องค์กรสิทธิในไทย สนับสนุนการต่อสู้เพื่อปชต.ในพม่า

ตามสถานการณ์ที่พระภิกษุสงฆ์ในพม่าหลายหมื่นรูปเดินขบวนไปตามท้องถนนในกรุงย่างกุ้ง และในอีกหลายเมืองใหญ่ในประเทศพม่าเพื่อแสวงหาสันติภาพ และความเป็นธรรมร่วมกับประชาชน นิสิตนักศึกษา และผู้รักประชาธิปไตย นับแสนคน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าลดราคาน้ำมัน ปล่อยนักโทษการเมือง ให้ฝ่ายทหารผู้ปกครองประเทศตั้งคณะสมานฉันท์เพื่อความปรองดองแห่งชาติ และออกมากล่าวคำขอโทษ พระสงฆ์ที่ถูกทหารทำร้ายร่างกาย นั้น

 

นักกิจกรรมทางสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และประชาคมโลกต่างร่วมกันจับตามองด้วยความสนใจ และห่วงใยในท่าทีของรัฐบาลทหารที่นำโดยพลเอก ตัน ฉ่วย ประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือเอสพีดีซี ว่าจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องหรือใช้มาตรการจัดการกับปัญหาบนหลักการแห่งสิทธิมนุษยชน โดยล่าสุดมีพระสงฆ์ถูกจับกุม 10 รูปแล้ว

 

องค์กรสิทธิมนุษยชน - ประชาธิปไตย ในประเทศไทยกลุ่มหนึ่ง ร่วมกันส่งแถลงการณ์ให้กำลังใจ และให้การสนับสนุนการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย และความเป็นธรรมของนิสิต นักศึกษา พระภิกษุสงฆ์ และประชาชนหลากหลายชาติพันธุ์ในประเทศพม่า ที่ดำเนินการอย่างสันติวิธี และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทหารของพม่า ดังนี้

 

เนื้อหาในแถลงการณ์ ประกาศย้ำว่า ขอสนับสนุนการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย และความเป็นธรรมของนิสิต นักศึกษา พระภิกษุสงฆ์ ประชาชนชาวพม่า และชนกลุ่มน้อย ชาติพันธุ์ที่หลากหลายในประเทศพม่า ที่ดำเนินการต่อสู้อย่างสันติวิธี เรียกร้องให้รัฐบาลทหารของพม่า หลีกเลี่ยงและยุติการใช้ความรุนแรงในการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเร่งคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน

 

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของพม่า ปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิดที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล โดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นางออง ซาน ซู จี  ผู้นำนักศึกษา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในประเทศพม่า และเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วน ทุกชาติพันธุ์ มีส่วนร่วมในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง นำพาประเทศสู่ยุคประชาธิปไตยใหม่ที่ประชาชนชาวพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศพม่ามุ่งหวัง

 

เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนยังเรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศ ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาสังคม และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรม ส่งผู้สังเกตการณ์ไปติดตามสถานการณ์ในประเทศพม่าอย่างใกล้ชิด และ ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใส  และเป็นธรรม  ให้ความช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์คับขันตามความเหมาะสม โดยไม่ให้มีการนองเลือดเกิดขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ยังเรียกร้องถึงสำนึกรับผิดชอบของรัฐบาลไทย และประเทศภาคีสมาชิกในภูมิภาคอาเซียนว่าพึงให้คำแนะนำและสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปประชาธิปไตยในประเทศพม่าอย่างแท้จริงโดยเร็ว  ไม่ควรนิ่งนอนใจ หรือหวังแต่เพียงผลประโยชน์ทางธุรกิจ การค้าดังเช่นที่ผ่านมาตลอดระยะเวลากว่าสองทศวรรษ ทั้งนี้สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม เป็นวาระสำคัญที่ต้องยึดถือ

 

ด้านครส. ก็ได้ออกจดหมายเปิดผนึกอีกฉบับถึงรัฐบาลไทยว่า ในฐานะเพื่อนบ้าน ต้องเรียกร้องรัฐบาลทหารพม่ายุติการใช่ความรุนแรงทางทหาร โดยขอให้รัฐบาลไทย ประสานงานกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า เรียกร้องมิให้ดำเนินการใดๆ ต่อพระสงฆ์ ตลอดจนประชาชนผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงหรือใช้อาวุธปราบปรามประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสงบนี้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม ซึ่งจะตามมาซึ่งความรุนแรงและความสุญเสียเลือดเนื้อของประชาชน

 

 

000

 

 

องค์กรสิทธิมนุษยชน - ประชาธิปไตย ในประเทศไทย

สนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า

 

สถานการณ์ความตึงเตรียดที่กำลังขยายตัวอย่างกว้างขวางในประเทศพม่า มิอาจปิดกั้นความรู้สึกห่วงใยที่บรรดาผู้รักความเป็นธรรม และนักสิทธิมนุษยชนจะนิ่งเฉยอยู่ได้ ด้วยเหตุที่ความขัดแย้งมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งที่รากเหง้าของปัญหาได้ฝังตัวมายาวนานนับแต่ระยะแรกเริ่มของการก่อเกิดสหภาพพม่า ราวปี 2490 (1948) ที่เป็นอิสรภาพจากลัทธิอาณานิคม  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปี 2505 - 2507 (1962 - 1964)  เมื่อนายพล เนวิน ยึดอำนาจการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จจากนายกรัฐมนตรีอูนุ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบเป็นระยะ ๆ เมื่อขบวนการนิสิตนักศึกษา ลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตย ชุมนุมใหญ่เมื่อเดือนสิงหาคม - กันยายน 2531 (1988) มีการปราบปรามอย่างรุนแรง นักศึกษา ประชาชน ล้มตาย บาดเจ็บ ถูกจับกุมคุมขังนับพันคน มีผู้ลี้ภัยระหกระเหเร่ร่อนหนีตายไปยังประเทศเพื่อนบ้านนับล้านคนในระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะผ่านชายแดนไทย อินเดีย บังกลาเทศ เป็นต้น สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของระบอบเผด็จการทหารที่ไร้คุณธรรม

