Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ชาวบ้านเครือข่ายชุมชนจังหวัดอุบลราชธานีกว่า 200 คน จาก 8 ชุมชน ที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินได้เดินทางเข้าติดตามผลการแก้ไขปัญหาของทางจังหวัด โดยนายสุรพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นผู้ออกมารับหนังสือด้วยตัวเอง หลังจากที่ได้ร่วมประชุมกับชาวชุมชนกว่า 3 ชั่วโมง จึงได้ข้อสรุป


 


ทั้งนี้ สืบเนื่องจากชาวชุมชนทั้ง 8 แห่ง ซึ่งได้รับความเดือดร้อนในเรื่องที่ดิน ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้ทางจังหวัดแก้ไขปัญหาตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2550 โดยข้อเรียกร้องมีดังนี้


 


ชุมชนกุดลาด เสนอให้รับรองสิทธิที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน พร้อมให้จัดการด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเร่งด่วน


 


ชุมชนบ้านปลาดุก เสนอให้เร่งพิสูจน์สิทธิในที่ดิน และระงับโครงการที่จะทับที่ดิน


 


ชุมชนหนองกินเพล-บุ่งหวาย เสนอให้ตรวจสอบการออกโฉนดที่ดินของนายทุนว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และให้อธิบดีกรมที่ดินสั่งระงับการทำนิติกรรมในที่ดินพิพาทไว้ก่อน


 


ชุมชนหาดวัดใต้ ชุมชนวังสว่าง ชุมชนกุดปลาข่อ และชุมชนโพธิ์ทอง ซึ่งทั้ง 4 ชุมชนได้เสนอในเรื่องเดียวกัน คือ ให้เร่งดำเนินการออกโฉนดที่ดิน


 


ชุมชนศรีประดู่ เสนอให้กำหนดระยะเวลาในการออกโฉนดที่ดินให้ชัดเจนว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด


 


สำหรับข้อสรุปที่ชาวชุมชนกับผู้ว่าฯ ได้ตกลงร่วมกันมีดังนี้


 


กรณีของชุมชนกุดลาด ที่เรียกร้องให้รับรองสิทธิในที่ดินนั้น การพิสูจน์สิทธิในที่ดินของชาวบ้านต้องรอผลการอ่านภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี พ.ศ. 2497 ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของผู้เชี่ยวชาญจากสำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยทางสำนักงานที่ดินสัญญาว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ส่วนเรื่องสาธารณูปโภคทางจังหวัดจะเป็นผู้ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการเป็นการชั่วคราว และจะแล้วเสร็จได้ภายใน 1 เดือน


 


กรณีชุมชนบ้านปลาดุก การพิสูจน์สิทธิในที่ดินต้องรอเช่นกัน ส่วนที่มีการนำเสนอทางโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ว่าจะมีโครงการก่อสร้างที่พักสงฆ์และสวนสมุนไพรนั้น ทางจังหวัดจะสอบถามทางโรงพยาบาล 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ว่าจะมีการดำเนินการจริงหรือไม่ รวมทั้งจะสอบถามถึงสาเหตุที่ทางโรงพยาบาลสร้างกำแพงปิดล้อมที่ชาวบ้าน แต่ส่วนที่เป็นคดีฟ้องร้องกันแล้ว ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม


 


กรณีชุมชนบุ่งหวาย-หนองกินเพล ทางสำนักงานที่ดินจะเร่งตรวจสอบการขอเอกสารสิทธิ์ของนายทุน และจะจัดให้มีการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาภายในเดือนนี้ โดยให้ผู้เดือดร้อนเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งเร่งดำเนินการให้ชาวบ้านคัดสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานรัฐได้ และจะทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินเพื่อให้ระงับการทำนิติกรรมในที่ดินพิพาทด้วย


 


กรณีชุมชนศรีประดู่ จะเร่งดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และการออกโฉนดที่ยังค้างอยู่ก็จะให้ทางอำเภอเร่งดำเนินการส่งข้อมูลที่คณะกรรมการได้ลงตรวจสอบเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2549 ให้ทางคณะแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐได้ดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้านโดยเร็วที่สุด


 


นอกจากนี้ทางจังหวัดยังได้รับปากชาวบ้านว่าจะทำการสรุปข้อตกลงในวันนี้ส่งให้ชาวบ้าน และมีการจัดส่งรายงานความคืบหน้าให้ชุมชนได้รับทราบทุก 2 เดือน โดยจะนัดประชุมเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาครั้งต่อไปในวันที่ 19 กันยายน ศกนี้


 


นายสุภาพ แสงประสาน ชาวบ้านชุมชนกุดลาดได้แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐไม่ได้พยายามแก้ไขปัญหาของชาวบ้านเท่าใดนัก ทั้งที่ชาวบ้านไม่ได้ต้องการที่เป็นร้อยไร่ แต่ต้องการเพียงไม่กี่ไร่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินเลี้ยงตัวเองเท่านั้น


 


นางอัจฉวรรณ พันธ์มี ชาวบ้านชุมชนวังสว่างกล่าวว่า ที่ชาวบ้านมาในวันนี้เพราะมีความเดือดร้อน และปัญหานี้ก็เป็นปัญหาเก่าๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ทั้งๆ ที่การแก้ไขปัญหาไม่เกินความสามารถของรัฐที่จะทำได้


 


ส่วนนางนงลักษณ์ เศษรินทร์ ชาวบ้านชุมชนบุ่งหวายกล่าวว่า ตนพอใจผลการประชุมในวันนี้อยู่บ้าง แต่ก็เป็นกังวลว่าจะเป็นการรับปากชาวบ้านเพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น และว่า ต่อจากนี้ไป ชาวบ้านที่เดือดร้อนต้องทำการติดตามการแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่เป็นเพียงคำรับปากเท่านั้น


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net