Skip to main content
sharethis

"การล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดมารับโทษได้ เป็นการถ่างช่องว่างระหว่างชาวไทยพุทธและชาวมุสลิมซึ่งอยู่ในชุมชนให้ขยายกว้างออกไป และทำให้การแก้ปัญหาเพื่อความสงบสุขอย่างยั่งยืนไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง"


 


แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ (เอเชีย) ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ ในระหว่างการจัดแถลงข่าวรายงานวิเคราะห์สถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 28 ส.ค.50 โดยรายงานดังกล่าวใช้ชื่อว่า ไม่มีใครปลอดภัยสักคนเดียว: กองกำลังก่อความไม่สงบโจมตีพลเรือนในจังหวัดชายแดนใต้ (No One Is Safe: Insurgent Attacks on Civilians in Thailand"s Southern Border Provinces)


 


รายงานจำนวน 104 หน้า มีเนื้อหาค่อนข้างตรงกันข้ามกับบทสัมภาษณ์ของ พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งกล่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาว่า สถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ของไทย มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายภายในเดือนธันวาคม 2550


 


ฮิวแมนไรท์วอทช์เก็บข้อมูลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2549 - กรกฎาคม 2550 โดยการสัมภาษณ์ประชาชนที่เป็นเหยื่อความรุนแรง, เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในเขตจังหวัดชายแดนใต้, เจ้าหน้าที่รัฐจากส่วนกลาง, นักวิชาการ, ทนายความ, สื่อมวลชนไทยและสื่อจากต่างประเทศ รวมถึงสมาชิกกองกำลังเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน (BRN-Coordinate) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ไม่สงบ  


 


บทสรุปของรายงานกล่าวว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ปะทุขึ้นหลังจากวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งมีผู้บุกรุกเข้าไปในค่ายทหาร จังหวัดนราธิวาส (เหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง-ประชาไท) และเจ้าหน้าที่รัฐตอบโต้กรณีดังกล่าวด้วยการจับกุมแนวร่วมและผู้ต้องสงสัยโดยใช้ความรุนแรง-ละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมีผู้ต่อต้าน และนำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่ที่กรือเซะ (28 เม.ย. 2547) และกรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ (25 ต.ค.2547)


 


คำเตือนถึงภาครัฐ เรื่องการ "ไม่ลงโทษ" เจ้าหน้าที่


รายงานกล่าวว่า เจ้าหน้าที่จับกุมตัวผู้ต้องสงสัยและใช้กำลังข่มขู่ทารุณระหว่างการสอบสวน มีการ "อุ้มหาย" หรือการทำให้ผู้ต้องสงสัยสาบสูญไป รวมถึงการวิสามัญฆาตกรรม ไม่ต่างจากการราดน้ำมันลงบนกองไฟ ซึ่งกลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวในรายงานประจำเดือนมีนาคม ชื่อว่า It Was Like Suddenly My Son No Longer Existed ระบุว่า ปฏิบัติการของภาครัฐเป็นอันตราย เพราะมีรูปแบบของการบังคับข่มขู่และอุ้มหาย รวมถึงการใช้มาตรการอื่นๆ ที่ละเมิดกฏหมายเสียเอง


 


เนื้อหาในรายงานอ้างถึงการงดเว้นบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ โดยกล่าวเพิ่มเติมว่ากองทัพหรือกรมตำรวจไม่ติดตามดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด เช่นเดียวกับที่กรมสืบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม (DSI: Justice Ministry"s Department of Special Investigation) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่างก็ล้มเหลวในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรมต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนทำ


 


เหตุการณ์เหล่านี้ยืนยันความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างยุติธรรม และแนวคิดดังกล่าวถูกตอกย้ำอีกครั้งเมื่อรัฐบาล (ชุดปัจจุบัน - ประชาไท) ตัดสินใจใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2549 ต่อไป ทำให้กองกำลังความมั่นคงของรัฐได้รับความคุ้มครอง ไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนใต้ที่กระทำความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมาจึงเป็นตัวขัดขวางความพยายามของรัฐที่จะสร้างความสมานฉันท์ในหมู่ประชาชนชาวไทยเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนใต้


 


อย่างไรก็ตาม รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ได้กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกองกำลังก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า แม้กองกำลังจะหยิบยกประเด็นทางประวัติศาสตร์และความคับข้องใจในสถานการณ์ปัจจุบันมาเป็นเหตุผลในการต่อสู้ แต่กลยุทธ์ที่กองกำลังใช้อยู่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเลย และมันทำให้ความชอบธรรมในการต่อสู้ของกองกำลังฯ ถูกทำลายลงไป


 


เป้าหมายกองกำลังแบ่งแยกดินแดน ไม่แยก "ไทยพุทธ" หรือ "มุสลิม"


ข้อมูลในรายงานกล่าวว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนกรกฏาคม 2550 ผลการโจมตีของกองกำลังฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,400 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกราว 4,000 ราย โดยที่ร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิต มีทั้งที่เป็นพลเรือนทั่วไป รวมถึงข้าราชการ และครู ส่วนใหญ่จะโดนระเบิดที่ลอบวางตามแหล่งชุมชนต่างๆ เช่น ธนาคาร ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม


 


ทั้งนี้ กองกำลังฯ ใช้วิธีสุ่มวางระเบิดไว้ตามสถานที่สาธารณะและไม่แยกแยะว่าจะโจมตีพลเรือนหรือกองกำลังของทหาร และไม่มีการป้องกันหลีกเลี่ยงหรือลดการสูญเสียของพลเรือนแต่อย่างใด


 


การโจมตีบางประเภทของกองกำลังก่อความไม่สงบมีความตั้งใจพื้นฐานคือการแผ่ขยายความหวาดกลัวไปยังประชาชน เหยื่อของกองกำลังฯ อย่างน้อย 29 รายถูกตัดศีรษะ และในช่วงเวลา 43 เดือนที่ผ่านมา ประชาชนกว่า 40 ราย ทั้งที่เป็นชาวไทยพุทธและมุสลิม ถูกฟันด้วยมีดดาบขนาดใหญ่จนเสียชีวิต เหยื่อรายหนึ่งเป็นทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ และผู้เสียชีวิตรายอื่นๆ เป็นพลเรือน หรือไม่ก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการ และผู้ที่เกษียณอายุแล้วก็มี


 


ฮิวแมนไรท์วอทช์แบ่งผู้ตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีของกองกำลังก่อความไม่สงบออกเป็น 4 ประเภท


 


ประเภทที่ 1 คือ พลเรือนชาวไทยพุทธที่ทำงานให้กับรัฐบาล เช่น ข้าราชการ ครู หรือเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยหรือสาธารณสุข


 


ประเภทที่ 2 คือ พลเรือนทั่วไปที่เป็นชาวไทยพุทธ และพระสงฆ์ เพราะในมุมมองของกองกำลังฯ การดำรงอยู่ของชาวไทยพุทธเป็นการตอกย้ำภาพของ "พวกนอกรีต" (kafir) ที่เข้ามารุกรานยึดครองดินแดนปัตตานี ซึ่งนับวัน กองกำลังฯ ยิ่งทวีความเชื่อว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยของชาวไทยพุทธ แต่เป็นเขตความขัดแย้งทางศาสนา (religious conflict territory) โดยกองกำลังฯ จะทิ้งใบปลิวที่มีข้อความดังกล่าวไว้ใกล้ๆ ร่างของผู้เสียชีวิตเพื่อเป็นการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐ


 


