Silence of the Lamp: ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นกรณีจับคนที่ตำรวจคิดว่าคือ "พระยาพิชัย" และ "ท่อนจัน"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประวิตร โรจนพฤกษ์

กรณีการบุกจับคนที่ทางการเชื่อว่าเป็นผู้ที่ใช้นามแฝงทางอินเทอร์เน็ตว่า "พระยาพิชัย" และ "ท่อนจัน" เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ด้วยข้อหาว่า บุคคลสองคนนี้เขียนข้อความวิพากษ์และบริภาษสถาบันกษัตริย์ ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าตกใจยิ่ง ถึงแม้สื่อไทยเกือบทั้งหมด ยกเว้นประชาไท (และหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น) ได้รายงานไปบ้าง แต่สื่อส่วนใหญ่กลับเงียบกริบ มิสนใจแม้จะรายงานเป็นข่าวสั้นๆ

เหตุการณ์เกี่ยวกับสองคนนี้มีลักษณะที่น่าสนใจและสำคัญ ก่อให้เกิดคำถามที่คนที่เป็นห่วงเป็นใยเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและบทบาทของสถาบันสูงสุด รวมถึงทางการ ควรขบคิดอยู่หลายประเด็น เช่น

1.ทำไมต้องบุกจับคนทั้งสองดั่งเป็น "ผู้ก่อการร้าย" (terrorist) โดยเท่าที่ได้รับทราบข้อมูลมา ตำรวจประมาณ 20 นาย บุกเข้าล็อคตัวคนที่ตำรวจคิดว่าเป็น "พระยาพิชัย" และ "ท่อนจัน" อย่างมิทันได้ตั้งตัว กรณีคนที่ตำรวจคิดว่าเป็น "ท่อนจัน" เท่าที่ทราบ โดนล็อคตัวตอนเช้าระหว่างกำลังหลับ ส่วน "พระยาพิชัย" โดนจับคาจอคอมพิวเตอร์ในอพาร์ทเมนต์แถวพญาไท

2.ทำไมเขาทั้งสองซึ่งตอนนี้ได้รับการประกันตัวไปเมื่อไม่นานนี้ ถึงไม่ยอมพูดกับนักข่าวฉบับใดเลย 

3.ทำไมจึงมีข่าวว่า มีคนที่น่าจะเป็นคนนอกไม่ใช่คนในครอบครัวของ "ท่อนจัน" และน่าจะเป็นคนของรัฐให้เงินค่าประกันตัวแก่ครอบครัว "ท่อนจัน"

4.ทำไมวันพุธที่ผ่านมา (19 ก.ย.) ตอนที่สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ไปยื่นจดหมายต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงไม่มีนักข่าวฉบับใดไปทำข่าว ยกเว้นประชาไท และทำไมสื่อส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจึงไม่รายงานเรื่องนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นก่อนหน้านี้หรือปัจจุบันนี้

5.ทำไมรัฐถึงได้ปฏิเสธในเบื้องต้นว่าไม่มีการจับกุมใครในเรื่องนี้ (ดู ข่าวเดอะเนชั่น 6 ก.ย.)     

คำถามที่สำคัญก็คือว่า ทำไมรัฐถึงกระทำกับสองคนนี้ด้วยวิธีดังกล่าว

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า วิธีการจับกุมแบบจู่โจมสายฟ้าแลบโดย "ผู้ต้องหา" ไม่ทันตั้งตัว คงมีผลทำให้คนสองคนนี้รู้สึกช็อคไม่มากก็น้อย (แหล่งข่าวที่พอเชื่อถือได้รายงานว่าในกรณี "พระยาพิชัย" นั้น  "พระยาพิชัย" ไม่ได้รับสิทธิในการติดต่อญาติพี่น้อง และญาติพี่น้องก็มิได้รับแจ้งจากทางการเป็นเวลาหลายวัน)

การปฏิบัติเช่นนี้ต่อผู้ต้องหา น่าจะมีผลทางจิตวิทยาทำให้คนเหล่านี้เข็ดหลาบไม่กล้าแสดงออกทางอินเทอร์เนตอีกต่อไป (โดยเฉพาะหากสังคมมิได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นหรือไม่เป็นข่าว) หากเรื่องนี้มิได้ถูกปูดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ไฟแนนซ์เชียลไทมส์ของลอนดอน หน้าหนึ่ง ฉบับวันที่ 1 ก.ย. (ดูข่าว) สาธารณะไทยอาจไม่มีวันรู้เลยด้วยซ้ำไปว่า เกิดอะไรขึ้นกับคนสองคนนี้ จึงถือได้ว่า หากแผนการนี้ทำได้สำเร็จอย่างเงียบๆ ก็จะเป็นการตัดตอนกลุ่มบุคคลที่วิจารณ์หรือแม้กระทั่งด่าเจ้าไปทีละคนสองคน เพราะว่าหากแผนการจับนี้มิได้เป็นข่าวไปสู่สาธารณะ คนสองคนนี้อาจยุติการเขียนข้อความต่อต้านสถาบันไปอย่างเงียบๆ แล้วคนอื่นๆ ที่รู้จักสองคนนี้ผ่านโลกอินเทอร์เนตอาจนึกว่า พวกเขา "กลับใจ" แล้วก็ได้

ข้อสันนิษฐานอีกอันหนึ่งได้แก่ สภาพที่ดูเสมือนว่า ผู้มีอำนาจและทางการอยู่ในภาวะไม่มั่นคงหรือแม้กระทั่งวิตกจริตต่อคำวิพากษ์วิจารณ์และความเห็นที่เป็นทางลบต่อสถาบันอย่างมาก จึงต้องใช้กฎหมายต่างๆ รวมถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์และแม้กระทั่งวิธีการที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการจัดการอย่างไม่ถูกต้องตามครรลองของกฎหมาย หากข้อมูลที่ได้เกี่ยวกับการจับคนสองคนนี้ไม่คลาดเคลื่อน

ทางการคงกลัวว่าหากจัดการคนสองคนนี้โดยการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอาจจะน่าเกลียดและโฉ่งฉ่างเกินไป แต่พอเรื่องนี้มิได้เป็นความลับอีกต่อไป การปฏิบัติต่อสองคนนี้จึงน่าเกลียดเสียยิ่งกว่า

หลังข่าวการจับกุมหลุดออกมามีการขู่ลงในเว็บบอร์ด เช่น ในเว็บบอร์ดของ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ทำนองว่า ไม่อุ้มก็เป็นบุญและพระคุณแล้ว นี่สะท้อนให้เห็นว่าสภาพความเป็นจริงของการกดขี่ทางความคิดในสังคมไทยว่าด้วยเรื่องสถาบันกษัตริย์น่ากลัวกว่าที่คิด

การจับกุมแบบนี้แสดงให้เห็นว่า ทางการมีความพยายามอย่างเป็นระบบและหลากยุทธวิธีที่จะคงไว้ซึ่งวาทกรรมเทิดทูนและเห็นเป็นทางเดียวกันหมดเกี่ยวกับสถาบันสูงสุด และคงไว้ซึ่งมายาคติว่าทุกคนในประเทศนี้เทิดทูนสถาบันกษัตริย์อย่างปราศจากข้อยกเว้นใดๆ มีการใช้ทั้งพระเดชพระคุณ (หากคุณเทิดทูนสถาบันนี้อย่างออกหน้าไม่ว่าจะด้วยความชื่นชมจริงหรือไม่ รัฐบาลหรือทางการก็ย่อมถือว่าคุณเป็นพลเมืองดี) และวิธีการอื่นที่มากกว่าพระเดชตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงยิ่ง (ทำให้ผู้เขียนนึกถึงกรณีแม่ของผู้เสียชีวิตในกรณีเรือดำน้ำ Kursk ของรัสเซีย ซึ่งถูกฉีดยากล่อมประสาทโดยเจ้าหน้าที่อย่างเงียบๆ ในระหว่างกำลังด่าทอทางการอยู่ตอนแถลงข่าวเรือดำน้ำจมและไม่มีผู้รอดชีวิตเพราะไปช่วยช้า)

สังคมไทยดูจะไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้จนกว่าคนจำนวนมากจะตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ใครกล้าวิจารณ์สถาบันก็คงต้องดูแลตัวเองดีๆ และเพื่อนฝูงร่วมอุดมการณ์ก็คงต้องคอยเช็คชื่อเป็นระยะด้วยก็แล้วกัน ถึงแม้หลายคนอาจอยากแสดงความเห็นในหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันนี้ เช่น ข่าวเมื่อต้นอาทิตย์นี้ที่นิตยสารฟอร์บรายงานว่า ในหลวง (ผู้ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่พสกนิกรผู้ยากไร้และไม่ยากไร้) ติดลิสต์กษัตริย์ผู้มั่งคั่ง เป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยมีพระราชทรัพย์ถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่าแสนเจ็ดหมื่นล้านบาท (ดูข่าว)

0 0 0  

ปล. ผู้เขียนเข้าใจว่า สองคนนี้อาจถูก offer ต่อรองจากทางการให้เงียบ และไม่คุยกับนักข่าวเพื่อแลกเปลี่ยนกับโทษสถานเบา (ดูข้อสังเกตที่ตั้งโดยสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) แต่ว่าหากบุคคลสองคนนี้ซึ่งผู้เขียนไม่รู้จัก จะเขียนบันทึกเก็บไว้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นมาอย่างไร ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่ประวัติศาสตร์และอนาคตของสังคมไทย

ส่วนเรื่องสื่อส่วนใหญ่ไม่รายงานนั้น ผู้เขียนไม่แปลกใจเท่าไหร่ หากรู้สึกสมเพชกับบรรดานักข่าวและ บก. ที่หลอกตนเองและประชาชนว่า เป็นหมาเฝ้าบ้าน รายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทสื่อในการเซ็นเซอร์ตัวเองเกี่ยวกับเรื่องสถาบัน อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความในฟ้าเดียวกัน (ดาวน์โหลด)

ที่สื่อไม่เล่นข่าวนี้ อาจเป็นเพราะตัดสินใจเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะดูแล้วข่าวนี้ sensitive เกินไป หรืออาจเป็นเพราะติดตามหาข้อมูลจากสองคนนี้ได้ยากยิ่ง เพราะทั้งสองก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นดูเหมือนสื่อเกือบทั้งหมดมิได้พยายามขุดคุ้ยอะไรเลย ดังเห็นได้ว่าไม่มีใครไปทำข่าวของสุภิญญา

ส่วนคำถามข้อ 3. ได้ยินมาว่าทางกรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) กำลังจะหาเงินไปประกันตัวให้กับ "ท่อนจัน" ทางการอาจกลัวว่ามันจะกลายเป็นเรื่องดังระดับอินเตอร์ก็เลยชิงประกันตัวให้ก่อนฟรีๆ  

ล่าสุด ผู้เขียนได้รับอีเมลจากนักกิจกรรมเพื่อสิทธิเสรีภาพสื่อและการแสดงความเห็นในทำนองว่า เขาคนนั้นเริ่มเกิดอาการวิตกจริตแล้วว่า big brother คงเฝ้ามองเขาอยู่ไม่ว่าทางอินเทอร์เนตหรือโทรศัพท์ทั้งมือถือและไม่ถือ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท