Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ เรียบเรียงโดย
ธีรมล บัวงาม สำนักข่าวประชาธรรม


ราวกลางเดือนสิงหาคม 2550 ภาพกลุ่มเกษตรกรนับ 200 ชีวิตที่เดินทางมาหนังสือคัดค้านถึงนายกรัฐมนตรี นำโดยนายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้ทบทวนร่าง พ...กองทุนส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ..... ภายใต้เหตุผลว่าการเรียกเก็บภาษีสารเคมีตามร่างกฎหมายนี้ จะทำร้ายและเพิ่มภาระให้กับเกษตรกรทั้งประเทศ ถูกรายงานเผยแพร่ออกไป ในชั่วขณะที่ทั้งสังคมจดจ้องไปยังโค้งสุดท้ายของการออกเสียงประชามติ


ด้วยเหตุนี้ "ปรากฏการณ์" และบทสัมภาษณ์ของนายอนันท์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย จึงกลายเป็นเนื้อหาเพียงด้านเดียวของร่างพ...กองทุนส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.....ที่ปรากฏและถูกบอกเล่า ทว่าเบื้องลึกที่มาที่ไปกระทั่งเนื้อหาสาระของกฎหมายกลับถูกเพิกเฉยและหลงหายไปตามกาลเวลา


ตามบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบการร่าง พ... ฉายภาพว่า ปัจจุบันการทำเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้พึ่งพาสารเคมีอย่างมาก ทำให้ได้ผลผลิตที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ตลอดจนทำให้เกิดมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อม จึงสมควรส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาสนใจทำเกษตรกรรมยั่งยืน โดยละ เลิก สารเคมีอันตรายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้สารเคมีการเกษตร ดังนั้นเพื่อที่ให้มีเงินทุนมาดำเนินงานดังกล่าว สมควรจัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยเก็บเงินบำรุงจากผู้ประกอบธุรกิจในรูปค่าธรรมเนียมพิเศษจากการผลิต จำหน่ายและนำเข้าผลิตภัณฑ์เคมีทางการเกษตรเพื่อใช้ในการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน


อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก แบ่งปันเวลาในวันที่ไม่เร่งรีบ ขยายความถึงความเป็นมา รวมถึงความสำคัญของการมีกฎหมายสนับสนุนการเกษตรยั่งยืนในประเทศไทย


ที่มาที่ไปของการเสนอกฎหมายเป็นอย่างไร


การเสนอให้มีองค์กรอิสระในกำกับของรัฐที่จะดูแลงานด้านนโยบายด้านการเคลื่อนไหวเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกได้เสนอกับรัฐบาลตั้งแต่ปี 2514 ด้วยเหตุผลที่ว่าความเทอะทะใหญ่โตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และลักษณะการจัดองค์กรที่แยกส่วนแยกศาสตร์ แยกน้ำ แยกแม้กระทั่งหญ้ากับสัตว์ และการยึดมั่นในศาสตร์ของแต่ละกรมกอง มันยากที่จะสร้างนโยบายและส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนของชาติได้ เนื่องจากเกษตรมิใช่แค่เรื่องของอาชีพ แต่ยังเป็นวิถีของประชาชนของสังคม มีมิติวัฒนธรรม มิติทางการศึกษา ดังนั้นจึงต้องการองค์กรที่บูรณการความรู้และความคิดเหล่านี้เข้าด้วยกัน แล้ววางนโยบายเพื่อส่งเสริมการเกษตรเพื่อความผาสุกของสังคมในฐานะที่เป็นวิถีวัฒนธรรมของชาติ


สิ่งเหล่านี้ก็มีการนำเสนอแต่ไม่ถูกให้ความสนใจเลย ในส่วนของพวกเราก็ไม่ได้หยุดยั้งการเคลื่อนไหวนี้ ก็ได้มีการปรึกษาหารือกับพี่น้องสมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4 ภาค อย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีการยกร่างเป็นกฎหมาย พ...สถาบันส่งเสริมเกษตรยั่งยืน ซึ่งตัวร่างกฎหมายจะมีจุดเด่นเรื่องการสร้างองค์กรอิสระที่เป็นของเกษตรกรจริงๆ ยกตัวอย่าง สมาชิกที่จะขึ้นทะเบียนได้นั้นต้องเป็นองค์กรที่ทำเกษตรยั่งยืนอย่างชัดแจ้งไม่น้อยกว่า 5 ปี ให้มีกระบวนการสมัชชาเพื่อกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ขององค์กร และเป็นกลไกตรวจสอบการดำเนินงาน


