Skip to main content
sharethis

 


แถลงการณ์


เรียกร้องภาคประชาชน จับตาคำสั่งทหารควบคุมตัวประชาชนสามจังหวัดภาคใต้


ร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน ขาดการตรวจสอบการละเมิดสิทธิพื้นฐาน


 


 


 


จากการเฝ้าติดตามการดำเนินการของทางกองทัพบก โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) นับแต่มีการดำเนินการจับกุม สอบสวน และควบคุมตัวประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2550 จนปัจจุบัน คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ พบว่า นโยบายยุทธการปราบแดนใต้เพื่อแยกปลาออกจากน้ำ มีการบังคับให้ฝึกอาชีพและการออกประกาศไม่ให้ประชาชนเข้าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้


 


"การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายทหารในลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ชาวบ้านถูกจับกุมและกล่าวหาว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดภายใต้โดยปราศจากพยานหลักฐานที่ชัดเจนจำนวนกว่า 600-700 คน บางส่วนถูกนำตัวเพื่ออบรมอาชีพต่อ 4 เดือนโดยไม่สมัครใจ ถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้สงบลงแต่อย่างใด ขอเสนอให้กองทัพทบทวนนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและทัศนคติที่มีต่อทางการให้ทางลบอย่างเร่งด่วน" นางอังคณา นีละไพจิตร กล่าว


 


"การเร่งรัดให้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในอาจเป็นการหาทางออกทางกฎหมายต่อกรณีการควบคุมตัวประชาชนในสามจังหวัดไม่ให้กลับพื้นที่ แต่ในทางเดียวกันกฎหมายความมั่นคงที่จะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้กับทุกคน ทุกพื้นที่ ได้ตลอดด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคง โดยระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฉบับนี้ มาตรา 19 ว่าสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไว้ฝึกอบรมไม่เกิน 6 เดือน เป็นต้น" นางอังคณา กล่าวเสริม


 


คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติพิจารณาไม่รับร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฉบับนี้โดยเด็ดขาด และมีข้อเรียกร้องดังนี้


 


1)      ขอแสดงความชื่นชมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติกับรัฐบาล (วิป สนช.) ที่พิจารณาส่งกลับร่างกฎหมายให้รัฐบาลทบทวน


2)      ขอให้รัฐบาลถอนและระงับการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา


3)      หากรัฐบาลยืนกรานในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฉบับนี้ ขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยเด็ดขาด


4)      ขอให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติทบทวนบทบาทในการออกกฎหมายที่ส่งผลกระทบละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรงเป็นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ทั้งนี้ ควรรอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้พิจารณา


5)      ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงดำเนินนโยบายใดๆ ในการรักษาความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้อย่างโปร่งใส เคารพในหลักนิติรัฐ เคารพต่อรัฐธรรมนูญ เคารพต่อหลักกฎหมาย รวมทั้งหลักการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด โดยเปิดโอกาสให้มีฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการตรวจสอบได้


6)      เรียกร้องให้ภาคประชาสังคมทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการคัดค้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมทั้งภาคประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าจะมีการนำ พ.ร.บ.ฉบับนี้มาในการปฏิบัติการทางทหารโดยขาดซึ่งหลักประกันและหลักการตรวจสอบผลกระทบด้านสิทธิเสรีภาพพื้นฐานโดยสิ้นเชิง


 


 


++++++++++++


 


 


สถานการณ์การห้ามชาวบ้านกลับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2550 ศาลจังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดระนองได้ไต่สวนคำร้องของญาติผู้ฝึกอบรมโครงการฝึกอาชีพและผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนกว่า 80 คน โดยศูนย์ฝึกอบรมในพื้นที่นอกสามจังหวัดชายแดนใต้ทั้ง 3 แห่งตั้งขึ้นเพื่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวเนื่องจากการจับกุมของทหารโดยวิธีการปิดล้อมหมู่บ้าน และการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ควบคุมตัวเพื่อสอบสวน 7 วัน และอำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ควบคุมตัวต่ออีก 30 วัน รวมทั้งสิ้น 37 วัน จากนั้นผู้ถูกควบคุมตัวจึงถูกส่งมาที่ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพซึ่งเป็นค่ายทหารและมีทหารดูแลเป็นเวลา 4 เดือน โดยไม่สมัครใจ ทหารอ้างในศาลว่า มีประกาศจากแม่ทัพภาคที่ 4 ประกาศห้ามผู้ถูกควบคุมตัวกลับเข้าไปในพื้นที่ 30 จังหวัดชายแดนใต้เป็นเวลา 6 เดือนโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ดังนั้น จึงมีโครงการศูนย์ฝึกอบรมอาชีพเพื่อรองรับ


 


แต่อย่างไรก็ตาม ประกาศห้ามกลับเข้าพื้นที่ของแม่ทัพภาคที่ 4 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ดังกล่าวกลับไม่ได้รับการแจ้งให้ผู้ถูกควบคุมตัวในเวลานั้นทราบแต่อย่างใด โดยคำสั่งดังกล่าวระบุว่าห้ามบุคคลในรายนามจำนวนกว่า 300 คนเข้าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาเป็นระยะเวลา 6 เดือนจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง


 


คำประกาศดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ขัดกับข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2550 มาตรา 33, 34, 35 และ 43 อีกทั้งประกาศดังกล่าวไม่เคยประกาศให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบมาก่อน ชาวบ้านจึงร่วมกันเรียกร้องความเป็นธรรมต่อศาลยุติธรรมว่า ถ้าไม่ให้กลับบ้านและไม่ประสงค์จะอบรมต่อในค่ายฯ แล้วจะให้ไปอยู่ที่ใด อีกทั้งที่ผ่านมาถูกควบคุมตัวโดยหน่วยงานทางทหารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทหารอ้างถึงความปลอดภัยและการคุกคามถ้ากลับไปในพื้นที่ และอ้างด้วยว่าถ้าไม่มาฝึกอบรมอาชีพก็จะถูกดำเนินคดีติดคุกเป็นเวลานานระหว่างการพิจารณา


 


ในวันที่ 30 ตุลาคม 2550 ศาลจังหวัดชุมพร ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีและศาลจังหวัดระนองนัดฟังคำไต่สวนคำร้องว่าการควบคุมตัวโดยงานทางทหารนั้นชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 หรือไม่


 


 


 


21 ตุลาคม 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net