บทความ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช : พระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็น "ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ"

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช


คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

ความนำ

ผมอ่านบทความของอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์เรื่อง "ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" โดยอาจารย์ใจ ตั้งคำถาม (ที่สังคมไทยอ้อมค้อมมาโดยตลอดนับแต่วันที่ 19 กันยายน [1] กับปาฐกถาของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ธรรมศาสตร์ และบทความของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเรื่อง "ถอดรหัสนิธิ : "ชนชั้นนำ" ลงมาเล่นงานทักษิณ เป็นเรื่องดี" เเล้ว ผมคิดว่า ประเด็นหนึ่งที่น่าทำความเข้าใจหรืออภิปรายทางวิชาการอย่างลุ่มลึกต่อไปในอนาคตก็คือเรื่อง "บทบาทของพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็น "ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ"" ว่ามีความหมายอย่างไร ซึ่งมีประเด็นที่อยากนำเสนอดังนี้

 

 

1. รัฐธรรมนูญต่างประเทศ

            รัฐธรรมนูญของบางประเทศที่ปกครองเเบบ Constitutional monarchy บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเป็น "ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" (รัฐธรรมนูญของเเต่ละประเทศใช้ถ้อยคำเเตกต่างกันไปเช่น Protector หรือ Guardian หรือ Safeguards of Constitution) หรือรัฐธรรมนูญอาจบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ต้องปฎิญาณหรือสาบานตน (Oath) ก่อนเสวยราชย์สมบัติว่า ทรง "มีหน้าที่ต้องปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญ" รวมถึง "การเคารพ (หรือพิทักษ์) สิทธิของประชาชน" เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศสเปน [2] เบลเยี่ยม [3] นอร์เวย์ [4] ฎูฎาน [5] บาร์เรน [6]

           

            นอกจากพระมหากษัตริย์จะทรงอยู่ในฐานะเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญเเล้ว รัฐธรรมนูญของบางประเทศยังกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศกัมพูชาบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน [7] รวมทั้งรัฐธรรมนูญของประเทศบาร์เรน [8]

 

            ความหมายของคำว่าพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็น "ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" นั้นหมายความว่า พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐทรงมีหน้าที่ปกป้องมิให้มีการละเมิดรัฐธรรมนูญ หากมีการละเมิดด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ถูกต้องตามวิถีทางเเห่งรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น อาจารย์หยุด เเสงอุทัย กล่าวว่า พระมหากษัตริย์อาจใช้การปฎิเสธที่จะพระราชทานพระปรมาภิไธย ยังผลให้การกระทำนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้ [9]

 

 

2. รัชกาลที่ 7 กับแนวความคิดเรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

            หากมองย้อนทางประวัติศาสตร์ รัชกาลที่ 7 ก็เคยมีปรารภเกี่ยวกับการที่พระองค์ปฎิเสธที่จะทรงลงพระปรมาภิไธยหากมีการล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือทำรัฐประหาร ดังนี้

 

            "พระยาพหลฯ กราบบังคมทูลว่า การทรงพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญนั้น จะทรงทำอย่างไร พระปกเกล้าฯ รับสั่งว่า ถ้ารัฐบาลเสนอเรื่องใดที่ขัดรัฐธรรมนูญ พระองค์ก็ส่งกลับคืนไปโดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ พระยาพหลฯ กราบทูลต่อไปว่า คณะราษฎรเป็นห่วงว่า นายทหารที่ถูกปลดกองหนุนไปจะคิดล้มล้างรัฐบาลขึ้นมาแล้วจะทูลเกล้าถวายรัฐธรรมนูญใหม่ของเขาให้ทรงลงพระปรมาภิไธย จะโปรดเกล้าฯอย่างไร รับสั่งว่า พระองค์จะถือว่าพวกนั้นเป็นกบฏ และในฐานะจอมทัพ พระองค์ถือว่า พวกนั้นเป็นราชศัตรูที่ขัดพระบรมราชโองการ ถ้าพวกนั้นจะบังคับให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ก็จะทรงสละราชย์สมบัติให้พวกเขาหาเจ้านายองค์อื่นลงพระปรมาภิไธยให้" [10]

 

            จากข้อความข้างต้น อาจเข้าใจได้ว่า การปฎิเสธที่จะลงพระปรมาภิไธยหากมีการล้มล้างรัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์นั้น เป็นการปฎิบัติหน้าที่ในฐานะที่พระมหากษัตริย์ทรงดำรงฐานะเป็น "ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" ซึ่งพระองค์ได้ให้สัตย์ปฎิญาณเเล้วว่าจะทรงรักษาหรือปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเเละปกป้องรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยใช้การสละราชย์สมบัติ (Abdication) เป็นวิธีการจัดการกับพวกที่จะมาล้มล้างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้เเล้ว รัฐธรรมนูญในระบอบ Constitutional monarchy มักจะบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็น "ประมุขของรัฐ" (Head of State) ทรงดำรงตำเเหน่งเป็น "จอมทัพ" (Commander-in -Chef หรือ Supreme Commander) อีกด้วย ซึ่งพระองค์สามารถใช้ตำเเหน่งนี้สั่งให้พวกรัฐประหารกลับเข้ากรมกอง (return to the barrack) อย่างที่กษัตริย์ ฆวน คาร์ลอส ของประเทศสเปนเคยทำมาเเล้วได้ หรือท่าน ดร. ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการเเทนพระองค์ก็เคยอ้างตำเเหน่ง "จอมทัพ" ปฎิเสธที่จะไปรายงานตัวกับนายกรัฐมนตรี คือจอมพลป. พิบูลสงครามมาเเล้ว โดย ดร. ปรีดี พนมยงค์เห็นว่า    ตำเเหน่งจอมทัพของพระมหากษัตริย์นั้นเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งสามเหล่าทัพ [11]

 

 

3. รัฐธรรมนูญของไทยกับ "บทบาทของพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็น "ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" "

            ปัญหาที่ว่ารัฐธรรมนูญควรบัญญัติหรือไม่ ว่าพระมหากษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์ รัฐธรรมนูญ เป็นประเด็นที่ถกเถียงนานมาแล้ว หรือตั้งแต่สมัยปฎิวัติ 24 มิถุนายน 2475 สำเร็จลงได้ไม่นาน โดยรัชกาลที่ 7 ทรงเห็นว่า ไม่จำเป็น เพราะว่าเป็น "ราชประเพณี" อยู่แล้ว แต่สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านเห็นว่า ควรระบุว่าจะต้องปฎิญาณไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ปรากฎว่ามีการลงมติด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 7 โดยเสียงข้างมากในสภามีมติไม่ต้องบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงจะต้องปฎิญาณว่า "จะทรงพิทักษ์รัฐธรรมนูญ" [12]  นับแต่นั้นมา รัฐธรรมนูญของไทยก็ไม่เคยมีบทบัญญัติหรือเป็นประเด็นให้ถกเถียงเรื่องการปฎิญาณที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญอีกเลย

 

            อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่า ในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 นั้น มีข้อความตอนหนึ่งอยู่ในตอนท้ายของอารัมภบทซึ่งกล่าวว่า "ขอให้พระบรมวงศ์ศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน ทวยอาณาประชาราษฎร จงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันจะรักษาปฎิบัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามนี้ …." ในขณะที่ รัฐธรรมนูญ 2540 กล่าวว่า "ขอปวงชนชาวไทยจงร่วมจิตร่วมใจสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันที่จะปฎิบัติตามและพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ …" การเปลี่ยนจากคำว่า "บรมวงศ์ศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน" มาใช้คำว่า "ปวงชนชาวไทย" แทนนั้น เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2489 แต่รัฐธรรมนูญปี 2489 ใช้คำว่า "อาณาประชาราษฎร"

 

 

4. รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กับสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชน

            รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 [13] และ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน [14] รับรองว่าประชาชนมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งการเขียนสิทธิดังกล่าวแก่ประชาชนไม่มีประโยชน์ในทางความเป็นจริง รัฐประหาร 19 กันยายนเป็นพยานที่ดีที่สุดที่ประชาชนไม่สามารถอ้างสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ 2540 ได้

 

            สงสัยอยู่ว่า หากในอนาคตเกิดรัฐประหารอีก ใครหนอจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ???

 

.......................


[1] ส่วนถ้าใครอยากรู้ว่า อาจารย์ใจตั้งคำถามว่าอย่างไรโปรดอ่านหน้า 14- 17

[2] Article 61 [ว่าด้วยการสาบานตน, Oath] บัญญัติว่า "The King, on being proclaimed before the Parliament, will swear to faithfully carry out his functions, to obey the Constitution and the laws and ensure that they are obeyed, and to respect the rights of citizens …

[3] Article 91 (2) บัญญัติว่า The King may accede to the throne only after having taken the following oath before the united Houses: "I swear to observe the Constitution (ข้าพเจ้าจะปฎิบัติตามหรือรักษารัฐธรรมนูญ)

[4] มาตรา 9 บัญญัติว่า I promise and swear that I will govern the Kingdom of Norway in accordance with its Constitution and Laws (ข้าพเจ้าให้สัญญาเเละสาบานว่าข้าพเจ้าจะครองอาณาจักรนอร์เวย์ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเเละกฎหมายของประเทศนอร์เวย์)

[5] ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา2 (18) ปีคศ 2005

[6] มาตรา 33 บัญญัติว่า "The King safeguards the legitimacy of the government and the supremacy of the constitution and the law…."

[7] มาตรา 8 บัญญัติว่า "The King is ….the protector of rights and freedom for all citizens, …".

[8] มาตรา 33 บัญญัติว่า "The King ……. cares for the rights and freedoms of individuals…"

[9] โปรดดูหยุด เเสงอุทัย, คำอธิบายรับธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย (.. 2511) เรียงมาตรา, (โรงพิมพ์กรุงสยามการพิพม์ , 2511),หน้า 40

[10] โปรดดูปรีดี พนมยงค์ , จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม, ใน ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526), หน้า 440

[11] โปรดดู

[12] โปรดดูรายละเอียดใน ชาญวิทย์และธำรงศักดิ์, ปฎิวัติ 2475 (กทม.: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547), หน้า 208-210

[13] มาตรา 65

[14] มาตรา 68 และ 69

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท