้สิทธิทางตรงแก่ประชาชนไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญปี2540ได้ระบุไว้ แต่ในฉบับนี้ได้มีการตัดคำพ่วงท้ายว่า "ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ" คือให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญระบุได้ทันที หากถูกละเมิดหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมให้ฟ้องศาลได้ทันทีโดยไม่ต้องรอกฎหมายลูก


 


   ข้อที่อยากให้สังเกตคือว่า ถ้าให้ใช้สิทธิได้ทันทีตามที่รัฐธรรมนูญเขียน แล้วจะมีอะไรเป็นตัวบังคับหรือชี้วัดว่า จะให้ได้แค่ไหน เช่นหากมีกรณีพิพาทเรื่องสิทธิดังกล่าวกับรัฐ เมื่อฟ้องศาล จะมีอะไรเป็นมาตรฐานว่า รัฐต้องจัดการรับผิดชอบแค่ไหน หรือต้องได้รับโทษอย่างไร ถ้าหากเป็นสิ่งที่ไม่มีระบุในกฎหมายลูก จากการที่ได้ปรึกษากับนายทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ หรือ "พี่บุ๊ค" ที่เคารพของผม ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พี่บุ๊คก็ให้ข้อสังเกตว่า ในทางปฏิบัติจริง หนึ่งคือเราไม่รู้ว่าจะไปฟ้องศาลไหนได้กันแน่ สองคือการวินิจฉัยให้เป็นดุลยพินิจของศาล ผมจึงรู้สึกไม่มั่นใจอย่างมากว่า ข้อรัฐธรรมนูญเช่นนี้จะได้ผลในทางปฏิบัติจริงแค่ไหน


 


   อีกข้อที่กำลังสงสัยคือ ทางฝ่ายที่ร่างรัฐธรรมนูญและฝ่ายผู้สนับสนุนทั้งหลาย ส่วนมากเป็นกลุ่มคนที่นิยมทฤษฎีโครงสร้างทางการเมืองแบบภูมิปัญญาไทยของธีรยุทธ บุญมี ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เชื่อว่าประชาธิปไตยแบบสากลไม่เหมาะสำหรับสังคมไทย คนไทยยังขาดความรู้ ถูกนักการเมืองชักจูงง่าย แต่กลับไปโฆษณาว่าให้สิทธิทางตรงไว้มากมายเสียขนาดนี้ มิเกรงจะมีปัญหาหรอกหรือ?


  


   ประการสุดท้าย การให้สิทธิแก่ประชาชนจริงๆ แล้ว ที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหาเพราะข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ปัญหาจริงๆ น่าจะอยู่ที่การบังคับใช้จริงมากกว่า ประเด็นจึงน่าจะอยู่ที่ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติจะคลอดกฎหมายลูกเพื่อรองรับสิทธิต่างๆ ได้ดีแค่ไหนมากกว่า


 


2.  มีการบอกว่า ให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ภายหลัง จึงขอให้ช่วยกันรับร่างให้ผ่านพ้นไปก่อน


 


   คำถามคือ ในทางปฏิบัติจริงจะเป็นไปได้ง่ายขนาดนั้นหรือ เพราะถ้าทั้งร่างผ่านพ้นในรอบนี้มาได้แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้คงจะมีความชอบธรรมพอที่จะให้คนบางคนพูดได้ว่า มันดีอยู่แล้วทั้งฉบับ แล้วถ้าหากสมมติว่า คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญบังเอิญชื่อ "จาตุรนต์ ฉายแสง" หรือเป็นนักการเมืองกลุ่มที่ไม่ต้องการเดินตามระบบราชการ สังคมจะใจกว้างกับคนเหล่านี้แค่ไหน


 


   ถ้าหากการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทำกันได้ง่ายจริงๆ คำถามที่จะตามมาต่อมาคือ ประเทศไทยจะต้องแก้รัฐธรรมนูญกันอีกกี่รอบ


 


3.      จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนน้อยลง จาก 500 คน (ที่มาของฉายา "สภา500") เหลือ 480 คน มีผู้ให้เหตุผลนอกเหนือจากเรื่องการประหยัดงบประมาณ แก้ปัญหาสภาไม่ครบองค์ประชุมแล้ว ยังมีอีกเหตุผลว่า ส.ส. จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้แทนปวงชนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ของตน จึงไม่จำเป็นต้องมีจำนวน ส.ส. มากเกินไป ทีนี้ผมอยากให้ดูข้อต่อไปประกอบกัน


 


