Skip to main content
sharethis

นายสุทธิพล ทวีชัการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) ให้สัมภาษณ์ วานนี้ (16 ต.ค.) ภายหลังเข้าชี้แจงต่อที่ประชุม ครม. เกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดวันเลือกตั้ง ว่าที่ประชุม ครม.มีมติกำหนดให้วันที่ 23 ธ.ค. 2550 เป็นวันเลือกตั้ง ตามที่ กกต.เสนอแล้ว ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าฯ ภายหลังวันที่ 23 ต.ค.


 


ส่วนหน้าที่ของรัฐบาลหลังจากที่พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งออกมาจะมีบทบาทหน้าที่อย่างไรนั้น คงต้องไปปรึกษากับคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ทาง กกต.เองก็ต้องการให้มีการช่วยกันประชาสัมพันธ์ว่า ในระหว่างวันที่ 22 ต.ค.-22 พ.ย.นี้เป็นช่วงของการไปลงทะเบียนของผู้ที่ต้องการที่จะไปใช้สิทธิ เลือกตั้งนอกพื้นที่ โดยคนที่ต้องการลงทะเบียนสามารถนำบัตรประชาชนไปแจ้งต่อ เจ้าหน้าที่ทีเกี่ยวข้องตามเขตต่างๆ ได้


 


นายไชยา ยิ้มวิไล โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง มีผลบังคับใช้แล้ว กกต.จะต้องเปิดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ภายใน 20 วันนับจากวันที่ พ.ร.ฎ.ประกาศในราชกิจจาและมีผลบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ในวันที่ 24 ต.ค.และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 ต.ค. และในวันที่ 23 ธ.ค.จะมีการเลือกตั้ง ทั้งนี้จะมีการเปิดรับสมัครแบบสัดส่วนเป็นเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 7-11 พ.ย. และรับสมัครแบบแบ่งเขต 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-16 พ.ย.


 


พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจะสามารถนำร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้ง ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยได้ ภายในสัปดาห์นี้ และได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตีความว่า เมื่อ พ.ร.ฎ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว รัฐบาลจะเป็นรัฐบาลรักษาการ และจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ที่จะแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ หรือ อนุมัติโครงการขนาดใหญ่ จะต้องขออนุญาตจาก กกต. หรือไม่ เพราะขณะนี้นักกฎหมายมีความเห็นเป็น 2 ด้าน จึงได้ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยบอกว่า สถานะของรัฐบาลหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร


 


 "คงเป็นแนวที่ถือว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องปฎิบัติงานตามปกติ ตามรัฐบธรรมนูญกำหนด แต่ถ้ามีนักกฎหมายมาบอกว่า รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากแนวทางปกติ ก็เป็นอีกความเห็นหนึ่ง ที่ต้องรอฟังคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้ แต่รัฐบาลก็คงไม่อยู่เฉย คงทำงานที่มีความต่อเนื่อง แต่ก็ถือว่าเป็นต้องมีมารยาท ที่จะไม่กำหนดนโยบายที่เป็นนโยบายใหม่ๆ"


 


วันเดียวกัน มีการประชุม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมีนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.เป็นประธานการประชุม


 


 


วางเกณฑ์ 8 กลุ่มจังหวัด เลือกตั้งแบบสัดส่วน


นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 50 ที่ประชุมกกต. ได้พิจารณาการแบ่งส.ส.แบบสัดส่วน โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกรูปแบบแบ่งเขตส.ส.สัดส่วนแบบที่ 1 ที่มีพรรคการเมืองเห็นชอบมากที่สุด โดยมีกว่า 21 พรรค อาทิ พรรคประชาราช พรรคประชาธิปัตย์ ประชามติ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคจงมีสยาม ขณะที่พรรคชาติไทย เลือกแบบที่สามและแบบที่ห้า ขณะที่พรรคพลังประชาชน เห็นด้วยกับแบบที่สาม


 


นายประพันธ์กล่าวว่า เหตุที่กกต.เห็นว่าแบบที่ 1 มีความเหมาะสม เนื่องจากมีพรรคการเมืองเห็นชอบมากที่สุด และมีจำนวนสัดส่วนประชากรใกล้เคียงกันมากที่สุด หลังจากนี้กกต.จะนำประกาศดังกล่าวประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในทันที และภายหลังมีพระราชกฤษฎีการกำหนดวันเลือกตั้งก็จะประกาศให้ทราบอีกครั้ง


 


ทั้งนี้ การแบ่งเขตส.ส. ระบบสัดส่วน 8 กลุ่มจังหวัด รูปแบบที่ 1 กำหนดแบ่งกลุ่มดังนี้


 


สำหรับการแบ่งเขตส.ส.แบบสัดส่วน 8 กลุ่มจังหวัดรูปแบบที่ 1 ที่กกต.เห็นชอบนั้น กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย 11 จังหวัด จำนวนประชากรในกลุ่มจังหวัดรวม 7,615,610 คน คิดเป็นจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขต 50 คนได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร


 


กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย 9 จังหวัด จำนวนประชากรในกลุ่มจังหวัดรวม 7,897,563 คน คิดเป็นจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขต 50 คน ได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก อุทัยธานี เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยภูมิ ขอนแก่น


 


กลุ่มที่ 3 ประกอบด้วย 10 จังหวัด จำนวนประชากรในกลุ่มจังหวัดรวม 7,959,163 คน คิดเป็นจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขต 50 คน ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานีหนองคาย นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ มหาสารคาม


 


กลุ่มที่ 4 ประกอบด้วย 6 จังหวัด จำนวนประชากรในกลุ่มจังหวัดรวม 7,992,434 คน คิดเป็นจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขต 51 คน ได้แก่ ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์


 


กลุ่มที่ 5 ประกอบด้วย 10 จังหวัด จำนวนประชากรในกลุ่มจังหวัดรวม 7,818,710 คน คิดเป็นจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขต 50 คน ได้แก่ นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด


 


กลุ่มที่ 6 ประกอบด้วย 3 จังหวัด จำนวนประชากรในกลุ่มจังหวัดรวม 7,802,639 คน คิดเป็นจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต 49 คน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สุมทรปราการ


 


กลุ่มที่ 7 ประกอบด้วย 15 จังหวัด จำนวนประชากรในกลุ่มจังหวัดรวม 7,800,965 คน คิดเป็นจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขต 48 คน ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุมทรสาคร สุมทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง


 


กลุ่มที่ 8 ประกอบด้วย 12 จังหวัด จำนวนประชากรในกลุ่มจังหวัดรวม 7,941,622 คน คิดเป็นจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขต 52 คน ได้แก่ สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส


 


 


นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กกต.ยังมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง คือ ร่างระเบียบกกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่จะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการลงคะแนนการจับเบอร์ของผู้สมัคร ส.ส.เขต และ ส.ส.สัดส่วน ระเบียบกกต.ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขต กรรมการการเลือกตั้งประจำเขต ร่างระเบียบค่าตอบแทนกรรมการประจำเขต ซึ่งกกต.จะนำประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ส่วนการพิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส. 157 เขตที่จังหวัดซึ่งมีเกิน 1 เขตเลือกตั้ง และต้องแบ่งใหม่ 45 จังหวัดนั้น กกต.ก็จะทยอยพิจารณาและประกาศ เนื่องจากขณะนี้มีผู้ยื่นหนังสือคัดค้านการเสนอรูปแบบการแบ่งเขตของกกต. จังหวัดมายังกกต.กลางจำนวนมาก


 


นายประพันธ์ยังกล่าวถึงการกำหนดวันสมัครรับเลือกตั้งว่า ขณะนี้ต้องรอดูว่าร่างพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งจะมีผลบังคับใช้เมื่อใด แต่คาดว่าวันสมัครรับเลือกตั้งน่าจะเป็นช่วงต้นเดือนพ.ย. ซึ่งกกต. และที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายเห็นว่าการกำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องอยู่ในช่วงระยะเวลา 30 วันก่อนวันเลือกตั้ง แม้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ผู้ที่จะมีสิทธิ์สมัครต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 30 วันจนถึงวันเลือกตั้ง เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องคุณสมบัติ แต่การประกาศรับสมัครเป็นหน้าที่ของกกต. และที่ปรึกษาฯ ก็มองว่าไม่น่าจะนำเรื่องนี้มาฟ้องร้องจนเกิดปัญหาในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม อาจจะนำเรื่องนี้มาประกอบการพิจารณา หากเราเลื่อนไปเป็นระยะเวลานานก็จะส่งผลการทำงานด้านอื่นได้ ทั้งนี้เมื่อกฎหมายกำหนดเช่นนี้ก็หมายความว่าผู้สมัครสามารถสังกัดพรรคก่อนวันสมัครเพียงหนึ่งวันก็เป็นได้ เพราะกฎหมายนับถึงวันเลือกตั้ง


 


 


 


 


ที่มา : เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น, ผู้จัดการรายวัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net