ในอีกด้านหนึ่งมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ก็ให้ทุนกับคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำโครงการนโยบายสาธารณะเพื่อความปลอดภัยด้านอาหารและเศรษฐกิจการค้าที่ยั่งยืน ซึ่งผลจากวิจัยระบุว่า ประเทศไทยมีต้นทุนความเสียหายจากการใช้สารเคมี 3,000 ล้านบาท/ปี จึงนำไปสู่ข้อเสนอให้ผู้เป็นมูลเหตุของความเสียหาย อาทิ ผู้ประกอบการ ผู้ค้า ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายสารเคมี ต้องเสียภาษีรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ในอัตราร้อยละ 5- 30 ตามระดับความเป็นพิษ เช่น ปุ๋ยเคมีมีความเป็นพิษน้อยก็เก็บภาษีร้อยละ 5 ส่วนยาฆ่าแมลง หรือยากำจัดวัชพืชมีความเป็นพิษก็อาจเก็บถึง 10 - 30% เป็นต้น


จากนั้นก็ยกร่างเป็นพ...ส่งเสริมเกษตรกรรมธรรมชาติขึ้นมา ในเนื้อหาของกฎหมายก็ใกล้เคียงกับร่างของเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน ต่างตรงที่ร่างของคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯมีจุดเด่น เรื่องที่มาของรายได้ เขาชัดเจนและมีข้อมูลว่าควรจะเก็บภาษีในอัตราเท่าไหร่ และปรึกษากับกรมสรรพสามิตเรียบร้อยว่าในสถานการณ์การค้าเสรี และการค้าระหว่างประเทศมันยากที่จะเก็บภาษีนำเข้า เพราะทิศทางคือการลดภาษีให้เป็นศูนย์ ส่วนแนวโน้มที่เป็นไปได้ทางกรมสรรพสามิตก็เห็นด้วยว่าน่าจะเก็บเป็นภาษีสรรพสามิต หมายถึงว่าเข้ามาในประเทศแล้วก็เป็นภาษีการค้าการแปรรูปอื่นๆ เหมือนภาษี เหล้า บุหรี่


ที่นี้พอเห็นร่างกฎหมายของกันและกัน เลยนำมาสู่การคุยว่าถ้าต่างฝ่ายต่างนำเสนอกฎหมาย ก็อาจจะไปต่อสู้กันเองในครม. เพราะเนื้อหาคล้ายกัน จึงกลายเป็นร่างพ...กองทุนส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน โดยผนวกเอาจุดเด่นของทั้ง 2 ร่างเข้าไว้ด้วยกัน แล้วยื่นเป็นข้อเรียกร้องหลักของเครือข่ายเกษตรในสมัชชาคนจน ให้กับกระทรวงเกษตรในโอกาสการชุมนุมของสมัชชาคนจนครั้งที่ผ่านมา (เดือนพฤษภาคม Check) ซึ่งเดิมกลุ่มเครือข่ายเกษตรทางเลือกก็มีข้อเรียกร้อง 5 ข้อในเอกสาร แต่เรื่องหลักที่ยื่นบนโต๊ะเจรจาคือเรื่องนี้เรื่องเดียว เราอยากให้มีการออกกฎหมายตั้งองค์กรอิสระเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน จึงขอให้กระทรวงเกษตรนำเรื่องนี้เข้าคณะรัฐมนตรีหลังจากการประชุมในวันนั้น


เสียงสะท้อนเป็นอย่างไร


ทีนี้ทางประธานเองโดยนายธีระ สูตบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็เสนอว่าน่าจะให้องค์กรที่เป็นกลางมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกับกลุ่มต่างที่เกี่ยวข้องก่อน เลยให้กองนโยบายเกษตรยั่งยืน สำนักปลัดกระทรวงเป็นเจ้าภาพ จัดการรับฟังความคิดเห็นที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร การทำเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยเชิญ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เชิญองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความเห็นทั้งสมาคมดินและปุ๋ย สมาคมพืชสวน