4.      ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญปี40 ในฉบับใหม่มาตรา 95 ได้แก้ไขให้เป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยเปลี่ยนจากบัญชีรายชื่อเดียวกันทั้งประเทศ มีประเทศไทยเป็นเขตเลือกตั้ง ให้กลายมาเป็น การแบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 8 เขต เขตละ 10 คน โดยแต่ละเขตจะมีบัญชีรายชื่อเป็นของตนเอง ซึ่งก็มีคนให้เหตุผลว่า ส.ส.จากระบบนี้จะได้มีความเป็นตัวแทนปวงชนของภูมิภาค เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของท้องถิ่น.... รู้สึกหรือไม่ว่า ข้อ 4 กับข้อ 5 การให้เหตุผลแอบขัดแย้งกันเอง


          


         นอกจากนี้ผมยังมีคำถามว่า ถ้าจะให้ ส.ส. มีความเป็นผู้แทนของท้องถิ่น ถ้าอย่างนั้นสู้ให้มี ส.ส. ทั้งสภาเพียง 400 คนมาจากระบบแบ่งเขตเพียงอย่างเดียว แล้วตัด 80 คนนี้ออกไป จะไม่ดีกว่าหรือ ? ประหยัดงบประมาณได้ไม่รู้ตั้งเท่าไหร่


 


5.  ส.ส.แบบแบ่งเขต ที่แต่ละเขตมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนได้ 1 ถึง 3คน คำถามคือ หากจะอ้างว่า ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกได้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องผูกติดตัวเองกับ ส.ส. พรรคใดพรรคหนึ่ง ผมอยากขอตั้งคำถามถึงหลักความเป็นจริงว่า จะมีสักกี่คน ที่เลือก ส.ส.พรรคพลังประชาชนแล้ว จะเลือก ส.ส. ประชาธิปัตย์ไปด้วย ดังนั้น ในเขตที่เลือกผู้แทนได้ถึง 3คน จะมีสิทธิที่ทำให้เกิดการเลือกแบบยกพวงมากกว่าหรือไม่


        


         ประการต่อมาคือ ประชาชนแต่ละเขตมีสิทธิเลือก ส.ส. ได้จำนวนไม่เท่ากัน บางเขตเลือกได้ 1 คน บางเขตได้ 2 คน บางเขตได้ 3 คน ถ้าหากประชาธิปไตยคือทุกคน 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากันแล้ว ระบบแบบนี้จะถือเป็นการขัดหลักประชาธิปไตยหรือไม่ หากประชาชนเขตหนึ่งเลือก ส.ส. ได้เพียงคนเดียว ขณะที่อีกเขตเลือกได้ 3 คน


 


6.  มาตรา 111 ถึง 118 การมี ส.ว. ที่มาจากการสรรหา (ก็คือแต่งตั้งนั่นแหละ) จำนวน 74 คน โดยคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวนหนึ่งคน และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวนหนึ่งคนเป็นกรรมการ


        


         มาถึงประเด็นของผู้สรรหา จะสังเกตได้ว่า ครั้งนี้กรรมการสรรหานั้น เป็นฝ่ายตุลาการถึง 3เสียง พร้อมทั้งองค์กรอิสระ ซี่งโดยหลักแล้วความเหมือนกันของตุลาการกับองค์กรอิสระคือ เป็นผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย (ต่างกันแค่ว่าศาลเป็นผู้พากษา ส่วนองค์กรอิสระจะหนักไปทางเป็นผู้ตรวจสอบ แล้วจึงนำไปฟ้องศาล) ประเด็นปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ถ้าหากเรามีฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการแต่งตั้งของฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ สิ่งนี้อาจสร้างหายนะแก่ฝ่ายนิติบัญญัติที่จะถูกครอบงำได้ พูดแบบง่ายๆ คือ คนเขียนกฎหมายจะถูกคนบังคับใช้กฎหมายครอบงำได้


          


         อนึ่ง ประเด็นที่ต้องไม่ลืมก็คือ อำนาจอธิปไตย 3 ฝ่ายของมองเตสกิเออร์ได้วางให้ฝ่ายบริหารต้องถูกตรวจสอบ (เป็นฝ่ายที่ถูกตรวจสอบมากที่สุด) ฝ่ายนิติบัญญัติก็ถูกตรวจสอบได้ ถูกปลดได้ แต่ประเด็นที่ไม่รู้ว่ามองเตสกิเออร์ลืมคิดไว้หรือเปล่า ก็คือฝ่ายตุลาการ ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย มีอำนาจสั่งลงโทษได้ มีดาบอาญาสิทธิ์อยู่ในมือ กลับเป็นฝ่ายที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ แม้แต่การวิจารณ์คำพิพากษา ก็ยังเข้าข่ายผิดกฎหมายได้ง่ายๆ


          


         อันที่จริงคงไม่ใช่เรื่องน่าวิตกสำหรับการมี ส.ว. แต่งตั้ง จะให้มาจากการแต่งตั้งเต็มสภาเลยก็คงไม่เป็นปัญหา ถ้าหากไม่มีการให้อำนาจ ส.ว. ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เพราะอำนาจดังกล่าวที่ให้ไว้กับ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญปี2540 ได้ให้กับ ส.ว. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งสภา


          


         และ ส.ว. ยังมีอำนาจในการถอดถอนตำแหน่งดังต่อไปนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาหรือตุลาการ พนักงานอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ซึ่งต้องไม่ลืมว่า ตำแหน่งที่ว่ามานี้ ก็คือผู้ที่สรรหา ส.ว. จำนวน 74 คน พูดง่ายๆ เมื่อ ส.ว. 74 คน มีที่มาจากบุคคลเหล่านี้แล้ว ส.ว. แต่งตั้งจะกล้าถอดถอนคนที่แต่งตั้งตนเองเข้ามาได้แค่ไหน เพราะความจริงข้อหนึ่งที่เราต้องยอมรับร่วมกันคือ การเมืองที่ไม่มีผลประโยชน์ย่อมไม่มี อย่าได้คิดว่ามีแต่คนที่มาจากพรรคการเมืองเท่านั้นที่จะรู้จักคำว่าผลประโยชน์


 


7.  มาตรา142 ข้อ(3) ได้ระบุที่มาของพระราชบัญญัติว่า ให้มาจากศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ


              


               นับเป็นโครงสร้างที่พิสดารมาก ที่เราให้อำนาจฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมาย สามารถเขียนกฎหมายเองได้ ซึ่งต้องย้ำเหตุผลที่ได้พูดไปแล้วว่า ฝ่ายตุลาการไม่มีอำนาจใดมาตรวจสอบ และตรวจสอบโดยประชาชนก็ไม่ได้ด้วย ที่มาของตุลาการก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน


 


         และข้อหนึ่งที่เราไม่ควรลืมคือ การที่เราให้ฝ่ายนิติบัญญัติสภาล่างเป็นผู้เสนอร่างกฎหมาย เพราะเป็นขั้วอำนาจที่ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งเข้ามา เราจึงหวังให้ฝ่ายนี้ทำหน้าที่ออกกฎหมายที่คุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน แต่สำหรับตุลาการนั้นเป็นข้าราชการประจำที่ประชาชนไม่ได้เป็นผู้เลือกตั้งเข้ามา จึงไม่ใช่ตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชน เพราะไม่ได้เป็นผู้ขายนโยบายให้ประชาชนเลือก


 


8.  มาตรา 279 - 280 ที่ระบุให้ ผู้ตรวจการแผ่นของรัฐสภา ทำหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมเพื่อบังคับใช้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งก็หมายถึงรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแก้ปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินที่มีการละเมิดหลักคุณธรรมจริยธรรมแบบในสมัยรัฐบาลทักษิณ


 


         แต่ต้องชี้แจงให้ฟังอย่างหนึ่งก่อนว่า จริงๆ แล้วเรากำลังจะมีสภาพัฒนาการเมือง ซึ่งเป็นสภาของกลุ่มขบวนการภาคพลเมือง ที่จะเข้ามาทำหน้าที่จัดทำแผนแม่แบบทางการเมืองโดยอิงหลักจริยธรรม แม้จะไม่ได้มีอำนาจถึงขั้นบังคับลงโทษนักการเมืองได้ แต่ก็มีบทบาทสูงต่อการวางแนวทางการบริหารประเทศของฝ่ายการเมือง


 


         และการให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ทั้งในการจัดทำประมวลจริยธรรม รวมถึงตรวจสอบเพื่อรายงานต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี สภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องและหากเป็นการกระทำผิดร้ายแรงให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งทำให้บทบาทการบริหารงานของฝ่ายการเมืองต้องถูกคุมเข้มหนักขึ้นโดยองค์กรอิสระดังกล่าว


.


..


...


