Skip to main content
sharethis


วันที่ 21 ต.ค.50     คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ออกแถลงการณ์ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2550 ศาลจังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดระนองได้ไต่สวนคำร้องของญาติผู้ฝึกอบรมโครงการฝึกอาชีพและผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนกว่า 80 คน



โดยศูนย์ฝึกอบรมในพื้นที่นอกสามจังหวัดชายแดนใต้ทั้ง 3 แห่งตั้งขึ้นเพื่อรองรับผู้ที่ถูกทหารควบคุมตัวมาจากยุทธการปิดล้อมหมู่บ้าน หลังจากใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ควบคุมตัวเพื่อสอบสวน 7 วัน และอำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ควบคุมตัวต่ออีก 30 วัน รวมทั้งสิ้น 37 วัน จากนั้นผู้ถูกควบคุมตัวจึงถูกส่งมาที่ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพซึ่งเป็นค่ายทหารในชุมพร สุราษฎร์ฯ และระนอง โดยมีทหารดูแลเป็นเวลา 4 เดือนโดยไม่สมัครใจ


 


คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพระบุด้วยว่า ทหารได้อ้างในศาลว่า มีประกาศจากแม่ทัพภาคที่ 4 ประกาศห้ามผู้ถูกควบคุมตัวกลับเข้าไปในพื้นที่ 30 จังหวัดชายแดนใต้เป็นเวลา 6 เดือนโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ดังนั้น จึงมีโครงการศูนย์ฝึกอบรมอาชีพเพื่อรองรับ  แต่อย่างไรก็ตาม ประกาศห้ามกลับเข้าพื้นที่ของแม่ทัพภาคที่ 4 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ดังกล่าวกลับไม่ได้รับการแจ้งให้ผู้ถูกควบคุมตัวในเวลานั้นทราบแต่อย่างใด ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวระบุว่าห้ามบุคคลในรายนามจำนวนกว่า 300 คนเข้าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาเป็นระยะเวลา 6 เดือนจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง


 


คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพระบุว่า คำประกาศของแม่ทัพภาค 4 ดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ขัดกับข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2550 มาตรา 33, 34, 35 และ 43 อีกทั้งประกาศดังกล่าวไม่เคยประกาศให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบมาก่อน ชาวบ้านจึงร่วมกันเรียกร้องความเป็นธรรมต่อศาลยุติธรรมว่า ถ้าไม่ให้กลับบ้านและไม่ประสงค์จะอบรมต่อในค่ายฯ แล้วจะให้ไปอยู่ที่ใด อีกทั้งที่ผ่านมาถูกควบคุมตัวโดยหน่วยงานทางทหารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทหารอ้างถึงความปลอดภัยและการคุกคามถ้ากลับไปในพื้นที่ และอ้างด้วยว่าถ้าไม่มาฝึกอบรมอาชีพก็จะถูกดำเนินคดีติดคุกเป็นเวลานานระหว่างการพิจารณา


 


และในวันที่ 30 ตุลาคม 2550 ศาลจังหวัดชุมพร ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีและศาลจังหวัดระนองนัดฟังคำไต่สวนคำร้องว่าการควบคุมตัวโดยงานทางทหารนั้นชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 หรือไม่


 


ทั้งนี้ ยุทธการปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายหลายสิบจุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2550 เป็นต้นมา มีผู้ถูกควบคุมตัวนับพันคน ต่อมาในวันที่  5 ต.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนญาติผู้ถูกควบคุมตัวเพื่อฝึกอาชีพ 4 เดือนจำนวนประมาณ 80 คน และทนายความของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ร่วมกับศูนย์ทนายความมุสลิม จะเดินทางไปเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์-ธานี   เพื่อขออำนาจศาลให้ไต่สวนว่าการควบคุมตัวเพื่ออบรม 4 เดือนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยผู้ถูกควบคุมตัวโดยทันที  


 


จากข้อมูลเดิมพบว่า มีผู้ถูกควบคุมตัวจำนวน 66 คน ในค่ายรัตนรังสรรค์  จังหวัดระนอง จำนวน  158 คน ในศูนย์ท่าแซะ ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร และจำนวน 79 คนในค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี  รวมทั้งสิ้น  203 คน โดยผู้ถูกคุมตัวได้ยื่นคำร้องเรียนขอเดินทางกลับภูมิลำเนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  แต่หน่วยงานทหารที่มีหน้าที่ควบคุมตัวและทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกอาชีพได้แจ้งให้ทราบเบื้องต้นว่าไม่อนุญาต   


 



 


 


 


 


 


ข่าว/รายงานที่เกี่ยวข้อง


 


รายงาน: ฝึกอาชีพแนวร่วมป่วนใต้ เส้นทางสู่อิสรภาพ


 


5 องค์กรสิทธิจี้รัฐทบทวนแผนพิทักษ์แดนใต้คุมตัว 4 เดือน


  


เตรียมร้องศาลไต่สวนการคุมตัว "ผู้ต้องสงสัย" ชายแดนใต้ ฝึกอบรมอาชีพ 4 เดือนไม่ชอบด้วยกฎหมาย


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net