Skip to main content
sharethis

ดร.ปิ่นแก้ว  เหลืองอร่ามศรี   


โดย : สาละวินโพสต์


 


 


ภาพลักษณ์ของผู้หญิงพลัดถิ่นจากพม่าที่ปรากฏและแพร่หลายอยู่ในสื่อต่างๆ ในไทย มักมีเค้าโครงและเนื้อหาที่แบนราบ และซ้ำๆ กันอยู่ไม่กี่ลักษณะ กล่าวคือ หากไม่ถูกล่อลวง เข้ามาขายบริการ ก็เป็นเหยื่อของสงครามการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ ในพม่าที่ไม่รู้จักจบสิ้น แม้ว่าเค้าโครงและเนื้อหาดังกล่าวจะเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจละเลย และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันและต่อสู้ให้กระบวนการกดขี่ผู้หญิงดังกล่าวหมดไป


 


แต่ผู้เขียนเห็นว่า เรื่องราวและประสบการณ์ร่วมสมัยของผู้หญิงพลัดถิ่นจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในพม่าที่พากันหลั่งไหลเข้ามาอยู่ในสังคมไทยจำนวนนับแสน นับแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา มีเนื้อหาและความเป็นไปในอีกหลายแง่มุม ซึ่งการเปิดมุมมองที่หลากหลายดังกล่าว น่าจะช่วยทำให้เราเข้าใจสังคมผู้พลัดถิ่น และตัวตนของผู้หญิงพลัดถิ่นเหล่านี้ ในตำแหน่งแห่งที่ ที่แตกต่างกัน ที่เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ที่เธอมีต่อครอบครัวและสังคมที่พวกเธอจากมาได้ดียิ่งขึ้น


 


ผู้เขียนเคยตั้งข้อสงสัยอยู่เสมอ เมื่อครั้งทำงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงไทใหญ่กับความเป็นชาติ และได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับคลื่นการอพยพของผู้หญิงไทใหญ่จำนวนมหาศาลเพื่อมาหางานทำในไทยว่า ผู้หญิงผู้มีบทบาทที่สำคัญในครัวเรือน ไม่ว่าจะในการผลิตหรือค้ำจุนเศรษฐกิจ เมื่อพากันหลั่งไหลออกจากชุมชนในจำนวนมากมายขนาดนั้นแล้ว  จะไม่มีผลทำให้สังคมในรัฐไทใหญ่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง หรือถึงขั้นล่มสลายลงหรอกหรือ ?


 


หรือหากถามให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ หากการบังคับอพยพโยกย้ายถิ่นของรัฐบาลทหารพม่าที่มีมาอย่างต่อเนื่องมีเป้าประสงค์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในการสร้างความอ่อนแอให้แก่สังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย ยังผลให้ทั้งชายและหญิงต้องละทิ้งบ้านเมืองของตน มาเป็นแรงงานราคาถูกในไทย เหตุใดเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษมาแล้วที่สังคมของกลุ่มชนเหล่านี้จึงยังคงดำรงอยู่ได้



แน่นอนที่ว่า การจะหาคำตอบให้กับข้อสงสัยดังกล่าว ด้วยแว่นของการมองผู้หญิงในฐานะ "เหยื่อ" ของการกดขี่ย่อมไม่อาจช่วยหรือเป็นประโยชน์มากนักในการทำความเข้าใจวิธีคิดของผู้หญิง ตลอดจนความพยายามในการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของพวกเธอ ที่ทั้งต่อรองและปรับเปลี่ยนในสถานการณ์ที่ยากลำบากภายในสังคมที่เธอมีสถานะเพียง "แรงงานต่างด้าว" ผู้เขียนเห็นว่า การจะวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะ พลัดถิ่นของผู้หญิงและการเมืองแห่งการกดขี่ในสังคมพม่าดังกล่าว  มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกับตัวตนในภาวะพลัดถิ่นของผู้หญิงเหล่านี้ที่เชื่อมโยงกับตำแหน่งแห่งที่ภายในครอบครัวของเธอเอง


 


ทั้งนี้เพราะว่าเงื่อนไขการอพยพข้ามพรมแดนของผู้หญิงไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้หญิงในฐานะที่เป็นเพียงปัจเจกบุคคลที่ดำรงตนอย่างเป็นอิสระ หากแต่เธอเหล่านั้นเกี่ยวพัน อย่างแยกไม่ออกจากภาระผูกพันที่พวกเธอมีอันเนื่องมาจากสถานภาพของพวกเธอภายในครอบครัว



งานวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับผู้หญิงไทใหญ่ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา 1จำนวนสองชิ้นได้ช่วยไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ผู้หญิงไทใหญ่ที่อพยพเข้ามาทำงานในตลาดธานินทร์ในเมืองเชียงใหม่ที่ศึกษาโดยสุนทรีย์ เรือนมูล และแรงงานอพยพที่เข้ามาทำงานหลากหลายประเภทในเมืองเชียงใหม่ ศึกษาโดยออมสิน บุญเลิศ ต่างก็จากบ้านมาเพื่อหางานทำในไทยในฐานะที่ต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นลูกสาว แม่ เมีย พี่สาว หรือน้องสาว โดยมีจุดมุ่งหมายที่คล้ายคลึงกันในการพยายามทำงานอย่างหนักเพื่อเก็บหอมรอมริบ และส่งเงิน ที่ได้จากค่าจ้างที่แสนต่ำจากสถานภาพต่างด้าวของพวกเธอ
กลับไปค้ำจุนครอบครัว


 


ซึ่งแน่นอนที่ว่ารายได้เหล่านั้นไม่เพียงแต่ ช่วยให้ครอบครัวของเธออยู่รอดได้เท่านั้น แต่รายได้ส่วนหนึ่งย่อมกลายเป็นส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่ถูกเก็บเกี่ยวไปอีกทอดหนึ่ง โดยทหารพม่า (และแน่นอน โดยทหารไทใหญ่ด้วยเช่นกัน) การตัดสินใจทำหน้าที่เพื่อตอบแทนบุญคุณของครอบครัว ไม่ว่าจะในฐานะลูกสาวหรือน้องสาวของผู้หญิงไทใหญ่เพื่อค้ำจุนมิให้ ครัวเรือนต้องล่มสลาย จึงดำเนินไปบนกระบวนการของการถูกขูดรีดในสองระนาบ กล่าวคือ ทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางการเมืองและทั้งภายในบริบทของรัฐชาติ และข้ามพรมแดนของรัฐชาติ



จึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า อุดมการณ์ว่าด้วยความกตัญญู และวัฒนธรรมการทดแทนบุญคุณของผู้หญิงไทใหญ่ อันเป็นแบบแผนที่ปฏิบัติกันในสังคมพุทธเถรวาท (ที่พบเช่นเดียวกันในสังคมอื่นๆ แถบนี้) มีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่งในการธำรงรักษาสังคมชนบทในพม่ามิให้ต้องแตกสลายลงไปด้วยเงื่อนไขทางการเมือง


 


ในขณะที่อุดมการณ์ดังกล่าวไม่ได้เรียกร้องบทบาทของผู้ชายในทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ เนื่องจากการทดแทนบุญคุณต่อพ่อแม่ของชายชาวไทใหญ่นั้น กระทำผ่านการบวช พันธะผูกพันในการส่งเงินกลับบ้านระหว่างชายและหญิงพลัดถิ่นจึงมีความหนักหน่วงสาหัสที่แตกต่างกัน


 


สำหรับ ผู้ชายแล้ว การส่งเงินกลับบ้านเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวส่วนใหญ่เป็นไปในฐานะผู้นำหรือหัวหน้าครอบครัว จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจ ที่พบว่า สำหรับชายโสดแล้วการไม่ได้ส่งเงินกลับบ้านเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่หรือการไม่มีเงินออมเลย แม้ว่าจะมาทำงานในเมืองไทยได้หลายปีแล้ว กลับกลายเป็นเรื่องปกติที่ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ข้อตำหนิในทางวัฒนธรรม 



สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ วัฒนธรรมการทดแทนบุณคุณสำหรับผู้หญิงไทใหญ่ที่เข้ามาทำงานในไทยนั้นดำเนินไป บนฐานคิดที่แผ่ขยายไปสู่สำนึกในการค้ำจุนสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัวที่ไม่ใช่พ่อแม่ด้วย ในแง่นี้เราจึงพบว่า บ่อยครั้งที่การส่งเงินกลับบ้านเป็นไปเพื่อช่วยเหลือพี่น้อง ตลอดจนเครือญาติต่างๆ เช่นเดียวกับที่ปรากฏในประสบการณ์ของผู้หญิงในสังคมพุทธอื่นๆ การช่วยเหลือแม้เป็นไปในรูปเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้จำกัดตัวด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ในบางกรณี ยังเป็นไปเพื่อช่วยให้พี่ชายและน้องชายสามารถบรรลุสถานภาพของการเป็นลูกชายที่สมบูรณ์ ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลให้ครอบครัว สามารถจัดงานพิธีบวชทดแทนบุณคุณพ่อแม่ให้แก่บุตรชายได้ผู้หญิงบางคนแม้จะมีครอบครัวของตนเองแล้วอาจยังคงต้องทำหน้าที่ ทั้งในฐานะลูกสาวและในฐานะเมียและแม่ควบคู่กันไปเงินที่ได้มาจากค่าแรงจึงไม่เพียงแต่นำไปช่วยเหลือพ่อแม่ของตน เท่านั้น แต่ยังต้องกระเบียดกระเสียนใช้เพื่อเลี้ยงดูลูกของตนอีกทั้งยังต้องเก็บหอมรอมริบเพื่อที่จะได้มีเงินสักก้อนเพียงพอที่จัดงานบวชส่างลองให้กับลูกชายของตนเอง 



ในบางกรณี เมื่อผู้หญิงได้พบและตัดสินใจอยู่ด้วยกันกับชายบางคนในคราวที่มาทำงานในเมืองไทย แต่เมื่ออยู่กันไป กาลกลับปรากฎว่า สามีไม่เคยสนใจที่จะเก็บออมเงิน ได้แต่เที่ยวเตร่จนรายได้ไม่พอเพียงต่อการดำรงชีพ ผู้หญิงไทใหญ่พลัดถิ่นเหล่านี้ก็จำต้องทำหน้าที่ทั้งทดแทนบุญคุณพ่อแม่ และทั้งเลี้ยงดูสามีไปพร้อมๆ กัน


 


ในกรณีดังกล่าว ความอยู่รอดของครอบครัวจึงเกิดจากภาวะการขูดรีดแรงงานของตนเองด้วยการ ทำงานให้หนักขึ้น เพื่อที่จะได้ชั่วโมงทำงานและค่าจ้างมากขึ้น จึงกลายเป็นระนาบที่สามของการขูดรีดแรงงาน คือการขูดรีดที่เกิดขึ้นจากภายใน เพื่อทำให้การตอบสนองต่ออุดมคติความเป็น ลูกสาวและเมียที่ดีสามารถดำเนินไปได้พร้อมๆกัน



ภาวะการขูดรีดแรงงานในหลายระนาบจึงเป็นภาวการณ์ ที่หญิงไทใหญ่พลัดถิ่นประสบอยู่ในชีวิตประจำวันของการเป็นแรงงานรับจ้างที่ไร้สถานภาพรองรับอย่างเป็นทางการในสังคมไทย บนเส้นทางแห่งการพยายามพยุงและประคับประคองครอบครัวของพวกเธอให้อยู่รอด ภาวการณ์ดังกล่าวดำเนินไปทั้งในสถานการณ์ของการจำยอมและทั้งยินยอม คำถามที่สำคัญคือ เราจะเข้าใจเหตุผลที่ผู้หญิงเหล่านี้ยอมทนต่อสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร โดยไม่มองผู้หญิงเป็นเพียงแค่เหยื่อของจิตสำนึก ปลอมหรือว่าตกอยู่ในกับดักของภาวะการยอมจำนน?  



นักคิดในสายสตรีนิยมท่านหนึ่งได้ให้ความเห็นว่าประเด็น ดังกล่าวจำเป็นต้องอธิบายด้วยมิติของการสร้างอำนาจต่อรองของผู้หญิงภายในความสัมพันธ์ทางครอบครัว2ที่ซึ่งภายในบริบท สังคมครัวเรือนที่ผู้หญิงมีสถานภาพที่ต่ำและไม่มีสิทธิมีเสียงนัก การตอบสนองต่ออุดมการณ์ความกตัญญู และการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่สมาชิกในครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ที่ดีย่อมเป็นการสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ขึ้นมาในเชิงพึ่งพา  ซึ่งช่วยเปิดหรือสร้างพื้นที่ทางอำนาจที่ได้เพิ่มสิทธิและเสียงให้แก่ผู้หญิงภายในครอบครัวมากขึ้น  



การอธิบายดังกล่าว แม้จะมีประโยชน์ในการทำให้มองเห็น ความสัมพันธ์ที่ไม่จำเป็นต้องราบรื่น หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เสมอไปของความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่บ่อยครั้งก็ดำเนินไปบนเงื่อนไขของการต่อรองระหว่างสมาชิกที่มีสถานภาพต่างกันภายในครอบครัว แต่ก็อาจนำใช้เป็นข้อสรุปโดยทั่วไปไม่ได้เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ของผู้หญิงที่แตกต่างและหลากหลายทั้งนี้สิ่งที่สำคัญก็คือ ผู้หญิงเองก็รับเอาอุดมการณ์ของการทดแทน บุญคุณเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ความเป็นผู้หญิงไทใหญ่ที่ซึ่งความหมายของความเป็นตัวตนของตนเองได้ถูกนิยามผ่านความเป็นลูก น้องสาว หรือพี่สาว ที่จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้ทำหน้าที่ตามสถานภาพนั้นและการทำหน้าที่ดังกล่าวสำหรับหลายคนอาจไม่เกี่ยวข้องกับการเล็งผลในเชิงอำนาจก็เป็นได้ 



คำถามที่สำคัญต่อมาก็คือ หากเป็นเช่นนั้นแล้วการพยายามบรรลุอุดมการณ์ของการเป็นลูกสาวที่ดี เมียและแม่ที่ดีของผู้หญิงไทใหญ่ ภายใต้บริบทของการอพยพเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนสภาพมาเป็นแรงงานรับจ้างในสังคมไทยได้ช่วยทำให้สถานภาพทางสังคมของผู้หญิงเหล่านี้ดีขึ้นหรือไม่ ?  


คำถามดังกล่าวมีความซับซ้อนและไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประเมินได้ด้วยข้อสรุปโดยทั่วไป แน่นอนที่ว่าการเดินทางออกจากปริมณฑลภายในสู่การทำงานในปริมณฑลสาธารณะ เทียมบ่าเทียมไหล่ผู้ชายนั้นเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของผู้หญิงให้มีอำนาจในการที่จะพึ่งพาตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ แต่ทว่าอำนาจทางเศรษฐกิจที่ว่าก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเดียวกับสถานภาพทางสังคม หรือนำมาซึ่งสถานภาพทางสังคมที่สูงขึ้นเสมอไป


 


ซึ่งในแง่นี้แตกต่างจากประสบการณ์ของผู้ชายในสภาวการณ์เดียวกันทั้งนี้ เพราะการเดินทางและเคลื่อนย้ายสำหรับชายและหญิงถูกกำกับโดยนัยยะทางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 



ในการสัมภาษณ์ชายชาวไทใหญ่คนหนึ่งที่เข้ามาทำงานรับจ้างในเชียงใหม่ ซึ่งได้พบและคบหาอยู่กับหญิงชาวไทใหญ่คนหนึ่งของสุนทรีย์ เรือนมูล ชายดังกล่าวได้สารภาพว่า หญิงที่คบกันนั้นก็เป็นเพียงในบริบทต่างถิ่นเท่านั้น หากจะแต่งงานแล้ว เขาย่อมเลือกจะกลับไปแต่งงานกับหญิงในหมู่บ้าน ทั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า เพราะหญิงที่กล้าเดินทางออกมาจากหมู่บ้านเพื่อหางานทำต่างถิ่นต่างประเทศย่อมเป็นหญิงที่ไม่ดี


 


แม้ว่าความเห็นดังกล่าวจะไม่อาจกล่าวได้ว่า เป็นภาพสะท้อนของความเห็นพ้องโดยทั่วไปของทรรศนะผู้ชายที่มีต่อผู้หญิงชาวไทใหญ่ พลัดถิ่น แต่ก็มีนัยยะที่สะท้อนถึงความหมายในแง่ลบที่มีพลานุภาพอย่างมากต่อการเดินทางเคลื่อนย้ายของผู้หญิง และตัวตนของพวกเธอในสายตาของผู้ชาย ที่ย่อมมีผลต่อการจัดความสัมพันธ์และการต่อรองทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างชายและหญิง ตลอดจนระหว่างผู้หญิงและครอบครัวในบริบทของสังคมไทใหญ่ทั้งที่พลัดถิ่นและที่บ้าน และแน่นอนที่ว่าความคิด เห็นดังกล่าวย่อมไม่เคยบรรลุความเป็นเอกฉันท์ และมักถูกตอบโต้อยู่เสมอจากผู้หญิงที่ไม่จำเป็นต้องสวามิภักดิ์ต่อกรอบการแต่งงานที่ชายกำหนดเสมอไป



การทำความเข้าใจกับประสบการณ์การพลัดถิ่นของผู้หญิงจากพม่าที่เดินทางมาทำงานในไทยจึงเป็นเรื่องที่ละเอียด อ่อนและซับซ้อนที่ไม่อาจอธิบายง่ายๆด้วยกรอบคิดแบบคู่ตรงข้าม แบบสุดขั้วระหว่างผู้ตกเป็นเหยื่อ ไร้อำนาจ ว่านอนสอนง่ายทางวัฒนธรรม  vs. ผู้มีอิสระในการเลือกและตัดสินใจ ในขณะที่ภาวะการถูกกดบังคับภายใต้ระบบการเมืองแบบเผด็จการทหารยังคงดำเนินต่อไป ควบคู่ไปกับการผลิตซ้ำอุดมการณ์ว่าด้วยความกตัญญูข้ามชาติ


 


บทบาทของผู้หญิงพลัดถิ่นในฐานะแม่ เมีย ลูกสาว พี่และน้องสาว ยังคงทำหน้าที่อย่างเหนียวแน่นในการทอดกายและแรงงานของพวกเธอเป็นสะพานเชื่อมทางเศรษฐกิจ ระหว่างโลกที่ต่างระดับของไทยกับพม่า ในขณะที่การยอมตนเพื่อถูกขูดรีดในหลายระนาบของพวกเธอได้ทำให้สังคมของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในพม่ายังคงดำรงตนอยู่ได้  การพยายามรักษาสถาบันครอบครัวของผู้หญิงเหล่านี้ก็ดำเนินไปภายใต้การตีความและต่อรองกับอุดมการณ์เดิมอยู่เสมอ    


 


 






 ข้อมูลประกอบ


1 ออมสิน บุญเลิศ เรื่อง การต่อรองและผลิตซ้ำอัตลักษณ์คนพลัดถิ่น และ
สุนทรีย์ เรือนมูล เรื่อง เพศภาวะกับประสบการณ์ของแรงงานผู้หญิงไทยใหญ่
คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งสองเรื่องอยู่ในระหว่างการเขียน



2 สนทนาเป็นการส่วนตัวกับสุชาดา ทวีสิทธิ์ (28 กรกฎาคม 2550) ข้อถกเถียงในเรื่องอุดมการณ์ของพุทธศาสนา และบทบาทที่มีต่อสถานภาพของหญิงไทย มีอยู่ในงานด้านมานุษยวิทยาหลายชิ้น อาทิ  Thomas Kirsch (1982) Buddhism, Sex-Roles and Thai Economy.  Khin Thitsa (1980) Providence and Prostitution: Image and Reality for Women in Buddhist Thailand.  Marjorie Muecke (1981) Changes in Women's Status Associated with Modernization in Northern Thailand. และ Charles Keyes (1984) Mother or Mistress But Never a Monk: Buddhist Notions of Female Gender in Rural Thailand. เป็นต้น และความหมายของความเป็นผู้หญิงที่เปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานใน
วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ Mary Elizabeth Mills (1993) We Are Not Like Our Mothers: Migrants, Modernity and Identity in Northeast Thailand

 



หมายเหตุจากผู้จัดทำ คำว่า "ไทใหญ่" ไม่มี "" ในทางวิชาการหมายถึง  ชนชาติ "ไทที่มีรากฐานทางภาษาพูดและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับคนไทยแต่มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศไทย เช่น ไทดำ ไทเขิน ไทลื้อ ไทใหญ่ เป็นต้น  ส่วนคำว่า "ไทยใหญ่" ที่มี "" จะนิยมใช้ในเอกสารของกลุ่มคนไทยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่สำหรับคน "ไทยใหญ่" หรือ "ไทใหญ่" เองจะเรียกตนเองว่า "ไต" ซึ่งแปลว่า คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net