ผลจากการจัดเวทีและการนำเสนอการเก็บภาษีสารเคมีเป็นเหมือนการไปแหย่เอากลุ่มธุรกิจสารเคมีออกมารวมกันทั้งประเทศ นำโดยอนันท์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กลุ่มธุรกิจสารเคมีการเกษตรตอบโต้ว่า เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนหิวเงิน อยากได้เงิน และการเก็บภาษีสารเคมีจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับเกษตรกร แต่อยากบอกว่าเราไม่ได้สนใจเรื่องเงิน ยิ่งไปกว่านั้นต้องตรวจสอบว่าต้นทุนที่แท้จริงของธุรกิจสารเคมีว่าเป็นอย่างไร บางข้อมูลจากกระทรวงเกษตรระบุว่า ธุรกิจสารเคมีทำกำไรถึง 400% ดังนั้นสังคมจึงไม่รู้กลไกต้นทุนของธุรกิจพวกนี้ และอัตรากำไรที่เขาทำอยู่ ควรต้องถูกตรวจสอบจากสังคมว่ามันมีความจำเป็นที่จะทำให้เกิดการผลักภาระให้เกษตรกรหรือไม่


ไม่ปฏิเสธว่ามีเกษตรกรไทยจำนวนมากยังใช้สารเคมี ซึ่งตัวกฎหมายที่เสนอไปก็ไม่มีข้อไหนที่ห้ามการใช้สารเคมีทางการเกษตรเลย แต่ว่าหลักการสำคัญคือผู้ประกอบการธุรกิจสารเคมีในฐานะเป็นมูลเหตุในการก่อมลพิษต่อสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อมจะต้องรับผิดชอบผลกระทบดังกล่าว ทุกกิโลกรัมที่ใช้ไปของสารเคมีมีต้นทุนตามมา ทั้งสุขภาพของมนุษย์ที่เสื่อมโทรมลง ความเสียหายของสิ่งแวดล้อม อันนี้ควรถูกคิดเป็นต้นทุนที่ต้องแบกรับ


เรื่องหนึ่งต้องถามว่าเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรยั่งยืนเป็นทิศทางที่ประเทศไทยควรจะกำหนดมาตรการหรือนโยบายสนับสนุนให้การเกษตรของประเทศเป็นไปเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเกื้อกูลต่อชีวิตมนุษย์หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นทิศทางที่ทำกันทั่วโลก และทำหลายมาตรการเช่น ให้เงินอุดหนุนโดยตรงกับเกษตรกรที่เปลี่ยนจากเคมีเป็นอินทรีย์ สร้างเป็นหลักสูตรการศึกษาและบรรจุเข้าไปในวิทยาลัยเกษตรทั้งประเทศ อันนี้อยู่ที่ฝ่ายการเมืองหรือผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายจะสร้างสังคมประเทศนี้จะให้ต้นกำเนิดและห่วงโซ่อาหารปลอดภัยหรือไม่อย่างไร ซึ่งถ้าจะทำให้เกิดขึ้นได้จะต้องมีนโยบายเป็นแรงผลักสำคัญ ซึ่งยังทำได้อีกหลายรูปแบบ


อีกประเด็นที่เขาต่อว่ามาก็คือ คนส่วนใหญ่ใช้สารเคมีจะมาเก็บภาษีคนส่วนใหญ่มาใช้กับคนส่วนน้อย ความจริงไม่ใช่เลย เพราะนี่คือภาษีที่เป็นความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นกองทุนที่ต้องทำเพื่อเปลี่ยนทิศทางการเกษตรไปสู่ความปลอดภัยและยั่งยืน พึ่งตนเอง มันจึงไม่ใช่เรื่องของคนส่วนน้อยหรือส่วนใหญ่ แต่ควรเป็นคนทั้งหมดของประเทศร่วมทำ แต่ว่าต้องเป็นคนที่มีเจตนารมณ์จะปรับเปลี่ยนจากเกษตรกรรมเคมีมาเป็นความยั่งยืน นี่น่าจะเป็นนโยบายที่ชัดเจน


แล้วนโยบายที่ผ่านมาส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน


รัฐบาลที่ผ่านมาได้สร้างวาทกรรมเกษตรอินทรีย์ โดยประกาศเป็นวาระแห่งชาติ มีแผนงานเรื่องโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ระดับตำบล แต่ว่ามันก็สร้างวาทกรรมเป็นหลัก ปฏิบัติการจริงๆ ไม่ค่อยมี แถมมาถึงรัฐบาลนี้ก็ยกเลิกเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติออกไป เพราะว่าบรรดาขิงแก่ที่แวดล้อมกระทรวงเกษตรอยู่ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ได้รับประโยชน์ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจสารเคมีการเกษตรแทบทั้งสิ้น อันนี้มันก็ทำให้รังสีอำมหิตของธุรกิจสารเคมีมันครอบงำกระทรวงเกษตรอยู่ และการประกาศยกเลิกด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นนโยบายของรัฐบาลทักษิณ โดยไม่สนใจในรายละเอียดเลยว่ามันเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี นี่คือเรื่องที่น่าเศร้า เพราะความจริงแล้วชาวบ้านเกษตรกรที่ประสบปัญหาและมีบทเรียนด้วยตนเองจากการเดินในแนวทางเกษตรเคมี แล้วสรุปบทเรียนปรับเปลี่ยนด้วยตัวเอง โดยมีองค์กรภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนไปให้แรงกระตุ้นสนับสนุนมีการปรับเปลี่ยนไปเยอะ เฉพาะปราชญ์ชาวบ้านที่ปรับเปลี่ยนไปทำอินทรีย์ไม่น่าจะน้อยกว่า 1,000 ครอบครัว ทั้งในเครือเกษตร เครืออโศก อื่นๆ เต็มไปหมด ทั้งที่ของรับรองมาตรฐานของสหภาพยุโรปแล้วส่งเข้าออกโดยไม่ขอรับรองมาตรฐาน แต่ทำในพื้นที่มากกว่าพันครอบครัว แล้วรายใหญ่ที่ทำผลิตภัณฑ์อินทรีย์แล้วส่งออก อย่างบริษัท ริเวอร์แคว อินเตอร์เนชั่นแนล อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด หรือไร่ปลูกรักที่จ.ราชบุรี


อย่างกลุ่มกสิกรรมไร้สารพิษ เขาบอกว่าคนเดียวที่ไม่ใช้สารเคมีมันก็น่าจะเพียงพอแล้วที่ประเทศไทยจะขยายผล เพราะเป็นแนวทางที่สังคมควรจะเลือก เพราะเป็นแนวทางที่ปลอดภัย ยั่งยืน และพึ่งตนเองของสังคมโดยรวม เวลานี้ไม่ต้องสงสัยแล้วว่าการทำเกษตรไร้สารเคมีทำได้หรือไม่ ทั้งปริมาณ ผลผลิต ทำได้ทุกภาค แม้แต่ในพื้นที่อย่างสุพรรณบุรีก็มีการเก็บจุลินทรีย์จากห้วยขาแข้งมาใช้ในการทำนา หรือเลิกใช้เคมีไปแล้วก็เยอะแยะ แล้วธรรมชาติก็ฟื้นมีกุ้งหอยมากมาย เช่น อบต.ในสุพรรณบุรีเก็บข้อมูลชาวบ้านที่ช้อนกุ้งฝอยขาย หมู่บ้านละเป็นล้าน เป็นผลผลิตที่ไม่มีต้นทุน เพียงแค่เขาเลิกใช้สารเคมีธรรมชาติก็ฟื้นกลับมา อันนี้ถ้ากระทรวงเกษตรฯไม่หูหนวกตาบอดกับการถูกครอบงำโดยธุรกิจเคมีมันเพียงพอแล้ว


ดังตัวอย่างในเครือสันติอโศก หรือพื้นที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ไปทำงาน ปมคอขวดมันอยู่ที่นโยบายที่ขยายไม่ออก อุปสรรคอยู่ที่ฝ่ายการเมืองและฝ่ายนโยบายไม่เปิดทางแล้วยังเป็นอุปสรรคด้วย ลึกไปกว่านั้นก็คือทัศนคติของเจ้าหน้าที่ในกรมกองของรัฐส่วนใหญ่จะร่ำเรียนมาทางเกษตรเคมี และถูกครอบงำในศาสตร์เดิมๆ เก่าๆ ขนาดชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์ยังได้รับคำแนะนำว่าสามารถใช้สารเคมีได้ 30 กิโลกรัมต่อไร่ เขาอาจจะเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าปุ๋ยเคมีมันดี ทั้งที่มันไม่ความจำเป็นอะไรอีกแล้ว ถ้าชาวนาเกษตรกรปรับหลักได้ สร้างความสมดุลขึ้นมาในพื้นที่ของตนเอง การทำผลผลิตสามารถเทียบเท่ากับการใช้เคมี หรือมากกว่า เพราะแปลงที่ทำผลผลิตได้มากกว่าแปลงที่ใช้สารเคมีเต็มไปหมดเลยทั้งระดับเกษตรกรรายย่อย หรือกลุ่มองค์กรต่างๆ มันมากเพียงพอที่จะหยิบมาขยายผล


ตัวร่าง พ...จะนำเราออกจากการปฏิวัติเขียวได้หรือไม่


ตัวพ...จะมีกลไกที่เป็นอิสระ เพื่อให้กลไกนี้เชื่อมโยงกับงานนโยบายการเกษตรในมิติอื่นๆ อาทิ การศึกษา และวัฒนธรรมและการตลาดท้องถิ่น มิใช่มองการเกษตรในมิติการผลิตการค้า หรือการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นการพัฒนาการเกษตรในบ้านเราจึงมุ่งไปที่การตอบสองออเดอร์การส่งออก ผลที่ตามมาจึงทำให้ชาวนารายย่อยถูกทำลายลงเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการส่งออกดังนั้นบริษัทการเกษตรก็จะต้องควบคุมปัจจัยการผลิต สิ่งที่เขาทำคือการควบคุมเมล็ดพันธุ์ ควบคุมสารเคมี แล้วปลายทางคือควบคุมการผลิต และตลาดด้วย เกษตรกรที่เข้าสู่เส้นทางนี้ก็จะกลายเป็นทาสที่มีระบบสินเชื่อเป็นตัวควบคุม


เกษตรกรทั่วไปก็จะถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ ไม่มีที่ขาย ยกตัวอย่าง ต.หล่มขอด จ.เชียงใหม่ เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกมันฝรั่งเคมี ในลักษณะเกษตรพันธะสัญญา (Contract Farming) และก็มีเกษตรกรบางรายอึดอัดกับการใช้สารเคมีก็พยายามหลีกหนีการใช้โดยนำเทคนิคความรู้ของเกษตรกรรมยั่งยืนไปใช้ พอมีคนสองคนทำมันฝรั่งอินทรีย์ก็ขายไม่ได้ เนื่องจากคนที่ทำอินทรีย์ไม่ได้ใช้ปัจจัยการผลิตจากโปรกเกอร์ หรือคนในท้องถิ่นที่เป็นตัวแทนบริษัท พอคนที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ไม่ซื้อทำให้เขาขาดรายได้ ผลผลิตอินทรีย์ที่ออกมาจึงไม่มีตลาดก็ต้องมาเผชิญชะตากรรมร่วมกันในการหาที่ขายผลผลิตนี่คือข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้


จะเดินหน้าอย่างไรต่อ


เราหวังว่าสังคมจะเรียนรู้จากข้อขัดแย้งเรื่องภาษีสารเคมี หวังว่าสังคมจะเข้าใจว่ากลุ่มหนึ่งเรียกร้องไม่ให้เก็บภาษีสารเคมี กลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้เกษตรกรใช้สารเคมีไปเรื่อยๆ และอีกกลุ่มเรียกร้องให้เก็บภาษีสารเคมีเพื่อรับผิดชอบต่อสังคม และหาทางที่จะทำการเกษตรบนเทคนิคแนวทางที่ครอบครัวจะปลูกเองได้ และสังคมประเทศชาติจะพึ่งพาตนเองได้ สารเคมีการเกษตรเป็นสินค้าในกลุ่มเดียวกับและเป็นสินค้าที่ต่อเนื่องจากปิโตรเลียม เพราะฉะนั้นมันจึงสัมพันธ์กับการนำเข้าน้ำมัน ถ้าในแง่เกษตรยั่งยืนมันก็ตอบปัญหายาวไกลไปถึงปัญหาโลกร้อน ปัญหาเศรษฐกิจของชาติ


ข้อขัดแย้งทางความคิดเหล่านี้จะสร้างการศึกษาให้กับสังคม ขณะเดียวกันก็จะหยิบยกเอาของจริงเอารูปธรรม ผนึกกำลังกับพันธมิตรหลายฝ่ายที่จะตีแผ่กับสังคมเรื่อยๆ แม้จะมีข้อจำกัดในการทำได้น้อยกว่ากลุ่มธุรกิจสารเคมีที่เต็มไปด้วยกำลังเงินมหาศาล ซึ่งเราก็รู้มาว่าทางกลุ่มธุรกิจสารเคมีเตรียมการที่เดินสายทำเวทีทั่วประเทศเช่นกัน


เราหวังว่าสังคมจะได้รับข้อมูล ข้อเท็จจริงของผู้ที่พยายามปรับเปลี่ยนการผลิตในแนวทางที่ยั่งยืนออกมาให้สังคมได้รับรู้ และในเวลานี้ก็มีชนชั้นกลางมากมายที่เริ่มทำเกษตรอินทรีย์เชิงพาณิชย์กันมากขึ้น ซึ่งนี่คือจุดแข็งในการต่อสู้ทางธุรกิจ ผู้บริหารของบริษัทริเวอร์แควเขาก็บอกว่านี่คือจุดแข็งของประเทศไทย และเป็นช่องทางการแข่งขันที่ควรเลือก แต่ประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐกลับถูกครอบงำผลประโยชน์จากธุรกิจเคมีทำให้ดันแนวทางนี้ไม่ออก เขาบอกว่าผลผลิตที่ทำในจ.กาญจนบุรีมันไม่พอส่งออกตามออเดอร์ที่ได้รับ เขายกตัวอย่างกรณีการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรอินทรีย์ที่เป็นทางการอยู่ที่ 800 ล้านบาท แล้วอินทรีย์ที่ไม่เป็นทางการที่ยังไม่มีการรับรองอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมๆ แล้วการส่งออกผลผลิตอินทรีย์ของไทยน่าจะอยู่ที่ 3 พันล้านบาท


แม้หลายกลุ่มไม่ยอมให้เกษตรกรรมยั่งยืนขยับ เพราะนั่นหมายถึงการเสียผลประโยชน์ของผู้ที่ขายปัจจัยการผลิตในระบบการเกษตรที่ไม่ยั่งยืน แต่ส่วนตัววิเคราะห์ว่าเกษตรอินทรีย์จะเป็นกระแสในอีกไม่ช้า โดยเกิดจากธุรกิจเกษตรอินทรีย์ขนาดใหญ่ ซึ่งในวันนั้นผลประโยชน์จะเป็นของเกษตรกรรายย่อยหรือไม่ก็ยังเป็นเรื่องที่กังขาอยู่ การตลาดของเกษตรอินทรีย์มันเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งอยู่แล้ว เพราะเป็นกระแสของโลก เรื่องความปลอดภัย ตลาดในปัจจุบันเป็นการแข่งขันเรื่องการทำข้อมูลทางสังคมว่าสินค้าของตัวเองไม่ทำลายโลก ดังนั้นอิทธิผลของแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนมันเริ่มแสดงรูปธรรมบ้าง แต่ยังไม่มากนัก แต่ว่ามันค่อยๆ ปรากฏจากกลุ่มคนเล็กๆ ว่าราคาของสินค้าควรจะคิดคำนึงถึง 3 ส่วน คือ ผลตอบแทน ต้นทุนทางสังคม ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรม ดังนั้นราคาสินค้าที่กำหนดออกมาต้องคิดจาก 3 ส่วนนี้ ไม่ใช่คิดแต่เพียงผลกำไร ผลตอบแทนอย่างเดียว


นี่คือปากคำของ อุบล อยู่หว้า ที่ช่วยสะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า เส้นทางการผลักดันนโยบายที่เกื้อกูลให้ระบบเกษตรกรรมไทยลด ละการใช้สารเคมีนั้นมีอุปสรรค และกำแพงใดที่ขวางอยู่ ซึ่งจุดตัดสินคงไม่ขึ้นอยู่ที่ว่าเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน-อุตสาหกรรมสารเคมีการเกษตร ฝ่ายไหนจะเป็นผู้ชนะ หากคงจริงดังถ้อยคำของ "อุบล" ที่พยายามชี้ให้เห็นว่าศึกที่แท้จริงกลับอยู่ที่การเลือกและตัดสินใจของเราทุกคนว่า คิดและเชื่อมโยงอย่างไรในการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากผืนดิน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net