 ข้อต่อไปที่ท่านกำลังจะได้อ่านต่อจากนี้ ขอให้อย่าพลาดเป็นอันขาด เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากๆๆๆๆๆ ต้องขอชี้แจงก่อนว่า ตอนนี้เรากำลังมีร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงรอจ่อบังคับใช้อยู่ เรามาดูกันว่า มันเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไร


 


9.  มาตรา 29 ว่าด้วยการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ โปรดสังเกตประโยคที่ว่า "เว้นแต่โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น โดยตัดคำว่า "เท่านั้น" ออก ซึ่งความหมายของคำว่า "เท่าที่จำเป็น" ก็อาจถือว่า ข้อบัญญัติต่างๆ ใน พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งดัดแปลงมาจากกฎหมายสภาวการณ์ฉุกเฉินและกฎอัยการศึก ถือเป็นการจำเป็นโดยชอบธรรมด้วย


 


10.   มาตราที่32 เกี่ยวกับการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้าย จากเดิมยกเว้นเพียงโทษประหารชีวิตตามคำพิพากษาเท่านั้น แต่ของใหม่ เพิ่มข้อความ "โทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ" จากเดิมที่ระบุว่าเป็นโทษประหารชีวิต จึงสงสัยว่า อาจจะมีการลงโทษอะไรที่โหดร้ายกว่าการประหารชีวิตรออยู่หรือไม่ เช่นการทำทารุณกรรมเพื่อรีดข้อมูลราชการลับ เป็นต้น


 


11. มาตรา 33 เกี่ยวกับการเข้าไปในเคหะสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ปกครอง ซึ่งแต่เดิมให้อำนาจแต่เฉพาะหมายศาลเท่านั้น "เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ" ซึ่งนอกเหนือจากรับรองการกระทำตาม พ.ร.บ. ความมั่นคง ซึ่งมีสภาพบังคับใช้เป็นการถาวรแล้ว ยังจะรองรับคำสั่ง หรือประกาศพิสดารต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นมาอีกโดยฝ่ายความมั่นคงด้วย


 


ข้อสุดท้ายนี้ ถือได้ว่า เป็นหน้าแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลยก็ว่าได้


12. มาตรา 309 อาจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิชได้เคยวิเคราะห์ไว้ดังนี้


ในขณะที่มาตรา 309 [1][4] (ซึ่งโยงกับมาตรา 36 และ 37) รับรองว่า ประกาศ คำสั่ง รวมถึงการกระทำที่ปฎิบัติตามคำสั่งและประกาศ ย่อมชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะกระทำ "ก่อน" หรือ "หลัง" ใช้รัฐธรรมนูญปี 2549 และ 2550 (ถ้าประชามติผ่าน) ซึ่งย่อมส่งผลให้องค์กรเฉพาะกิจอย่าง คตส. หรือ คมช. ที่ได้กระทำการใดๆ โดยอาศัยประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารนั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเเละรัฐธรรมนูญต่อไป เเม้ว่าการกระทำนั้นจะกระทำขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญ 2550 มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญเเล้วก็ตาม


 


หลังจากร่ายยาวมาทั้งหมด ผมจึงขอใช้หลักวิชาสังคมศาสตร์ (รวมทุกอย่าง ยำๆ กัน) ทำนายดวงชะตาประเทศไทยถ้าหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน โดยมีคำทำนายดังต่อไปนี้


 


1. ต่อไปการใช้สิทธิในประเทศไทยจะมีเรื่องอีรุงตุงนังยุ่งเหยิงสารพัด จะมีคดีความต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิของประชาชนขึ้นศาลมากมายโดยไม่รู้ว่าศาลอะไรเป็นศาลอะไร และคดีส่วนมากศาลจะจัดการไม่ได้ เพราะไม่รู้จะเอาอะไรเป็นเกณฑ์กำหนดในการจัดการ และอาจเกิดปัญหาความเสื่อมศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมตามมา


 


2. เมื่อถึงคราวที่มีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการอ้างเหตุความไม่สะดวกต่างๆ เกิดขึ้น และประเทศไทยจะวุ่นวายเพราะหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ระหว่างคนที่อยากแก้ กับคนไม่อยากให้แก้ เพราะฝ่ายที่ลงมติรับ ก็จะมีทัศนคติเชิงลบกับฝ่ายคว่ำรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว


 


