Skip to main content
sharethis

พม่าจับเพิ่มนักเคลื่อนไหวอีก 6 คน และลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวในย่างกุ้ง


องค์การนิรโทษกรรมสากล แถลงเมื่อวันอาทิตย์ (14 ต.ค.) ว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงพม่า 70 คนได้บุกเข้าไปจับกุมแกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยเพิ่มอีก 6 คนที่เซฟเฮ้าส์แห่งหนึ่งในในศูนย์กลางการค้าย่างกุ้งเมื่อเช้าวันเสาร์ ในจำนวนนี้รวมไปถึงนายเตย์ จ่วย ผู้นำการเดินขบวนประท้วงในช่วงแรกๆ อีกทั้งยังเป็นนักเคลื่อนไหวคนสำคัญในเหตุการณ์ลุกฮือประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยปี 2531 นอกจากนี้ยังมีนายออง ตู นายติน ติน เอ  สมาชิกในกลุ่มนักศึกษาพม่ารุ่นปี 2531 เช่นกัน และนายโก โก นักเคลื่อนไหวอิสระ โดยผู้ถูกจับทั้ง 6 คนนี้ได้พากันหลบหนีไปซ่อนตัวช่วงที่มีการกวาดจับครั้งใหญ่เมื่อเดือนที่แล้ว แต่ก็หนีไม่รอดถูกจับกุมในที่สุด


 


องค์การนิรโทษกรรมสากลยังได้แสดงความห่วงใยว่าทั้ง 4 คนซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่าถูกนำตัวไปควบคุมที่ใด จะถูกเจ้าหน้าที่กระทำทารุณกรรมระหว่างการควบคุมตัว


 


การจับกุมตัวครั้งนี้มีขึ้นขณะที่ทางการพม่าเผยว่ามีประชาชนถึง 1.2 แสนคนได้พร้อมใจกันเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลในย่างกุ้งเมื่อวันเสาร์ อย่างไรก็ดี แหล่งข่าววงในเผยว่ารัฐบาลได้สั่งให้แต่ละครอบครัวต้องส่งตัวแทนอย่างน้อย 1 คนไปเข้าร่วม และยังเรียกร้องให้แต่ละโรงงานส่งแรงงานเข้าร่วมแห่งละ 50 คนด้วย


 


การเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลครั้งนี้มีขึ้น ในขณะที่นายอิบรอฮิม กัมบาลี ทูตพิเศษของสหประชาชาติได้ตระเวนเยือนหลายประเทศในเอเชียโดยเริ่มต้นที่ไทยเป็นประเทศแรก ก่อนจะเตรียมกลับไปพม่าอีกครั้ง หลังได้ไปพบผู้นำเมื่อเดือนที่แล้ว


 


ขณะเดียวกัน สำนักข่าวซินหัวรายงานว่ารัฐบาลพม่าได้ลดช่วงเวลาห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว ในนครย่างกุ้งลงอีกเหลือ 4 แค่ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 23.00-03.00 น. โดยมีผลตั้งแต่วันเสาร์ ซินหัวรายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้รถยนต์ติดตั้งเครื่องขยายเสียงตระเวนประกาศลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวไปทั่วทุกพื้นที่ในนครย่างกุ้งเพื่อแจ้งข่าวดังกล่าว นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบไม่ถึง 2 สัปดาห์ที่ทางการประกาศลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวในนครย่างกุ้ง ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวจาก 8 ชั่วโมงเหลือ 6 ชั่วโมง จาก 22.00-04.00 น.แต่ยังห้ามประชาชนชุมนุมเกินกว่า 5 คน เป็นเวลา 60 วัน โดยมีผลบังคับจนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน เพื่อควบคุมการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านนโยบายปรับขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงถึง 5 เท่าของรัฐบาล


 


ด้านหนังสือพิมพ์หลายฉบับของทางการพม่าเพิ่งรายงานเป็นครั้งแรกข่าวนายโซ วิน นายกรัฐมนตรี ถึงแก่อสัญกรรมแล้วเมื่อวันศุกร์ และกำหนดจัดรัฐพิธีศพในวันอาทิตย์


 


 


นายกฯ เสนอแก้ปัญหาพม่าต้องมุ่งมั่นเจรจาเอาอย่างเกาหลี


ขณะที่วานนี้ (15 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเวลา 14.40 น. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการหารือกับ นายอิบราฮิม กัมบารี ที่ปรึกษาพิเศษเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยพม่า


 


โดยระบุว่ารัฐบาลไทยจะทำหนังสือถึงรัฐบาลพม่า เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ ได้เดินทางไปเยือนเร็วที่สุด คือภายในเดือนตุลาคมนี้ และหลังจากนั้นจะขอให้ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นได้มีโอกาสอยู่ในประเทศพม่าได้เป็นเวลานานพอที่จะมีเวลาในการหารือในรายละเอียดต่างๆ และเห็นว่าการแก้ปัญหาของพม่าคือ การเจรจา


 


"ซึ่งควรจะมีการเจรจาโดยไม่มีการตั้งเงื่อนไขใดๆ ไว้ล่วงหน้า ส่วนความเห็นของรัฐบาลไทย ตนได้ให้ข้อสังเกต ในเรื่องของรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลพม่าได้ร่างอยู่ ซึ่งมีมาตราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการปรองดองในประเทศพม่า หมายความว่าประเทศพม่ามีลักษณะแตกต่างจากประเทศอื่น และการกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญของพม่านั้น ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะดูว่า ในรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่นั้นเปิดโอกาสให้มีการดำเนินการอย่างไรบ้างในการทำให้เกิดความปรองดองขึ้นในพม่า"


 


 


ฝันไทย "เจ้าภาพเจรจาปัญหาพม่า" ดึงอาเซียน จีน อินเดียร่วม ยึดโมเดล "เกาหลีเหนือ"


พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ตนได้เสนอต่อ นายกัมบารี คือให้สหประชาชาติจัดการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาพม่า โดยมีกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งรวมถึงพม่า จีน และอินเดียร่วมด้วย และจะเจรจาในลักษณะกลุ่มเล็กทำนองเดียวกับการแก้ไขปัญหาในประเทศเกาหลีเหนือ ที่ถือว่าประสบความสำเร็จและคืบหน้าไปมากพอสมควร


 


นอกจากนี้ ยังได้รับปากกับนายกัมบารีว่า จะนำแนวทางที่มีการหารือกันในวันนี้ในเรื่องของกำหนดเวลาที่จะไปเยือนพม่า ซึ่งหากมีการกำหนดได้ชัดเจนก็จะเป็นประโยชน์ที่จะแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาต่างๆชัดเจนมากยิ่งขึ้น


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอของไทยวันนี้ นายกัมบารี จะต้องนำไปแจ้งต่อเลขายูเอ็นเพื่อหารือก่อน และจะมีการฟื้นทรอยก้าของอาเซียนขึ้นมาอีกครั้งหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ตอบว่า ข้อเสนอของรัฐบาลไทยคิดว่า ตนจะนำไปพูดในการประชุมอาเซียนซัมมิทในเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนนายกัมบารีเองก็จะเดินทางไปยังประเทศอาเซียน รวมทั้งจีน และอินเดีย อยู่แล้ว รวมทั้งจะมีการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ในเบื้องต้นเพื่อดูท่าที ว่า แนวคิดดังกล่าวจะเป็นประโยชน์และมีผู้ตอบรับและสามารถนำไปปฏิบัติได้หรือไม่ จากนั้นค่อยนำข้อยุติไปหารือในยูเอ็นอีกครั้ง


 


ในส่วนของอาเซียนเองตนยังไม่ได้หารือกับประเทศสมาชิกขณะนี้ เป็นเพียงแนวคิดริเริ่มส่วนตัว ส่วนการจะฟื้นทรอยก้าหรือไม่นั้นคงต้องหารือกันในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือน พ.ย.นี้ ถ้าอาเซียนมีความมุ่งมั่น ซึ่งตนคิดว่าทุกประเทศมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาของพม่า ดังนั้นก็ต้องมีการหารือกันให้มากขึ้น ทั้งนี้ตนยึดว่าสิ่งที่เป็นส่วนสำคัญคือการเปิดโอกาสให้มีการเจรจา ให้มีการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ได้ข้อยุติร่วมกันก็เป็นส่วนที่ดีที่สุด


 


