Skip to main content
sharethis

ห่างไปไม่กี่ร้อยกิโลเมตรจากกรุงเทพฯ แต่เรื่องราวของที่นั่นดูเหมือนห่างไกลยิ่งกว่านั้นมากนัก ชาวบ้านราษีไศล ชาวบ้านหัวนา จ.ศรีสะเกษ กำลังต่อสู้ดิ้นรนในเรื่องที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ หลายคนไม่เคยสนใจ เรื่องที่มีประวัติความ (เดือดร้อน) เป็นมายาวนาน เรื่องที่กลไกต่างๆ ยังคงแก้ปัญหาไม่ได้มาจนปัจจุบัน หากชีวิตไม่เร่งรีบจนเกินไป รายงานชิ้นนี้จะเปิดโลกของท่านไปสู่ดินแดนไกลโพ้น เพื่อทำความรู้จักและทำความเข้าใจปัญหาว่า ทำไมชาวบ้านต้องบุกยึดเขื่อน (อันที่จริงแค่เพียงยึดข้างเขื่อน) เหมือนที่แล้วมา และถึงเวลาหรือยังที่จะสรุปบทเรียนว่าด้วยโครงการพัฒนาที่มีชื่อว่า "เขื่อน"


 


 


000000


 


สนั่น ชูสกุล



 


2.  โครงการเขื่อนหัวนา


 


เขื่อนหัวนาเป็นเขื่อนคอนกรีต ขนาด 14 บานประตู กั้นแม่น้ำมูนที่บริเวณบ้านกอก   .หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ ก่อนที่แม่น้ำชีจะไหลบรรจบกับแม่น้ำมูนที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เป็นเขื่อนตัวท้ายสุดของโครงการ โขง ชี มูล และเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโครงการ โขง ชี มูล มีระดับเก็บกักน้ำที่  115  .รทก.ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำทอดยาวตามแม่น้ำมูนระยะทาง 90 กิโลเมตร ท้ายน้ำจรดบานประตูเขื่อนราษีไศล และทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาด 18.11 ตร.กม. มีปริมาตรความจุ 115.62 ล้านลูกบาศก์เมตร วัตถุประสงค์การก่อสร้างโครงการเพื่อจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร มีพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 154,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 61 หมู่บ้านในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลฯ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด 2,531.74 ล้านบาท 


 


ส่วนพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ที่ผ่านมาไม่เคยถูกระบุไว้ในเอกสารของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (โดยในเวทีเปิดเผยข้อมูลโครงการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2543 ณ ศาลาประชาคม จังหวัดศรีสะเกษ นายช่างหัวหน้าโครงการเขื่อนหัวนาชี้แจงว่ายังไม่ทราบพื้นที่ผลกระทบที่แท้จริง)


 


เขื่อนหัวนาเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2535 ก่อนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการโขง ชี มูล จะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2536 ส่วนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เดิมกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ประเด็นการศึกษาไม่ครอบคลุมตามที่กฎหมายกำหนด สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม จึงให้นำมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป 


 


            ปัจจุบันเขื่อนหัวนา อยู่ระหว่างการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ที่มีมติให้ยุติการดำเนินการใดๆ โดยเฉพาะการถมแม่น้ำมูนจนกว่าจะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมทั้งตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎร แต่การดำเนินการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม มีเพียงการแต่งตั้งคณะกรรมการ ฯ ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ สำหรับการตรวจสอบทรัพย์สินอยู่ในระหว่างการดำเนินการ อย่างไรก็ตามระหว่างรอการศึกษาผลกระทบตามมติคณะรัฐมนตรี ได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอกันทรารมย์ ให้ทำคันดินกั้นแม่น้ำมูนเดิมโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ส่วนกรมชลประทานเสนอให้เก็บกักน้ำในระดับ 114 ม.รทก. โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบเช่นเดียวกัน      


 


2.1 ผลประโยชน์จากเขื่อนหัวนา


 