3. ต่อไปประเทศไทยจะไม่มีเผด็จการสภา 500 (ก็มันเหลือ 480 แล้วนี่หว่า) ไม่มีเผด็จการเสียงข้างมากพรรคเดียวแบบทักษิณ แต่เราจะมีมุ้งเล็กมุ้งน้อยเต็มไปหมด ที่พร้อมจะทรยศกัน พร้อมจะฮั้วกันได้อยู่ตลอดเวลาหาความแน่นอนทางการเมืองไม่ได้ เช่นเดียวกับพรรคการเมืองเก่าแก่ 2พรรค ที่ยุคก่อนก็เดี๋ยวรักกัน เดี๋ยวเกลียดกัน และต่อไปจะหาแฟนพันธุ์แท้นักการเมืองได้ยากขึ้น เพราะนักการเมืองจะย้ายมุ้งกันบ่อย จำไม่ไหว ใครจำได้แม่นๆ คงต้องกราบงามๆ


 


4. ต่อไปเราจะไม่มีเผด็จการแบบทักษิณที่สามารถควบคุมราชการได้ แต่เราจะมีรัฐบาลเผด็จการหุ่นเชิด ที่มีราชการเป็นคนชักใย รัฐบาลจะไม่เป็นคนสั่งงานมอบนโยบายให้ราชการ แต่รัฐบาลจะเซ็นอนุมัติทุกอย่างที่ราชการอยากได้ ต่อไปประเทศไทยจะมีโครงการใหม่ ความคิดเก่าเกิดขึ้นอีกหลายโครงการ เช่น จะมีเขื่อนเกิดขึ้นอีกหลายเขื่อน พร้อมๆ กับมียายไฮเกิดขึ้นอีกหลายคน แต่ยายไฮเวอร์ชั่นใหม่ที่เกิดมา เรื่องอาจจะไม่ Happy Ending อย่างยายไฮที่เรารู้จักในสมัยทักษิณ


 


5. การเรียนการสอนรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย หรือการเรียนวิชาสังคมศึกษาในโรงเรียนจะเกิดบรรยากาศการถกเถียงทั้งที่เป็นวิชาการและไม่เป็นวิชาการ เพราะคนจะเรียนรู้สิทธิในระบอบประชาธิปไตยเข้าใจไม่ตรงกัน นักเรียนบางโรงเรียนอาจเข้าใจว่า 1 เสียง 1 สิทธิ บางโรงเรียนอาจเข้าใจว่า 1 เสียง 2สิทธิ บางโรงเรียนอาจเข้าใจว่า 1 เสียง 3 สิทธิ.... และนักเรียนบางคนอาจถามว่า "เรามีสิทธิด้วยเหรอ?"


 


6. ส.ส.จะเป็นที่หวังพึ่งของคนในท้องถิ่นมากขึ้น ทั้ง ส.ส.แบบเขตและแบบสัดส่วน ชาวบ้านจะมีความคาดหวังมากขึ้น แต่พึ่งได้ยากขึ้น เพราะมีจำนวนน้อยลง


 


7. นักการเมืองจะเหนื่อยมากขึ้น ไหน ส.ส. ต้องพิจารณากฎหมายในชั้นกรรมาธิการ เข้าประชุมสภาใหญ่ ครม.จะต้องทำงานบริหาร ประชุมทุกวันอังคารแล้ว ยังต้องไปเอาใจคนในพื้นที่ให้มากขึ้น ต้องไปเอาใจเพื่อนร่วมพรรคมากขึ้น เพราะกลัวโดนงูเห่ากัด แล้วยังต้องเอาใจเพื่อนต่างพรรคให้มากๆ จะได้ตั้งรัฐบาลด้วยกันและอยู่กันได้นานๆ


 


8. นอกจากเอาใจ ส.ส.ในสภาแล้ว ยังต้องเอาใจ ส.ว. ให้มากๆ ด้วย โดยเฉพาะ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง เพราะถ้า 74 คนเกิดไม่พอใจขึ้นมา ไปหาพวกเพิ่มอีกนิดเดียว รัฐบาลก็ตกเก้าอี้กันได้ง่ายๆ แล้ว


 


9. นอกจากจะต้องเอาใจ ส.ว. แล้ว ยังต้องให้ความเคารพองค์กรอิสระและตุลาการให้มากๆ ด้วย โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ เพราะตุลาการรัฐธรรมนูญที่เคยเชือดพรรคการเมืองไป 4 พรรค จะมาดำรงตำแหน่งอยู่ต่อในศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังจะคืนชีพด้วย ที่สำคัญ โทษตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี ที่อยู่ในประกาศ คปค. จะตามมาหลอกหลอนนักการเมืองถึงในรัฐธรรมนูญนี้


 


10.   แม้ตามหลักการเราจะมีคนเขียนกฎหมายกับคนบังคับใช้กฎหมายเป็นคนละคนกัน แต่ในทางปฏิบัติค่าจะไม่ต่างกัน เพราะตุลาการและองค์กรอิสระจะมีอำนาจต่อรองกับฝ่ายนิติบัญญัติได้มาก โดยเฉพาะในสภาสูงที่มาจากการแต่งตั้งของตนถึง 74 คน ซึ่งคนเลือกก็คงต้องเลือกแล้วว่า คนที่ตนสรรหามา เป็นคนว่านอนสอนง่าย อยู่ในโอวาท


 


11.   สังคมไทยจะมีตัวอย่างเรื่องความกตัญญูกตเวทีให้เห็นเด่นชัดขึ้น เพราะ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งย่อมสำนึกบุญคุณคนที่แต่งตั้งตนเข้ามา แล้วจะหาโอกาสตอบแทนบุญคุณเมื่อถึงคราวที่ตนแต่งตั้งองค์กรอิสระ ไม่ได้ตอบแทนผู้มีพระคุณ แต่ถ้าได้ตอบแทนคนของผู้มีพระคุณได้ก็ยังดี


 


12.   ถ้าหาก ส.ว. จะถูกถอดถอน ปปช.อาจได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ที่แต่งตั้งตนเข้ามา ก็คือ ส.ว. นั่นเอง


 


13.   นอกจากผู้บังคับใช้กฎหมายจะมีคนพิจารณากฎหมายเป็นเด็กในโอวาทคอยบริการให้แล้ว ผู้บังคับใช้กฎหมายก็ยังสามารถคลอดกฎหมายเองได้ คงไม่ต้องบอกว่าหมอตำแยคือใคร สรุปเขียนเอง ใช้เอง


 


14.   อีกคนหนึ่งที่นักการเมืองต้องเชื่อฟังให้มากๆ คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งเทียบได้กับผู้คุมกฎแห่งสำนักเส้าหลิน นักการเมืองจะทำอะไร ก็ต้องเป็นไปตามแผนที่ผู้คุมกฎบอกให้ทำ แล้วถ้าหากทำผิดกฎ แม้มันจะถูกหลักการบริหาร ก็ระวังตัวไว้ดีๆ


 


15.   ต่อไปประเทศไทยจะไม่มีการประกาศสภาวการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึกกันอีก เพราะทุกอย่างอยู่ใน พ.ร.บ. ความมั่นคงหมดแล้ว และถ้าบ้านใครจะมีแขกไม่ได้รับเชิญมาเยี่ยม ถึงไม่เต็มใจ ท่านก็ต้องต้อนรับ


 


16.   ธุรกิจหนังบู๊แอ็คชั่นในประเทศไทยอาจถึงคราวต้องปิดกิจการ หรือย้ายไปทำงานอยู่ต่างประเทศ เพราะคนไทยจะมีของจริงให้ดูทุกวันอยู่แล้วทั้งทหาร คอมมานโด รถถัง ปืนกลเป็นเรื่องปกติในยามไม่ปกติ และหนังสือนิยายแนวสืบสวนสอบสวนจะขายไม่ออกในประเทศไทย เพราะเรื่องคนหายของจริงที่น่าตื่นเต้นกว่าจะมีให้ดูได้เรื่อยๆ


 


17.   การเรียนวิชารัฐศาสตร์ของไทยจะเกิดการอัพเดทอยู่เสมอ เพราะนักรัฐศาสตร์ต้องคอยดูอยู่สม่ำเสมอว่า ตอนนี้ตนยังมีสิทธิอะไรบ้าง สิทธิอันไหนมี พ.ร.บ. ห้ามไปแล้วบ้าง เพราะ กระบวนการผลักดัน พ.ร.บ. ควบคุมการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต และ พ.ร.บ. ความมั่นคงก็เกิดแล้ว และต้องติดตามว่าจะมี พ.ร.บ. อะไรต่อไปอีก


 


18.   ในงานด้านบริการจะมีคำพูดว่า "ลูกค้าเป็นผู้ถูกเสมอ" สำหรับการเมืองก็จะมี "คปค. , คมช., คตส., สนช., ส.ส.ร., กอ.รมน. , ฯลฯ เป็นผู้ถูกเสมอ" ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต และตลอดไป


 


วิธีการแก้เคล็ดและเสริมดวงชะตาคือ ช่วยกันเรียกร้องรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมา....           


 


              

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net