Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์โดยองอาจ เดชา



 



 


จากกรณีที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านการขึ้นราคาน้ำมันในประเทศพม่าตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และเริ่มมีการเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์นี้ที่พระสงฆ์พม่าได้นำประชาชนออกมาเดินขบวน กระทั่งปริมาณการเดินขบวนของประชาชนเริ่มสูงขึ้นหลังจากที่พวกเขาสามารถเข้าไปสวดมนต์ให้กับนางออง ซาน ซูจี เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยประชาชนเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นคนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และขยายตัวเป็นเรือนแสนเมื่อวานนี้ และมีกระแสข่าวว่าจะรัฐบาลทหารได้เตรียมการที่จะปราบปรามประชาชน


 


วานนี้ (25 ก.ย.) ประชาไทมีโอกาสได้สัมภาษณ์นางแสงน้อง (Hseng Noung) ชาวไทใหญ่ ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (Advisory Team Member of the Shan Women"s Action Network -SWAN) และประธานคณะกรรมการบริหารองค์กรสันนิบาตสตรีแห่งพม่า (Presidium Board member of Women"s League of Burma) ต่อกรณีนี้


 


 



ประชาไท - มองสถานการณ์เคลื่อนไหวของพระสงฆ์ในพม่าอย่างไรบ้าง


แสงน้อง - เรื่องนี้น่าวิตกอยู่ เพราะทหารเริ่มเข้ามาในย่างกุ้งหรือเมืองต่างๆ แล้ว และทหารก็ไม่รู้จักวิธีอื่นเลย นอกจากการปราบปรามด้วยอาวุธ ล่าสุด ดิฉันได้คุยกับเพื่อนที่เป็นนักศึกษาพม่ารุ่นปี 1988 ที่วิตกว่าไม่แน่ว่าคืนนี้อาจมีการปราบปรามก็เป็นได้ เพราะทหารเริ่มเข้ามาในเมืองมากขึ้น


 


ถ้าหวังว่าการเมืองในพม่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ทหารต้องเข้ามาอยู่กับฝ่ายประชาชน ไม่เช่นนั้นก็จะซ้ำรอยกรณีปราบปรามประชาชนในปี 1988


 


 


การเคลื่อนไหวครั้งนี้ต่างจากปี 1988 อย่างไรบ้าง


จะเห็นว่ามีกลุ่มพระสงฆ์นำและออกมาเดินขบวนจำนวนมาก และมีความชัดเจนด้วยว่า พวกเขาประท้วงเพราะอะไร เรื่องการประท้วงอาจเริ่มต้นจากเรื่องการขึ้นราคาน้ำมัน แต่จริงๆ คือทั้งพระและประชาชนต้องการเห็นการเมืองเปลี่ยนแปลง ตามข้อเรียกร้องที่พระได้ประกาศ 4 ข้อ รวมทั้งให้รัฐบาลทหารปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด และให้รัฐบาลทหารพม่าเจรจากับพรรค NLD และกลุ่มชาติพันธุ์


 


การลุกขึ้นสู้ในปี 1988 ก็เริ่มจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่พวกเขาก็ไม่พอใจรัฐบาลทหารพม่า เพราะเขาถูกทหารพม่ากดขี่ข่มเหง นานกว่าหลายสิบปี


 


 


จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวคือประเด็นทางเศรษฐกิจ?


ใช่ แต่ประชาชนพม่าก็มีสิ่งที่อยู่ในใจว่า ทหารกดขี่ข่มเหงชาวบ้านทุกด้าน ประชาชนเองอยากต่อต้านรัฐบาลทหารอยู่แล้ว พอน้ำมันขึ้นราคาเขาเห็นว่าไม่ยุติธรรม จึงออกมาต่อต้าน โดยมีพระนำ จะเห็นว่ามีประชาชนออกมาร่วมหลายหมื่นหลายแสนคน


 


 


สถานการณ์เริ่มเหมือนปี 1988 หรือไม่ ที่เริ่มยืดเยื้อ มีการจับกุมและเริ่มใช้ความรุนแรง


ถ้าเปรียบเทียบทุกครั้งที่ผ่านมา ทหารพม่าจัดการเรื่องแบบนี้ด้วยความรุนแรงมาตลอด และตอนนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะออกมาใช้ความรุนแรง


 


คือทหารก็เริ่มเข้ามาในเมืองแล้วด้วย เห็นได้ชัดเจนว่าเหตุการณ์เหมือนปี 1988 ซึ่งน่าเป็นห่วงด้วย พวกเราก็เป็นห่วงพระ และเป็นห่วงประชาชน


 


 


ครั้งนี้มีนักศึกษามาร่วมหรือไม่


จะเห็นว่ามีประชาชนทุกกลุ่มอาชีพจำนวนมากเข้าร่วมประท้วงด้วย แน่นอนอยู่แล้วว่าต้องมีนักศึกษาอยู่ในขบวนของประชาชน แต่อาจจะไม่ออกชื่อองค์กรชัดเจน เพราะผู้นำนักศึกษาหลายคนถูกรัฐบาลทหารจับ


