Skip to main content
sharethis

18 ตุลาคม 2550 เวลาประมาณ 11.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมจากอ.ดำเนินสะดวก อ.เมือง และอ.จอมบึง จังหวัดราชบุรี ราว 500 คน ชุมนุมกันบริเวณหน้ากระทรวงพลังงาน เพื่อยื่นหนังสือแก่นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้สั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยกเลิกการยื่นประมูลโรงไฟฟ้าของบริษัทที่ กฟผ.ถือหุ้น คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือเอ็กโก, บริษัทไตรเอนเนอยี่ จำกัด และบริษัท ราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน)


สาเหตุของการออกมาเรียกร้องให้ยังยั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของชาวราชบุรี เนื่องมาจากปัจจุบัน จ.ราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีโรงฟ้าฟ้ามากที่สุดของประเทศไทย แต่จะสร้างเพิ่มขึ้นอีก 3 โรง จากที่มีอยู่แล้ว 6 โรง ซึ่งทำให้เกิดมลพิษในด้านต่างๆ โดยเฉพาะผลเสียต่อพืชผลทางการเกษตร และเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวของชาวบ้านบริเวณใกล้ๆโรงไฟฟ้า


นายธวัชชัย พลจันทร์ เลขากลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าจองบึง กล่าวว่า หากมีการอนุมัติก่อสร้างตามการประมูลโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน (ไอพีพี)จะต่อต้านจนถึงที่สุด เพราะการมีโรงไฟฟ้านั้นสร้างมลพิษและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ส่วนการอ้างผลการศึกษาอีไอเอก็เพื่อให้มวลชนในท้องถิ่นแตกแยกและต่อต้านกันเอง


เวลาประมาณ 11.30 น. ชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่หน้ากระทรวงพลังงานเกิดความไม่พอใจ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดประตูรั้ว ชาวบ้านจึงช่วยกันยกประตูออกและบุกเข้าไปเพื่อพบนายพรชัย แต่นายพรชัยติดภารกิจ จึงได้เพียงพูดคุยและยื่นหนังสือให้กับนายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงานแทน


นายณอคุณ ชี้แจงต่อชาวบ้านว่า การจะอนุมัติก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้น ขั้นตอนจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติ พ.ศ.2550 มาตรา 67 ที่กำหนดให้การก่อสร้างโครงการใดๆ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยจะต้องผ่านการดำเนินการ 3 ขั้นตอนหลัก คือ 1. ผู้ประกอบการจะต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 2. ผู้ประกอบการจะต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 3. จะต้องมีความเห็นประกอบจากองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ซึ่งองค์กรนี้อาจจะเป็นสถาบันการศึกษาหรืออื่น ๆ โดยข้อกำหนดรายละเอียดการดำเนินการตามมาตรา 67 ทางกระทรวงทรัพยากรฯ จะเป็นผู้กำหนด


นายณอคุณยังได้ย้ำกับชาวบ้านอีกว่าจะไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอย่างแน่นอน ถ้ามีการคัดค้านจากประชาชน ถึงแม้ว่าบริษัทที่จะประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะผ่านอีไอเอแล้วก็ตาม


ทั้งนี้ ในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 ทางกระทรวงทรัพยากรฯ จะจัดประชุมโดยเชิญกระทรวงต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมหารือเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2550 มาตรา 67 ในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และความเห็นประกอบจากองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ซึ่งองค์กรนี้อาจจะเป็นสถาบันการศึกษาหรืออื่น ๆ ว่าจะมีขั้นตอนเช่นไร


ทางด้านกลุ่มผู้ชุมนุมหลังจากที่ได้ยื่นหนังสือให้รองปลัดกระทรวงพลังงานเรียบร้อยแล้วจึงได้เดินทางต่อไปยังกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อรับฟังข้อสรุปในประเด็นปัญหานี้ต่อไป






หนังสือถึงปลัดกระทรวงพลังงาน


 


                                                                                   ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๐


เรื่อง      ให้สั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยกเลิกการยื่นประมูลโรงไฟฟ้าของบริษัทที่ กฟผ.ถือ


หุ้น คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือเอ็กโก, บริษัทไตรเอนเนอยี่ จำกัด และบริษัท ราชบุรี โฮ


ลดิ้ง จำกัด(มหาชน)


เรียน      ๑. ประธานคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ปลัดกระทรวงพลังงาน นายพรชัย


รุจิประภา)


๒. ประธานคณะกรรมการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชน(ไอพีพี)


๓. ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ


๔. ประธานคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือเอ็กโก


๕. ประธานคณะกรรมการบริษัท ราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน)


๖. ประธานคณะกรรมการบริษัท ไตรเอนเนอยี่ จำกัด


สำเนา    ๑. คณะกรรมการบริหาร กฟผ.ทุกท่าน


            ๒. ประธานสหภาพ กฟผ.


            ชาวบ้าน ตำบลปากช่อง ตำบลจอมบึง ตำบลเกาะพลับพลา ตำบลหินกอง ตำบลเขาแร้ง ตำบลเบิกไพร ตำบลรางบัว ตำบลด่านทับตะโก และตำบลใกล้เคียงในอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ได้รับรู้ว่า บริษัทผลิตไฟฟ้าจำกัด(เอ็นโก) ได้ซื้อที่ดินไว้ที่ ม.๔,๑๑ ตำบลปากช่อง อำจอมบึง จังหวัดราชบุรี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ จำนวน ๗๐๐ ไร่ ต่อมาในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมี นายปิยสวัสดิ์ อมรนันท์ เป็นรมต.พลังงาน และมี นายโฆษิต ปั้นเปี่ยงรัฐ เป็นประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้อนุมัติแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า ๒๕๕๐ (แผนพีดีพี๒๐๐๗) ซึ่งนำไปสู่การอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้มีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งบริษัทผลิตไฟฟ้าจำกัด ได้ประกาศผ่านหนังสือพิมพ์ว่า ได้จักทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ /EIA) เสร็จแล้ว และส่งให้สำนักนโยบาย และแผนสิ่งแวดล้อมพิจารณา แต่ยังไม่อนุมัติ โดยไม่มีการรายงานว่ามีชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมากคัดค้าน เราจึงมาเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจบริหารของรัฐบาล /ประธานและคณะกรรมการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชน /กฟผ. และบริษัทเอกชนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าว่า


๑.      เราคัดค้านไม่ให้ บริษัทผลิตไฟฟ้าจำกัด(เอ็นโก) ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในจ.ราชบุรี


๒.      เราคัดค้านไม่ให้ บริษัท ไตรเอนเนอยี่ จำกัด ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในจ.ราชบุรี


๓.      เราคัดค้านไม่ให้ บริษัท ราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในจ.ราชบุรี


