"คนไทยพลัดถิ่น" ชะตากรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อ ต้นตอปัญหาเกิดจากรัฐไทย - พม่า หรือนักล่าอาณานิคม!? (1)

โดย องอาจ เดชา

 

 

"สุทิน กิ่งแก้ว" 1 ในกลุ่มที่ถูกเรียกว่า "คนไทยพลัดถิ่น"

 





 

"โคตรเหง้าผมเป็นคนไทย ปู่ย่าเป็นคนไทย ผมเกิดที่ปกเปี้ยน ที่ผมเกิดเป็นแผ่นดินไทย เราเรียนเราพูดภาษาไทย บรรพบุรุษบอกว่า เราเป็นคนไทย แต่แผ่นดินตรงนั้นถูกแบ่งให้ฝรั่ง เราจึงไม่ได้เป็นไทย เราไม่ได้พลัดถิ่น ถิ่นพลัดเราไป..."

 

สุทิน กิ่งแก้ว

 

 

เมื่ออยู่ในพม่า พวกเขาถูกเรียกว่า "ฉ่า" ซึ่งแปลว่า คนไทย

เมื่ออยู่ในพม่า พวกเขาถูกจัดไว้ในฐานะพลเมืองชั้นสอง ที่ถูกรัฐบาลทหารพม่ากระทำย่ำยีมาโดยตลอด

 

ครั้นเมื่อมาอยู่เมืองไทย พวกเขากลับถูกเรียกว่า "ไทยพลัดถิ่น" ถูกจัดและปฏิบัติในฐานะคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เป็น "ไทยเถื่อน" ไม่สามารถครอบครองที่ดิน ไม่สามารถจดทะเบียนสมรส ไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัด ไม่สามารถใช้สิทธิในการรักษาพยาบาล…ไม่...และไม่ ฯลฯ

 

ใช่...พวกเขากลายเป็น "คนไทยพลัดถิ่น" โดยไม่รู้ตัว กลายเป็นปัญหาที่ตนเองไม่ได้ก่อ

ซึ่งว่ากันว่า ต้นตอปัญหาจริงๆ นั้นเกิดจากรัฐไทย - พม่า และอังกฤษ นักล่าอาณานิคมที่มีส่วนร่วมในการสร้างปัญหานี้ขึ้นมาในครั้งนั้น ใช่หรือไม่!?

 

"สุทิน กิ่งแก้ว" จากเครือข่ายแก้ไขปัญหาการคืนสัญชาติคนไทย ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวบ้านคนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว บอกเล่าปัญหาเรื่องราวให้ "ประชาไท" ฟัง

 

"บ้านเกิดของผม ชุมชนที่ผมอยู่คือ ปกเปี้ยน จ.มะริด แต่ก่อนนั้น เมืองมะริด เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี ต่างก็เป็นแผ่นดินของประเทศสยามมาก่อน ต่อมาได้เสียดินแดนตรงนี้ให้กับอังกฤษไป แล้วตอนหลังกลายเป็นของพม่า ตอนนั้นตัวผมยังเล็กอยู่ แต่ก็เริ่มรับรู้อยู่เนืองๆ เมื่อคนแก่จะบอกเล่าให้ฟังอยู่เสมอว่า...แผ่นดินตรงนี้เป็นแผ่นดินไทย เราอยู่กันมานาน เราเป็นคนไทยทั้งหมด คนพม่าก็มีบ้างแต่เขาจะแยกอยู่อีกชุมชนหนึ่ง เป็นตลาด ถัดออกไป ทำให้รู้ สามารถแยกแยะกันออกว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นของคนไทย พื้นที่ตรงไหนเป็นของพม่า..."

 

"ปกเปี้ยน" เป็นชุมชนหนึ่งที่อยู่ในเขตตำบลปกเปี้ยน ของ จ.มะริด อยู่ติดทะเลฝั่งอันดามัน ซึ่งในต้นศตวรรษที่ 20 มีการแบ่งเมืองมะริด ออกเป็น 5 ตำบล คือ มะริด ปะลอ ตะนาวศรี ปกเปี้ยนและมะลิวัลย์ โดย ต.ปกเปี้ยนและ ต.มะลิวัลย์ 2 ตำบลนี้ มีคนไทย (สยาม)อาศัยอยู่กันมานาน

 

