ข่าวมอนิเตอร์ประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2550

สุรยุทธ์แสดงจุดยืนไทยต่อพม่ารับพูดไม่เต็มปาก
สยามรัฐ : พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงบทบาทของประเทศกับสถานการณ์ในพม่าในรายการเปิดบ้านพิษณุโลกว่า บทบาทของไทยในเรื่องนี้ไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่นๆ ได้พูดในนามอาเซียนในเวทีโลก และได้แสดงท่าทีตั้งแต่ต้นในฐานะที่เป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ด้วยกันว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพระภิกษุ คิดว่ารัฐบาลพม่าได้รับทราบและเข้าใจ และรัฐบาลไทยยังได้ส่งจดหมายเพื่อแสดงจุดยืนตรงนี้ เป็นลายลักษณ์อักษรตามไปด้วย อย่างไรก็ตามต้องคำนึงวิธีการดำเนินการ เพราะ หากรู้สึกไม่ดีต่อกันมากจนเกินไปก็จะเป็นปัญหากับรัฐบาลใหม่

 

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า การดำเนินการของรัฐบาลต้องคำถึงตัวเองด้วย จะไปพูดเรื่องหลักการประชาธิปไตยมากไปก็ไม่ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลนี้มาจากการแต่งตั้งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถ้าไปพูดอะไรที่อยู่ในหลักการมากเกินไป เขาอาจจะถามกลับมาได้เหมือนกันแต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราก็คงจะพูดอะไรได้มากกว่านี้

 

 

นักวิชาการจี้เลิก "อัยการศึก" ปชป.กังขาตรึง "พื้นที่สงบ"
กรุงเทพธุรกิจ : ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุไม่เห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ต่างๆ ของฝ่ายทหารอยู่แล้ว โดยเฉพาะการไม่ยอมยกเลิกกฎอัยการศึกใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งที่ประชุม สมช.ให้เหตุผลว่าเป็นจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดน ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนัก

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเรื่องเดียวกันว่า อยากให้รัฐบาลเร่งทำความเข้าใจว่า การประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในบางจังหวัด และยังประกาศเพิ่มอีก 3 จังหวัดนั้น มีเหตุผลอะไร โดยเฉพาะการประกาศกฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนไทย-ลาว ซึ่งไม่มีปัญหาด้านความมั่นคง

 

 

แพทย์เผยมหันตภัยเอดส์ทำเด็กไทยกำพร้าเกือบ4แสน
แนวหน้า : นพ.วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า ปัจจุบันรูปแบบและพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดของการติดเชื้อเอชไอวีได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กลุ่มแม่บ้านและคู่สามีภรรยามีความเสี่ยงสูงมากขึ้น จากสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ในปี 2548 พบร้อยละ 40 เป็นการติดเชื้อจากสามีสู่ภรรยา ร้อยละ 10 เป็นสามีที่ติดเชื้อจากภรรยา และร้อยละ 22 ติดเชื้อจากกลุ่มชายรักชายด้วยกัน เฉพาะในปี 2550 นี้ คาดว่าจะมีสัดส่วนของผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ เป็นวัยรุ่นหญิง และแม่บ้านที่ติดเชื้อจากสามี ประมาณร้อยละ 45 และเป็นกลุ่มชายรักชาย ร้อยละ 20 การติดเชื้อเอชไอวีในไทย ร้อยละ 87 ติดมาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน

 

นพ.วัลลภ กล่าวต่อไปว่า การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคม โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่มีครอบครัว มีลูกแล้ว ทำให้มีเด็กกำพร้าพ่อหรือแม่ หรือกำพร้าทั้ง 2 คน มากขึ้น จากการสำรวจตัวเลขเด็กกำพร้าที่ผู้ปกครองเสียชีวิตจากโรคเอดส์ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2527-2549 มีเด็กที่มีพ่อแม่ติดเชื้อ จำนวน 500,000 คน โดยมีเด็กที่กำพร้าจากโรคเอดส์แล้ว จำนวน 380,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กกำพร้าทั้งพ่อและแม่ จำนวน 30,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในการป้องกันปัญหาจากโรคเอดส์ดังกล่าว สธ.มุ่งความสำคัญที่ครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันที่เป็นรากฐานที่สำคัญของสังคม โดยเริ่มจากการรณรงค์ให้สามีภรรยาหรือคู่รัก ตระหนักถึงการป้องกันการติดเชื้อเอดส์จากการมีเพศสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ถุงยางอนามัยอย่างเหมาะสม รวมทั้งชี้ให้เห็นความเสี่ยงและความสำคัญในการป้องกันการรับ/แพร่เชื้อเอดส์ภายในครอบครัว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปรับทัศนคติและพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อเอดส์ครอบคลุมประชาชนยิ่งขึ้น มั่นใจว่าหากทุกครอบครัวตระหนักภัยโรคเอดส์ จะเป็นจุดเริ่มต้นกล่อมเกลาสมาชิกในครอบครัวใช้ชีวิตที่ปลอดภัยจากโรคเอดส์ได้

