Burma Peace Group 2 : บทบาทและความสัมพันธ์ของอาเซียนต่อพม่า

28 กันยายน 2550

 

28 กันยายน 2550 นายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียนที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ในพม่าพร้อมประณามการใช้ความรุนแรง ว่าเป็นวิธีการที่น่ารังเกียจ เรียกร้องพม่ายุติใช้ความรุนแรง แก้ปัญหาโดยวิธีสมานฉันท์ อาเซียนได้มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า และได้รับรายงานการใช้อาวุธและขอให้รัฐบาลพม่ายุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงโดยทันที อาเซียนแสดงความรังเกียจต่อรายงานที่กล่าวถึงว่าการประท้วงได้รับการกดดันโดยการใช้ความรุนแรงและมีผู้เสียชิวิตอาเซียนขอให้พม่าใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุดและหาแนวทางทางการเมือเพื่อแก้ปัญหา รวมถึงใช้ความพยายามเพื่อความสมานฉันท์ของชาติ นอกจากนี้ได้เรียกร้องให้ปลดปล่อยผู้ที่ถูกจับกุมรวมถึงอองซาน ซู จี ด้วย

อาเซียนสนับสนุนการตัดสินใจของเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุน ในการส่งผู้แทนพิเศษ Ibrahim Gambari ไปพม่า และขอให้รัฐบาลพม่าให้ความร่วมมือกับผู้แทนพิเศษและทำงานร่วมกัน ทั้งนี้บทบาทของนาย Gambari ในฐานะเป็นผู้ประสานงานที่เป็นกลาง สามารถช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์ที่เลวร้ายได้ อาเซียนขอให้พม่าเปิดทางให้ผู้แทนพิเศษได้พบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนในพม่า ตามที่เคยปฏิบัติในอดีต

สำหรับประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกันมากกว่า 2,400 กิโลเมตร และมีชาวพม่ากว่าหนึ่งล้านคนพำนักอยู่ มีความกังวลอย่างยิ่งกับสิ่งที่ได้ยินและได้เห็นในพม่าทั้งไทยและพม่า ต่างเป็นประเทศพุทธศาสนา ต่างมีความเชื่อร่วมกันในความสงบและความอดกลั้น ดังนั้นไทยจึงไม่สามารถยอมรับการใช้ความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายต่อพระสงฆ์และผู้ประท้วงในร่างกุ้ง

ในระยะเวลาที่ผ่านมาแนวนโยบายต่างประเทศที่มีรูปแบบเนื้อหา"การเมืองเพื่อการค้า"ของอาเซียนที่ให้ความสำคัญกับมิติทางด้านเศรษฐกิจมากกว่าทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้รับการสนับสนุนเห็นใจ ได้รับการปกป้องจากอาเซียนมาโดยตลอด จนในที่สุดนำไปสู่การรับประเทศพม่าเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียนในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2540 อานิสงค์สำคัญหลังจากที่พม่าเข้ามาอยู่ในอาเซียน ภาพลักษณ์ของพม่าในสายตาประชาคมโลกได้รับความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพม่าได้ตักตวงผลประโยชน์ในทุกด้านจากการเป็นสมาชิกภาพของ อาเซียน พม่าได้ใช้อาเซียนเป็นเกราะกำบังและเป็นกันชนให้กับพม่าในการดำเนินความสัมพันธ์กับโลกภายนอก โดยพม่าได้ทำให้ปัญหาที่พม่ามีกับประชาคมโลกกลายเป็นปัญหาของอาเซียนโดยส่วนรวมมากกว่าปัญหาของพม่าโดยตรง ทำให้ประเทศอาเซียนอื่นๆอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นปีที่พม่าได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมอาเซียน พม่าได้สร้างปัญหาให้กับสมาคมอาเซียนมากกว่าสมัยที่ยังมิได้เข้ามาเป็นสมาชิก ส่งผลทำให้ความน่าเชื่อถือของอาเซียนตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการกักขังนางอองซานซูจี การคุมขังนักโทษการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆอย่างร้ายแรง แต่ที่ผ่านมาอาเซียนก็ยังยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของพม่ามาโดยตลอด เหตุที่อาเซียนมีท่าทีอย่างนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลมาจากนโยบายต่างประเทศของไทยที่ไม่ได้เป็นแกนนำในการเรียกร้องต่อรัฐบาลทหารพม่า แต่รัฐบาลไทยกลับทำตัวไปสนับสนุนรัฐบาลพม่าแทน ตรงนี้เองที่ทำให้นักการเมืองในมาเลเซีย สิงค์โปร์ ต้องกลายมาเป็นทัพหน้าแทน ดูได้จากในระยะหลังที่สมาชิกบางประเทศเริ่มแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวอย่างเปิดเผยยิ่งขึ้น เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ต่างได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะชะงักงัน ไม่คืบหน้าของกระบวนการประชาธิปไตย และการปรองดองแห่งชาติในพม่า ตลอดจนสถานะถดถอยของความสัมพันธ์ในด้านต่างๆระหว่างสมาคมอาเซียนกับกลุ่มประเทศคู่เจรจาที่สำคัญๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนพิจารณาประเด็นเรื่องผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับกลุ่มประเทศคู่เจรจา หากไม่ปรากฏความคืบหน้าในเรื่องของกระบวนการประชาธิปไตยและการปรองดองแห่งชาติในพม่า พร้อมกับเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐสภาของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนร่วมมือกันเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนหาทางพูดกับฝ่ายพม่าให้ตระหนักถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมาคมอาเซียน หากฝ่ายเผด็จการทหารพม่ายังไม่ยอมดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อให้กระบวนการประชาธิปไตยและการปรองดองแห่งชาติเกิดขึ้นในพม่าอย่างแท้จริง ไม่ใช่อย่างที่เป็นมาในอดีตที่พม่าเพียงสร้างภาพลวงตาเพื่อลวงประชาคมโลกให้หลงผิดว่า ได้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยขึ้นแล้วในพม่า