โครงการเขื่อนหัวนา ระบุว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภค เกษตรชลประทาน มีประชาชนที่ได้รับประโยชน์โดยตรง 61 หมู่บ้านของจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลฯ มีการเก็บกักน้ำสองระยะคือ ระยะแรกเก็บน้ำที่ระดับ 114.00 ม.รทก. (ใช้น้ำภายในประเทศ) ระยะที่สองเก็บกักน้ำที่ ระดับ 115.00 ม.รทก. (เมื่อมีการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามา) สามารถสูบน้ำช่วยเกษตรกรรมในพื้นที่เพื่อเพาะปลูกในระยะแรกได้ประมาณ 77,300ไร่ ในฤดูแล้ง และ 154,000 ไร่ ในฤดูฝน


 


2.2  ผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา


 


            โครงการเขื่อนหัวนา นอกจากเขื่อนขนาด 14 บานประตู ซึ่งสร้างกั้นลำน้ำมูนที่บ้านกอก ต.หนองแก้ว และพนังกั้นน้ำ ที่เสริมตลิ่งและปิดกั้นลำน้ำสาขาที่จะไหลลงแม่น้ำมูนแล้วยังรวมถึงการดำเนินการของราชการที่ต้องการขับเคลื่อนให้โครงการเขื่อนหัวนาบรรลุวัตถุประสงค์ ดังนั้นผลกระทบของโครงการเขื่อนหัวนา ที่จะกล่าวถึงจะครอบคลุมความหมายที่กล่าวถึงข้างต้นทั้งหมด เมื่อชาวบ้านเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์ มักถูกตั้งคำถามว่า " เขื่อนยังสร้างไม่เสร็จ จะเดือดร้อนอะไร?"  เป็นคำถามที่ทิ่มแทงใจชาวบ้านตลอดมา จากการศึกษาพบว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการเขื่อนหัวนา แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นและส่งผลเสียหายแล้วกับผลกระทบทางด้านจิตใจที่ต้องวิตกกังวลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


 


            2.3 ผลกระทบที่เกิดขึ้นและส่งผลเสียหายแล้ว


 


(1) การสูญเสียที่ดินจากการสร้างเขื่อนและพนังกั้นน้ำ


 


                        การสร้างหัวงานโครงการเขื่อนหัวนา กรมพัฒนาฯ ได้จ่ายค่าทดแทนที่ดินบริเวณหัวงาน ทั้งหมด 293 ไร่ แบ่งเป็นที่ดิน น.ส.3 ก.จำนวน 68 ไร่ ที่ดิน ส.ค.1 จำนวน 220 ไร่ และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์แต่มีตอฟาง (ร่องรอยการทำประโยชน์) จำนวน 5 ไร่ เป็นที่ดินทั้งหมด 29 แปลง ของชาวบ้าน 27 ครอบครัว ยังมีที่ดินอีกจำนวน 31 แปลง จำนวน 350 ไร่ ที่ยังไม่ได้รับค่าทดแทน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์และมีสภาพเป็นหัวไร่ปลายนา และเป็นพื้นที่ทาม รวมพื้นที่ที่สูญเสียจากการก่อสร้างหัวงานทั้งหมดประมาณ 700 ไร่ นอกจากการสร้างหัวงานแล้วในช่วงปี 2536 กรมพัฒนาฯ ได้ก่อสร้างพนังกั้นน้ำ เพื่อเสริมตั้งและปิดกั้นลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำมูน บริเวณบ้านหนองบัว บ้านโพนทราย บ้านอีปุ้ง บ้านโนนสังข์ บ้านหนองโอง บ้านหนองเทา บ้านเหม้า บ้านเปือย บ้านหนองแก้ว โดยอ้างว่าเป็นการลดผลกระทบของโครงการ การก่อสร้างพนังกั้นน้ำมีลักษณะเดียวกันกับพื้นที่หัวงานคือจ่ายค่าชดเชยเฉพาะที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มีตอฟางเท่านั้น โดยที่ชาวบ้านไม่มีโอกาสต่อรองค่าทดแทน แต่ปัญหาที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ ที่บ้านหนองโอง ต.โนนสังข์ บริษัทรับเหมาไปขุดดินในที่สาธารณะของหมู่บ้านมาทำพนังกั้นน้ำ เมื่อชาวบ้านร้องเรียนกรมพัฒนาฯ ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของบริษัทรับเหมา 


 


