Skip to main content
sharethis

วิทยากร  บุญเรือง


 


ถึงแม้ว่าธนาคารโลกจะจัดอันดับความสะดวกสำหรับการทำธุรกิจในไทยดีขึ้นถึงสองอันดับ จากอันดับ 17 ขึ้นมาเป็น 15 ของโลก แต่จากสภาพความเป็นจริง นักลงทุนข้ามชาติยังคงจับตาสถานการณ์ทางการเมือง และกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจในประเทศไทย


 


อันดับที่ดี  


 


การจัดอันดับประเทศที่มีความสะดวกสำหรับการทำธุรกิจ (Doing Business 2008) ใน 178 ประเทศทั่วโลก เมื่อวันที่ 26 กันยายน


 


รายงานชิ้นดังกล่าวเป็นการจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 - มิถุนายน 2550 โดยผลการจัดอันดับครั้งนี้ระบุว่า ประเทศสิงคโปร์ยังสามารถรักษาอันดับ 1 ของโลกในการเป็นประเทศที่มีความสะดวกในการดำเนินธุรกิจติดต่อกันเป็นปีที่สอง โดยมีประเทศนิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และเดนมาร์ก ตามมาเป็นลำดับที่ 2, 3, 4, และ 5 ตามลำดับ


 



อันดับประเทศที่มีความสะดวกสำหรับการทำธุรกิจ (Doing Business 2008)


(ที่มา : http://www.doingbusiness.org/documents/DB-2008-overview.pdf)


 


ทั้งนี้ประเทศไทยขยับเพิ่มอันดับขึ้นมา 2 ลำดับ จากที่ปีก่อนที่อยู่ในอันดับ 17 ของโลก ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 15 โดยในภูมิภาคอาเซียนนั้น สามารถเรียงลำดับได้คือ สิงคโปร์ (อันดับ 1), ไทย (อันดับ 15), มาเลเซีย (อันดับ 24), เวียดนาม (อันดับ 94), อินโดนีเซีย (อันดับ 123), ฟิลิปปินส์ (อันดับ 133), กัมพูชา (อันดับ 145), ลาว (อันดับ 164)


 


ซึ่งการจัดอันดับดังกล่าววัดจากดัชนี 10 รายการ ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดอันดับในแต่ละด้านดังนี้ ความยากง่ายในการเริ่มทำธุรกิจอยู่ที่อันดับ 36 ลดลงจากปีก่อนที่อันดับ 28, การจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ลำดับ 20 ลดลงจากลำดับที่ 18, ข้อมูลเครดิตอยู่ที่ 36 ลดลงจากอันดับ 33, การปกป้องนักลงทุนอยู่ที่ลำดับ 33 คงที่จากปีก่อน, ความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ลำดับ 50 ปรับตัวดีขึ้นจากอันดับที่ 103


 


ความยากง่ายในการปิดกิจการอยู่ลำดับที่ 44 ลดลงจากลำดับที่ 38, ระบบการจ่ายภาษีอยู่ที่อันดับ 89 ลดลงจากอันดับที่ 57 ส่วนดัชนีอีก 3 ตัวไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับปีก่อนเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของการจัดทำดัชนีประกอบด้วย ระบบการติดต่อขอใบอนุญาตอยู่อันดับที่ 12 ระบบการจ้างงานอยู่ที่ลำดับ 49 และการบังคับตามสัญญาอยู่ที่ลำดับ 26


 


แต่ภาพสะท้อนหลายอย่างจากนักลงทุนข้ามชาติ อาจจะเป็นมุมมองสะท้อนที่เห็นได้ชัดว่า นักลงทุนต่างชาติคิดยังไงกับประเทศของเรา จริงแท้แล้วมันน่าลงทุนแค่ไหน


 


มุมมองของธุรกิจข้ามชาติ


 


หนังสือพิมพ์เดลี่ เทเลกราฟ (Daily Telegraph) ของอังกฤษได้สำรวจมุมมองผลกระทบทางธุรกิจหลังการรัฐประหาร รวมถึงมุมมองความพร้อมของยักษ์ใหญ่ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์อย่างไอเคีย (Ikea) ประเมินสถานการณ์การลงทุนในประเทศไทยอย่างไร


โดยมุมสะท้อนที่ได้รับก็คือ นักลงทุนข้ามชาติ ต่างยังคงตัดชะลอการตัดสินใจลงทุนในไทย รอดูความชัดเจนของข้อกฎหมายเกี่ยวกับการทำธุรกิจข้ามชาติต่างๆ ที่จะมีผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติและเป็นปัญหาหนักอกให้กลับ เทสโก้ (Tesco) และ คาร์ฟูร์ (Carrefour) กลุ่มธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติยักษ์ใหญ่


