Skip to main content
sharethis

คิม ไชยสุขประเสริฐ


คนหลายคนพบเจอแล้วผ่านเลย หลายคนถูกเก็บไว้ในความทรงจำ แต่สำหรับบางคนไม่เคยได้พบพูดคุยแม้เพียงทักทาย แต่กลับถูกรำลึกในหัวใจคนตราบนานเท่านาน...


"เช้าวันที่ 1 กันยายน ในราวป่าเสียงปืนกึกก้อง
ญาติมิตรล้วนน้ำตานอง จากข่าวร้ายกลางป่าอุทัย
วิญญาณเจ้าจงรับรู้ คนที่ยังอยู่ยังยืนหยัดต่อไป
สืบ...เอยหลับให้สบาย เจ้าจากโลกไปนี้ไม่สูญเปล่า"


บทเพลงจากวงคาราบาว เล่าถึงเหตุการณ์ 1 กันยาน พ.ศ.2533 วันที่ สืบ นาคะเสถียร ได้ถูกบันทึกชื่อไว้ในความทรงจำของใครหลายๆ คน แม้ไม่ใช่ญาติมิตรแน่นสนิท และไม่ใช่เพียงในความทรงจำของคนรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่ชื่อของเขายังถูกบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น...


 



รูปปั้น ณ อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร


 



ป้ายมรดกโลก บริเวณทางเข้า


เวลาล่วงเลยไปกว่า 17 ปีแล้วที่ สืบ นาคะเสถียร ตามตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในขณะนั้น ได้ปลิดชีพตัวเองลงด้วยอุดมการณ์ เพื่อกระตุ้นเร้าให้คนเห็นความสำคัญของป่าไม้และสัตว์ป่าและถือเป็นการเริ่มต้นตำนาน "นักอนุรักษ์ไทย ผู้รักป่าไม้ สัตว์ป่า และธรรมชาติ ด้วยกายวาจาใจ"


"ไม่เคยลืมเลย หลายสิ่งที่ได้สัมผัสกับแกไม่รู้อีกกี่ปีจะลืม..."


"วิถีทางการทำงาน การเก็บข้อมูล ความตั้งใจทุ่มเทในการทำงานอย่างเต็มที่ คือสิ่งที่ท่านฝากผมเอาไว้ ไม่ใช่ด้วยการบอก แต่ทำเป็นตัวอย่าง" คำบอกเล่าจากพี่อ่ำ หรือสายยันต์ น้ำทิพย์ ลูกน้องผู้เคยทำงานใกล้ชิด ที่มีต่อนักอนุรักษ์ในความทรงจำซึ่งเป็นทั้งผู้บังคับบัญชา ครูผู้สอนวิถีชีวิตของป่า และแบบอย่างในการทำงาน


ปัจจุบันพี่อ่ำยังคงทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เขาสลักพระ จ.กาญจนบุรี ด้วยวิธีการเผยแพร่และสร้างจิตสำนึกของการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าสู่เยาวชนรวมถึงชาวบ้านโดยใช้เสียงดนตรี ร่วมกับการลงพื้นที่ออกตรวจป่า ด้วยความหวังว่าหากออกตรวจบ่อยๆ การลักลอบกระทำผิดจะหมดไปเอง แม้จะยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ต่ำ อีกทั้งกำลังใจของเจ้าหน้าที่ก็ถดถอย ทั้งในเรื่องสวัสดิการและเงินเดือน รวมถึงอาวุธที่ใช้ในการทำงานซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงที่ส่งผลต่อสวัสดิภาพของร่างกายและชีวิตยังคงมีอยู่


"อยากให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลสวัสดิการเจ้าหน้าที่ รวมถึงพนักงานจ้างเหมา พวกเขามาทำหน้าที่ตรงนี้ก็เสียสละมากแล้ว การดูแลความเป็นอยู่บ้าง รายได้บ้าง จะเป็นกำลังใจในการทำงานต่อไปในเมื่อพวกเขาก็เป็นทรัพยากรในการดูแลรักษาป่าที่ทรงคุณค่าด้วยเหมือนกัน" พี่อ่ำบอกกับเราด้วยความหวังหลังจากบอกเล่าถึงความลำบากของการทำงานเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามาจนถึงวันนี้


รำลึก สืบ นาคะเสถียร
"สำหรับตัวผม คุณสืบเป็นคนที่ยิ่งใหญ่มาก ผืนป่าที่เคยไม่มีใครเห็นค่า แต่ท่านเสียสละชีวิตให้คนอื่นๆ ภายนอกหันมาเห็นความสำคัญ"
สิทธิกร อินทร์ฉ่ำ ประธานอาสาสมัครพิทักษ์สัตว์โลกห้วยขาแข้ง


"รู้สึกดีใจและภูมิใจที่มีคนดีๆ อย่างนี้อยู่ในผืนแผ่นดินนี้ รู้สึกประทับใจในการเสียสละชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็เสียดายที่ต้องเสียคนดีๆ ไป"
กิตติยา อรุณรัตน์ นักศึกษาปี
3 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


"ในการจัดงาน คนที่มาก็ยังเป็นกลุ่มเดิม มันไม่น่าจะมีประโยชน์มากขึ้น ในเมื่อการลงพื้นที่เพียงวันเดียวคงไม่อาจทำให้คนซึมซับการอนุรักษ์ให้ยั่งยืนได้ แต่ก็ถือว่าเป็นการดีในแง่การรำลึก และรับฟังการต่อสู้ที่ผ่านมาเพื่อไปพัฒนาการทำงานต่อไป"
อาทิตย์ ชูสกุลธนชัย ผู้ร่วมโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม


ความคิดเห็นหลากหลายจากเยาวชนที่เข้าร่วมงาน "กิจกรรมรำลึก 17 ปี สืบนาคะเสถียร" เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมาซึ่งทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้จัดขึ้น พร้อมๆ กับการจัดค่ายเด็กและเยาวชนศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์


 



ขบวนเด็กๆ เดินทางศึกษาธรรมชาติ


ในวันเดียวกันนั้น นายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ปัญหาเงินเดือนที่ต่ำ และสวัสดิการที่ไม่เพียงพอ ว่าได้มีความพยายามแก้ปัญหาในส่วนนี้อยู่ โดยมีความคิดการจัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือสวัสดิการเจ้าหน้าที่ รวมถึงการเปิดพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวนั้น เงินรายได้จากการท่องเที่ยวน่าจะต้องถูกจัดสรรไปยังหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ลาดตระเวณพิทักษ์ป่าด้วย


นอกจากนี้นายเฉลิมศักดิ์ ยังกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งชาติ (แก้ไขจาก พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ พ.ศ.2535) และ ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ (แก้ไขจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504) ซึ่งอยู่ในขั้นขอความเห็น ยังไม่ได้ผ่าน ครม. ที่มีการคัดค้านข้อแก้ไขซึ่งเปิดช่องให้เอกชนสามารถเข้ามาขอสัมปทานการท่องเที่ยวในเขตอุทยาน ว่า ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับควรได้รับการพิจารณาในเนื้อหา ไม่ใช่การตั้งป้อมไม่รับแต่เพียงอย่างเดียว อีกทั้งการเปิดพื้นที่ก็จะต้องมีการจัดสรรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในเมื่อมีทรัพยากรในมือก็ไม่ควรปล่อยให้สูญเปล่า


สืบสานเจตนารมณ์รักษาป่า
ภายใต้การดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งดูแลนโยบายที่จะมีผลต่อทรัพยากรรวมถึงจัดโครงการร่วมรักษาผืนป่าตะวันตก ผืนป่าห้วยขาแข้งกว่า 1,737,587 ไร่ ยังคงอยู่ แต่การทำลายป่าและคร่าชีวิตสัตว์ป่าก็ยังคงมีอยู่เช่นกัน แต่ไม่ว่าผืนป่าผืนใด ตราบใดที่ทรัพยากรยังมีความสมบูรณ์ ความต้องการแสวงหาผลประโยชน์ก็ยังคงไม่จบสิ้น


การแก้ปัญหาการบุกรุกของกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์ในความคิดของ สืบ นาคะเสถียร เริ่มต้นด้วยการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าและสร้างแนวป่ากันชนขึ้นมาเพื่อกันชาวบ้านจากป่าโดยให้ไปหาประโยชน์จากป่าแนวกันชน ซึ่งข้อเสนอนี้ประสบผลหลังจากที่เขาได้จบชีวิตตัวเองลงและก่อให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ที่เข้มข้น มาจนทุกวันนี้


"รักษาป่า รักษาสัตว์ป่า รักษาคนด้วย ชุมชนต้องอยู่โดยปกติสุข เพื่อช่วยเป็นมือเป็นไม้ให้ดูแลผืนป่า สัตว์ป่าให้อยู่ได้ต่อไป" อาจารย์รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงแนวความคิดในการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าในปัจจุบันของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งมองการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าอย่างยืดหยุ่นมากกว่าการมองจากระบบราชการ มูลนิธิสืบฯ จึงทำหน้าที่ที่สำคัญอีกอันหนึ่ง คือการเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างป่าไม้และชุมชนในพื้นที่


ตามความคิดของอาจารย์รตยา การใช้สอยป่ากันชนที่มีรัศมี 5กม. ก่อนเข้าถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้นคล้ายกับการจัดการป่าชุมชน โดยป่าชุมชนควรอยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ภูเขาที่ยังเหลืออยู่ นอกจากนี้ป่าสงวนที่ยังเหลือ ชุมชนก็น่าจะใช้ประโยชน์ได้ ส่วนป่าสงวนที่ชุมชนดูแลอยู่แล้ว ควรให้ดูแลต่อไปแต่ไม่ให้เปิดพื้นที่ใหม่


"ถ้าเปิดอาจจะดี หรือหมดไปก็ได้ แต่เราไม่มีโอกาสทดลอง ควรเก็บไว้เป็นป่าผืนใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าให้รัฐเป็นผู้ดูแลฝ่ายเดียว" อาจารย์รตยากล่าวแสดงความคิดเห็น


"สืบนาคะเสถียร" ยืนก้าวขา มองเข้าไปในป่าใหญ่
ณ อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร รูปปั้นของนักอนุรักษ์แห่งประวัติศาสตร์ตั้งเด่นตระหง่านกลางลานกว้างโดยหันหน้าไปทางผืนป่า มีทางเดินเชื่อมสู่บ้านพักเมื่อครั้งสืบยังมีชีวิต เป็นบันได 8 ขั้น แทน 8 เดือนของการทำงาน ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งถูกทำเป็นลวดลายของกลีบกุหลาบ แต่ในความเป็นจริง การทำงานเพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่านั้น ทางเดินไม่ได้โรยไปด้วยดอกกุหลาบ แม้จะเป็นก่อนหรือหลังการเสียสละอันยิ่งใหญ่ อุปสรรคยังคงมีอยู่ให้ฝ่าฟันเสมอ


 


 


ทางเดินลายกลีบกุหลาบมุ่งสู่อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร


 


 


บ้านพัก สืบ นาคะเสถียร สถานที่แห่งลมหายใจห้วงสุดท้าย


"การเสียสละชีวิต ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ผู้มีอิทธิพลและคนที่จ้องแสวงหาผลประโยชน์หันมาช่วยกันรักษาผืนป่า การทำลายป่ายังไม่ถูกหยุด แต่ที่ทำได้คือป่าหมดลงทีละน้อย และค่อยๆ หมดไป" อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ เลขามูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าว


อาจารย์ศศินแสดงความเห็นต่อไปว่า ผืนป่าตะวันตกเป็นพื้นที่นิ่ง มีการกำหนดกรอบพื้นที่ภายนอกชัดเจน แต่ปัญหาก็คือการประกาศพื้นที่ป่าครอบในพื้นที่ของชาวบ้าน ทำให้การขยายชุมชนจากภายในส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่า อย่างไรก็ตาม ตัวการสำคัญของปัญหาในสายตาอาจารย์ศศิน ไม่ใช่ชาวบ้าน แต่เป็นโครงการพัฒนาของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเขื่อน ถนน หรือการออกกฎหมาย นอกจากนี้จำนวนคนทำงานที่ไม่เพียงพอ การศึกษาข้อมูลที่ไม่ดีพอ รวมไปถึงกลไกของกรมอุทยานที่ไม่แข็งแรงก็ล้วนแต่ก่อให้เกิดปัญหาต่อการอนุรักษ์ทรัพยากร


ในส่วนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ถือว่าเป็นองค์กรสาธารณะเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีชื่อ คนรู้จักมาก ทำให้เกิดการคาดหวังสูง แต่ในความคิดของอาจารย์หนุ่ม ด้วยคนทำงานและจำนวนเงินในการจัดการจริงๆ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรถือเป็นองค์กรเล็ก แต่ทุกคนพยายามทำงานอย่างเต็มที่โดยมุ่งหวังจะสร้างรูปแบบการจัดการป่าตะวันตกให้เป็นต้นแบบของการจัดการผืนป่าทั่วประเทศ แก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ให้ชุมชนใช้ประโยชน์จากป่าได้ในเชิงวนเกษตร แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรและเงินสนับสนุน


"ทำอย่างไรให้องค์กรสาธารณะของไทย ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชน"


"การทำบุญกับสิ่งแวดล้อมทำอย่างไรให้เท่าเทียมกับการศึกษา กับวิถีชีวิตรันทดโดนใจ"


อาจารย์ศศินพยายามสร้างคำถามระหว่างการพูดคุยเพื่อหาทางออกให้กับการดำเนินการขององค์กรสาธารณะ แต่ปัญหาน่าวิตกข้อหนึ่งซึ่งไม่ควรมองข้ามที่อาจารย์หนุ่มหวั่นเกรงก็คือการสร้างพลังในการขับเคลื่อนจากคนในรุ่นต่อๆ ไป


 



ฟ้ายามย่ำค่ำกับความหมายแห่งการยืนหยัด


สืบ นาคะเสถียร ได้สร้างความสั่นสะเทือนเมื่อ 17 ปีก่อน จนเป็นรากฐานให้การอนุรักษ์มีอนาคตในทุกวันนี้ แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าในอนาคตข้างหน้า อิทธิพล และความศรัทธาจะเพียงพอให้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติดำเนินต่อไปได้หรือไม่ และจะเป็นไปในทิศทางใด


นี่คงเป็นข้อจำกัดของการสร้างต้นแบบโดยใช้ชื่อ สืบ นาคะเสถียร มาเป็นจุดขาย


การชูความเป็นนักอนุรักษ์ ผู้รักป่าไม้ สัตว์ป่า และธรรมชาติ ด้วยกาย วาจา ใจ ของเขาจนยอมเสียสละชีวิตเพื่อรักษาไว้ซึ่งอุดมกาณ์ทางความคิด คงไม่สามารถใช้ได้ตลอดไป


เมื่อโลกหมุน และยุคสมัยเปลี่ยนแปลง ตำนานของนักอนุรักษ์รุ่นใหม่คงต้องเริ่มต้นขึ้น... ตามแนวทางและวิธีการที่เป็นของพวกเขาเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net