                        (2) การไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ตามปรกติ การสร้างพนังกั้นน้ำของโครงการเขื่อนหัวนา ทางโครงการได้ชี้แจงให้ชาวบ้านทราบว่าเป็นการลดพื้นที่ผลกระทบไม่ให้น้ำจากเขื่อนทะลักเข้าที่นาชาวบ้าน แต่เนื่องจากแม่น้ำคือจุดศูนย์รวมของน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ เมื่อฝนตกน้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่แม่น้ำ แต่เมื่อไหลลงมาติดพนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำของพนังกั้นน้ำไม่สามารถระบายได้ทัน ทำให้เกิดน้ำเอ่อขังในที่นาของชาวบ้าน  โดยมากสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดประมาณเดือนสิงหาคม - กันยายน  หลังจากชาวบ้านดำนาเสร็จแล้ว ทำให้ชาวบ้านต้องทำนาสองครั้งแต่ได้เก็บเกี่ยวครั้งเดียว


                        ในปี 2543 ในฤดูน้ำหลาก พนังกั้นน้ำบริเวณ บ้านโนนสังข์ ต.โนนสังข์  ได้พังลงทำให้น้ำท่วมเอ่อเข้ามาในที่นาของชาวบ้าน ทำให้ข้าวของชาวบ้านได้รับความเสียหาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เคยได้รับการศึกษาตรวจสอบหรือแก้ไขใดๆ จากโครงการ


 


                        (3)  การสูญเสียสิทธิในที่ดิน ช่วงปี 2531 - 2536 กรมที่ดินร่วมกับสภาตำบลหนองแค ต.เมืองคง บัวหุ่ง หนองอึ่ง ส้มป่อย อ.ราษีไศล และสภาตำบลรังแร้ง อุทุมพรพิสัย ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ในพื้นที่ทาม สองฝั่งแม่น้ำมูน ต่อมาในปี 2542 จึงมีการแจ้งแก่ชาวบ้านว่า ที่ดินดังกล่าวกรมที่ดินได้ส่งมอบให้กรมพัฒนาฯ สร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนหัวนาแล้ว


 


                        การออก นสล. มีการซอยพื้นที่เป็นแปลงย่อยแล้วทยอยออกเป็นแปลง แต่เมื่อนำมาทาบในระวางของกรมที่ดิน จะเห็นว่าเป็นแปลงต่อกันครอบคลุมพื้นที่ทามแทบทั้งหมด ในพื้นที่ 6 ตำบล นายจันทร์ เข็มโคตร เล่าว่า  "ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ในพื้นที่ แอบนำนายช่างกรมที่ดินออกไปรางวัดแนวเขต นสล. บางแปลงแอบไปวัดกันตอนกลางคืน" ทำให้ที่ทำกินของชาวบ้านที่ได้ถือครองใช้ในการทำกินมาอย่างยาวนาน ทั้งที่ที่ดินบางส่วนมีเอกสารหลักฐานรับรองสิทธิ์ในลักษณะต่างๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน อยู่ในแนวเขตของ นสล. (หมายเหตุ-อ่านล้อมกรอบ)


                        หลังจากการออก นสล. ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำกินได้ตามปรกติ โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลรังแร้ง องค์การบริหารส่วนตำบล ประกาศห้ามชาวบ้านไม่ให้เข้าไปทำกินในพื้นที่สาธารณะ และคัดค้านไม่ให้คณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สินสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนหัวนา อ.อุทุมพรฯ รังวัดพื้นที่ของชาวบ้าน


 


                        (4) ผลกระทบด้านจิตใจที่เกิดจากความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดในอนาคต   ผลกระทบดังกล่าวเกิดจากการบิดเบือนข้อมูลและปิดกั้นการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ บวกกับประสบการณ์ทั้งที่เกิดขึ้นกับในพื้นที่ตนเองและพื้นที่ใกล้เคียง ความวิตกกังวลของชาวบ้านมีดังต่อไปนี้