อารมณ์ที่ค้างคาต่อ พ... ทักษิณ ของคณะยึดอำนาจ ที่ต้องการทำเรื่องทุกอย่างที่เกี่ยวพันและเป็นภาพลักษณ์เดิมของ พ... ทักษิณ เป็นเรื่องที่ผิด เรื่องการใช้นอมินี่, การถือหุ้นต่างๆ รวมถึงความสัมพันธ์กับนักธุรกิจต่างชาติ ดูเหมือนเป็นวาระที่จะต้องถูกควบคุมอย่างเข้มข้น แต่สำหรับบรรษัทของคนไทยกลับถูกมองข้าม


สำหรับกระแสข่าวธุรกิจข้ามชาติหลายวันมานี้ ไอเคีย ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ข้ามชาติจากสวีเดน ยังคงไม่ตัดสินใจเด็ดขาดในการขยายธุรกิจสู่ประเทศไทย เนื่องด้วยผลจากการทำรัฐประหารและกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจข้ามชาติที่ยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจต่างด้าว


 


โฆษกของไอเคีย ได้ออกมากล่าวว่าสำหรับตลาดในประเทศไทย ยังคงอยู่ในระหว่างการประเมินผลว่าจะเข้ามาทำธุรกิจอย่างเต็มตัวหรือไม่ โดยฝ่ายศูนย์วิจัยของไอเคียเอง ทั้งนี้จะต้องประเมินถึงผู้ร่วมลงทุนถ้าหากไอเคียจะต้องเปิดสาขาในประเทศไทย


นอกจากนี้แล้ว บรรษัทสัญชาติอังกฤษและอเมริกันอย่าง อาลิอันซ์ บูทส์ (Alliance Boots) และ HSBC รวมถึงธุรกิจยาสูบ จะต้องได้รับผลกระทบเต็มๆ 


ทั้งนี้สำหรับการเลือกตั้งของไทยนั้น ตามข้อสัญญาที่รัฐบาลได้ให้สัญญาประชาคมไว้ การเลือกตั้งจะมีภายในเดือนธันวาคมนี้ แต่สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจต่างด้าวที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ส่งคืนให้กระทรวงพาณิชย์ตีความใหม่อีกครั้งนั้น อาจจะยืดเยื้อไปถึงรัฐบาลชุดใหม่แต่ก็ยังคาดว่ารัฐบาลหน้าอาจเลือกใช้แนวทางอื่น เพราะการตีความครั้งใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ จะส่งผลลบต่อการลงทุนได้อีก


มุมมองจากนักลงทุนต่างประเทศยังคงมีความกังวลว่าข้อกฎหมายต่างๆ จะขัดกับนโยบายการค้าเสรีหรือไม่ แหล่งข่าวท่านหนึ่งจากสภาหอการค้ายุโรปในกรุงเทพฯ กลัวว่าประเทศไทยอาจกำลังจะก้าวไปสู่การออกจากเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ ถ้าดำเนินการใดๆ ผิดพลาดมากไปกว่านี้


ในด้านหนึ่งการเข้ามาของบรรษัทข้ามชาติถูกมองว่าเป็นการบุกรุกประเทศไทย คนไทย อย่างรุนแรง แต่อีกด้านหนึ่งก็เหมือนเป็นการสร้างงานให้คนไทย --- ปัจจุบัน ห้างเทสโก้กว่า 400 สาขา ได้ทำให้มีการจ้างงานคนไทยกว่า 28,000 คน


"เรายังคงจะลงทุนในประเทศนี้ต่อ เปิดสาขาใหม่ เพื่อคืนกำไรให้กับผู้บริโภคชาวไทย ด้วยสินค้าราคาถูกที่มีคุณภาพ" โฆษกของค้าปลีกข้ามชาติสัญชาติอังกฤษกล่าว "แต่ยังไงก็ตาม เราก็ยังมีความกังวลในความไม่แน่นอนว่าจะมีการกีดกันผู้ลงทุนต่างชาติรายใหม่"


ทั้งนี้จากข้อมูลทางด้านการค้าของสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย พบว่าโครงการต่างๆ ของนักลงทุนอังกฤษลดจำนวนลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว --- สำหรับบรรยากาศการลงทุนในไทยของบรรดานายทุนข้ามชาติ เรื่องผลกระทบจากการเมืองและอุดมการณ์ชาตินิยมที่หลงยุค ยังคงเป็นปฏิปักษ์ต่อการพัฒนาทุนนิยมในประเทศไทย


ประกอบการเขียน :


ขยับ"ไทย"ที่15ของโลก ประเทศลงทุนสะดวก


Ikea shelves entry into uncertain Thai climate


Ikea delays Thai plans as government moves to tighten foreign ownership laws  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net