Skip to main content
sharethis

ระหว่างวันที่ 17 - 18 ก.ย.50 สมาชิกสมัชชาคนจนจากเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด จากจังหวัดพัทลุงและจังหวัดตรัง เครือข่ายป่าชุมชนภาคใต้ จากจังหวัดกระบี่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราชกว่า 700 คน ได้ปิดถนนข้างศาลากลางจังหวัดพัทลุง ชุมนุมประท้วงกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า เข้าไปตัดโค่นทำลายสวนยางพาราของชาวบ้านริมเทือกเขาบรรทัด ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สิทธิ ในพื้นที่ตำบลตะแพน อำเภอศรีบรรพต และตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ รวม 13 ราย คิดเป็นพื้นที่ 54 ไร่ โดยอยู่ระหว่างปักป้ายตรวจยึดอีก 21 ไร่ นอกจากนี้ มีชาวบ้านตำบลบ้านนา 4 ราย ที่ถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่ง มีการปักป้ายแสดงคำสั่งศาลให้ชดใช้ค่าเสียหายรวม 13,750,000 บาท


 


สำหรับการเจรจา เมื่อวันที่ 17 ก.ย.50 ซึ่งเป็นการเจรจานัดแรก สามารถตกลงกันได้เพียงข้อเดียว โดยทางจังหวัดรับว่า จะส่งคืนเอกสาร สค. 1 ที่เจ้าหน้าที่เรียกเก็บไปจากชาวบ้าน โดยอ้างว่าจะนำไปออกโฉนดที่ดิน ภายในวันที่ 10 ต.ค. 50


 


ต่อมา เวลาประมาณ 09.00 น. วันที่ 18 ก.ย.50 จึงมีการนัดเจรจากันต่อ ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารศาลากลางจังหวัดพัทลุง มีนายพินิจ เจริญพานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธาน โดยมีหัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเข้าร่วมประชุมกับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านทั้ง 13 ราย ตลอดทั้งวัน


 


นายพินิจ ระบุต่อที่ประชุมว่า ตนจะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับจากที่ประชุมไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง จากนั้นจะนำผลการหารือมาแจ้งต่อผู้ชุมนุม ในวันที่ 19 ก.ย.50


 


นายบุญ แซ่จุ่ง แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม กล่าวว่า จะยังคงปักหลักชุมนุมกันต่อไป จนกว่าปัญหาของชาวบ้านจะได้รับการแก้ไข ถึงแม้ผู้ชุมนุมยอมกลับบ้านก็นอนไม่หลับ เพราะผวาอยู่ตลอดเวลาว่า เมื่อไรเจ้าหน้าที่จะเข้าตัดโค่นทำลายต้นยาง หรือมาปักป้ายยึดทรัพย์สินในที่ดินทำกิน จึงจะขออยู่ต่อ จนกว่าจะได้รับการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่กลับบ้านแล้วทุกอย่างเหมือนเดิม การต่อสู้ของชาวบ้านก็จะสูญเปล่า


 


ส่วนบรรยากาศในที่ชุมนุมประท้วง ยังคงมีแกนนำผลัดกันขึ้นปราศรัยสลับการเล่นดนตรีเพื่อชีวิตขับกล่อมผู้ชุมนุม และมีการจัดนิทรรศการ แสดงข้อมูลที่ชาวบ้าน 13 ราย ถูกดำเนินคดีอาญา ถูกปักป้ายยึดทรัพย์ และตัดโค่นทำลายต้นยางด้วย


 


ทั้งนี้ ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยื่นหนังสือถึงนายสุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ขอให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรรวม 9 ข้อ ประกอบด้วย ให้ยุติการดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ต่อสมาชิกเครือข่าย ให้ยกเลิกหนี้ที่เกิดจากการบังคับคดีทุกราย ให้ยุติการทำลายทรัพย์สิน ข่มขู่ คุกคาม ตรวจยึดพื้นที่ ที่ทำกินเดิมของสมาชิกเครือข่าย ให้สมาชิกเครือข่าย ที่ประสบปัญหาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่เป็นธรรมทุกกรณี สามารถทำกินได้ตามวิถีชีวิตปกติ เช่น กรณีถูกปักป้ายตรวจยึด กรณีมีคำสั่งของอุทยานฯ ให้รื้อทำลาย กรณีถูกทำลายอาสินแล้ว กรณีถูกดำเนินคดีอาญาแล้วอุทยานฯ ใช้อำนาจศาลให้ชดใช้เป็นหนี้สินอยู่ระหว่างศาลพิจารณา กรณีถูกตรวจยึดดำเนินคดีอาญาแล้วอุทยานฯ ใช้อำนาจศาลตัดสินให้ชดใช้เป็นหนี้สินแล้ว เป็นต้น


 


ให้สามารถโค่นยางพาราที่หมดสภาพให้ผลผลิตน้ำยาง และสามารถปลูกใหม่ทดแทน,ให้กองทุนสงเคราะห์สวนยางสนับสนุนงบประมาณ ตามระเบียบที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมา, ให้ยุติการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.41 ให้กำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหา ตามแผนการจัดการทรัพยากรฯ โดยองค์กรชุมชน ตามที่เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด สมาชิกสมัชชาคนจนเสนอ และหากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ ให้ประสานงานกับองค์กรสมาชิก สมัชชาคนจน ตามข้อตกลง ข้อที่ 5 วันที่ 28 พ.ค.50 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net