                        - ความกังวลว่าจะต้องถูกอพยพโยกย้ายบ้านเรือนของชาวบ้านหนองโอง


                        ตามที่นายนรินทร์ ทองสุข นายช่างโครงการเขื่อนหัวนา ได้เข้ามาประชุมชาวบ้านบ้านหนองโอง ต.โนนสังข์ ในปี 2542 โดยแจ้งให้ชาวบ้านยุติการสร้างบ้านหรือต่อเติมบ้านไว้ก่อน เพราะการสร้างเขื่อนหัวนาจะทำให้น้ำท่วมต้องอพยพชาวบ้านประมาณ 30 หลังคา แต่ชาวบ้านไม่ยอมรับและยืนยันว่าชาวบ้านอยู่กันเป็นชุมชน ถ้าย้ายก็ต้องย้ายด้วยกัน หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบหายไปกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กรมชลประทาน จังหวัดศรีสะเกษไม่มีหน่วยงานใดติดต่อกับชาวบ้านเรื่องการอพยพโยกย้ายอีกเลย สร้างความวิตกกังวลให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะในช่วงปี 2447 นายเจียง  จันทร์แจ้ง เล่าว่า "นายถนอม ส่งเสริม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้ไปชี้แจงกับชาวบ้านที่บ้านหนองหวาย ต.โนนสังข์ ว่าตนจะขอให้คณะรัฐมนตรีมอบอำนาจให้ทางจังหวัด ดำเนินการโครงการเขื่อนหัวนาต่อ และจะทำให้เสร็จภายใน 3 เดือนก่อนเกษียณ" ชาวบ้านยิ่งวิตกกังวลเพิ่มขึ้น


 


-           ความกังวลว่าจะต้องสูญเสียที่ดินทำกินของชาวบ้าน 2 ฝั่งแม่น้ำมูน


 


                        การสูญเสียที่ดินเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับชาวนา ที่สำคัญการสูญเสียที่ดินจากการสร้างเขื่อนหัวนา ชาวบ้านไม่มีหลักประกันใดๆ เลยว่าจะได้รับค่าทดแทนหากที่ดินถูกน้ำท่วมเสียหาย ความกังวลในข้อนี้คือ สาเหตุสำคัญที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ หากพิจารณาข้อเรียกร้องตั้งแต่เริ่มแรกจะเห็นได้ว่าวนเวียนอยู่ในเรื่องที่ดิน ตั้งแต่การเรียกร้องให้เปิดเผยพื้นที่ผลกระทบ การปักหลักที่ระดับเก็บกักน้ำ การเรียกร้องให้ศึกษาผลกระทบ ล้วนแล้วแต่ต้องการจะรู้ว่าที่ของตนจะได้รับผลกระทบหรือไม่ สุดท้ายจึงเรียกร้องให้มีการรังวัดพื้นที่ ที่ชาวบ้านคาดว่าจะได้รับผลกระทบเพื่อเป็นหลักประกันไว้ตั้งแต่ก่อนเขื่อนกักเก็บน้ำ


 


            สิ่งที่เพิ่มความกังวลให้กับชาวบ้านคือ ท่าทีของทางราชการ อธิบดีกรมพัฒนาฯ บอกว่ายังไม่สามารถระบุพื้นที่ผลกระทบได้ ชาวบ้านจึงต้องเรียกร้องให้ปักหลักระดับน้ำ แต่หลังจากปักระดับน้ำแล้ว ชาวบ้านตรวจสอบในฤดูน้ำหลากพบว่าไม่สามารถเชื่อถือได้ จึงเปลี่ยนให้มารังวัดพื้นที่ ระหว่างการรังวัดก็มีข่าวตลอดว่า เขื่อนจะปิดน้ำ อีกส่วนหนึ่งของความกังวลในประเด็นดังกล่าวมาจากประสบการณ์ของเขื่อนราษีไศล ที่จนถึงวันนี้ยังจ่ายค่าชดเชยไม่เสร็จ และยังมีปัญหาการทับซ้อน และการพิสูจน์การครอบครองและทำประโยชน์ที่ไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อยุติ


 


-           ความกังวลว่าจะสูญเสียพื้นที่บุ่งทาม


 


            การหาอยู่หากินในบุ่งทาม คือ วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านลุ่มแม่น้ำมูนตอนกลาง สืบสานมาจากบรรพบุรุษ  เป็นวิถีชีวิตที่ควบคู่กับการทำการเกษตร  ดังนั้น หากสูญเสียพื้นที่ทาม ในการหาอยู่หากิน เป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง เห็นได้จาก การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านทำการศึกษาหัวข้อป่าทาม เป็นหัวข้อแรกที่ชาวบ้านทำการศึกษา และจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่าในพื้นที่เขื่อนหัวนา พบพืชทามประเภทไม้พุ่มจำนวน  32 ชนิด  ได้แก่ ไม้กระโดนต้น ไม้ค้าริ้น ฯลฯ  ประเภทไม้เครือพบ  จำนวน  25 ชนิด  ได้แก่  เครือหมากพิพ่วน  เครือเบ็นน้ำ เครือหางนาค  ฯลฯ   ประเภทต้นไผ่พบ   4 ชนิด  ได้แก่ ไผ่ป่า  ไผ่โจด  ไผ่น้อย  ไผ่หวาน  ประเภทหัวพบ  4 ชนิด  ได้แก่ มันแซง มันนก กลอย เผือก  หญ้าพบ จำนวน 24 ชนิด  ได้แก่  หญ้าแห้วหมู  หญ้าหวาย  ฯลฯ  เห็ดพบจำนวน 48 ชนิด  ได้แก่ เห็ดเผิ่งทราย  เห็ดปลวกจิก  เห็ดเผิ่งทาม  เห็ดน้ำหมาก  ฯลฯ พืชที่ใช้เป็นผักพบจำนวน  51  ชนิด ได้แก่  ผักกูด  ผักเม็ก ผักล่าม  ฯลฯ  ประเภทพืชผักในน้ำพบ  31  ชนิด ได้แก่ ผักบักกระจับ ผักอีฮีน ฯลฯ ประเภทพืชผลิตหัตถกรรม  เช่น กก  ผือ  ผักตบชวา พื้นที่ป่าดิบแล้งพบไม้ยืนต้นจำนวน 16 ชนิดได้แก่ ต้นแดง ต้นขี้เหล็ก สะเดา ฯลฯ


 


            สัตว์ป่าในพื้นที่ทามมี ประเภทสัตว์ปีกจำพวกนกรวบรวมได้ถึง 34 ชนิด ได้แก่ นกเหลืองอ่อน  นกกระสา  นกกาบบัว  ฯลฯ  สัตว์จำพวกแมลง  รวบรวมได้ถึง 38 ชนิด ได้แก่  แมลงจี่นูนช้าง จักจั่น แมลงคา  ฯลฯ ประเภทสัตว์บก รวบรวมได้ถึง 11 ชนิด  ได้แก่  เห็นอ้มเห็นหางก้าน กระต่าย ฟางฟอน ฯลฯ  สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ รวบรวมได้ถึง 17 ชนิด  ได้แก่   ตระกวด แลน เฮี้ย เต่า กบ เขียด ฯลฯ  สัตว์เลื้อยคลาน  รวบรวมได้ถึง 11 ชนิด  ได้แก่  งูเห่า  งูจงอาง งูทำทาน    ฯลฯ


 


-           ความกังวลว่าจะเกิดการแพร่กระจายของดินเค็มน้ำเค็ม


 


                        คลองชลประทานและสถานีสูบน้ำที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ เป็นหลักฐานยืนยันว่าชาวบ้านมีประสบการณ์การแพร่กระจายของดินเค็มน้ำเค็มเป็นอย่างดี สถานีสูบน้ำบ้านหลุบโมก ต.เมืองคง สถานีสูบน้ำบ้านท่า ต.ส้มป่อย  .ราษีไศล สถานีสูบน้ำบ้านหนองบัว ต.หนองบัว อ.กันทรารมย์ ล้วนเป็นสถานีสูบน้ำที่เคยเกิดปัญหาดินเค็มน้ำเค็ม ตั้งแต่หลังเปิดใช้ได้ เพียง 2 -3 ปีเท่านั้น ยังมีเพียงสถานีสูบน้ำบ้านท่า อ.ราษีไศล ที่มีการสูบน้ำขึ้นมาใช้ในฤดูฝน ช่วงฝนทิ้งช่วงเท่านั้น


 


                        นอกจากประสบการณ์ตรงของชาวบ้านเองแล้ว การแพร่กระจายของดินเค็มน้ำเค็มจากการสร้างเขื่อนราษีไศล ที่บ้านเหล่าข้าว ต.ยางคำ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด จนทำให้คณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ต้องสั่งเปิดเขื่อนราษีไศล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ความกังวลของชาวบ้านไม่ใช่เป็นความไร้เหตุผล เพราะเป็นหนึ่งในประเด็นที่คณะผู้ชำนาญการของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมได้ท้วงติงโครงการ โขง ชี มูลไว้เช่นกัน   