 

 

องค์ทะไลลามะจะใช้โอกาสรับรางวัลในสหรัฐ เรียกร้องจีนแก้ปัญหาทิเบต
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : โลดี กยารี ทูตพิเศษประจำองค์ทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่แนชั่นแนล เพรส คลับในสหรัฐว่า องค์ทะไล ลามะจะใช้โอกาสที่เดินทางมาร่วมพิธีเพื่อรับรางวัลคองเกรสชั่นนัล ที่กรุงวอชิงตันของสหรัฐวันพุธ เพื่อร้องขอให้จีนแก้ปัญหาทิเบต พร้อมบอกว่า เขาเชื่อว่าการตัดสินใจมอบรางวัลนี้แก่องค์ทะไลลามะ เป็นการส่งสัญญาณของสหรัฐไปยังจีนว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับประเด็นทิเบต และความพยายามในการโดดเดี่ยวองค์ทะไลลามะของจีนนั้น ไม่ได้ผล

นาย กยารี ยังบอกอีกว่า องค์ทะไลลามะเห็นว่า การมาเยือนสหรัฐเพื่อรับรางวัลในครั้งนี้เป็นโอกาสที่สำคัญครั้งหนึ่ง ที่จะเน้นย้ำถึงสิ่งที่ท่านเชื่อให้แก่บรรดาผู้นำจีนได้เข้าใจว่า ปัญหาระหว่างทิเบตและจีนเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ และการได้รางวัลนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง และจะให้กำลังใจและความหวังอย่างมากแก่ชาวทิเบต

 

องค์ทะไลลามะจะเข้ารับรางวัลเหรียญทองจากสภาคองเกรสของสหรัฐในวันพุธนี้ และประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชของสหรัฐจะขึ้นกล่าวปาฐกถาในพิธีมอบรางวัลนี้ด้วย โดยรางวัลนี้ นับเป็นรางวัลทรงเกียรติขั้นสูงสุดที่สภาคองเกรสจะให้แก่พลเรือน /ในอดีต มีผู้ที่เคยได้รับรางวัลนี้เช่น แม่ชีเทเรซ่า/ อดีตประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดล่าของแอฟริกาใต้ /พระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 รวมถึงอดีตประธานาธิบดีโรนัล เรแกน และนางแนนซี่ เรแกน อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 สหรัฐ 

 

เมื่อวันพฤหัสบดี โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนระบุว่า จีนขอประท้วงสหรัฐกรณีตัดสินใจมอบรางวัลทรงเกียรตินี้แก่องค์ทะไลลามะ และจีนคัดค้านอย่างแข็งขันต่อการที่ประเทศหรือบุคคลใดก็ตาม ใช้ประเด็นทะไลลามะ เพื่อแทรกแซงกิจการภายในของจีน โดยจีนมองว่า องค์ทะไลลามะซึ่งได้ลี้ภัยไปอยู่ในอินเดียตั้งแต่ปี 2502 เป็นผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนทิเบตจากจีน 

 

 

แฉ! รัฐบาลทหารพม่าขังโหดนักโทษการเมืองเกือบพันคน

ผู้จัดการออนไลน์ : นางนิลาร์ เต็ง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวพม่า ซึ่งเคยเข้าร่วมกับแกนนำนักศึกษาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปี 1988 ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับซีเอ็นเอ็น ขณะกำลังหลบซ่อนตัวอยู่ในพม่า ว่า นักโทษทางการเมืองชาวพม่าอย่างน้อย 900 คน ที่ถูกรัฐบาลกวาดล้างไปจากสถานการณ์ประท้วงเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมถึงผู้ประท้วงบางส่วนที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น ถูกคุมขังในเรือนจำโมห์ยี ในกรุงย่างกุ้ง ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย โดยนางเต็ง ระบุว่า ห้องขังต่างๆ มีสภาพที่คับแคบ และมีการกักขังนักโทษอย่างแออัด จนนักโทษไม่สามารถที่จะล้มตัวลงนอนได้ นอกจากนี้ ในห้องขังยังไม่มีห้องสุขา น้ำดื่มสะอาด และไม่มีอาหารที่เพียงพอ
       