"บทบาทของไทยคือการสนับสนุนให้ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นได้เข้าไปพูดคุยกับรัฐบาลพม่า และหาข้อตกลงเพื่อให้ผู้แทนพิเศษได้ใช้เวลาอยู่ในพม่าได้นานมากพอที่จะเจรจาในรายละเอียดต่างๆได้ สิ่งสุดท้ายที่คิดถึงคือการทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาลพม่ากับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะแก้ปัญหาของพม่า ดังนั้นรัฐบาลไทยจะส่งจดหมายไปถึงรัฐบาลพม่า และเสนอให้มีการเปิดการเจรจา โดยที่จะยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไขใดๆล่วงหน้า ส่วนบทบาทของอาเซียนคิดว่าต้องมีการพูดคุยกันในการประชุมอาเซียนซัมมิท ซึ่งผมก็หวังว่าการเปิดการเจรจาจะได้ผลสำเร็จเช่นเดียวการเจรจาให้เกาหลีเหนือ" นายกรัฐมนตรี กล่าว


 


เมื่อถามว่า ข้อความพิเศษจากเลขายูเอ็นที่ฝากมานั้นมีอะไรบ้าง พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า เป็นจดหมายที่เลขาฯ ยูเอ็นได้ส่งมาถึงตน ซึ่งเป็นลักษณะของจดหมายนำเพื่อให้สนับสนุนการทำงานของนายกัมบารีอย่างเต็มที่และทุกๆ ด้าน


 


ต่อข้อถามว่า จดหมายดังกล่าวมีการกำหนดเงื่อนไขใดๆ เป็นพิเศษในการให้ไทยช่วยเหลือในการแก้ปัญหาในพม่าหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีเงื่อนไขใดๆ เพียงแต่นายกัมบารี ได้ถามว่า เราจะทำอะไรเป็นพิเศษได้บ้าง ตนได้ชี้แจงว่าในส่วนของไทยมีคณะกรรมาธิการที่จะดูแลเรื่องสังคมและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับทางพม่าอยู่แล้ว และจะเป็นส่วนเชื่อมโยงให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้าไปแก้ไขปัญหาต่อไปได้


 


เมื่อถามว่ารัฐบาลไทยจะส่งจดหมายไปยังรัฐบาลพม่าได้เมื่อใด พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ตนจะรีบส่งให้เร็วที่สุด และคาดว่า รมว.ต่างประเทศของไทยจะดำเนินการได้ภายในสัปดาห์นี้


 


เมื่อถามต่อว่าในเรื่องการเจรจาได้มีการหารือหรือไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการเจรจา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการเจรจา เป็นเพียงรูปแบบในการแก้ไขปัญหา เมื่อมีการเจรจากันในกรอบองค์การสหประชาชาติ ก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามนายกัมบารีได้เล่าให้ฟังถึงการเดินทางเข้าไปในประเทศพม่าครั้งสุดท้าย ซึ่งมีโอกาสได้พบกับนางอองซาน ซูจี ถึง 2 ครั้ง ทำให้รู้ว่านางออง ซาน ซูจี มีข้อมูลทางด้านการเมืองอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ นอกจากนั้นยังได้หารือกับรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งได้หารือกันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญหากเดินทางไปพม่าและมีเวลามากกว่าครั้งที่แล้วก็จะสามารถทำประโยชน์ได้มากขึ้น


 


 


สุรุยทธ์เชื่อการเจรจาดีที่สุด ชี้ถ้าไม่มีการพูดคุยแก้ไขปัญหาไม่ได้


เมื่อถามว่ารัฐบาลไทยมีความเห็นอย่างไรกับนโยบายแข็งกร้าวของรัฐบาลพม่า แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จนถึงทุกวันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราคงพูดถึงเงื่อนไขของแต่ละประเทศลำบาก แต่ตนเชื่อมั่นว่าการพูดคุยแก้ไขปัญหา และเปิดการเจรจา ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด หากไม่มีการพูดคุยการแก้ไขปัญหาก็จะเป็นไปไม่ได้


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกัมบารีได้ชวนให้เดินทางไปพม่าด้วยหรือไม่ เพราะมีข่าวว่านายกัมบารีชวนผู้นำอินโดนีเซีย และมาเลเซียไปด้วย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้ชวนตน เพียงแต่ขอให้ไทยให้การสนับสนุน ด้วยการช่วยทำหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีพม่า เมื่อถามว่ามั่นใจในศักยภาพของไทยแค่ไหนที่จะช่วยประสานให้นายกัมบารีอยู่ในพม่าได้นานขึ้นพล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า เราก็พยายาม และนายกัมบารี ต้องการการสนับสนุนจากผู้นำกลุ่มอาเซียน ซึ่งเข้าใจว่าคำขอของนายกัมบารีคงจะคล้ายๆกัน คือ ให้ผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียนทุกคนทำหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรีพม่า ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้