กุมจนถึงทุกวันนี้


 


หนนี้จะเห็นว่าพระนำการเดินขบวนก่อน และประชาชนร่วมตามมาด้วย


 


 


คนไทใหญ่ มองอย่างไรว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่สิ่งใดต่อไป


ถ้าทหารพม่าไม่มาเข้าทางฝ่ายประชาชน คงจะแย่ พวกทหารมีอำนาจเต็มมือ


 


หลายคนเรียกร้องให้พวกเขาแก้ไขปัญหาการเมือง แก้ไขสิ่งที่เจอทุกเมื่อเชื่อวัน ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย ไม่อย่างนั้นสถานการณ์ก็จะแย่ ยิ่งรัฐอื่นๆ เมืองอื่นๆ ที่ห่างไกลจากชาวต่างประเทศ สถานทูตเหมือนย่างกุ้ง ยิ่งน่าเป็นห่วงถ้าเกิดทหารไม่เชื่อประชาชน และปราบปราม


 


แต่ดิฉันขอมองโลกในแง่ดี เป็นความหวังของดิฉันว่าทหารบางส่วนจะเข้ามาช่วยประชาชน


 


สามวันก่อนได้คุยกับคนไทใหญ่ในรัฐฉาน พวกขาลำบากมาก คนที่เป็นสมาชิกพรรค Shan Nationalities League for Democracy (SNLD) (พรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยรัฐฉาน) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดในรัฐฉาน และเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สองรองจาก พรรค NLD เมื่อปี 1990 กลุ่มชุมชน และเยาวชนที่นั่นจับตามองเรื่องนี้ตลอด พวกเขาจะเคลื่อนไหวในรัฐฉานก็ยาก รัฐอื่นๆ ในพม่าก็เคลื่อนไหวยาก


 


 


ในชนชาติพันธุ์ในรัฐต่างๆ มีความเคลื่อนไหวหรือไม่


มีการเคลื่อนไหวอยู่ แม้เขาจะเข้ามาในย่างกุ้งไม่ได้เพราะการเดินทางลำบาก แต่คนที่เขาอยู่ในรัฐต่างๆ ก็เคลื่อนไหวอยู่ในรัฐ ส่วนคนชาติพันธุ์ที่อยู่ในเมืองหลวงอาจเข้าร่วมกับพระและประชาชนอื่นๆ


 


อีกเรื่องหนึ่งคือ ถ้าจะพูดแทนกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้นำของกลุ่มชาติพันธุ์หลายคนยังติดคุกอยู่ ถ้ายังไม่ถูกปล่อยมาเพื่อให้ชนกลุ่มน้อยได้เจรจาทางการเมือง ก็ยากที่การเมืองพม่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก ในทางประชาธิปไตย เช่น เจ้าขุนทุนอู หัวหน้าพรรค SNLD ยังถูกกุมขัง โดยมีโทษเกือบหนึ่งร้อยปี 


 


ดิฉันมีความหวังเรื่องนี้อยู่ แต่ด้านหนึ่งก็กังวลและเป็นห่วงว่าทหารจะใช้ความรุนแรง เพราะเขามีการเตรียมการอยู่แล้ว ทั้งทหารและตำรวจ สื่อที่เขามีทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ เข้าใช้ข่มขู่ประชาชนมาตลอด


 


 



 


 


ผู้หญิงพม่ามีความหวังว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปในทางที่ดีขึ้น เสรีภาพและเรื่องอื่นๆ จะดีขึ้นหรือไม่


ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง พวกเราก็หวังว่า ผู้หญิงพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ คงไม่ต้องกลัวว่าจะมีความเสี่ยงว่าจะถูกข่มขืน หรือถูกละเมิดทางเพศ


 


ถ้ามีประชาธิปไตย คงต้องติดตามว่าจะมีขั้นเปลี่ยนเสรีภาพอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ต้องติดตามอย่างเป็นขั้นเป็นตอนต่อไป


 


 


คิดอย่างไร กรณีที่มีความเห็นของนักการทูตนานาชาติและสื่อมวลชนต่างประเทศว่า จีนมีอิทธิพลกับรัฐบาลทหารพม่า จีนไม่ต้องการให้ใช้ความรุนแรงและจะส่งผลกระทบกับภาพพจน์ของจีน


 


ถ้าจีนบอกว่าอย่าใช้ความรุนแรง จีนบอกให้รัฐบาลทหารพม่าเจรจาทางการเมืองกับฝ่ายประชาชน ถ้าพูดแบบนี้ก็ดี


 


ทั้งนี้จีนถือว่าเป็นประเทศที่มีอำนาจสูง เป็นคู่ค้าธุรกิจกับทหารพม่า มีการให้ลงทุนด้านก๊าซธรรมชาติ (แหล่งก๊าซฉ่วย) จากรัฐอาระกันผ่านรัฐฉาน เข้าไปในจีน


 


จีนมีความสำคัญเพราะเป็นประเทศที่มีอำนาจสูง แต่ถือว่า พม่าก็อยู่ในระหว่างสองประเทศที่มีอำนาจสูง ทั้งจีน ทั้งอินเดีย เพราะฉะนั้นพวกเขาควรมีส่วนผลักดันให้ทหารพม่าเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างจริงๆ จังๆ


 


กรณีรัฐบาลนานาชาติ ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าอย่าใช้ความรุนแรง และยอมรับข้อเรียกร้องของประชาชน ยอมเจรจากับประชาชนตามข้อเรียกร้อง ถือเป็นการแสดงออกที่เป็นกำลังใจให้กับชาวพม่า และชนชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งที่อยู่ในย่างกุ้ง ในรัฐต่างๆ ตามชายแดน และในต่างประเทศ


 


ถ้าไม่มีการให้กำลังใจ ประชาชนพม่าคงจะแย่มากๆ เพราะนานมาแล้วเกือบ 50 กว่าปีที่ต้องเผชิญกับเผด็จการ ถึงเวลาแล้วที่โลกต้องมองพม่าแบบผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง


 


นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่รัฐบาลเท่านั้น ยังมีองค์กรประชาชนนานาชาติสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนพม่า ทั้งองค์ดาไล ลามะด้วย และกลุ่มพระสงฆ์นานาชาติ พวกเขาได้เสนอให้รัฐบาลพม่ายอมทำตามข้อเรียกร้องและยอมเจรจากับฝ่ายประชาชน


 


 


หวังว่าทหารพม่าจะรับฟังไหม


พูดยากนะคะ เพราะทหารใช้ความรุนแรงตลอดมา เขาจะฟังเสียงของชาวต่างประเทศหรือผู้นำโลก ดิฉันก็ไม่แน่ใจ แต่ดิฉันขอมองเรื่องนี้ในแง่ดีไว้ก่อนว่า หวังเขาควรจะฟังและยอมเจรจาบนโต๊ะ


 


ดิฉันเห็นว่า ประเทศเพื่อนบ้านสำคัญมากสำหรับการเมืองบ้านเรา อย่างเช่นการสนับสนุนจากไทย หรือบังคลาเทศ


 


แม้ว่าไทยเองอาจจะมีปัญหาการเมืองขณะนี้ แต่ก็อยากให้มองพวกเราประชาชนพม่าในแง่บวก อยากให้สังคมไทยเป็นกำลังใจให้พวกเรา


 


ทั้งนี้ ดิฉันเห็นว่า ถ้ารัฐบาลทหารพม่าใช้ความรุนแรง จะเกิดปัญหาผู้ลี้ภัยขึ้นอีกระลอก


 


ดิฉันหวังว่าสังคมไทยจะช่วยเป็นกำลังใจให้กับประชาชนพม่า และทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าทั้งมวล


 


ในส่วนของชาติพันธุ์ในพม่านั้น กรณีของพี่น้องไทใหญ่ ที่มาจากรัฐฉานเอง ดิฉันก็ยังเฝ้ารอว่าสักวันหนึ่ง จะต้องกลับไปยังประเทศของตัวเอง หรือกลับไปยังรัฐที่มีอิสรภาพ และสันติภาพ  


 


ส่วนมาก จากการพบปะพูดคุยกับผู้หญิงไทใหญ่ที่อพยพมาทำงานในประเทศไทย พวกเขาเองก็คาดหวังว่าอยากกลับบ้าน อยากไปอยู่บ้าน ที่เขาไม่ต้องกังวลว่าจะถูกทำร้ายจิตใจ หรือถูกข่มขืนจากทหารพม่า พวกเขาอยากใช้ชีวิตตามประเพณีที่พวกเขาเคยมี อยากกลับไปทำมาหากินในบ้านเรา


 


ดิฉันเคยพูดพูดกับเพื่อนชาวไทใหญ่หลายคนที่มาทำงานเมืองไทย เขาก็อยากกลับไปอยู่บ้าน ถามเขาว่าอยู่เมืองไทยสบายไหม เขาก็บอกว่า "มันตอบยากนะ" แต่อย่างน้อยอยู่ที่นี่พวกเราไม่ถูกจับ ไม่ถูกข่มขืน และไม่ถูกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบ แต่ทุกวันนี้ บ้านเกิดของเรายังมีเรื่องแบบนี้อยู่


 


หวังว่าสักวันหนึ่งจะมีการเจรจา 3 ฝ่าย จริงๆ จังๆ เพื่อประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 50 ล้านคน รวมทั้งรัฐบาลทหารพม่าเองด้วย.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net