 


-           ความกังวลว่าจะสูญเสียแหล่งดินปั้นหม้อ


 


            ดินปั้นหม้อ เป็นดินที่มีลักษณะพิเศษ ต่างจากดินทั่วไป คือต้องมีช่วงที่ถูกน้ำท่วม และโผล่พ้นน้ำ ที่สำคัญคือ ดินดังกล่าวจะเกิดการสร้างตัวขึ้นใหม่ตลอดแม้ว่าในฤดูแล้ง ชาวบ้านขุดมาปั้นหม้อ แต่ถึงช่วงฤดูน้ำหลากดินก็จะสร้างตัวขึ้นใหม่แทนที่ดินที่ถูกขุดไป ตลอดความยาวของแม่น้ำมูนที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนหัวนา ระยะทาง 90 กิโลเมตร พบแหล่งดินปั้นหม้อ 3 แห่ง คือ บ้านโพนทราย ต.หนองบัว อ.กันทรารมย์ บ้านโก  .ส้มป่อย อ.ราษีไศล  บ้านโนน ต.รังแร้ง อ.อุทุมพร แต่ชาวบ้านที่ปั้นหม้อยังมีที่บ้านโพนทรายกับบ้านโกเท่านั้น ที่บ้านโนน ก็เคยมีการปั้นแต่เลิกทำไปนานแล้ว   


 


            อาชีพปั้นหม้อเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการได้อย่างดีอาชีพหนึ่ง ที่บ้านโพนทราย มีชาวบ้านที่ปั้นหม้อเป็นอาชีพ โดยที่ไม่มีนา จำนวน 20  ครอบครัว  ในช่วงฤดูที่ตีหม้อได้ คือเดือนพฤศจิกายน - เมษายน  มีรายได้เฉลี่ยครอบครัว ละ 8,000 - 10,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับความขยันและแรงงานของแต่ละครอบครัว ในช่วงที่มีการรังวัดที่ดินที่บ้านโพนทราย ชาวบ้านที่ปั้นหม้อยิ่งมีความกังวลเนื่องจาก แหล่งดินปั้นหม้อเป็นของส่วนรวมที่คนปั้นหม้อลงหุ้นกันซื้อมาเป็นพื้นที่ส่วนรวม ชาวบ้านกังวลว่าถ้าน้ำเขื่อนท่วมจะประกอบทำมาหากินอะไรต่อไป


 


                        นอกจากความกังวลในประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว ชาวบ้านยังมีความกังวลเกี่ยวกับความเสียหายของแหล่งโบราณวัตถุ โนนบักค้อ ที่บ้านโนนสัง การแพร่ระบาดของไมยราพยักษ์  การสูญเสียอาชีพประมง การสูญเสียอาชีพหัตถกรรมกกผือของบ้านหนองกก อ.ราษีไศล การสูญเสียพื้นที่เลี้ยงวัวควาย การสูญเสียประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาเกี่ยวกับทาม และผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นแล้วที่เขื่อนราษีไศล


 


 


 


หมายเหตุ


แม้ว่า นสล. ไม่ใช่หนังสือสำคัญสำหรับแสดงกรรมสิทธิ์เหมือนอย่างโฉนดที่ดินเป็นแต่หนังสือที่ออกให้เพื่อแสดงแนวเขตที่ดินของทางราชการเท่านั้น แต่พื้นที่ดินที่อยู่ในเขต นสล. ก็คือพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304  บัญญัติว่า สาธารณะสมบัติของแผ่นดินนั้นรวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2509 พิจารณาตัดสินเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า "ที่ดินที่น้ำยังคงท่วมทุกปีในฤดูน้ำ ต้องถือเป็นที่ชายตลิ่ง อันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ใดหามีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองไม่


 


อ่านย้อนหลัง


รายงาน : เขื่อนราษีไศล - เขื่อนหัวนา บาดแผลจากโครงการโขง ชี มูล ที่รอเยียวยา (1)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net