แต่หากพิจารณาจากพฤติกรรมของพม่าในอดีตที่ผ่านมา โอกาสที่พม่าจะยอมเห็นแก่ส่วนรวมนับว่าแทบไม่มีความเป็นไปได้เลย อีกทั้งโอกาสที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ จะตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวร่วมกันที่จะดำเนินการเอาผิดทางวินัยกับพม่าเมื่อพิจารณาจากท่าทีของแต่ละประเทศสมาชิกที่ผ่านมาย่อมมีความเป็นไปได้ยากยิ่งเช่นกัน ซึ่งน่าจะมาสาเหตุสำคัญที่ประเทศสมาชิกอาเซียนไม่สามารถรวมตัวกันกดดันพม่าได้อย่างเป็นเอกภาพ  โดยเฉพาะไทย จีน และอินเดีย ล้วนแต่คิดในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ตัวเองจะได้เป็นสำคัญขณะเดียวกันแรงกดดันจากประชาคมโลก ทั้งอียู สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น แรงกดดันก็ค่อนข้างกระจัดกระจาย

สุรพงษ์ ชัยนาม วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่าเหตุผลสำคัญที่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้นำมาอ้างเพื่อสนับสนุนให้พม่าเข้าเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียนเมื่อกรกฎาคม พ.ศ.2540 คือ

1) ประเทศพม่าตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็สมควรรับเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน

2) ในเมื่อประเทศที่จัดอยู่ในภูมิภาคอาเซียนมีทั้งหมด 10 ประเทศ หากรับพม่าเข้ามาเป็นสมาชิก ก็จะทำให้สมาชิกเพิ่มขึ้นจนครบถ้วนทั้ง 10 ประเทศ และจะมีผลทำให้สมาคมอาเซียนมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีอำนาจต่อรองและอิทธิพลในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากขึ้น

3) การรับพม่าเข้าเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียนมีผลสนับสนุนเหตุผลทางยุทธศาสตร์ของอาเซียนที่มีความวิตกกังวลต่อการแผ่อิทธิพลในด้านต่างๆ ของจีนที่นับวันได้เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ฉะนั้นการรับพม่าเข้ามาในสมาคมอาเซียนถือได้ว่าเป็นการช่วยลดภาวะพึ่งพาที่พม่ามีต่อจีน และลดอิทธิพลของจีนในพม่า

4) อาเซียนมีความจำเป็นที่ต้องรีบรับพม่าเข้าเป็นสมาชิก เนื่องจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจฝ่ายตะวันตก (อาทิ สหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปหลายประเทศ) พยายามเข้ามาตักเตือน เรียกร้องให้อาเซียนชะลอการรับพม่าเข้าเป็นสมาชิก ฉะนั้นอาเซียนจึงจำเป็นที่จะต้องแสดงท่าทีออกมาอย่างเปิดเผยและชัดเจน เพื่อส่งสัญญาณให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่าประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเป็นปึกแผ่น เป็นอิสระ และมีอธิปไตยของตนเอง โดยจะไม่ก้มหัวหรือสยบให้กับแรงกดดัน บีบบังคับจากประเทศใดทั้งสิ้น ในประเด็นของเหตุผลข้อนี้ประเทศอาเซียนที่ทำหน้าที่เป็นหัวหอกนำหน้าหนุนพม่าเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างแข็งขันและอย่างออกหน้าออกตา คือมาเลเซีย ยุคอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธียร์ และอินโดนีเซียยุคอดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต

5) การรับพม่าเข้ามาเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียน ซึ่งถือได้ว่าเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียง ภาพพจน์ ภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือที่ดี และเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาคมระหว่างประเทศ จะมีผลทำให้พม่าต้องปรับตัว ปรับท่าทีและนโยบายของพม่าให้สอดคล้องกับท่าที นโยบาย หลักปฏิบัติ และประเพณีค่านิยมของสมาคมอาเซียน

พรพิมล ตรีโชติ วิเคราะห์ว่าอาเซียนสนใจพม่าในมิติเดียว คือ มิติทางเศรษฐกิจ เพราะประเทศพม่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรมากที่สุด แต่ในเรื่องของการเมืองนั้นอาเซียนแทบไม่เคยสนใจ เพิ่งจะมาสนใจอย่างจริงจังตอนที่มีการเรียกร้องจากประชาคมโลกหลังเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 พ.ค.46 ที่มีการนำตัวนางอองซาน ซูจี ไปกักบริเวณที่บ้านพักอีกครั้งเท่านั้น ฉะนั้นสิ่งที่จะสามารถทำให้พม่าฟังอาเซียน ก็คือ บทบาทของจีนที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นในพม่าจนพม่าไม่สามารถควบคุมจีนได้อีกต่อไปเท่านั้น เพราะในขณะนี้พม่าก็ไม่ได้ไว้ใจจีนเท่าใดนัก เนื่องจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินเกือบทั้งหมดอยู่ภายใต้อิทธิพลจีน อีกทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชนกลุ่มน้อยที่รัฐบาลทหารพม่าเองก็ยังเข้าไปไม่ได้ เพราะพื้นที่ที่จีนเข้าไปครอบครองเป็นประตูสู่เซาท์อีสต์เอเชียของพม่า ซึ่งอิทธิพลจีนตรงนี้จะทำให้พม่าต้องฟังอาเซียนและมองว่าอาเซียนเป็นทางออกในการเจรจากับจีน นอกจากนั้นวันนี้เองพม่าก็มีผู้ช่วยเหลือคนใหม่ที่มีความสำคัญกับกว่าอาเซียน คือ อินเดีย ซึ่งอินเดียได้เข้าไปลงทุนในประเทศพม่าจำนวนมาก ดั้งนั้นพม่าจึงอยู่ระหว่างอินเดียกับจีน และห่างจากอาเซียนไปเรื่อยๆ พม่าจะเห็นความสำคัญของอาเซียนก็ต่อเมื่อตระหนักว่าจีนและอินเดียกำลังคุกคามตนอยู่ เมื่อนั้นอาเซียนจึงจะกลายเป็นคำตอบของพม่า

สำหรับในแง่ของความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจ (การลงทุน การค้า) ของประเทศสมาชิกอาเซียนสำคัญ ๆ  เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย นั้น พบว่าสำหรับประเทศมาเลเซียนั้น บริษัทปิโตรเลียมเบอร์ฮาร์ดหรือที่รู้จักกันดีในนามเปโตรนาส (PETRONAS) กิจการพลังงานยักษ์ใหญ่ของมาเลเซีย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันเพื่อร่วมมือกับพม่าในโครงการหลายโครงการในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่วนสิงคโปร์ก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารพม่า โดยผู้นำระดับสูงหลายรายของพม่าได้เข้ารับการรักษาทางการแพทย์ในสิงคโปร์ เช่น พล.อ.ตัน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ได้เดินทางเยือนสิงคโปร์เมื่อเดือนมกราคม 2550 เพื่อเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งในลำไส้ และในปีที่แล้ว(2549) สิงคโปร์มีมูลค่าการค้ากับพม่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ สำหรับไทยนั้นจากสถิติการให้การส่งเสริมการลงทุนของ BOI ตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปี 2549 มีการลงทุนไทยในพม่าทั้งสิ้น 56 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนสะสมทั้งสิ้น 1,345.623 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กิจการที่ไทยไปเข้าลงทุน ได้แก่ ประมง ไม้ อัญมณี และเครื่องประดับ อาหารและเครื่องดื่ม การค้า ขนส่ง โรงแรมและการท่องเที่ยว การแปรรูปการเกษตรและพลังงาน นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ทำสัญญาจัดซื้อ - จัดจ้างกับหน่วยงานรัฐของพม่า ตามเงื่อนไขของเงินกู้ 4,000 ล้านบาท ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวจะนำไปใช้สำหรับโครงการต่างๆโดยมีเงื่อนไขว่าต้องซื้อสินค้าและอุปกรณ์ต่างๆจากบริษัทสัญชาติไทยที่กำหนดไว้เท่านั้น นอกจากนั้นกลุ่มบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์กรุ๊ปของไทยยังได้ลงนามในสัญญามูลค่า 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 228 ล้านบาท) ในโครงการก่อสร้างเขื่อนในรัฐฉานของพม่า  ฉะนั้นในประเทศอาเซียนสิงค์โปร์เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ ตามด้วยประเทศไทยลำดับต่อมา