ประเภทที่ 3 คือ พลเรือนชาวไทยเชื้อสายมลายูที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐไทย ซึ่งอาจเป็นเพียงการให้ข้อมูลแก่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของหมู่บ้าน แต่กองกำลังแบ่งแยกดินแดนมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง ผู้ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐจะถูกเรียกว่า "มูนาฟิก" (Munafig) หรือ คนหลอกลวง เพราะคนเหล่านี้ยอมรับการยึดครองของพวกนอกรีต การโจมตีคนกลุ่มนี้จึงหมายถึง "การลงโทษ" หรือไม่ก็อาจใช้เป็นคำเตือนแก่ชาวมุสลิมคนอื่นๆ ไม่ให้เอาเยี่ยงอย่าง


 


ประเภทที่ 4 คือ ชาวไทยเชื้อสายมลายูที่ไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการของกองกำลังแบ่งแยกดินแดน มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำลายพันธกิจของกองกำลังฯ ผู้ที่อยู่ในประเภทนี้จะตกเป็นเป้าหมายการโจมตี และถูกมองว่าเป็นผู้ทรยศที่กระทำ "บาปต้องห้าม" (Forbidden Sin) ไม่มีความซื่อสัตย์ต่ออัตลักษณ์ของชนชาติไทยเชื้อสายมลายูและศาสนาอิสลาม ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายในประเภทนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้นำศาสนา หรือไม่ก็เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองซึ่งขัดขวางการแสวงหาและการฝึกอบรมสมาชิกใหม่ในกองกำลังฯ รวมไปถึงผู้คนที่วิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติภารกิจของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งรายงานฉบับนี้สรุปว่าการโจมตีกลุ่มพลเรือนในประเภทที่ 4 คือความพยายามที่จะประกาศอำนาจของกองกำลังฯ และใช้ความหวาดกลัวเป็นเครื่องมือควบคุมผู้คนในชุมชน


 


รายงานกล่าวถึงการโจมตีของกองกำลังก่อความไม่สงบว่าเป็นการกระทำที่สร้างผลกกระทบใหญ่หลวงแก่ชุมชนท้องถิ่น โรงเรียนในหลายๆ อำเภอ หรือแม้แต่ทั่วจังหวัดถูกสั่งปิด เพื่อความปลอดภัย หลังจากที่ครูจำนวนมากถูกฆ่าตายและโรงเรียนหลายแห่งถูกเผา และสถานการณ์ดังกล่าวเลวร้ายลงไปอีก เมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ในวันที่ 18 มิถุนายน 2550 โดยระบุว่า รัฐบาลไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้กับทุกโรงเรียนได้ และโรงเรียนบางแห่งอาจต้องปิดไปเลยเป็นการถาวร และนักเรียนจะถูกย้ายไปยังพื้นที่อื่นที่ปลอดภัยกว่า


 


กองกำลังแบ่งแยกดินแดนเผาสถานีอนามัยอีกหลายแห่ง และฆาตกรรมเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงแก่บางพื้นที่ เพราะไม่อาจเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้เลย นอกจากนี้ในรายงานยังระบุว่า การคมนาคมขนส่งสาธารณะในบางพื้นที่หยุดชะงัก เพราะกองกำลังก่อเหตุให้รถไฟตกราง หรือไม่ก็ดักซุ่มโจมตีรถโดยสารหรือรถตู้ขนส่ง การติดต่อสื่อสารระหว่างพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และโลกภายนอกก็ถูกรบกวนจนหยุดชะงักอยู่บ่อยๆ เพราะกองกำลังฯ โจมตีชุมสายโทรศัพท์หรือไม่ก็ทำลายหม้อแปลงไฟฟ้า ทำให้เกิดปัญหาการสื่อสารขัดข้องและไฟดับเป็นบริเวณกว้าง


 


ขบวนการบีอาร์เอ็น - แกนนำกองกำลังก่อความไม่สงบ


แม้จะมีผู้ร่วมอุดมการณ์ต่างๆ มากมาย แต่ขบวนการบีอาร์เอ็น หรือ BRN-Coordinate (Barisan Revolusi Nasional-Koordinas) เป็นดังกระดูกสันหลังของกองกำลังแบ่งแยกดินแดนยุคใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จในการนำประเด็นความคับแค้นใจที่หยั่งรากลึกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยอ้างถึงการที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้โดนเจ้าหน้าที่จากรัฐไทยกดขี่ ทารุณ เอารัดเอาเปรียบ ฉ้อโกง และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยมุ่งเน้นที่มาตรการของรัฐบาลอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้เกิดการจลาจลประท้วงเกิดขึ้นหลายครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา


 


ขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นการผสมผสานของอิทธิพลระหว่างกลุ่มชาตินิยมเชื้อสายมลายู และแนวคิดนิยมอิสลามแบบสุดโต่ง ทำให้ขบวนการมุ่งสร้างความเข้มแข้งของแนวคิด อุดมการณ์ เครือข่ายทางการเมือง รวมถึงสถาบันทางการทหาร โดยส่งผ่านไปยังครูสอนศาสนา, โรงเรียน และนักเรียน เพื่อจะนำไปสู่การติดอาวุธต่อสู้ปลดปล่อย "ปัตตานี ดารุสซาลาม" ให้มีอิสรภาพ


 


แนวร่วมของขบวนการบีอาร์เอ็นซึ่งกระจายตัวอย่างหลวมๆ ในพื้นที่หมู่บ้านต่างๆ เรียกตัวเองว่า "นักสู้เพื่ออิสรภาพปัตตานี" Patani Freedom Fighters หรือ Pejuang Kemerdekaan Patani


 


เจ้าหน้าที่รัฐไทยประเมินการณ์ว่ากองกำลังแบ่งแบกดินแดนที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีได้จัดตั้งกลุ่มย่อยกระจายไปยังหมู่บ้านต่างๆ โดยแต่ละกลุ่มจะมีสมาชิกประมาณ 5-8 คน ซึ่งกลุ่มย่อยของกองกำลังได้แฝงตัวอยู่ตามพื้นที่ 2 ใน 3 ของหมู่บ้านทั้งหมด 1,574 แห่ง ทั่วทั้งเขตจังหวัดชายแดนใต้


 


ขณะเดียวกัน ในรายงานยืนยันว่า กองกำลังที่เป็นเยาวชน หรือ "เปอร์มูดอ" Pemuda ของขบวนการบีอาร์เอ็น มีมากกว่า 7,000 คนแล้ว นอกจากนี้ ผู้นำกลุ่มย่อยในแต่ละหมู่บ้านสามารถสั่งการได้เองโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากใคร และตัดสินใจได้ทันทีว่าจะโจมตีใคร ที่ไหน เมื่อไหร่


 


แม้กระบวนการศึกษาเกี่ยวกับขบวนการบีอาร์เอ็นจะเกิดขึ้นบ้างแล้ว แต่บีอาร์เอ็นก็ยังเป็นกลุ่มที่คาดเดาอะไรได้ยาก ด้วยเป้าหมายที่จะ "ปลดปล่อย" จังหวัดชายแดนใต้จากประเทศไทย สมาชิกระดับสูงคนหนึ่งของบีอาร์เอ็นกล่าวกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า ทุกวันนี้ทางขบวนการไม่สนใจที่จะเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐไทยหรือเจ้าหน้าที่รัฐมาเลเซีย รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย "มหาธีร์ โมฮัมเหม็ด" ซึ่งพยายามใช้วิธีทางการฑูตอย่างเงียบๆ แต่ก็ไม่คืบหน้าไปถึงไหน


 


สมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นบางรายกล่าวเพิ่มเติมกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า พวกเขาไม่มีแผนจะวางอาวุธหรือหยุดการต่อสู้ปลดปล่อยปัตตานีดารุสซาลาม พวกเขาเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด ในเวลา 3-5 ปี จะทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ปรากฏชัดเจนต่อสาธารณชน จนกลายเป็นความแข็งแกร่งพอที่จะยกระดับให้การต่อสู้ของขบวนการกลายเป็นกระบวนการทางการเมืองได้


 


การตั้งเป้าโจมตีพลเรือนและการใช้ความรุนแรงโดยไม่พิจารณาแยกแยะ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในหมู่นักต่อสู้แบ่งแยกดินแดนยุคเก่าและยุคใหม่ สมาชิกระดับสูงจากกองกำลังฯ สมัยเก่า เช่น พูโล (PULO: Pattani United Liberation Organization) ให้สัมภาษณ์ในรายงานโดยระบุว่า การใช้ความรุนแรงที่เพิ่มระดับขึ้นมา รวมถึงการมุ่งโจมตีพลเรือน เช่น พระสงฆ์ ประชาชน ทั้งชาวพุทธ และชาวไทยเชื้อสายมลายู เป็นเรื่องน่าตกใจ ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือความพร้อมใจและความรวดเร็วของขบวนการที่สามารถออกคำสั่งให้ปฏิบัติการฆ่าคนได้


 


ความคืบหน้าปัญหาชายแดนใต้หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549


ในการตอบโต้การก่อเหตุท้าทายด้านความปลอดภัยของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ชายแดนใต้ ออกกฏหมายพิเศษมาบังคับใช้ ระดมกองกำลังความมั่นคงเข้าไปในพื้นที่ วางแผนยุทธศาสตร์การทหารเพื่อต่อสู้รับมือฝ่ายตรงข้าม ทั้งยังส่งทหารพรานและตำรวจตระเวณชายแดนเข้าประจำการ และก่อตั้ง "กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ กอ.สสส.จชต.(Southern Border Provinces Peace-Building Command: SBPPC) เพื่อประสานงานส่งเสริมนโยบายต่อต้านการก่อความไม่สงบ


 


ทั้งยังมีการรณรงค์วิธีแก้ปัญหาในแนวทางสมานฉันท์ แต่ทักษิณ ชินวัตร และเจ้าหน้าที่รัฐมักจะใช้กำลังโดยไม่ใส่ใจความปลอดภัยหรือการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน กองกำลังของรัฐส่วนใหญ่ถูกฝึกอบรมให้ใช้ยุทธวิธีทางการทหารหรือไม่ก็การดำเนินการทางกฎหมายกับฝ่ายตรงข้ามรัฐ แต่รัฐก็ยังปราศจากความเข้าใจในกลยุทธ์ที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้ และไม่เข้าใจบริบททางสังคมที่อาจเป็นชนวนให้เกิดการจลาจลด้วยเช่นกัน


 


รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ชี้ให้เห็นว่า ข้อปฏิบัติหรือกฎเกณฑ์ในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทำให้เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าตนได้รับมอบหมายให้สามารถกระทำวิสามัญฆาตกรรมได้ หรืออาจใช้อำนาจเกินขอบเขตกับสถานการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังเข้าปราบปราม และแผนปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ก็ล้มเหลว ไม่สามารถจัดการกับกองกำลังกลุ่มย่อยที่อยู่ตามหมู่บ้าน ซึ่งกองทัพไทยวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของทักษิณอย่างรุนแรงในกรณีที่ให้ตำรวจทำหน้าที่แทนทหาร รวมถึงการแต่งตั้งให้พวกพ้องของตนมาดำรงตำแหน่งระดับสูง ทั้งที่ความรู้ความเข้าใจเรื่องการทหารมีเพียงน้อยนิด


 


การทำรัฐประหารต่อต้านทักษิณเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นเรื่องผิดกฏหมายและทำให้ประเทศถูกมองว่าถอยหลังกลับไป แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีจัดการกับปัญหาจังหวัดชายแดนใต้


 


พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 และมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อเอาชนะใจชาวไทยเชื้อสายมลายู รวมทั้งปรับเปลี่ยนแนวทางของรัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้


 


ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวขอโทษต่อสาธารณชน โดยพูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ว่าเป็น "ความผิดพลาดของรัฐ" ที่มีต่อชาวไทยเชื้อสายมลายู ซึ่งคำขอโทษดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ นอกจากนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ได้ประกาศให้มีการนำแผน ศอ.บต.หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (Southern Border Provinces Administrative Center: SBPAC) ซึ่งทักษิณยุบโครงการไปแล้ว กลับมาใช้ใหม่ เพื่อช่วยสืบสวนสอบสวนและดำเนินการเรื่องข้อร้องเรียนจากชาวไทยเชื้อสายมลายูที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการใช้อำนาจในทางที่ผิด ฉ้อฉลและกดขี่ประชาชน รวมถึงร้องเรียนเจ้าหน้าที่ที่ไร้ความสามารถในการปฏิบัติงานได้ด้วย


 


อย่างไรก็ตาม พล.อ.สุรยุทธ์ไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญได้ กองทัพไทยในปัจจุบันถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทนายความและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากรัฐบาลไม่ทำอย่างที่เคยพูดเอาไว้ ศอ.บต.ยังล้มลุกคลุกคลานที่จะเข้าถึงคนในชุมชน เพราะขาดแหล่งข้อมูลและไม่สามารถจัดการกับปัญหาความไม่เป็นธรรมและการข่มเหงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ พล.อ.สุรยุทธ์เคยกล่าวถึงมาก่อนแล้วเมื่อครั้งที่พูดถึงปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้


 


ส่วนหนึ่งของบทสรุปในรายงานฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า แผนการสร้างความยุติธรรมและสมานฉันท์ด้วยกระบวนการทางกฏหมายไม่อาจสกัดกั้นความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มกองกำลังได้ง่ายๆ ขณะเดียวกัน ความล้มเหลวของนโยบายทางการเมืองในยุครัฐบาลทักษิณทำให้ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น ข้อตกลงร่วมของกองกำลังแบ่งแยกดินแดนซึ่งมีหลายกลุ่มแน้นแฟ้นยิ่งขึ้น หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่กรือเซะและตากใบ


 


ไม่ว่ารัฐบาลไทยจะเลือกใช้วิธีการอย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่า การปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจกดขี่ประชาชนต่อไป มีแต่จะทำให้เรื่องต่างๆ เลวร้ายกว่าเดิม สิ่งที่ควรทำ คือการรับมือกับปัญหาด้วยความยุติธรรมและจะต้องมีแรงสนับสนุนจากระบบการปกครองส่วนกลาง ต้องจริงจังกับการใช้มาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิด รวมถึงการเจรจาเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในหมู่ชาวไทยเชื้อสายมลายูที่ไม่ได้มีแนวคิดรุนแรงสุดโต่ง ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะเห็นผล แต่ก็เป็นนโยบายที่เหมาะสมในการสร้างความตระหนักรู้อย่างจริงจัง


 


 






 


ข้อเสนอ 10 ประการ ของฮิวแมนไรท์วอทช์ เอเชีย


 


1.กองกำลังแบ่งแยกดินแดนควรหยุดการโจมตีพลเรือน ทั้งที่เป็นบุคคล ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด เชื้อชาติใด หรือเป้าหมายที่เป็นกลุ่ม ไม่โจมตีที่มั่นหรือสาธารณูปโภคของประชาชน ซึ่งรวมถึง โรงเรียน สถานที่สำคัญทางศาสนา และสถานีอนามัย


 


2.กองกำลังแบ่งแยกดินแดนควรหยุดการโจมตีที่ไม่มีการแยกแยะว่าผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่กองกำลังของรัฐหรือผู้ใดเป็นพลเรือน และควรจะมีการเตือนล่วงหน้าหรือใช้กลยุทธ์โจมตีเป้าหมายที่เป็นฝ่ายทหาร เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับพลเรือนและสาธารณูปโภคของประชาชน


 