โดยเรามีเหตุผลในการต่อต้าน และคัดค้านดังนี้


ปัจจุบัน จ.ราชบุรีมีดรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างและเดินเครื่องแล้วถึง ๕,๕๘๑ เมกกะวัตต์ เป็นจังหวัดที่มีโรงไฟฟ้ามากที่สุดในประเทศไทย ทำให้เกิดมลภาวะเป็นพิษในด้านต่างๆ โยเฉพาะผลเสียต่อพืชผลทางการเกษตร ผลผลิตลดลง, บางชนิดก็เสียหายมาก เช่น ปลูกแตงกว่า ๑ ครั้งเคยเก็บได้ ๔๐ ครั้ง ลดลงเก็บได้แค่ ๒๐ ครั้ง, ข้าวไม่มีเมล็ด, มะม่วง, ขนุน, องุ่น, ลิ้นจี่ มีผลผลิตน้อยลงจนไม่มีผล ชาวไร่ชาวสวนหลายคนต้องเปลี่ยนอาชีพ, ย้ายที่อยู่, ชาวบ้านไม่กล้ากินน้ำฝน, น้ำในครองบางป่าที่ระบายน้ำเสียของโรงไฟฟ้าเมื่อสัมผัสเกิดอาการคัน, อากาศร้อนขึ้น ฯลฯ ประชาชนที่อยู่ติดกับโรงไฟฟ้า มีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ (ดูจากจำนวนผู้ป่วยของสถานีอนามัยในตำบลพิกุลทอง) แต่บริษัทเจ้าของโรงไฟฟ้าทั้ง บริษัท ราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) และบริษัท ไตรเอนเนอยี่ จำกัด ไม่ยอมรับว่าโรงไฟฟ้าก๊าซเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษเหล่านี้ พวกเราชาวราชบุรีได้เรียนรู้บทเรียนที่เจ็บปวดของพี่น้องเรา เราจึงไม่ยอมให้บริษัทเอกชน หรือกฟผ.ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในจังหวัดราชบุรีเพิ่มขึ้นอีก


เราของเรียกร้องให้ปลัดกระทรวงพลังงานที่เป็นประธานคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งกฟผ.เป็นผู้ถือหุ้น ๔๕% ในบริษัท ราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), ๒๕% ในบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก และถือหุ้นในบริษัท ไตรเอนเนอยี่ จำกัด ผ่านบริษัท ราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) สั่งให้ทั้ง ๓ บริษัทยกเลิกแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในจังหวัดราชบุรี


เราขอคัดค้านการเห็นชอบในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทั้ง ๓ บริษัท เนื่องจากท่านโกหกเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในจังหวัดราชบุรี โดยโกหกว่าบริษัททั้ง ๓ ได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านในจังหวัดราชบุรี โดยบริษัทไม่ได้รายงานว่ามีประชาชนจำนวนมากคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามาโดยตลอด


เราขอบอกว่าเราเข้าใจว่าโรงไฟฟ้าเป็นอย่างไรเราจึงคัดค้าน ในจังหวัดราชบุรีมีโรงไฟฟ้ามากที่สุดในประเทศไทย และเราไม่ยินยอมให้มีการก่อสร้างเพิ่มอีกไม่ว่าในตำบลหรืออำเภอใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมลพิษที่เกิดขึ้นเรารับไม่ไหวแล้ว


เราขอเรียนให้ท่านทราบว่า ในอดีตเราคัดค้านโครงการที่จะสร้างผลเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมมาแล้วคือ


๑. โครงการสัมปทานระเบิดหินที่ภูเขาช่องลมในหมู่ที่๘ ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๘


๒. คัดค้านโครงการบ่อกำจัดขยะแบบฝังกลบในพื้นที่หมู่ที่๔ ต.ปากช่อง เมื่อปี ๒๕๔๔


ฐานทรัพยากรดิน, น้ำ, อากาศ คือปัจจัยพื้นฐานในการอยู่กินประกอบอาชีพการเกษตรของเราอำเภอจอมบึง เป็นแหล่งเห็ดโคนธรรมชาติแหล่งใหญ่ และชาวบ้านมีอาชีพเพาะเห็ด, ทำเชื้อเห็ดขายเป็นจำนวนมากรวมทั้งอาชีพทางการเกษตรอื่นๆ มลพิษที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าได้ก่อความเสียหายแบบผ่อนส่งมามากพอแล้ว


เราขอย้ำว่าเราไม่ต้องการโรงไฟฟ้าเพิ่มในจังหวัดราชบุรี


ขอแสดงความเคารพ


(นายกันจร เอี่ยมชื่น)         (นายชาญยุทธ์ ปิตตานัง)    (นายธวัชชัย พลจันทร์)


     ประธานกลุ่มฯ                  รองประธานกลุ่มฯ                 เลขากลุ่มฯ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net