ข้อเสนอสำหรับบทบาทของอาเซียนต่อการแก้ไขปัญหาการเมืองพม่านั้น ในปัจจุบันอาจฝากความหวังไว้กับการที่อาเซียนได้มีการร่างกฎบัตรอาเซียนขึ้นมาในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศที่ฟิลิปปินส์ปลายเดือนกรกฎาคม 2550 กฎบัตรอาเซียนนับเป็นหลักหมายสำคัญของกลุ่ม เพราะมันจะทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีกฎเกณฑ์ชัดเจน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดมาตรการการปฏิบัติสำหรับชาติสมาชิกอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อเพิ่มความกดดันสมาชิกที่มีปัญหา เช่น พม่าให้ปรับปรุงแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ นายออง เค็ง ยอง เลขาธิการสมาคมอาเซียน กล่าวว่าบทบาทของอาเซียนจะช่วยกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับพม่า เนื่องจากกฎบัตรนี้จะย้ำถึงความรับผิดชอบและพันธกรณีของประเทศสมาชิก แต่กฎบัตรไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดของมาตรการลงโทษสมาชิกที่ละเมิดกฎ ถึงแม้ว่าสมาชิกบางประเทศได้เสนอให้ใช้มาตรการขับออกจากการเป็นภาคีสมาชิกในกรณีที่มีการละเมิดกฎอย่างร้ายแรง

นอกจากนั้นแนวโน้มที่น่าสนใจ คือ หลังจากการที่พม่ายอมถอนตัวออกจากการเป็นประธานอาเซียน และจากการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้พม่าจะใช้ข้ออ้างเรื่องการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญขั้นที่ 1 ที่พึ่งจะเสร็จสิ้นลงเมื่อกลางเดือนกันยายนว่าตนเองพร้อมที่จะเป็นประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพจัดประชุมได้แล้ว ซึ่งภาวะในข้างหน้านั้นอาเซียนจะลำบากมาก ถ้าแรงกดดันของประเทศต่างๆในอาเซียนยังคงอยู่ พม่าก็อาจจะไม่กล้าดำเนินการใดๆ แต่ถ้าแรงกดดันเบาบางลง พม่าก็อาจจะไม่ยอมสละสิทธิ ดังนั้นนักการเมืองในประเทศต่างๆ จะต้องร่วมมือกันกดดันเรียกร้องประเทศพม่าต่อไป

 


 

 

Burma Peace Group : เพื่อสันติภาพของประชาชนในพม่า

 

burmapeacegroup@gmail.com

 

Burma Peace Group เป็น คณะทำงานเฉพาะกิจที่เกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการ สื่อมวลชน นักพัฒนา ที่คลุกคลีกับประเด็นพม่ามาโดยตลอด พวกเรามีความคิดเห็นว่าท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมในประเทศพม่าที่เริ่มมา ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2550 เป็นต้นมา สามารถรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤติได้ในอนาคต ทำให้มีความจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องรับรู้ข้อมูลประเด็นพม่าในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน เพื่อช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่จะรับมือกับสถานการณ์อย่างเท่าทัน

 

คณะทำงาน : พรพิมล ตรีโชติ งามศุกร์ รัตนเสถียร วสุ ศรียาภัย วันดี สันติวุฒิเมธี

                  อดิศร เกิดมงคล ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ สุชาดา สายหยุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท