บทความ: ก.ยุติธรรมชงกฎหมายจำคุกนอกเรือนจำรับมือ "อาชญากรรม" ในทศวรรษใหม่

สำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) กระทรวงยุติธรรม

 

นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกระทรวงยุติธรรมได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นการนำเสนอให้มีการปรับปรุงวิธีการคุมขังและจำคุก กับผู้ต้องขังบางลักษณะ โดยกำหนดวิธีการหรือสถานที่ในการขังหรือจำคุกนอกเรือนจำให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ต้องขัง ออกมาบังคับใช้ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และอยู่ในระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วจะทำให้สามารถนำวิธีการควบคุมผู้กระทำผิดนอกเรือนจำ โดยใช้ระบบการควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (EM- Electronic Monitoring) มาใช้ในประเทศไทยได้

 

นายวิศิษฏ์ กล่าวถึงที่มาของการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวว่า สืบเนื่องมาจากปัจจุบันมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในประเทศไทยยังคงมุ่งเน้นการควบคุมตัวในเรือนจำเป็นหลัก ในขณะที่จำนวนผู้กระทำผิดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เรือนจำมีสภาพแออัด อันเป็นอุปสรรคในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดค่อนข้างมาก อีกทั้งรัฐยังต้องแบบรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้กระทำผิดเป็นงบประมาณจำนวนมหาศาล ประกอบกับปัจจุบันเทคโนโลยีในการควบคุมตัวมีความก้าวหน้าเป็นอันมาก ซึ่งในประเทศพัฒนาหลายแห่งได้นำระบบดังกล่าวมาใช้แล้วอย่างได้ผล ดังนั้นการนำระบบ EM มาใช้ในการควบคุมผู้กระทำผิดจึงเป็นทางเลือกของการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดแทนการจำคุกในเรือนจำคุก เพื่อเอื้อต่อการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดกลับคืนสู่สังคมได้ดีขึ้น

 

ผอ.สกธ.เปิดเผยว่า ทางกระทรวงยุติธรรมได้ร่วมกับ อาจารย์สุมนทิพย์ จิตสว่าง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการวิจัยเรื่อง โครงการติดตามประเมินผลการนำระบบการควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับผู้กระทำผิด เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำระบบดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทย ทั้งด้านความเหมาะสม ความคุ้มค่า รวมทั้งข้อดีข้อเสีย และภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และผู้กระทำผิด

 

ผลการวิจัยจากการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้กระทำผิด ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชน พบว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วย และเห็นว่าเป็นไปได้ และยินดีให้นำมาใช้ โดยต้องประยุกต์อุปกรณ์ให้กับเข้ากับสังคมไทย อีกทั้งเห็นว่า ควรใช้ระบบ EM กับผู้กระทำผิดครั้งแรกที่กำหนดโทษไม่สูง และควรใช้กับผู้กระทำผิดทุกประเภทคดี โดยกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ยอมรับการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เข้มงวดของระบบ EM มากกว่า การคุมประพฤติในสภาวะปกติ ในส่วนค่าใช้จ่ายนั้น กลุ่มตัวอย่าง เห็นว่าทางรัฐบาลควรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมกับผู้กระทำผิด และผู้กระทำผิดควรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายไม่ควรเกิน 100 บาทต่อเดือน

 

ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้บริหารระดับสูงสุดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ก็เห็นด้วยกับการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการควบคุมตัวผู้กระทำผิด โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการให้โอกาสทางสังคมแก่ผู้กระทำผิด และเป็นการสร้างทางเลือกในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในระดับกลางที่มีค่อนข้างน้อยในประเทศไทยให้แก่ผู้กระทำผิดมากขึ้น และความเหมาะสมของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้ต้องโทษระหว่าง 2-5 ปี สำหรับผู้กระทำผิดเพศหญิง ผู้สูงอายุ เด็ก และเยาวชนที่กระทำผิด ผู้ที่เมาแล้วขับ (ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ และความสูญเสีย) และผู้กระทำผิดทุกประเภทคดีที่กำหนดโทษไม่สูงตามความเหมาะสม ซึ่งอาจกำหนดเงื่อนไขเป็นผู้สำนึกผิดต่อการกระทำ มีการชดใช้แก่เหยื่ออาชญากรรม และมีงานทำ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริหารระดับสูงฯ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ในการควบคุมตัวด้วยระบบ EM ควรมีการใช้โปรแกรมในการตรวจตราที่เข้มงวด และการแก้ไขฟื้นฟูที่มีความเหมาะสมควบคู่ไปด้วย อีกทั้งในทัศนะของผู้บริหารฯ เห็นว่า ปัญหาอุปสรรค ในการใช้อุปกรณ์ EM ในการควบคุมตัวผู้กระทำผิด ได้แก่ ปัญหาความไม่แน่นอนของเทคโนโลยี ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาความไม่เชื่อมั่นในอุปกรณ์ EM ของผู้กระทำผิด ปัญหางบประมาณ ปัญหาความยุติธรรมระหว่างคนรวยกับคนจน และปัญหาคอรัปชั่นที่อาจเกิดขึ้น

 

ในประเด็นนี้ ผอ.สกธ. ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฎหมายที่ปรับปรุงขึ้นมารองรับกับสภาพสังคมในโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่เนื่องจากเป็นวิธีการ และเป็นระบบใหม่สำหรับสังคมไทย การผลักดันไปสู่การปฏิบัติจริง และเกิดประโยชน์ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี มาช่วยกันคิด เพราะมีประเด็นที่ต้องดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมค่อนข้างมาก อาทิ การเลือกประเภทของผู้ต้องขัง ที่ควรได้รับการควบคุมตัวด้วยระบบ EM ความพร้อมของอุปกรณ์ ความพร้อมของระบบการควบคุมดูแล และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และงบประมาณ เป็นต้น ทั้งนี้อาจจะเริ่มจากดำเนินการในลักษณะโครงการนำร่อง เพื่อติดตามประเมินผล ให้เกิดความมั่นใจก่อน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท