Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 50 เวลา 14.00 น. 3 องค์กรสิทธิมนุษยชน นำโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) ร่วมกันแถลงข่าว เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร ในหัวข้อ "ข้อเสนอต่อการเมืองไทย เนื่องในครบรอบ 1 ปีการรัฐประหาร" ณ ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา (ด้านหลัง) สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน


 


นายเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานครส. กล่าวถึงข้อเสนอที่มีต่อ 3 ภาคส่วน คือ คือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ รัฐบาลเฉพาะกาล และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไว้ดังนี้


 


 


ข้อเสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)


ครส. มีข้อเสนอต่อคมช.ว่า ให้พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ยุติบทบาททันที โดยลาออกจากตำแหน่งตามที่เคยให้สัตย์ไว้ว่าจะอยู่ในอำนาจเพียง 1 ปี เพื่อไม่ให้มีการสืบทอดอำนาจโดยอาศัยบทเฉพาะการตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นที่ครหาว่าอาจใช้ในการสืบทอดอำนาจ และมีผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง


 


นอกจากนี้ สมาชิกใน คมช. ควรยุติบทบาททางการเมืองอย่างน้อย 5 ปี เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง และเรียกร้องให้ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ เร่งนำกองทัพกลับสู่กรมกองเดิม ยุติบทบาท "ทหารนำการเมือง" กลับคืนสู่ "ทหารอาชีพ" เพื่อทำหน้าที่ที่แท้จริงต่อไป


 


 


ข้อเสนอต่อ รัฐบาลเฉพาะกาล


ในแถงการณ์ระบุว่า ภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นั้น ให้ยุติการผลักดันนโยบายและกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพหรือส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนในทางลบ โดยควรมีหน้าที่เพียงอำนวยการสถานการณ์ และหน่วยงานของรัฐ ไปสู่ความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งที่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม ปฏิรูปหน่วยงานของรัฐเพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคตในระบบธรรมาภิบาลที่ดี อีกทั้งให้ยกเลิกกฎอัยการศึกใน 27 จังหวัดที่เหลืออยู่ เพราะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ไม่อาจทำให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมได้ภายใต้บรรยากาศการควบคุมโดยทหาร ตามข้อห่วงใยของนานาชาติที่ต้องการเข้ามาสังเกตการณ์


 


นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุติการพิจารณากฎหมายที่ขัดต่อการกระจายอำนาจและการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย อาทิ กฎหมายที่ให้มีการต่ออายุกำนันผู้ใหญ่บ้านถึง 60 ปี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ยุติการผลักดัน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ และร่างกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ ที่ให้อำนาจรัฐนำรัฐวิสาหกิจมาเปลี่ยนสภาพเพื่อการกระจายหุ้นแก่เอกชน อันเป็นการขายสมบัติสาธารณะของชาติ


 


 


ข้อเสนอต่อพรรคการเมือง


จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 23 ธ.ค.50 ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ย้อนถอยหลังกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งก่อนปี 2540 ซึ่งทำให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค จนมีบทเรียนการยุบสภาหลายครั้ง ดังนั้นพรรคการเมืองจะต้องร่วมกันสรุปบทเรียน สร้างรัฐบาลผสมที่เข้มแข็ง เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่ต่อเนื่องต่อไป


 


นายเมธา เรียกร้องให้พรรคการเมืองมีการแข่งขันทางอุดมการณ์และนโยบายให้มากขึ้น แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่เอื้ออำนวย เพื่อให้ประชาชนเลือกพรรคที่อุดมการณ์ทางการเมืองและนโยบายของพรรค ไม่ใช่การเน้นที่ตัวบุคคล ผู้สมัคร หรือหัวหน้าพรรค


 


ในส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรส่งเสริมให้ประชาชนและองค์การระหว่างประเทศมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อร่วมกันจับตาอำนาจทุนซึ่งจะมีบทบาทในสนามเลือกตั้งอย่างดุเดือดรุนแรงขึ้น รวมถึงอำนาจรัฐซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งกำลังอนุญาตให้ราชการดำเนินการเพื่อขนส่งประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ซึ่งอาจมีการใช้กลไกนี้เอื้อผลประโยชน์ให้กับบางกลุ่มผลประโยชน์ที่อิงแอบอำนาจรัฐได้


 


ด้านนายสุเทพ วิไลเลิศ ผู้ประสานงานโครงการยุทธศาสตร์สื่อเพื่อเด็ก ตัวแทนคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวถึงกฎหมายด้านสื่อที่เป็นผลพวงจาก 1 ปีหลังการรัฐประหาร 8 ฉบับ คือ 1.พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา) 2.ร่าง พ.ร.บ.องค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.... อยู่ในขั้นของกรรมาธิการวาระสอง 3.ร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.... อยู่ในวาระของคณะรัฐมนตรี


 


4.ร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.... ผ่านการพิจารณาของ สนช.เมื่อ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา 5.ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ.... 6.ร่าง พ...ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ..... 7.ร่าง พ...องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 (ฉบับแก้ไข) 8.ร่าง พ...กองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ พ.....


 


ซึ่งกฎหมาย 8 ฉบับดังกล่าว ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของภาคประชาชนในประเด็นการใช้อำนาจของการควบคุมสื่อในนามของความมั่นคงและศีลธรรมอันดี และการใช้อำนาจรัฐในการกำหนดโครงสร้างสื่อที่สำคัญ


 


นายสุเทพกล่าวถึงข้อเสนอของ คปส. ว่า มีข้อเสนอต่อกองทัพและคมช. 2 ข้อ คือ 1.ยุติการคุกคามต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนในทุกรูปแบบ รวมถึงยกเลิกการประกาศพื้นที่กฎอัยการศึกโดยเร่งด่วน และ 2.ให้กองทัพในฐานะหน่วยงานของรัฐแสดงเจตจำนงในการคืนคลื่นความถี่วิทยุและวิทยุโทรทัศน์ที่ถือครองทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยวิทยุ 201 สถานี และสถานีวิทยุโทรทัศน์ 2 สถานี เพื่อให้เกิดการปฏิรูปสื่อโดยภาครัฐ


 


ส่วนข้อเสนอต่อรัฐบาลเฉพาะกาลและสนช. ในฐานะกลไกการออกกฎหมาย ขอให้ยุติกระบวนการพิจารณาและออกกฎหมายสื่อทุกฉบับที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชน โดยเฉพาะในร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ.... และร่าง พ...องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 (ฉบับแก้ไข) เพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณา และเป็นการเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตย


 


ข้อเสนอสุดท้าย นายสุเทพ เรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงกรณีการจับกุมตัวผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 2 ราย ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ไม่เช่นนั้นแล้วจะถือว่ารัฐบาลได้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการละเมิดสิทธิความเป็นพลเมืองของภาคประชาชน


 


ส่วนนายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) นำเสนอข้อสรุปต่อบทเรียน 1 ปี การรัฐประหารของคมช.ว่า เป็นความล้มเหลวในการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งพิสูจน์บทสรุปในการแต่งตั้งบุคคลไร้ความสามารถเข้ามาทำงาน และบริหารประเทศภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตย โดยกลุ่มนายทหารและข้าราชการเก่า ไม่สามารถบริหารประเทศให้รอดจากวิกฤติได้ อีกทั้งรัฐบาลเฉพาะกาลที่แต่งตั้งขึ้นมาไม่ได้ใส่ใจต่อปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน โดยยกตัวอย่างกรณีปัญหาของชาวบ้านปากมูน และกลุ่มแรงงาน รวมถึงการละเลยต่อปัญหาสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นในกรณีผู้ลี้ภัยชาวม้งที่จังหวัดหนองคาย และกรณีปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


บทเรียนข้อต่อมาที่นายวรภัทร ได้กล่าวถึง คือ ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในคณะผู้ก่อการรัฐประหาร พวกพ้องซึ่งได้รับการแต่งตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาลและในรัฐวิสาหกิจ โดยงบประมาณทางทหารที่มากขึ้นและงบลับทางการทหารยังไม่ได้รับการตรวจสอบ รวมถึงความผิดของนายกรัฐมนตรีกรณีที่ดินบนเขายายเที่ยง ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องไม่เคยแสดงความบริสุทธิ์ใจตอบคำถามต่อสังคม


 


นอกจากนี้นายวรภัทรได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า มุ่งการลดอำนาจนักการเมือง แต่ขณะเดียวกัน คือการเจตนาฉกฉวยลดอำนาจประชาชนไปในตัวเอง ตัดทอนอำนาจที่นักการเมืองสมควรยึดโยงกับประชาชนตามหลักการประชาธิปไตยสากล และยังสร้างความอ่อนแอให้ระบบพรรคการเมือง โดยเพิ่มอำนาจให้ตุลาการและองค์กรอิสระซึ่งขาดความยึดโยงกับประชาชน นำไปสู่ภาวะที่ฝ่ายการเมืองถูกควบคุมอำนาจโดยฝ่ายตุลาการ และ 3 อำนาจอธิปไตยไขว้กันไปมาจนขาดดุล


 


"ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) เห็นว่า การรัฐประหารครั้งนี้ ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการปฏิรูปการเมืองดังที่ได้ให้สัญญาไว้ และเป็นการพิสูจน์ได้ว่า ไม่มีการรัฐประหารครั้งใดที่สามารถนำสังคมไปสู่ทิศทางที่ดีกว่าเดิมได้จริง ไม่มีการรัฐประหารครั้งใดที่ผู้เกี่ยวข้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการรัฐประหาร และการรัฐประหารครั้งนี้อาจจะต้องถูกเรียกว่าเป็นการปฏิวัติถอยหลังเพื่อย้อนกลับไปสู่ระบอบอำมาตยาธิปไตย หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ" นายวรภัทรกล่าว


 


ในส่วนข้อเสนอครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร ตัวแทนศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ คมช. หยุดสืบทอดอำนาจ โดยการลาออกจากตำแหน่งในทันที เพื่อยุติบทบาทของ คมช. และหยุดฉวยโอกาสคงอำนาจต่อไป ตามมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 และขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและการออกกฎหมาย พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายใน ซึ่งเป็นการต่อท่ออำนาจระบอบกองทัพในอนาคต เพื่อแสดงความจริงใจต่อประชาชนและจิตใจทหารอาชีพเป็นครั้งสุดท้าย

เอกสารประกอบ

แถลงการณ์โดย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

แถลงการณ์โดย ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net