ทั้งนี้ การประท้วงที่นำโดยพระสงฆ์พม่าเริ่มขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องรัฐบาลกรณีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น มีอดีตแกนนำนักศึกษาในยุค 1988 เข้าร่วมด้วย ส่วนเมื่อเดือนก่อน เว็บไซต์อิระวดีที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหารพม่า ระบุว่า นางนิลาร์ เต็ง และบรรดาแกนนำประท้วงในยุค 1988 กำลังถูกตามล่าจากรัฐบาลทหารพม่าจนถึงขณะนี้

 

 

พม่าบอก "เสียใจ" ยูเอ็นประณามใช้กำลังปราบผู้ประท้วง

ผู้จัดการออนไลน์ : สถานีโทรทัศน์ของพม่า รายงานว่า พม่ารู้สึกเสียใจต่อคำแถลงของประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อวันพฤหัสบดี (11) แม้ว่าสถานการณ์ในพม่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคและระหว่างประเทศก็ตาม
       
อย่างไรก็ตามรัฐบาลพม่าไม่ได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นที่ขอให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง แต่ระบุว่าพม่าจะยังคงให้ความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และในโลก รวมถึงยูเอ็น ในขณะที่จะเดินหน้าการปฏิรูปสู่ระบอบประชาธิปไตยตาม "แผนโร้ดแมป" ที่ได้วางไว้เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
       
สถานีโทรทัศน์ของพม่า รายงานด้วยว่า รัฐบาลพม่าจะจัดให้มีการเดินขบวนครั้งใหญ่ในนครย่างกุ้งในวันนี้ (13) เพื่อสนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ให้คำมั่นว่าจะจัดการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่กลับไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนแต่อย่างใด
       
ทั้งนี้แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวนับเป็นการเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการครั้งแรกของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น หลังเกิดเหตุประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าเมื่อเดือนที่แล้ว
       

"คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นขอประณามการใช้กำลังเข้าปราบปรามการประท้วงอย่างสันติในพม่า และขอเน้นย้ำความสำคัญในการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และผู้ที่ถูกจับกุมที่เหลือทั้งหมดโดยเร็ว " คำแถลงอย่างเป็นเอกฉันท์ระบุ
       
คำแถลงของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ซึ่งถูกลดความแข็งกร้าวลงมาเพื่อให้ได้รับความยินยอมจากจีนและรัสเซีย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกันเพื่อให้สถานการณ์ลดความรุนแรงลง และให้มีการแก้ปัญหาอย่างสันติ
       
นอกจากนี้แถลงการณ์ดังกล่าวยังเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่า "ตั้งเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อเปิดการเจรจาอย่างจริงจัง" กับออง ซาน ซูจี แกนนำฝ่ายค้าน" เพื่อให้ได้มาซึ่งความสมานฉันท์ในชาติซึ่งจะได้รับความสนับสนุนโดยตรงจากยูเอ็น
       
ด้านองค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวแสดงความยินดีต่อคำแถลงของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น แต่ระบุว่าคำแถลงดังกล่าวยังไม่รุนแรงพอ
       
"แน่นอนว่าเราหวังให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นออกมากล่าวอย่างหนักหน่วงมากกว่านี้ โดยน่าจะรวมถึงการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวอองซาน ซูจี และนักโทษคนอื่นๆ อย่างไม่มีเงื่อนไข" ไอรีน คาน เลขาธิการกลุ่มสิทธิมนุษยชนในลอนดอนกล่าว
       

สื่อของทางการพม่า รายงานว่า ผู้ที่ถูกจับกุมระหว่างการประท้วงกว่าครึ่งได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่แทบจะไม่มีการพูดถึงคนที่ถูกคุมตัวอีกอย่างน้อย 950 คน
       

ขณะที่บัน คี-มุน เลขาธิการยูเอ็น จะส่งอิบราฮิม แกมบารี ทูตพิเศษประจำยูเอ็น กลับมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งในสุดสัปดาห์นี้ เพื่อเจรจากับประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้เกี่ยวกับเรื่องของพม่า และเตรียมการในเรื่องการเยือนนครย่างกุ้งอีกครั้ง
       

ซัลไม คอลิซัด ทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น กล่าวว่า คำแถลงของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับแกมบารีในการเจรจากับรัฐบาลพม่าต่อไป
       
คอลิซัด ยังแนะให้บรรดานายพลในพม่าปฏิบัติตามคำแถลงของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น โดยเตือนว่า "เราจะไม่ผ่อนปรน เราจะยืนกรานเช่นนี้จนกว่าสถานการณ์จะเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง"
       
ทั้งนี้ทูตพิเศษประจำยูเอ็นจะเดินทางมายังประเทศไทยเป็นประเทศแรก ก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย จีน และญี่ปุ่น และหวังว่าจะได้กลับเข้าพม่าหลังจากนั้น

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท