Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 เวลา 09.40 น. จ.ขอนแก่น กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.), เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน, สหพันธ์เยาวชนอีสาน (สยส.) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาอีสาน(สนน.อ.)ได้ชุมนุมกันเพื่อกล่าวปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงและแจกแถลงการณ์บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาการวิพากษ์วิจารณ์คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติและกลไกรัฐต่างๆที่ถูกกำหนดขึ้นโดยคณะรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 โดยมีนักศึกษาประชาชนร่วมชุมนุมประมาณ 80คน


นายไสว มาลัย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ได้กล่าวปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ ศูนย์ขจัดปัญหาความยากจนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ซึ่งเป็นกลไกการทำงานในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในกรณีพิพาทระหว่างประชาชนกับรัฐ ที่ผ่านมาเกือบ 1 ปีมีแต่เวทีประชุมเจรจาให้ความหวังและให้คำหวานกับพี่น้องประชาชนที่ประสบความเดือดร้อน แต่ไม่สามารถส่งผลในทางปฏิบัติได้ ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐในระดับท้องถิ่นก็ใช้อำนาจเร่งรัดดำเนินคดีต่อประชาชนที่มีปัญหาเกิดกรณีพิพาทเรื่อที่ทำกินกับหน่วยงานรัฐ


น.ส.ปิยะพรรณ บรรจง นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น กรรมการบริหาร สนน.อ.ได้กล่าวปราศรัยว่า แนวคิดของ คมช.คณะรัฐมนตรีและ สภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ได้มีความแตกต่างจากแนวคิดของรัฐบาลไทยรักไทยแต่อย่างใดในเรื่องการแปรรูปมหาวิทยาลัยให้เป็นบริษัทเอกชนที่ผลิตวิชาความรู้เป็นสินค้าที่รับใช้ระบบทุนนิยม ผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงวิชาความรู้ในระดับปริญญา ลูกหลานของคนยากคนจนจะหมดโอกาสลงรัฐผลักภาระให้กับประชาชนในด้านการศึกษา ภาษีที่รัฐได้รับจากประชาชนจะถูกนำไปใช้ในด้านอื่นเพื่อตอบสนองความต้องการของคณะรัฐประหารเอง


นายเลื่อน ศรีสุโพธิ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานและกลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน กล่าวว่าปรากฏการณ์ ๑ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ว่า เหตุผลต่างๆ ที่ คมช.ใช้ในการทำรัฐประหารเป็นสิ่งหลอกลวงประชาชนทั้งสิ้น และในขณะที่ คมช.โหมโฆษณาเรื่องสิทธิและความเป็นประชาธิปไตยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่กลับมีการออกกฏหมายของอภิสิทธิชนที่เป็นเผด็จการไม่เข้าใจสภาพปัญหาของคนยากจนนับร้อยฉบับ ส่วนใหญ่แล้วเป็นกฏหมายที่ละเมิดสิทธิและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั้งสิ้น เช่น พรบ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (มหาวิทยาลัยนอกระบบ)  พรบ.ความมั่นคงฯ พรบ.ป่าชุมชน นอกจากนี้ยังประกาศพื้นที่กฎอัยการศึกเพิ่มในพื้นที่ จ.นครพนม จ.มุกดาหารและจ.หนองคาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เสียงไม่รับประชามติสูงเป็นที่ 1 ,2 และ 4 ของภาคอีสาน


เวลา 11:20 น.ผู้ชุมนุมจึงได้เข้ายื่นข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีข้อเรียกร้องให้ ยกเลิกกฏอัยการศึกในทุกจังหวัด, ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติบทบาทและขอให้ทหารทุกคนกลับเข้ากรมกองทันทีเพื่อให้การเลือกตั้งที่มีขึ้นเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม


การยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวได้มี นายสุนทร สิริภักดิ์ ปลัดจังหวัดได้ลงมารับฟังและรับข้อเรียกร้องแทนโดยให้ให้เหตุผลว่าผู้ว่าฯไปราชการต่างพื้นที่ หลังการยื่นหนังสือแล้ว เวลา 11:40 น.การชุมนุมจึงได้ยุติโดยสงบ


ภายหลังการยุติการชุมนุม นายพิชิต พิทักษ์ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมได้กล่าวถึงจังหวะก้าวต่อไปว่าทางกลุ่มจะทำการรณรงค์กับ ประชาชนในภาคอีสาน เพื่อล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อ เตรียมการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและแก้ไขกฎหมายเผด็จการรวมทั้งผลักดันให้เกิดสัญญาประชาคมกับพรรคการเมือง เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็น ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด, เลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว, ให้มีการลงคะแนนแบบปาร์ตี้ลิสต์เพื่อให้เกิดการแข่งขันเชิงนโยบาย, ให้นำระบบรัฐสวัสดิการและการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า, ภาษีมรดกและแนวทางการจำกัดการถือครองที่ดินมาใช้  


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net