3.กองกำลังแบ่งแยกดินแดนควรสร้างความเข้าใจโดยทั่วกันในหมู่สมาชิกกองกำลังว่า จะต้องเคารพและรักษาความปลอดภัยของพลเรือน ควรกำหนดบทลงโทษหรือขับไล่สมาชิกกองกำลังฯ ที่ก่อเหตุโจมตีฝ่ายพลเรือน หรือใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุจนเป็นอันตรายต่อพลเรือน รวมถึงการกักขังหน่วงเหนี่ยวบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยปราศจากการดูแลที่เหมาะสม


 


4.กองกำลังแบ่งแยกดินแดนควรต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะมาตราสามัญ 3 ของอนุสัญญากรุงเจนีวา ค.ศ.1949 และพิธีสารที่ 2 ค.ศ.1977 กองกำลังฯ ควรขอความช่วยเหลือจากตัวแทนด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เพื่อรับรู้รับฟังหรือปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ


 


5.กองกำลังแบ่งแยกดินแดนควรหยุดการคุกคาม ขู่เข็ญ ทำร้าย หรือทำลายชื่อเสียงของบุคคลใดก็ตามที่พยายามปฏิบัติหน้าที่หรือรายงานข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการกดขี่ข่มเหงที่เกิดขึ้น เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน, ผู้สื่อข่าว รวมถึงบุคคลอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการยืนยันว่าว่ามีกรณีกดขี่ข่มเหงเกิดขึ้นจริง


 


6.รัฐบาลไทยควรปรับเปลี่ยนและแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาความมั่นคงด้วยวิธีการที่มีความเข้าอกเข้าใจ เคารพและปฏิบัติตามข้อตกลงหรือกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนสากล ขณะเดียวกันก็ต้องประสานความร่วมมือไปยังชุมชนท้องถิ่น เพื่อการสำรวจตรวจตรา ป้องกัน และรับมือการโจมตีของกองกำลังฯ อย่างมีประสิทธิภาพ


 


7.รัฐบาลไทยควรจัดตั้งมาตรการสำคัญๆ เช่น ก่อตั้งกองทุนฉุกเฉิน เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีของกองกำลังฯ จะยังสามารถเข้าถึงการศึกษา, สาธารณสุข และสาธารณูปโภคต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยต่อไป


 


8.รัฐบาลไทยควรดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำทารุณ โดยไม่คำนึงถึงยศหรือตำแหน่ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนรู้เห็นในการกระทำทารุณ แต่ไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อดำรงความยุติธรรม ควรจัดให้มีการชดเชยแก่ผู้เสียหาย หรือครอบครัวของผู้เสียหายจากการกระทำทารุณของเจ้าหน้าที่ อย่างทันท่วงที เหมาะสม และเป็นธรรม  


 


ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยควรเพิ่มความเข้มแข็งและเป็นอิสระให้กับกระทรวงยุติธรรม, สำนักงานทนายความ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อประสิทธิภาพในการสืบสวนสอบสวนและรายงานกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และประเด็นสำคัญคือ องค์กรและหน่วยงานต่างๆ จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างอิสระ มีทรัพยากรที่จำเป็นและมีความมั่นคงปลอดภัย


 


9.ประชาคมสากลควรประณามการกระทำของกลุ่มหรือกองกำลังใดๆ ก็ตามที่โจมตีเป้าหมายพลเรือนหรือทรัพย์สินของพลเรือน รวมถึงการก่อให้เกิดอันตราย และการเสียชีวิตของประชาชนพลเรือนด้วย


 


10.ประชาคมสากลควรสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เพื่อการติดตามดูแล สืบสวน และรายงานความเคลื่อนไหวเรื่องข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นโดยการกระทำของทุกกลุ่มหรือไม่


 


 


 


ข้อมูลอ้างอิง


1.)    Thailand: Separatists Target Civilians for Attack: More Than 2,000 Killed in Attacks by Separatist Groups in the South


2.)    Summary of the report: "No One Is Safe" Insurgent Attacks on Civilians in Thailand"s Southern Border Provinces


3.)    รายงานฉบับเต็ม ดาวน์โหลดได้ ที่นี่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net