 


เมื่อถามถึง นายกัมบารีเลือกเดินทางมาประเทศไทยเป็นที่แรก มีนัยสำคัญอะไรหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธว่า คงไม่มีนัยพิเศษอะไร คงคิดว่าประเทศไทยใกล้พม่าที่สุดที่จะสามารถติดต่อได้ ถือเป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ตามไม่ได้หารือถึงแนวทางในอนาคตหากพม่าปฏิเสธข้อเสนอต่างๆของกลุ่มประเทศอาเซียน


 


 


อาเซี่ยนระบุเปลี่ยนพม่ากระทันหันจะทำให้เกิด "อิรักแห่งใหม่"


กลุ่มชาติสมาชิกสมาคมอาเซี่ยน เตือนว่า การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันในพม่า อาจก่อให้เกิดอิรักแห่งใหม่ขึ้น และส่งผลให้พม่าจมอยู่ในวังวนของความรุนแรง โดยนายอ่อง เข่ง ย้ง เลขาธิการสมาคมอาเซี่ยน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในพม่า จะทำให้ภูมิภาคเผชิญหายนะ แต่ผลลัพท์ที่ดีที่สุดคือ จะต้องกำจัดความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐบาลทหารกับพรรคการเมืองภายใต้การนำของนางอองซาน ซูจี


 


โดยนายอ่อง ซึ่งเป็นเลขาธิการสมาคมอาเซี่ยน เป็นปีสุดท้าย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโดยทันทีไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง และไม่ว่าจะเป็นสมาชิกอาเซี่ยนหรือไม่ แต่ถ้าจะให้พม่าเกิดการเปลี่ยนแปลง ก็เท่ากับว่ากำลังจะสร้างอิรักแห่งใหม่ขึ้นมา เพราะพม่าเป็นชาติที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มที่แตกต่างกันถึง 17 กลุ่ม ซึ่งถ้าดูจากอิรักจะเห็นผลจากการปลดกองทัพและตำรวจในอดีต


 


 


อียูโต้พม่าด้วยการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร


ด้านเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวเมื่อวานนี้ (15 ต.ค.) ว่า บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปตกลงคว่ำบาตรพม่าเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบโต้ต่อการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลทหารพม่าที่เดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลเมื่อเดือนที่แล้วโดยจะดำเนินการคว่ำบาตรพม่าให้รุนแรงยิ่งกว่าเดิมด้วย


 


การนำเอามาตรการใหม่มาใช้กับพม่าโดยมุ่งเป้าหมายไปที่สินค้าออกที่สำคัญของประเทศ ซึ่งได้แก่ ไม้ซุง โลหะ และพลอย


 


ขณะที่นายอิบรอฮิม แกมบารี ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ แจ้งต่อพม่าในวันนี้ว่า ให้ยุติการปราบปรามประชาชนทันที ขณะที่ประเทศไทยเสนอให้จัดการประชุมในเขตภูมิภาคที่มีจีนและอินเดียเข้าร่วมด้วย เพื่อผลักดันให้รัฐบาลทหารพม่าปฏิรูปการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย


 


อย่างไรก็ตาม นายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวหลังจากที่ได้พบปะกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่กรุงลอนดอน วันนี้ว่า ตนเตรียมเสนอให้ความช่วยเหลือแก่พม่าหากพม่าเริ่มดำเนินการไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย


 


ทั้งนี้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (11 ต.ค.) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์ในพม่าเป็นครั้งแรก โดยมีเนื้อหาตำหนิอย่างรุนแรงต่อการใช้กำลังอย่างรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงที่ชุมนุมอย่างสันติเมื่อเดือนที่แล้ว และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเปิดการเจรจาอย่างแท้จริงกับพรรคฝ่ายค้านที่เรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อสร้างความปรองดองในชาติ และยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและผู้ประท้วงที่ยังคงคุมขังไว้ทั้งหมด


 


ที่มาของข่าว: เรียบเรียงจากเว็บไซต์คมชัดลึก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และ ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net