Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จาก Ian Williams, "Spirit of Christmas Past—and Future," Foreign Policy In Focus, December 18, 2006, http://fpif.org/fpiftxt/3809.


แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์


 


 


เหล้ารัมใช้เป็นเครื่องดื่มพื้นบ้านที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพื่อรักษาอาการหวัดและไข้หวัดใหญ่มาหลายศตวรรษ ในช่วงฤดูหนาว สิ่งหนึ่งในโลกที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือความต้องการเหล้ารัม เพื่อนำพาความอบอุ่นแบบเขตร้อนเข้ามาสู่ฤดูอันหนาวเย็นสักเล็กน้อย ในประเทศต่างๆ เช่น แถบแคริบเบียน อินเดียและออสเตรเลีย ประเพณีการดื่มเหล้ารัมทำให้น้ำอมฤตสีอำพันถูกลิ้มรสตลอดปี แต่ในถิ่นประเทศที่หนาวเย็นกว่า การผสมเหล้ารัมลงในไข่ไก่ ขนมเค้กพุดดิ้งและพายเนื้อสับสำหรับงานคริสต์มาส ตลอดจนการดื่มเหล้ารัมจากจอกใบเล็กๆ คือเครื่องประกอบตามประเพณีสำหรับเทศกาลเลี้ยงฉลอง


 


รัมเป็นเหล้าที่มีการจำหน่ายสูงสุดในโลก ทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกานิยามว่า เหล้ารัมคือเครื่องดื่มที่ต้มกลั่นจากอ้อย ดังนั้น เหล้า cachaca ของชาวบราซิลจึงถูกจัดเป็นเหล้ารัม ไม่ว่าชาวบราซิลจะชอบใจหรือไม่ก็ตาม (และชาวบราซิลก็ชอบใจในเหล้าชนิดนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรียกมันว่าอะไร) ในขณะที่บรรษัทข้ามชาติที่เคยถือสัญชาติคิวบาเป็นเจ้าของยี่ห้อเหล้ารัมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถึงแม้มันมีรสชาติธรรมดาก็ตาม แต่ยี่ห้อ "Old Monk" ของอินเดียและ "Tanduay" ของฟิลิปปินส์ก็มียอดขายเป็นรองไม่มาก ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อ "Havana Club" ของคิวบาหรือยี่ห้อ "Mount Gay" ของบาร์เบโดส ยี่ห้อ "Guyanese ElDorado" หรือ "Appleton" ของจาไมกา เหล้ารัมให้ประสบการณ์แก่ผู้คนได้หลากหลาย ตั้งแต่นักดื่มหัวราน้ำไปจนถึงนักชิมอาหาร มีทั้งแบบที่เหมาะต่อการดื่มในงานคอกเทลไปจนถึงแบบที่ควรจิบทีละนิด


 


ผลพลอยได้อันหอมหวาน


เหล้ารัมส่วนใหญ่ทำมาจากกากน้ำตาลที่เหลือจากการตกผลึกของน้ำตาล เหล้ารัมจึงน่าสนใจมาตั้งแต่แรก ตรงที่มันผลิตขึ้นมาจากของเหลือไร้ประโยชน์ โดยไม่ต้องใช้ธัญพืชที่เป็นอาหารดังเช่นเหล้าชนิดอื่น เป็นต้นว่า วิสกี้ อาณานิคมอเมริกันเคยสั่งห้ามการต้มกลั่นวิสกี้ ก็เพราะมันทำให้ราคาธัญพืชและขนมปังสูงขึ้น แล้วพอเกิดภาวะแบบนี้ ประเพณีแบบแองโกลแซ็กซันดั้งเดิมก็คือ ประชาชนจะออกมาก่อจลาจลและทุบศาลาว่าการพังจนกว่าผู้มีอำนาจจะจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง


 


ตามหลักฐานเท่าที่มีในปัจจุบัน เกาะบาร์เบโดสคือสถานที่ที่เทคโนโลยีแรกรุ่นของซีกโลกเหนือกับเกษตรกรรมของเขตร้อนมาบรรจบกัน ก่อเกิดเป็นการต้มกลั่นเหล้าที่มีความเข้มแรงและได้ปริมาณมากอย่างหาเหล้าชนิดอื่นเปรียบไม่ได้ ทะเลแคริบเบียนเป็นหม้อต้มอันยิ่งใหญ่สำหรับการผสมผสานวัฒนธรรมในช่วงระยะสั้นๆ ของศตวรรษที่ 17 และเกาะบาร์เบโดสคือจุดศูนย์กลาง


 


ชาวโปรตุเกสในบราซิลนำเอาวิธีปลูกอ้อยมาจากชาวอาหรับในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนชาวดัทช์และผู้ลี้ภัยชาวยิวเชื้อสายโปรตุเกสนำความชำนาญในการทำโรงสีและการค้าเข้ามา และเราอาจสันนิษฐานได้ว่า ในบรรดานักโทษและแรงงานทาสสัญญาที่ส่งมาจากอังกฤษ น่าจะมีผู้อพยพชาวไอริชหรือชาวสกอตที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ของหม้อต้มกลั่นปะปนอยู่ด้วย


 


สุราร้อนแรงดั่งไฟโลกันตร์


ใครๆ ก็รู้ว่า กากน้ำตาลที่เหลือเอามาหมักเป็นเชื้อส่าเหล้าได้ง่าย แต่มีเพียงคนใจเด็ดเท่านั้นที่กล้าลองดื่ม คนที่ลองแล้วบอกว่า มันจะไปหมักต่อในกระเพาะ แต่ถ้านำกากมาผ่านหม้อที่ใช้ต้มกลั่นวิสกี้ ก็จะได้สุราแรงรสเยี่ยม พวกเขาจึงเรียกเหล้าชนิดนี้ว่า Kill-Devil หรือ rumbullion ซึ่งหมายถึง "สุราร้อนแรงดั่งไฟโลกันตร์" และผู้ได้ลิ้มย่อมพึงใจในรสชาติ


 


นั่นคือต้นกำเนิดของเหล้ารัม


 


ไม่ช้า พวกเขาก็ค้นพบว่า ถ้าหมักเหล้าไว้ในถังไม้โอ๊ก รสชาติจะยิ่งเยี่ยมยอด เหล้า Kill-Devil จึงกลายเป็นเหล้ารัมหรือ "ธาราแห่งบาร์เบโดส" และกลายเป็นที่ต้องการตลอดทั่วทั้งซีกโลกฝั่งแอตแลนติก จนกระทั่งมีการค้นพบในจาไมกาว่า ถ้าเอาเหล้านี้มากลั่นซ้ำ มันจะยังร้อนแรง แต่ไฟโลกันตร์จะราลงบ้างเล็กน้อย


 


ไม่นาน เหล้ารัมก็แพร่หลาย ชาวนิวอิงแลนด์ทำเหล้ารัมจากกากน้ำตาลเถื่อนที่ลักลอบขนมาจากอาณานิคมฝรั่งเศส ซึ่งกรุงปารีสสั่งห้ามไม่ให้มีการต้มเหล้ารัม ด้วยเกรงว่ามันจะกลายเป็นคู่แข่งของคอนญัค พวกแยงกี้รุ่นบุกเบิกชอบดื่มเหล้ารัมมาก และดังที่เบนจามิน แฟรงคลินโม้ไว้ว่า พวกเขาใช้เหล้ารัมที่เหลือกวาดล้างเผ่าพันธุ์ชาวอินเดียนแดงทางทิศตะวันตกและใช้แลกซื้อทาสในแอฟริกาตะวันตก


 


พวกเขาดำเนินการนี้ภายใต้ความคุ้มครองของกองทัพราชนาวีอังกฤษ ซึ่งชนะสงครามกับฝรั่งเศสในหลายสมรภูมิตลอดช่วงเวลานี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอังกฤษล้างหนี้ของชาติได้ด้วยกำไรจากการค้าน้ำตาลและเหล้ารัมที่ได้มาจากอาณานิคมแถบทะเลแคริบเบียน กองทัพราชนาวีอังกฤษได้รับการอัดฉีดจากเหล้ารัมโดยตรงยิ่งกว่านั้นอีก เป็นเวลาหลายร้อยปี ทหารเรืออังกฤษทุกคนจะได้รับส่วนแบ่งเป็นเหล้ารัมชนิดแรงเกินพิกัดคนละหนึ่งไพท์ทุกวัน


 


รัมพาปฏิวัติ


หลังจากเอาชนะฝรั่งเศสได้แล้ว ราชนาวีอังกฤษก็หันมาปราบปรามนักลักลอบขนของเถื่อนชาวอเมริกันที่ตั้งหน้าตั้งตาค้าขายกับศัตรูตัวเป็นเกลียว นั่นคือจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติของชาวอเมริกัน (American Revolution) อังกฤษรู้สึกว่า ชาวอเมริกันอาณานิคมควรช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของหนี้ประเทศก้อนมหึมา เนื่องจากอังกฤษอุตส่าห์ขับไล่ภัยคุกคามของฝรั่งเศสที่จะมาจากทางแคนาดาให้แล้ว ส่วนชาวอเมริกันอาณานิคมก็เป็นโรครังเกียจรังงอนการเสียภาษีไม่ต่างจากรุ่นลูกรุ่นหลานบางกลุ่มในปัจจุบัน การปฏิวัติปลดแอกอาณานิคมของชาวอเมริกันจึงเป็นเรื่องของภาษี ไม่ใช่เรื่องของตัวแทน และไม่ใช่เรื่องชา* แต่เป็นเรื่องกากน้ำตาลกับเหล้ารัมต่างหาก อันที่จริง ปัญหาที่เป็นแกนกลางก็คือ ชาวอเมริกันไม่พอใจที่กองทัพเข้ามาควบคุมบังคับพลเรือน แต่อีกสองศตวรรษต่อมา ทำเนียบขาวนำเอาวิธีการนี้กลับมาใช้อีกครั้งหลังเหตุวินาศกรรม 9-11


 


ตลอดศตวรรษที่ 18 พื้นที่แถบทะเลแคริบเบียนไม่ต่างจากอ่าวเปอร์เซียในปัจจุบัน บรรดามหาอำนาจต่างกรีธาทัพไปที่นั่นเพื่อทำสงครามแย่งชิงพลังงานและทุนที่เป็นของเหลวในหมู่เกาะแห่งนั้น ฝรั่งเศส อังกฤษและประเทศอื่นๆ เซ่นสังเวยชีวิตของแรงงานทาสสัญญาผิวขาว ทาสชาวแอฟริกัน ทหารและกลาสีเรือไปไม่รู้กี่แสนคนบนแท่นบูชายัญของน้ำตาลและเหล้ารัม


 


นโปเลียนมองข้ามความสำคัญของจักรวรรดิแถบแคริบเบียนของอังกฤษ มันไม่ส่งผลดีต่อฝรั่งเศสเลย ในขณะที่นโปเลียนพ่ายแพ้สมรภูมิครั้งสำคัญๆ เกือบหมด ใน ค.ศ. 1811 Benjamin Delessert จับมือกับเชลยศึกชาวสเปนที่มีประสบการณ์ในการผลิตน้ำตาลและตั้งโรงงานนำร่องขึ้น ตอนนั้นเองที่จักรพรรดินโปเลียนยกกองทหารม้าเข้ามา กลัดเข็ม Legion D"Honneur ไว้ที่พระอุระ และบัญชาให้ขยายการปลูกหัวบีทที่ใช้ทำน้ำตาลอย่างขนานใหญ่


 


ภายในไม่กี่ทศวรรษ หัวบีทและขบวนการต่อต้านแรงงานทาสทำให้พื้นที่แถบทะเลแคริบเบียนเปลี่ยนจากการเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอำนาจทหารของแอตแลนติกเหนือ กลายเป็นดินแดนล้าหลังของจักรวรรดิ และภูมิภาคแถบนี้ยังไม่เคยฟื้นตัวได้อย่างแท้จริงเลย


 


บาคาร์ดีกับนักปฏิวัติ


หมู่เกาะที่พูดภาษาอังกฤษสูญเสียตลาดในอเมริกาให้กิจการต้มกลั่นวิสกี้ที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งธัญพืชที่ปลูกในตะวันตกทำให้ผลิตวิสกี้ได้มากขึ้น ในที่สุด อาณานิคมของฝรั่งเศสกับสเปนก็ได้รับอนุญาตให้ผลิตรัมเองเสียที กระนั้นก็ตาม รัมของจาไมกาก็ยังเป็นมาตรฐานมาจนศตวรรษที่ 20 นักต้มกลั่นเหล้ารัมชาวจาไมกานี่เองที่ย้ายไปคิวบา และน่าจะเป็นคนก่อตั้งโรงต้มกลั่นที่เป็นต้นตำรับของยี่ห้อบาคาร์ดี


 


บาคาร์ดีได้รับรางวัลจากราชสำนักสเปนก็เพราะเหล้ารัม โดยมีเครดิตมาจากการทำให้กษัตริย์หนุ่มอัลฟองโซแห่งสเปนพ้นจากประตูของความตาย ด้วยการจิบเหล้ารัมสูตรพิเศษของตระกูลบาคาร์ดีในปี ค.ศ. 1892 ตระกูลบาคาร์ดีมีความเป็นนักปฏิวัติในหลายประการด้วยกัน


 


ถึงแม้บาคาร์ดีช่วยชีวิตกษัตริย์ไว้ แต่ตระกูลนี้สนับสนุนการปฏิวัติคิวบาเพื่อปลดแอกจากสเปน และต่อมายังสนับสนุนฟิเดล คาสโตรและกองทัพจรยุทธ์ในการโค่นล้มประธานาธิบดีบาติสตา คนในตระกูลบาคาร์ดีทำหน้าที่อยู่ในคณะทูตทางการค้าชุดแรกที่คาสโตรส่งไปสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ แต่แล้วคาสโตรก็โอนกิจการของบาคาร์ดีมาเป็นของชาติ** ตระกูลบาคาร์ดีจึงถือเรื่องนี้เป็นความเจ็บแค้นส่วนตัว ถือเป็นความแค้นประจำตระกูลทีเดียว นับแต่นั้นมา บาคาร์ดีก็ต่อสู้ในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้อิทธิพลทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา


 


เจ้านายของบาคาร์ดี ฮวน เปปิน บอช*** ทำให้ความเชื่อมโยงเก่าๆ ระหว่างโจรสลัดกับเหล้ารัมกลับมามีชีวิตอีกครั้งใน ค.ศ.1961 เมื่อเขาซื้อเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลางรุ่น B-26 Marauder ที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ โละทิ้ง โดยตั้งใจจะเอาไปทิ้งระเบิดใส่โรงงานกลั่นน้ำมันของคิวบา ในภายหลัง เขาคือเงินทุนที่อยู่เบื้องหลังแผนลอบสังหารประธานาธิบดีคาสโตร


 


อันที่จริง การที่คาสโตรยึดกิจการของตระกูลบาคาร์ดีไป ไม่ได้ทำให้บริษัทนี้กระทบกระเทือนสักเท่าไร เนื่องจากบาคาร์ดีกลายเป็นบรรษัทข้ามชาติรายแรกๆ ไปก่อนหน้านี้แล้ว นับจากปี ค.ศ.1955 บาคาร์ดีตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในหมู่เกาะบาฮามาส ได้สิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรจากจักรวรรดิอังกฤษ และนับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา บาคาร์ดีดำเนินกิจการต้มกลั่นอยู่ในเปอร์โตริโกเป็นหลัก เพื่อความได้เปรียบในการเข้าถึงตลาดอเมริกัน ซึ่งมันเป็นผู้ผูกขาดตลาดในยุคห้ามผลิตและขายสุราในสหรัฐฯ (Prohibition) โดยที่บาคาร์ดีเป็นเหล้ารัมยอดนิยมของนักลักลอบขนเหล้าเถื่อน


 


จักรวรรดิอันชั่วร้าย


สำหรับผู้ผลิตเหล้ารัมรายย่อยในแถบทะเลแคริบเบียน บาคาร์ดีเปรียบเสมือนจักรวรรดิอันชั่วร้าย ทั้งนี้เพราะบาคาร์ดีทำทุกวิถีทางในการกีดกันเหล้ารัมยี่ห้ออื่นออกจากตลาด ราวกับผู้ผลิตรายย่อยเหล่านั้นเป็นพันธมิตรของคาสโตรก็ไม่ปาน ในบางเกาะ เราไม่มีทางได้ดื่มเหล้ารัมท้องถิ่นในบาร์ของโรงแรม เพราะบาคาร์ดีซื้อสัมปทานขายเหล้าเอาไว้


 


หมู่เกาะแคริบเบียนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนของสงครามโลกและการปฏิวัติอุตสาหกรรม ปัจจุบันต้องพึ่งพิงการท่องเที่ยวเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมด ในสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน สหรัฐฯ ฟ้ององค์การการค้าโลกให้ยกเลิกสิทธิพิเศษของหมู่เกาะเหล่านี้ในการส่งออกกล้วยไปยุโรป หน่วยงานปราบปรามยาเสพย์ติดของสหรัฐฯ ใช้มาตรการแข็งกร้าวต่อต้านการปลูกพืชที่มีสารเสพย์ติดซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของหมู่เกาะ และเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการปกป้องสินค้าทดแทนน้ำตาลของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ไร่อ้อยบนหมู่เกาะแคริบเบียนจึงต้องถางทิ้งเพื่อทำสนามกอล์ฟให้พวกนักท่องเที่ยวผิวขาว


 


แต่การท่องเที่ยวกับเหล้ารัมสามารถไปด้วยกันได้ ผู้ผลิตรัมในภูมิภาคนี้น่าจะขายได้มากกว่าเครื่องดื่ม พวกเขาน่าจะขายภาพพจน์กับไลฟ์สไตล์ได้ด้วย เหมือนที่จอห์นนี เด็ปป์ร้องตะโกนด้วยความลิงโลด ขณะเดินส่ายไปส่ายมารอบเกาะร้างในหนังเรื่อง Pirates of the Caribbean "เหล้ารัม หาดทรายและดวงตะวัน! นี่แหละแคริบเบียน!"


 


และเกือบทุกเป๊กที่จิบลงไปคือการอุดหนุนการพัฒนา อ้อยปลูกแต่ในเขตร้อนเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูมิภาคด้อยพัฒนาในโลกสมัยใหม่ การขายสุราที่มียี่ห้อเป็นมูลค่าเพิ่มในตลาดโลก ย่อมดีกว่าพยายามไปแข่งขันกับน้ำตาลในตลาดที่สหภาพยุโรปคอยปกป้องเกษตรกรที่ปลูกหัวบีท และสหรัฐฯ คอยดูแลผลประโยชน์สองชั้นของเจ้าของไร่อ้อยที่เป็นผู้ลี้ภัยชาวคิวบาในรัฐฟลอริดา กับผลประโยชน์ของบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ Archer Daniels Midlands ที่ผลิตน้ำตาลฟรุกโตสจากข้าวโพด


 


ความหวานทดแทนที่น่าสมเพช


สินค้าทดแทนน้ำตาลที่น่าสมเพชเหล่านี้ต้องอาศัยการคุ้มครองด้วยกำแพงภาษีและการให้เงินทุนอุดหนุน เพราะไม่มีพืชชนิดใดจะนำมาผลิตน้ำตาลและพลังงานได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าอ้อย ซึ่งรวมไปถึงการผลิตรัมด้วย ด้วยเหตุนี้ ดังที่ฟิเดล คาสโตรค้นพบ เหล้ารัมยี่ห้อ "ฮาวานาคลับ" (Havana Club) ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มทางการตลาดมวลชนทั่วโลก ช่วยสร้างรายได้ให้คิวบามากกว่าน้ำตาลบรรจุถุงที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต


 


ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ผู้ผลิตเหล้ารัมในประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Caricom) ต้องก้าวออกมาให้พ้นเกาะของตน เช่นเดียวกับที่รัฐบาลในหมู่เกาะนี้ขายภาพพจน์เกี่ยวกับแคริบเบียน พวกเขาควรส่งเสริมให้เหล้ารัมเป็นเหล้าเอกลักษณ์ของหมู่เกาะด้วย ทุกจิบของเหล้ารัมท่ามกลางความหนาวเย็นของคิมหันต์น่าจะปลุกความทรงจำแสนสุขถึงดินแดนเขตศูนย์สูตรอันร้อนชื้นฉ่ำ รวมทั้งไลฟ์สไตล์ที่ดีกว่าและสบายๆ กว่า หมู่เกาะแคริบเบียนควรเก็บไร่อ้อยไว้ เพราะไม่เพียงแต่ใช้ผลิตแก๊สโซฮอล์ได้อย่างบราซิล แต่ยังใช้ผลิตเหล้ารัมและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาชมดูการต้มกลั่นได้ด้วย


 


วานิชวิวาท


ผู้ต้มกลั่นเหล้ารัมแคริบเบียนมีโอกาสหาลูกค้าได้หลายล้านคนจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศ คนเหล่านี้สามารถนำรสนิยมในการดื่มติดตัวกลับไปที่บาร์ในลอนดอนและนิวยอร์ก ยังมีชาวแคริบเบียนที่อพยพไปอยู่ต่างประเทศอีกหลายล้านคนที่เป็นหลักประกันตลาดส่งออกได้ จนถึงบัดนี้ ถ้าหากจะมีรอยผุร้าวในจักรวรรดิบาคาร์ดี ก็คงมาจากผู้ค้าสุราข้ามชาติรายใหญ่ที่ได้สิทธิ์การจัดจำหน่ายเหล้ารัมของประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียน ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดก็คือกรณีที่บริษัท Pernod Ricard จับมือเป็นหุ้นส่วนกับเหล้ารัมยี่ห้อ Havana Club ของคิวบา เวทมนตร์คาถาของบาคาร์ดีที่มีมาช้านานในวอชิงตันสร้างหลักประกันว่า ยี่ห้อ Havana Club ไม่มีทางได้เข้ามาขายในสหรัฐฯ และข้อพิพาทเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าก็เกือบจุดชนวนสงครามการค้าขึ้นมาระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐอเมริกา


 


อย่างไรก็ตาม การสร้างแบรนด์ขึ้นมาต้องอาศัยอะไรมากกว่าคำว่า "เก่าแก่" และ "เก็บบ่มได้ที่" บนฉลากขวด ลูกค้ากระเป๋าหนักและช่างเลือกต้องการรู้ว่ามันเก็บบ่มมานานแค่ไหนกันแน่ และพวกเขาต้องการรู้ภูมิหลังก่อนซื้อเหล้าสักขวด ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์นั้น เหล้ารัมมีมากมายแน่นอน ไม่มีเครื่องดื่มชนิดอื่นใดจะมีภูมิหลังเทียบเท่าประวัติศาสตร์สี่ร้อยปีของหมู่เกาะแคริบเบียน รัมพาให้เกิดการปฏิวัติ การก่อกบฏของทาส และขับเคลื่อนสงครามทั้งบนบกและบนทะเล สาวกของเหล้ารัมมีทั้งโจรสลัด กลาสี พลทหารและนายพล เจ้าของไร่และคนงาน โรงสุราและบาร์ทันสมัย


 


เหล้ารัมทุกขวดบนชั้นวางเหล้าในบาร์ของซีกโลกเหนืออันเยียบเย็น น่าจะเป็นทูตอันกระปรี้กระเปร่าให้การท่องเที่ยวของแคริบเบียน วอดก้าที่มียอดขายระเบิดเถิดเทิงทั่วโลกด้วยการทำโฆษณาอย่างหนัก ความจริงเป็นแค่สุราไร้สีสัน แค่เอธานอลผสมน้ำ แต่รัมสิมีรสชาติหลากหลายไร้ที่สิ้นสุด รัมต่างหากที่เป็นสุราระดับโลกที่แท้จริง พร้อมด้วยหัวใจที่เต้นเป็นจังหวะอย่างอบอุ่นในทะเลแคริบเบียน


 


 


 


..........................................................................


เอียน วิลเลียมส์ เป็นนักเขียนประจำให้ Foreign Policy in Focus (www.fpif.org) และเป็นผู้เขียนหนังสือ Rum: A Social and Sociable History of the Real Spirit of 1776 (Nation Books, 2006). บทความนี้เขียนขึ้นเป็นพิเศษให้ FPIF เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและความรื่นรมย์


 


*นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่า ชนวนการปฏิวัติอเมริกันเกิดมาจากข้อพิพาทการค้าเกี่ยวกับชา ชาวอเมริกันไม่พอใจการผูกขาดค้าชาของบริษัทบริติชอีสต์อินเดียของอังกฤษ จึงคว่ำบาตรไม่ยอมซื้อชาจากบริษัทนี้ และหันไปซื้อใบชาจากผู้ลักลอบนำเข้าที่เป็นชาวอเมริกันแทน รัฐบาลอังกฤษพยายามเข้ามาแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือบริษัทของตน ทำให้ความไม่พอใจของชาวอเมริกันลุกลามบานปลายจนนำไปสู่สงครามประกาศอิสรภาพ


 


**ก่อนที่คาสโตรจะโอนกิจการโรงต้มกลั่นเหล้ารัมของบาคาร์ดีมาเป็นของชาติ ตระกูลบาคาร์ดีย้ายกิจการส่วนใหญ่ของตนไปตั้งในต่างประเทศก่อนแล้ว กิจการที่คาสโตรยึดไปคือการผลิตเหล้ารัมยี่ห้อ Havana Club ซึ่งไม่ใช่ยี่ห้อดั้งเดิมของบาคาร์ดี แต่บาคาร์ดีไปซื้อต่อมาจากอีกตระกูลหนึ่ง ปัจจุบัน บริษัท Pernod Ricard ของฝรั่งเศสเป็นผู้จัดจำหน่ายเหล้ารัมยี่ห้อ Havana Club ทั่วโลก มีแต่สหรัฐอเมริกาและดินแดนในอาณัติของสหรัฐฯ เท่านั้นที่สั่งห้ามขายเหล้ารัมของคิวบา


 


*** Juan Pépin Bosch ผู้บริหารบริษัทบาคาร์ดีส่วนใหญ่เป็นคนในตระกูลบาคาร์ดี ส่วนบอชเป็นญาติที่เกี่ยวดองจากการแต่งงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net