Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากเมื่อวันอังคารที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว เพื่อเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณานั้น


 


องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อข้างท้ายนี้ มีความเห็นว่า แม้จะมีการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวโดยเปลี่ยนให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.กอ.รมน.) แทนผู้บังคับบัญชาการทหารบกดังที่ระบุไว้ในร่างกฎหมายเดิมแล้วก็ตาม แต่นายกรัฐมนตรีสามารถมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการกองทัพบกในฐานะ รอง ผอ.รมน. ใช้อำนาจแทนได้ และเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าวยังให้อำนาจทหาร หรือ กอ.รมน.ใช้อำนาจในสภาวะการปกติในทุกพื้นที่ที่อาจจะกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง เช่น ห้ามการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม เป็นต้น


 


ยิ่งไปกว่านั้น การใช้อำนาจของ กอ.รมน. สามารถจำกัดและลิดรอนอำนาจการตรวจสอบของศาล เช่น ในมาตรา 22 ที่ระบุว่า บรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามกฎหมายการรักษาความมั่งคงฯ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีการปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาปกครอง มาตรา 23 กำหนดว่า เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ไม่ต้องรับผิดทั้งทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางวินัย ถ้าได้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยเชื่อว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะถูกจะผิดอย่าง เท่ากับเป็นการตัดอำนาจศาลยุติธรรมในการเยียวยาและประสาทความยุติธรรมต่อประชาชน


 


บทบัญญัติดังกล่าว นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ไปในทางที่ผิดแล้ว ยังเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยึดถือหลักการตรวจสอบถ่วงดุลโดยเฉพาะการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารโดยฝ่ายตุลาการ


 


ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น องค์กรสิทธิมนุษยชน จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้


 


1. เราขอให้รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยุติการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร โดยทันที เพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งหน้า เป็นผู้พิจารณาเหตุผลด้านความมั่นคงภายในแทนกองทัพ เพราะกฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในระบบนิติรัฐอย่างร้ายแรง


 


2. การออกกฎหมายดังกล่าว จะเป็นผลเสียต่อกองทัพและการเมืองในระยะยาว เพราะเป็นการนำระบอบทหารกลับมามีอำนาจทับซ้อนทางการเมือง ซึ่งจะทำให้สังคมการเมืองไทยเป็นสังคมกึ่งเผด็จการที่ "การเลือกตั้ง" เป็นเพียงฉากหนึ่งในละครของระบอบประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของกองทัพไทยหรือรัฐซ้อนรัฐนั่นเอง และกองทัพอาจจะกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง และ/หรือ คนในกองทัพที่เล่นการเมืองในที่สุด ดังนั้น เราขอเรียกร้องให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียต่อกฎหมายดังกล่าว ออกมาชี้แจงความชัดเจนของกองทัพต่อสาธารณะด้วย


 


3. เราขอเรียกร้องให้ สมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ หยุดการสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นร่างกฎหมายที่อาจขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มุ่งหมายให้สิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครอง และการตรวจสอบอำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งยังขัดต่อกติกาสากลระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายฉบับที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่


 


 


21 ตุลาคม ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม


 


 


 


-----------------------------------------------------


14 องค์กรสิทธิมนุษยชนไทย  ได้แก่ คณะกรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.), สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), คณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.), คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ, ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD), คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535, องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.), คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ (ปรส.), กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอิสาน, เครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์เดือนพฤษภา 


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net