เมื่อดูภาพรวมทั้งหมด จะพบว่า ทั้ง จ.มะริด จ.ทวาย และ จ.ตะนาวศรี นั้น เดิมทีจะเป็นดินแดนของไทยมาก่อน กระทั่งมีการเจรจาเรื่องพรมแดนใหม่ระหว่างไทยกับอังกฤษ ซึ่งปกครองพม่าในขณะนั้น (ประมาณสมัยรัชกาลที่ 5)  ผลจากการแบ่งแยกพรมแดนในครั้งนั้น ได้ทำให้ประเทศไทยเสียเมืองเหล่านั้นให้กับพม่า ซึ่งส่งผลให้คนไทยที่อาศัยอยู่เดิมนั้น ต้องกลายเป็นคนพม่าไปโดยปริยาย

 

จากเอกสารระบุว่า กลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่ใน ทวาย มะริด ตะนาวศรี ซึ่งเป็นดินแดนไทยในอดีต ก่อนจะกลายเป็นเขตปกกครองภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ตามสนธิสัญญากำหนดเส้นเขตแดนที่ทำไว้ 3 ฉบับ คือ ปี 2441,2474 และ 2475 ภายหลังประเทศพม่าได้รับเอกราช และนับตั้งแต่ปี 2505 รัฐพม่าได้สถาปนาระบอบการปกครองสังคมนิยมขึ้น สร้างปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ เกิดสงครามระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลทหารพม่า

 

"ตอนแรก ปกเปี้ยน ก็เป็นเหมือนชุมชนชนบททั่วไป ซึ่งก่อนหน้านั้น ก็ทำมาหากินกันตามปกติสุข ไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อน แต่หลังจากที่มีการแบ่งแยกดินแดน พื้นที่ที่เราอยู่ก็ถูกรัฐบาลทหารพม่าเข้ามาจำกัดสิทธิเรามาโดยตลอด หนังสือเรียนได้เฉพาะผู้ชาย เผื่อจะได้บวชเป็นพระ แต่ผู้หญิงมีส่วนน้อยที่จะรู้หนังสือ สิทธิอย่างอื่นไม่มีเลย บางคนก็สามารถเรียนจบปริญญาได้ แต่ว่ารับราชการไม่ได้ เพราะในบัตรประชาชนของพม่าจะระบุชัดเจนว่าเราเป็นคนไทย  เพราะเขาไม่เชื่อใจเลย ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล หรือครูก็เป็นไม่ได้ ถ้าเป็นคนไทย..." สุทิน บอกเล่า 

 

กระทั่งในช่วงปี พ.ศ.2532-2533 เกิดวิกฤติในประเทศพม่า เงินตราของพม่าล่ม เริ่มเกิดปัญหารุนแรง วิถีชีวิตเริ่มขัดสน ขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ.2533-2534 เริ่มจะมีทหารพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานประจำการในเขตชุมชนคนไทย

 

สุทิน เล่าให้ฟังว่า ทหารพม่าเริ่มมีการจำกัดสิทธิอย่างชัดเจน  เช่น มีงานศพตอนหัวค่ำ ไปฟังพระสวดได้ แต่ 6 โมงเย็นเราต้องเข้าในชุมชนแล้ว ถ้าเกินกว่านั้นจะกลับไม่ได้แล้ว คนก็เริ่มกลัว เริ่มนึกถึงความเป็นความตาย

 

"...บางครั้งพระวัดหนึ่งไปสวดศพอีกหมู่บ้านหนึ่งแล้วกลับวัดไม่ได้ สถานการณ์เริ่มจะรุนแรงมากขึ้น เมื่อทหารพม่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับศาสนา มีการกดขี่ทุกอย่าง เวลาเรียกเราเข้าไปประชุมก็จะด่าตลอดว่า "แผ่นดินนี้เป็นของกู ผลไม้เป็นของมึง" เหมือนกับว่าแผ่นดินเป็นของเขา จะต้องการเอาอะไรก็ได้ เขาด่าเราทุกวัน"                                 

 

ปี 2535-2536 เขาเริ่มเข้ามายึดโรงเรียน วัด ที่เป็นวัดไทยมาก่อน ก็เริ่มมีการนำเอาพระพม่าเข้ามาแทรกซึม ปกครองแบบเบ็ดเสร็จ พยายามจะกลืนคนไทยที่นั่นให้หายไป โดยมีเป้าหมายไม่ให้ความเป็นไทยหลงเหลืออยู่ในดินแดนนั้น

 

 

 

 

 

 

ภาพวิถีชุมชนคนไทยในเขต จ.มะริด ที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย

ที่มาภาพ : www.chumchonthai.or.th

 

แน่นอน เพราะว่าชุมชนที่คนไทยอาศัยอยู่กันมาก่อนนั้น ย่อมมีขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิตที่ย่อมแตกต่างไปจากคนพม่าโดยทั่วไป ประกอบกับการรัฐบาลทหารพม่าไม่ปฏิบัติต่อคนไทยเหล่านี้อย่างเสมอภาค นั่นย่อมทำให้คนไทยกลุ่มนี้ คิดและตัดสินใจอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตไทย บริเวณ จ.ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และพังงา กันอย่างต่อเนื่อง

 

"ตอนนั้นผมก็มาคิดว่า ถ้าเราขืนอยู่ต่อไปความเป็นไทยคงไม่มีแล้ว หนังสือเขาก็บังคับให้เราเรียนหนังสือพม่า อายุ 6 ปีเขาก็บังคับให้เข้าโรงเรียนพม่าแล้ว จึงเริ่มปรึกษากับภรรยาว่า ถ้าเรายังอยู่ ลูกก็ไม่พ้นต้องกลายเป็นคนพม่าอย่างแน่นอน

 

ในที่สุด, สุทินและครอบครัว ก็เลยตัดสินใจหนีออกจากหมู่บ้าน พากันอพยพเข้ามาฝั่งไทย ในปี พ.ศ.2536

 

เมื่อข้ามมาอยู่ในไทย สุทินก็มาขึ้นทะเบียนที่อำเภอ รอนานหลายปี จนกระทั่งทางราชการเรียกตัวเข้าไปพบในช่วงประมาณปี 2539  ทางเจ้าหน้าที่บอกว่า "คุณจะได้ใบก็ต่อเมื่อต้องไปแปลงสภาพเป็นคนพม่าก่อน แล้วค่อยมาเป็นไทย ส่วนบัตรก็ถือไว้ก่อน จะออกให้เป็นสัญชาติพม่า ก็ถือเป็นพม่าไปเลย"

 

"ผมบอกไปตามตรง ว่ารับไม่ได้ ผมเป็นคนไทย บางคนบอกว่าผมพูดไทยชัด มาอยู่เมืองไทยนานแล้วหรือ มีคนถามผมว่า...แล้วมีอะไรที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นไทย ผมก็บอกว่า พวกเรามีประเพณีเดือนสิบเหมือนกับภาคใต้ มีลิเก มีบวชนาค ประเพณีเรามีเหมือนกันหมด แล้วจะเอาอะไรมาเปรียบ มาวัดถึงความเป็นคนไทยกัน พอเราบอกไป เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่าผมมาอยู่เมืองไทยนานแล้ว หาว่าผมมาเรียนรู้เอา ผมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรดี..."

 

"ตอนนี้ผมไม่ถือบัตรอะไรเลย เพราะว่าในบัตรระบุว่า "สัญชาติพม่า" แต่ถ้าไปสถานที่สำคัญๆ เช่น ทำเนียบรัฐบาล กองทัพบก ผมก็อาศัยใช้บัตรลูกเสือชาวบ้านแทน" สุทิน บอกเล่าให้ฟัง

 

เป็นน้ำเสียงบอกเล่าทั้งบ่นพ้อ น้อยใจและประชด ที่ทางการไทย มอบบัตร "สัญชาติพม่า" ให้เขาไว้กับตัว ทั้งที่เขาพยายามจะอธิบายบอกว่า เขาเป็นคนไทยติดแผ่นดินดั้งเดิม

 

แต่ปัญหามันเกิดเพราะรัฐไทย พม่า และอังกฤษ ซึ่งเป็นนักล่าอาณานิคมสมัยนั้นได้ร่วมกันก่อเอาไว้.

 






เพลงคอย (The WAITING) ร้องโดยคนไทยพลัดถิ่น
คำร้อง/ทำนอง โดย นายไพฑูรย์ ทับทิมสุวรรณ เครือข่ายแก้ไขปัญหาการคืนสัญชาติคนไทย

http://www.chumchonthai.or.th/member/TheWaitingSong.asp

คลิกที่นี่เพื่อฟังเพลง

 

ข้อมูลประกอบ

ถิ่นพลัดไป...ไทยพลัดถิ่น,ฐิรวุฒิ เสนาคำ โครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ มูลนิธิชุมชนไท

เยือนไทยพลัดถิ่นในพม่า,สิทธิ ท่าหลา-เรื่อง ภาพ: โจ้ มายา, เชษฐ์ หัวแพร, โครงการปฎิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่, มูลนิธิชุมชนไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท