Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 31 ส.ค. 50 นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ หัวหน้าคณะผู้พัฒนาโปรแกรม PCU OS ซึ่งเป็นโปรแกรมส่วนขยายของโปรแกรมระบบสารสนเทศสำหรับโรงพยาบาลขนาดเล็ก หรือ Hospital OS โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า โปรแกรม PCU OS ออกแบบมาสำหรับอำนวยความสะดวกแก่สถานีอนามัยและโรงพยาบาลที่มีหน่วยงานบริการปฐมภูมิ (Primary Care Unit: PCU) โดยจะสามารถบันทึกข้อมูลระดับตำบลของสถานีอนามัย เพื่อให้เจ้าหน้าที่อนามัยจัดเก็บรวบรวมข้อมูลของสถานีอนามัยได้อย่างมีระบบ สะดวก และรวดเร็วในการให้บริการคนไข้ โดยคงความสามารถในการประมวลผลรายงานต่างๆ ไว้ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว


 


วัตถุประสงค์ของโปรแกรม PCU OS คือการลดภาระในการจัดทำรายงานของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเพื่อให้มีเวลามากขึ้นในการให้บริการด้านต่างๆ แก่ประชาชนผู้มารับบริการ โดยโปรแกรมนี้จะสามารถจัดเก็บข้อมูลงานอนามัยในส่วนของข้อมูลหมู่บ้านที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบของสถานีอนามัยได้ทั้งหมด ทั้งโรงเรียน ศาสนสถาน สถานประกอบการ แหล่งน้ำ ตลาด ทรัพยากร และกลุ่มกิจกรรม รวมถึงจัดเก็บข้อมูลรายละเอียดบ้านทุกหลังที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบของสถานีอนามัยได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลประชากร สมุนไพร และสัตว์เลี้ยง


 


"ในส่วนของงานอนามัยโรงเรียนนั้น โปรแกรมนี้จะช่วยได้มากในการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพของนักเรียน ทั้งเรื่องสายตา การได้ยิน โภชนาการ คอพอก โลหิตจาง ทันตกรรม หนอนพยาธิ ธาลัสซีเมีย เหา และสมรรถภาพร่างกาย รวมถึงงานสาธารณสุขเชิงป้องกัน"


 


นพ.ก้องเกียรติกล่าวต่อว่า โปรแกรม PCU OS นี้ นอกจากจะช่วยเจ้าหน้าที่อนามัยในการสำรวจประชากรเกี่ยวกับโรคต่างๆ ความพิการ และรายงานที่ต้องตรวจตามช่วงอายุต่างๆ รวมถึงการเก็บข้อมูลการรับจ่ายยาในช่วงเวลาต่างๆ ของคลังยาแล้ว ยังสามารถนำโปรแกรมนี้มาช่วยในการให้บริการงานส่งเสริมอย่างการวางแผนครอบครัวของประชากรในเขตรับผิดชอบของสถานีอนามัยได้ ทั้งในส่วนของการคุมกำเนิด การตรวจครรภ์ การฝากครรภ์ และรายละเอียดการคลอด


 


"ข้อมูลของเด็กจะถูกจัดเก็บไว้ในโปรแกรมนี้ โดยเฉพาะในส่วนของการดูแลหลังคลอด ทั้งวันนัดหมายและการได้รับวัคซีนของเด็กในแต่ละช่วงอายุไม่ว่าจะรับจากที่สถานีอนามัยหรือสถานพยาบาลอื่น ทั้งยังสามารถนำโปรแกรมนี้มาตรวจสอบการพัฒนาการของเด็กได้ด้วยว่ามีความสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานในช่วงอายุต่างๆ หรือไม่ รวมถึงให้คำแนะนำเรื่องโภชนาการของเด็กให้เหมาะสมได้ในแต่ละช่วงวัยโดยอาศัยข้อมูล อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง ซี่ฟัน ดัชนีมวลกาย ที่จัดเก็บไว้ในโปรแกรม"


 


นพ.ก้องเกียรติ กล่าวด้วยว่า โปรแกรม Hospital OS ในส่วนของโมดูล PCU OS นี้ จะช่วยเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาคนไข้ระหว่างสถานพยาบาล ทำให้การตรวจสอบประวัติการรักษาของคนไข้ที่ไปตรวจรักษาที่สถานีอนามัยถูกต้องแม่นยำ แพทย์สามารถวินิจฉัยและส่งต่อข้อมูลการรักษาของคนไข้ระหว่างสถานพยาบาลและสถานีอนามัยได้รวดเร็ว ตลอดจนยังนำมาประยุกต์ใช้เป็นโปรแกรมบันทึกข้อมูลการทำงานในลักษณะของคลินิกพิเศษในการให้คำปรึกษาสุขภาพฟัน การฟื้นฟูสมรรถภาพ การตรวจสุขภาพประจำปี และการเยี่ยมบ้านในการออกตรวจแต่ละครั้งด้วย


 


"ปัจจุบัน มีสถานีอนามัยไม่น้อยกว่า 50 แห่งใช้ระบบนี้ ภายใต้เครือข่ายบริการสุขภาพของโรงพยาบาลชุมชน และที่สำคัญ สถานบริการสาธารณสุขทั่วไปทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถนำโปรแกรม PCU OS ซึ่งเป็นโปแกรมที่พัฒนาตามแนวทางซอฟต์แวร์ระบบเปิด หรือ Open Source ซึ่งนำไปติดตั้ง พร้อมคู่มือ และใช้งานได้โดยไม่เสียค่าลิขสิทธิ์ใดๆ ได้ที่โครงการพัฒนาการบริหารงานโรงพยาบาลด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Hospital OS) http://www.hospital-os.com"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net