Skip to main content
sharethis




เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 50 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2550 โดยมีเวทีระดมความคิดเรื่อง "เศรษฐกิจไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ โดยมีวิทยากร ได้แก่ อ.จอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) รศ.ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร กล่าวว่า ก่อนจะพูดเรื่องปฏิรูปเชิงสถาบัน อยากพูดเรื่องโลกาภิวัตน์สักนิด ตามความเข้าใจของตนเอง เข้าใจว่าระบบเศรษฐกิจไทยเป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แม้เราจะมีการพูดคำว่าพอเพียง และหากทำเรื่องพอเพียงให้เป็นจริงได้ เราคงมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแบบพอเพียง แต่อย่างไรก็ดี ระบบทุนนิยมคือระบบที่ไม่พอ


 


โลกภิวัตน์ คือเรื่ององการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ในโลกยุคโลกภิวัตน์ เรามีโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรม ทางการเมือง ที่คำนึงเรื่องการจัดระเบียบโลกใหม่ให้ดีขึ้น เรื่องการเชื่อมต่อโลกมีมานานแล้ว เพียงแต่โลกาภิวัตน์ทำให้การเชื่อมต่อรุนแรงมากขึ้น รุนแรงจนถึงขั้นบางประเทศไม่อาจรับได้ วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 40 เป็นตัวอย่าง นอกจากนี้ โลกาภิวัตน์ยังสร้างการรับรู้ในพื้นที่แบบใหม่ขึ้นมา ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การล่มสลายของโลกคอมมิวนิสต์, เกิดกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย เกิดความเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจให้เป็นทุนนิยม เกิดการเชื่อมต่อเรื่องพื้นที่ต่างๆ ในโลก


 


ผลกระทบที่สำคัญของโลกาภิวัตน์ต่อระบบเศรษฐกิจ คือการเพิ่มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ เช่น ความคิดเรื่องการบริหารจัดการที่ดีที่เรียกกันว่าธรรมาภิบาล มีเรื่องความชอบธรรม ความโปร่งใส การดูแลคนงานภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน


 


การค้าระหว่างประเทศมีความเป็นสถาบันมากขึ้น มีองค์การระดับโลก เช่น WTO ที่ทำให้ประเทศต่างๆต้องให้ความสนใจต่อระบบกฎเกณฑ์ขององค์การค้าระหว่างประเทศ ตัวอย่างล่าสุดคือ กรณีที่จีนส่งสินค้าไปUSAแล้วมีปัญหา ด้วยเหตุผลที่ว่าโรงงานเหล่านั้นไม่ได้ดูแลคนงานตามหลักสิทธิมนุษยชน บ้างใช้สารเคมีที่อันตราย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจว่า ไม่เคยมีใครคิดมาก่อนว่า รสนิยมในการบริโภคของประเทศหนึ่งจะส่งผลกระเทือนต่อการผลิตในอีกประเทศ และไม่มีบทลงโทษใดที่รุนแรงที่สุดเท่ากับบทลงโทษจากผู้บริโภค


 


มาตรฐานที่ใช้ในการสร้างการยอมรับในประชาคมโลก คือความเป็นประชาธิปไตยทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ในโลกโลกาภิวัตน์ ระบบการปกครองประชาธิปไตย มีฐานะไม่ต่างจากภาษาสากลที่ประชาคมโลกใช้กัน


 


ไชยรัตน์กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเราไม่ได้มองคู่ค้าเป็นศัตรูที่ต้องจำกัด แต่มองเป็นคู่แข่งที่ต้องอยู่ร่วมกัน อยู่ในกติกาเดียวกัน ร่วมมือกัน อยู่ในกติกาที่เรียกว่าระบบเศรษฐกิจโลก แต่ธรรมาภิบาลเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยกลไกต่างๆ ในการสร้างให้เกิดขึ้น หลักสำคัญคือ รัฐต้องดูแคนที่อยู่ภายใต้ปกครอง มีความรับผิดชอบ มีความโปร่งใส คือการทำให้กฎเกณฑ์เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่


 


"การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม จึงเป็นฐานรากสำคัญของระบบธรรมาภิบาล ในประเทศที่มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การเลือกตั้งเป็นกลไกเชิงสถาบันในการบริหารจัดการความขัดแย้ง นอกจากการเลือกตั้ง การมีระบบรัฐสภาที่เป็นที่เคารพยอมรับ สื่อมวลชนที่เป็นอิสระ ภาคประชาชนที่ตื่นตัวแข็งขัน ต่างก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างธรรมาภิบาล"


 


ไชยรัตน์กล่าวว่า ในอดีตความไว้วางใจสร้างขึ้นจากปัจจัยทางวัฒนธรรม แต่ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ปัจจัยเศรษฐกิจมีบทบาทในการสร้างความไว้วางใจมากกว่าปัจจัยทางวัฒนธรรม การทำให้มีความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างคนต่างวัฒนธรรม ระหว่างคนแปลกหน้านั้น ความไว้วางใจเชิงเศรษฐกิจจะมีวงล้อมที่กว้างขวาง และจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีประชาธิปไตย


 


"ความไว้วางใจระหว่างคนแปลกหน้านี้ เรียกว่า ทุนสังคม (Social Capital) ซึ่ง รัฐมีบทบาทสำคัญ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือเงื่อนไขสำคัญ ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญในการเลือกตั้งสิ้นปีนี้ เราต้องหันมาให้ความสนใจในพรรคการเมือง การเลือกตั้ง การตั้งข้อรังเกียจนักการเมือง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะเปิดโอกาสให้อำนาจนอกระบบเข้ามาคุกคามโดยที่เราไม่ต้องการ"


 


จอน อึ๊งภากรณ์ เล่าถึงประสบการณ์การเยี่ยมผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งท้ายที่สุดต้องเสียชีวิต เพราะไม่มีเงินซื้อยาฟลูโคนาซอล ซึ่งต้องจ่ายวันละ 500 บาท สาเหตุที่ยานี้ราคาแพงแม้ไม่มีสิทธิบัตร เป็นเพราะเพิ่งนำเข้าในไทยไม่นาน และอยู่ใน  safety monitoring program ที่รัฐบาลสหรัฐตกลงกับรัฐบาลไทยว่ายาใหม่ที่เพิ่งนำเข้าต้องตรวจสอบความปลอดภัยก่อนไม่สามารถให้ใครผลิตได้อีก ปัจจุบันราคาอยู่ที่เม็ดละ 5 บาท เพราะพ้นโปรแกรมนั้นแล้วและบริษัทในไทยผลิตเอง นอกจากนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันไทยก็ยังต้องเผชิญปัญหาถูกโจมตีอย่างหนักหลังจากใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือ compulsory licensing (CL) ที่ภาคประชาชนเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยามาโดยตลอด


 


จอนระบุด้วยว่า มีนักวิชาการทั่วโลกที่เสนอทางเลือกอื่นนอกจากสิทธิบัตรยา เช่น กองทุนกระตุ้นการวิจัย ซึ่งทุกประเทศในโลกมีส่วนร่วมได้ในการตั้งกองทุน โดยดูจากสัดส่วนจีดีพี แล้วงานวิจัยก็เป็นของสาธารณะ ซึ่งจะผลิตได้ในทุกประเทศ


 


"นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่อยากเห็นนักเศรษฐศาสตร์ลองศึกษา มีจินตนาการที่จะสร้างความก้าวหน้าและความเป็นธรรมในสังคม ไม่ใช่เป็นเพียงนักเทคนิค" จอนกล่าวและว่า น่าสนใจว่าประเทศพัฒนาแล้วพยายามผลักดันประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเข้าสู่เศรษฐกิจเสรี แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากศึกษาพบว่า ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่เติบโตได้ในช่วงที่มีนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายใน โดยเก็บภาษีนำเข้าสูงๆ แต่ปัจจุบันประเทศเหล่านี้กำลังบอกว่าประเทศอื่นควรใช้การค้าเสรี"


 


จอนกล่าวต่อว่า สิ่งที่รู้สึกในการต่อสู้เพื่อระบบรัฐสวัสดิการก็คือหานักวิชาการที่จะช่วยคิดได้ยากมาก ทั้งที่น่าเชื่อว่าประเทศไทยสร้างระบบสวัสดิการได้


 


"ทำไมมันหานักเศรษฐศาสตร์ยากนัก ที่จะคิดวิธีหารายได้มาจัดระบบรัฐสวัสดิการ เช่น การปฏิรูประบบเก็บภาษี เราต้องการพวกเขามาคิดเรื่องการสร้างความเป็นธรรมในสังคม"


 


บรรยงค์ พงษ์พานิช กล่าวถึงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยเน้นการวิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้างและบริบทของวิกฤตเศรษฐกิจ โดยระบุว่า สาเหตุของวิกฤตค่อนข้างชัดเจนว่าเกิดเพราะเกิดการลงทุนที่ผิดพลาดจำนวนมหาศาลในภาคเอกชน ประกอบกับการใช้แหล่งทรัพยากรอย่างผิดพลาด ซึ่งมี่หลายสาเหตุ ที่สำคัญคือมีการเปิดเสรีทางการเงิน ขณะเดียวกันมีกระแสเงินไหลเข้ามาอย่างมหาศาลซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก แต่ไทยไม่เปิดเสรีจริง เพราะเปิดให้เงินไหลเข้า แต่เรากำหนดค่าเงินตายตัวมายาวนาน และการลงทุนไหลเข้าสู่ธุรกิจจำพวกอสังหาริมทรัพย์ โทรคมนาคม ฯ ต้นปี 1997 เราทำงานวิจัยพบว่า บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ไม่ใช่แบงก์ มีเอ็นพีแอลแล้ว 23% ก่อนเกิดวิกฤต มีการลงทุนผิดพลาด เอาเงินกู้ระยะสั้นมาลงทุนระยะยาว เอาเงินกู้สกุลต่างประเทศมาลงทุนในธุรกิจที่ไม่ได้มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ


 


บรรยงค์ กล่าวต่อว่า เมื่อโครงสร้างเกิดความผิดพลาดมโหฬาร ภาคเอกชนก็ถูกกดดันให้ปรับตัว ยุคก่อนวิกฤต ศักยภาพในการแข่งขันในการส่งออกถดถอย พอเกิดวิกฤต ภาคส่งออกกลับขยายตัว ก่อนวิกฤตค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 6 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อวัน พอเกิดวิกฤตเหลือ 3 เหรียญ การลดค่าเงินอย่างรุนแรงมองอีกมุมหนึ่งก็คือ การลดราคาปัจจัยการผลิตภายในประเทศ พ่อค้าที่พึ่งปัจจัยภายในประเทศก็ดีขึ้นทันที กำไรมหาศาล ประเทศไทยจึงเติบโตด้วยการส่งออก


 


ปัญหาปัจจุบัน เมื่อค่าเงินบาทแข็งขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ศักยภาพที่เกิดจากค่าเงินอ่อนก็หายไป เช่น กรณีไทยศิลป์ พวกธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบภายในและแรงงานภายในจำนวนมาก ประกอบกับปัจจุบันการลงทุนมันชะงักงัน ศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจพวกนั้น มันลดลงโดยเปรียบเทียบ ประเทศจีน เวียดนาม


จึงมาสู่ข้อถกเถียงว่า เราควรจะแทรกแซงตลาดอีกไหม โดยเฉพาะตลาดค่าเงิน เห็นด้วยว่า เราปล่อยคนงานล้มไปด้วยไปได้ ต้องมีการประคอง แต่การประคองโดยก่อให้เกิดการบิดเบี้ยวในการจัดสรรทรัพยากรอีก และอาจไม่เป็นผลดี การแทรกแซงตลาดจะเกิดผลกระทบที่คาดไม่ถึงตามมาอย่างแน่นอน นอกจากความพยายามประคองแล้ว มีวิธีอื่นอีกหรือไม่ ต้องพิจารณาให้รอบคอบขณะเดียวกันต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนแก่นักลงทุนว่าต้องปรับตัว ซึ่งไม่ค่อยเห็นเรื่องนี้


 


นิพนธ์ พัวพงศกร กล่าวถึงความสำคัญของธรรมาภิบาลภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ว่า ระบบตลาดจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีธรรมาภิบาล ทุนนิยมต้องมีการแข่งขัน แต่ความพยายามในการสร้างกฎหมายต่างๆ ไม่สำเร็จ หากธรรมาภิบาลโดยรวมไม่เอื้อ และในเวลานี้ ธรรมาภิบาลของไทยก็ยังไม่เอื้อให้มีการแข่งขันทางการค้าที่แท้จริง นโยบายของไทยนั้น ไม่ควรจะมีนโยบายเรื่องธรรมาภิบาล แต่ควรจะมีนโยบายที่หาว่า ต้นตอปัญหาของธรรมาภิบาลคืออะไร แล้วไปดำเนินนโยบายแก้ไข


 


 


หมายเหตุ :


คณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดให้สามารถอ่านไฟล์ "หนังสือประกอบงานสัมมนา" ได้ ที่นี่  1     2     3     4   


 


หรืออ่าน "บทความงานวิจัย" ชิ้นต่างๆ ดังนี้


- "ธรรมาภิบาลภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ นัยต่อประเทศไทย" เสนอบทความโดย รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


- "นโยบายการคลัง และการกระจายอำนาจทางการคลัง ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์" เสนอบทความโดย อ.ดร.พงษ์ธร วราศัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


- "การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์" เสนอบทความโดย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ และ อ.ชล บุนนาค คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


- "การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในการจัดสรรทุนในระบบเศรษฐกิจไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์" เสนอบทความโดย คุณสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ และ อ.กิตติชัย แซ่ลี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net