 

การจับกุมคุมขังผู้มีความเห็นต่างจากรัฐบาล ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำ นักศึกษา นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย รวมทั้งนางอองซานซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ ถูกจองจำอย่างต่อเนื่องยาวนาน กว่า 18 ปี ผู้นำเผด็จการทหารพยายามข่มขู่ คุกคามทุกวิถีทางมิให้เธอได้มีโอกาสพบปะกับประชาชนผู้ให้การสนับสนุน หรือแม้แต่ผู้คนรอบข้าง ปัจจุบันยังมีนักโทษทางการเมืองถูกคุมขังนับพันคน ในพม่านับแต่ปี 2531 เป็นต้นมา การปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนชาวพม่า และชนกลุ่มน้อยผู้บริสุทธิ์ ได้ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองทับถมทบทวีความอดอยากยากจนในขณะที่ชนชั้นนำกลับร่ำรวย แตกต่างราวฟ้ากับดิน

 

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ตามที่พระภิกษุสงฆ์หลายหมื่นรูป ได้เดินขบวนไปตามท้องถนนในกรุงย่างกุ้ง และในอีกหลายเมืองใหญ่ในประเทศพม่าเพื่อแสวงหาสันติภาพ และความเป็นธรรมร่วมกับประชาชน นิสิตนักศึกษา และผู้รักประชาธิปไตย นับแสนคน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าลดราคาน้ำมัน ปล่อยนักโทษการเมือง ให้ฝ่ายทหารผู้ปกครองประเทศตั้งคณะสมานฉันท์เพื่อความปรองดองแห่งชาติ และออกมากล่าวคำขอโทษ พระสงฆ์ที่ถูกทหารทำร้ายร่างกาย นั้น เป็นสิ่งที่บรรดานักกิจกรรมทางสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และประชาคมโลกต่างร่วมกันจับตามองด้วยความสนใจ และห่วงใยในท่าทีของรัฐบาลทหารที่นำโดยพลเอก ตัน ฉ่วย ประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือเอสพีดีซี ว่าจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องหรือใช้มาตรการจัดการกับปัญหาบนหลักการแห่งสิทธิมนุษยชน  ล่าสุดมีพระสงฆ์ถูกจับกุม 10 รูปแล้ว

องค์กรสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และองค์กรประชาชน ซึ่งมีรายนามข้างท้ายนี้ ขอส่งกำลังใจ และให้การสนับสนุนการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย และความเป็นธรรมของนิสิต นักศึกษา พระภิกษุสงฆ์ และประชาชนหลากหลายชาติพันธุ์ในประเทศพม่า ที่ดำเนินการอย่างสันติวิธี และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทหารของพม่า ดังนี้

1.                         ขอส่งกำลังใจ และให้การสนับสนุนการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย และความเป็นธรรมของนิสิต นักศึกษา พระภิกษุสงฆ์ ประชาชนชาวพม่า และชนกลุ่มน้อย ชาติพันธุ์ที่หลากหลายในประเทศพม่า ที่ดำเนินการต่อสู้อย่างสันติวิธี

2.                         เรียกร้องให้รัฐบาลทหารของพม่า หลีกเลี่ยงและยุติการใช้ความรุนแรงในการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเร่งคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน ยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชนสากลอันเป็นสารัตถะสำคัญของกฎบัตรแห่งสหประชาชาติที่พม่าเป็นภาคีสมาชิก

3.                         เรียกร้องให้รัฐบาลทหารของพม่า ปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิดที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล โดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นางออง ซาน ซู จี  ผู้นำนักศึกษา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในประเทศพม่า

4.                         เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วน ทุกชาติพันธุ์ มีส่วนร่วมในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง คามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล และประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ นำพาประเทศสู่ยุคประชาธิปไตยใหม่ที่ประชาชนชาวพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศพม่ามุ่งหวัง

5.                         เรียกร้องให้ องค์กรระหว่างประเทศ ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาสังคม และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรม ส่งผู้สังเกตการณ์ไปติดตามสถานการณ์ในประเทศพม่าอย่างใกล้ชิด และ ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใส  และเป็นธรรม  ให้ความช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์คับขันตามความเหมาะสม โดยไม่ให้มีการนองเลือดเกิดขึ้น

6.                         กระตุ้นสำนึกรับผิดชอบของรัฐบาลไทย และประเทศภาคีสมาชิกในภูมิภาคอาเซียนว่าพึงให้คำแนะนำและสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปประชาธิปไตยในประเทศพม่าอย่างแท้จริงโดยเร็ว  ไม่ควรนิ่งนอนใจ หรือหวังแต่เพียงผลประโยชน์ทางธุรกิจ การค้าดังเช่นที่ผ่านมาตลอดระยะเวลากว่าสองทศวรรษ ทั้งนี้สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม เป็นวาระสำคัญที่ต้องยึดถือ

 

 

ร่วมลงนาม โดย

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.)

คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

เครือข่ายเอเซียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (อันเฟรล)

ชมรมนักกิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

สถาบันเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม (สสธ.)

ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD.)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย

สำนักงานสิทธิมนุษยศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

 

25 กันยายน 2550

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท