รายงาน : สิ่งที่ทหาร-ตำรวจต้องรู้ เกี่ยวกับโครงการอบรม "คนใต้" 4 เดือน

หลังจากที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตรการ 'โครงการฝึกอบรมอาชีพ 4 เดือน' ในการ 'บังคับโดยสมัครใจ' ให้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ออกจากถิ่นฐานบ้านเกิด ห่างครอบครัว และวิถีความเป็นอยู่ของตน เข้าสู่โครงการอบรมอาชีพ 4 เดือน

 

แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะมีความเชื่อว่า วิธีการเช่นนี้จะแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ได้ แต่เรื่องราวเหล่านี้ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความรู้สึกของคนในพื้นที่ ที่ไม่อาจใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ ล่าสุด จึงมีการยื่นเรื่องต่อศาล เพื่อขอให้ไต่สวนว่าการควบคุมตัวนั้นไม่ชอบ

 

ด้านคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists - ICJ) ได้ศึกษาเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งยื่นข้อมูลเกี่ยวกับความเห็นทางกฎหมาย กับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่พึงปฏิบัติ ต่อศาลจังหวัดระนอง เพื่อใช้ประกอบในการไต่สวนที่จะเกิดขึ้น

 

รายงานดังกล่าว มีชื่อว่า " "ค่ายฝึกอบรมอาชีพ" กับมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง" โดยประเมินความถูกต้องเหมาะสมของโครงการ "ค่ายฝึกอบรมอาชีพ" สำหรับคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย (ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส) หลักนิติธรรม กฏหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และข้อพึงปฏิบัติที่เป็นที่ยึดถือกันทั่วโลก

 

ความน่ากังวลประการหนึ่งคือ การใช้ "ค่ายฝึกอบรมอาชีพ" จะก่อให้เกิดการคุมขังที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายและโดยปราศจากอำนาจมากยิ่งขึ้น จากประสบการณ์ทั่วโลกที่ผ่านมา พบว่า ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง ชี้ให้เห็นว่า การคุมขังบุคคลโดยปราศจากอำนาจ ได้สร้างความแปลกแยกขึ้นในชุมชนท้องถิ่น และเป็นการเพิ่มความรู้สึกที่ว่า ไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งในระยะยาวแล้ว ย่อมจะมีผลทำให้ความพยายามของรัฐบาลในการลดความรุนแรง และการสร้างความเชื่อมั่นของชุมชนท้องถิ่นต่อรัฐบาล เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่งขึ้น

 

การใช้วิธีการที่นอกเหนือกระบวนการยุติธรรม แทนการใช้และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับมาตรการทางกฏหมายที่มีอยู่ จะส่งผลให้นิติรัฐอ่อนแอลง และในที่สุดแล้วจะเป็นการบั่นทอนความสามารถของทางการไทยในการบังคับใช้ระเบียบและกฏหมาย

 

ในรายงานของไอซีเจระบุว่า สำหรับผู้ที่ต้องสงสัยว่า เป็นผู้วางระเบิด ยิง ฆ่า ตัดคอ หรือก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่างๆ นั้น สมควรต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม แทนที่จะถูกนำตัวไปควบคุมชั่วคราวตามค่ายฝึกอบรมต่างๆ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ที่รัฐมีพันธกรณีต้องดำเนินการสอบสวนอย่างทันท่วงที อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลางและเป็นอิสระ ต่อกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน และต้องนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

 

 

ทำความรู้จัก ค่ายฝึกอบรมอาชีพ

นับตั้งแต่ที่กองทัพได้ประกาศ "แผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้" เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.50 ได้มีการจับกุมผู้คนจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มในพื้นที่ที่เกิดเหตุความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการจับกุมและคุมขังโดยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 โดยไม่ต้องอาศัยหมายจับของศาล และอนุญาตให้คุมขังบุคคลได้ถึงเจ็ดวัน และภายหลังจากครบกำหนดเจ็ดวันแล้ว ยังสามารถถูกควบคุมตัวต่อเนื่องไปอีก 30 วันตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ("พ.ร.ก.ฉุกเฉิน") หลังจากครบช่วงเวลา 37 วันดังกล่าว แทนที่จะมีการปล่อยตัว หรือมีการตั้งข้อหาสำหรับผู้ที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย บุคคลดังกล่าวกลับถูกควบคุมตัวต่อไปอีกในค่ายทหารสามแห่งนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ข้อมูล ณ วันที่ 8 ต.ค. 50 มีผู้ถูกควบคุมตัวจำนวน 300 กว่าราย โดยถูกควบคุมไว้ในค่ายทหารสามแห่งคือ ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี ค่ายรัตนรังสรรค์ จังหวัดระนอง และค่ายเขตอุดมศักดิ์ (ค่ายท่าแซะ) จังหวัดชุมพร จากคำอธิบายโดยภาครัฐ ผู้ถูกควบคุมตัวในค่ายทั้งสามแห่งนี้สมัครใจเข้าร่วม "โครงการฝึกอบรมอาชีพ" ("ค่ายฝึกอบรม") เป็นระยะเวลาสี่เดือน มีชายจำนวนประมาณ 200 อยู่ในค่ายฝึกอบรมเหล่านี้ มาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2550 หากนับรวมระยะเวลาที่พวกเขาเริ่มถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว พวกเขาถูกทหารควบคุมตัวไว้เป็นเวลานานกว่าสามเดือนแล้ว ส่วนรายอื่นที่เหลือได้เข้าค่ายฝึกฯ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 เป็นต้นมา

 

เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่า ค่ายฝึกอบรม มีจุดประสงค์ที่จะให้โอกาสทางการงานแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เพื่อให้ชุมชนปลอดภัย โดยการนำตัวผู้สงสัยว่าเป็นแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบออกจากพื้นที่ และเป็นการเปิดโอกาสให้ทหารได้สังเกตดูผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วม เพื่อจะได้ติดตามสอดส่องพวกเขาต่อไป หลังจากการปล่อยตัวกลับไปแล้ว ในทางปฏิบัติแล้วดูเหมือนว่า ค่ายฝึกอบรมนี้ ได้ถูกใช้เป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมตัวเชิงป้องกันอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดด้านระยะเวลาการคุมขังตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 50 ผู้ถูกควบคุมจำนวนหนึ่งจากทั้งสามค่ายฝึกอบรม ได้ยื่นจดหมายต่อผู้บังคับบัญชาค่ายเพื่อขอให้ปล่อยตัวพวกเขา แต่ปรากฎว่า คำขอดังกล่าวถูกปฏิเสธ

 

 

การคุมขังโดยปราศจากอำนาจ

"ค่ายฝึกอบรมอาชีพ" มีความละม้ายคล้ายคลึงมาก (ถ้าจะไม่กล่าวว่ามันคือ การต่อยอด) กับ "โครงการพัฒนาศักยภาพพลเมือง" หรือ "โรงเรียนสร้างสันติสุข" ที่ถูกนำมาใช้ในภาคใต้ตั้งแต่ปี 2549 ในข้อสังเกตด้านกฎหมายที่ไอซีเจ ได้ยื่นต่อรัฐบาลไทยเมื่อเดือนก.ค. 50 ไอซีเจ สรุปว่า โครงการเหล่านี้เสมือนกันการคุมขังตามอำเภอใจ และขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ในทำนองเดียวกันไอซีเจเห็นว่า "ค่ายฝึกอบรมอาชีพ" ไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ข้อ 9 ย่อหน้า 1 ของกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีมาต้งแต่ ปี ค.ศ. 1996

 

ข้อที่ 9 (1) บัญญัติว่า

"บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุผลและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย"

 

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการสันนิษฐานตามกฎหมายไว้ก่อนว่า บุคคลพึงได้รับสิทธิในเสรีภาพ และประเด็นนี้เป็นรากฐานสำคัญที่สุดของสิทธิมนุษยชนทั้งมวล ที่จะต้องได้รับการเคารพและคุ้มครองอย่างจริงจัง กล่าวคือ จะต้องไม่สันนิษฐานว่าผู้ถูกคุมขังมีความผิดฐานเป็นผู้ก่อความไม่สงบ เพื่อเป็นข้ออ้างในการควบคุมตัวไว้ตามค่ายฝึกอบรมต่อไป อย่างที่มักมีการชี้นแนะหรืออ้างเป็นนัยอยู่เสมอ ทุกๆ คนมีสิทธิที่ได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะได้มีการพิสูจน์ในชั้นศาลว่ามีการกระทำความผิดตามกฏหมายจริง นี่คือหลักความเชื่อพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และศาลพลเรือน มิใช่ ศาลทหาร ที่จะทำหน้าที่ตัดสินความผิด หรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นแนวร่วมของผู้ก่อความไม่สงบ

 

ข้อที่ 9 (1) ของ กติกาฯ ดังกล่าว อนุญาตให้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพได้เพียงสองกรณีเท่านั้นกล่าวคือ

 

ประการแรก การปฏิเสธสิทธิเสรีภาพของบุคคล จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของมูลเหตุและกระบวนการที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น กฎหมายจะต้องระบุให้ชัดเจนถึงมูลเหตุของการคุมขัง โดยปกติ เจ้าหน้าที่ควรจับกุมและคุมขังบุคคล เพราะพวกเขาต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดตามกฏหมายอาญา โดยพวกเขาควรได้รับการปฏิบัติเยี่ยงผู้ต้องสงสัยว่าก่ออาชญากรรมนับตั้งแต่เมื่อเขาถูกจับ ตามที่กฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยบัญญัติไว้ โดยจะต้องมีการตั้งข้อหาและดำเนินคดีในศาลยุติธรรม หรือไม่ก็ต้องได้รับการปล่อยตัวไป หรืออีกทางหนึ่ง หากบุคคลถูกคุมขังในเชิงป้องกันภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อไม่ให้ก่ออาชญากรรม ในกรณีเช่นนี้ควรดำเนินการตามกระบวนการที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดไว้ พร้อมกับมีกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลตามกฎหมายและมาตรฐานสากล ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่างก็ไม่ได้ให้อำนาจทางการไทยที่จะควบคุมตัวบุคคลไว้ในค่ายฝึกอบรม โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม

 

ประการที่สอง ตัวบทกฎหมายเองและการบังคับใช้กฎหมาย ต้องไม่เป็นไปตามอำเภอใจ "การกระทำตามอำเภอใจ" ไม่ได้หมายความเพียงว่า การกระทำที่ขัดต่อกฎหมายเท่านั้น แต่กินความหมายกว้างกว่านั้น โดยหมายรวมถึงองค์ประกอบที่ไม่เหมาะสม อยุติธรรม และขาดชัดเจน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ กล่าวไว้ว่า สิทธิที่จะไม่ถูกจับกุมและคุมขังตามอำเภอใจ ใช้ได้กับทุกกรณีของการกระทำที่ส่งผลให้ไร้ซึ่งเสรีภาพ รวมถึงการควบคุมตัวเพื่อ "จุดประสงค์ทางการศึกษา" ซึ่งหมายรวมถึงแนวคิดของ "การฝึกอบรมอาชีพ" "การบำบัดฟื้นฟู" "การสร้างสันติสุข" หรืออย่างอื่นในทำนองเดียวกันนี้

 

ไอซีเจ พิจารณาว่า การใช้ "ค่ายฝึกอบรมอาชีพ"นั้น แท้ที่จริงแล้ว เป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมตัวตามอำเภอใจ ภายใต้ข้ออ้างของจุดประสงค์การฝึกอบรม การฟื้นฟู หรือการศึกษา การคุมขังในรูปแบบนี้ไม่มีเหตุผลตามกฎหมายไทยรองรับ ซึ่งหมายความว่า ไม่มีแนวปฏิบัติทางกฎหมายที่ใช้เป็นข้ออ้างในการคุมขัง ไม่มีการระบุระยะเวลาที่คุมตัวได้สูงสุด ไม่มีกฏหมายกำหนดให้มีการตรวจสอบโดยศาลยุติธรรมในการตัดสินเบื้องแรกที่จะควบคุมตัว หรือควบคุมตัวต่อไป การควบคุมตัวบุคคล นอกเหนือขอบเขตอำนาจของกฎหมายเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมและไม่เหมาะสม การคุมตัวโดยปราศจากมูลฐานทางกฎหมาย หมายความว่ากระบวนการดังกล่าวขาดความชัดเจนไม่สามารถคาดคะเนได้ จึงขัดต่อข้อกำหนดของกฏหมายระหว่างประเทศ

 

 

การเข้าร่วม "โดยสมัครใจ" เป็นการคุมขังตามอำเภอใจหรือไม่?

มีการกล่าวเป็นนัยว่า การเข้าร่วมค่ายฝึกอบรมเป็นไปโดยความสมัครใจ ดังนั้นจึงมิใช่รูปแบบของการคุมขัง

 

แต่ลักษณะประการแรก การเข้าร่วมจะเป็นไปโดยสมัครใจได้ก็ต่อเมื่อบุคคลเข้าร่วมโดยปราศจากการข่มขืนใจ การข่มขู่ หรือโดยเกรงกลัวต่อผลเสียที่ตามมา หากพวกเขาปฏิเสธไม่เข้าร่วม ประการที่สอง การเข้าร่วมจะเป็นไปโดยสมัครใจ ก็ต่อเมื่อบุคคลมีเสรีภาพอย่างแท้จริงที่จะออกจากค่ายฝึกอบรมได้ทุกเมื่อ ตามที่ต้องการ

 

แต่เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้น มิได้เป็นเช่นนี้ ในทางปฏิบัติ ดูเหมือนว่าค่ายฝึกอบรมเหล่านี้ถูกใช้เพื่อการบังคับคุมตัวบุคคลไว้ต่อไป โดยเป็นการต่อยอดของการคุมตัวภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และถูกใช้แทนที่การดำเนินการตามกฎหมายอาญา

 

หากบุคคลต้องผ่านการ "ฝึกอบรม" หรือ"ฟื้นฟู" ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง การกระทำนี้ต้องเป็นไปโดยสมัครใจ หากไม่ได้ถูกบังคับให้รับไว้หลังการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมในศาล ในฐานะส่วนหนี่งของโทษที่ตนต้องชดใช้จากการที่ได้กระทำความผิดอาญา ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งเช่นที่ภาคใต้นี้ มักจะมีคำถามสำคัญเสมอว่า การเข้าร่วมค่ายฝึกอบรมที่กองทัพเป็นผู้ดำเนินการนั้น เป็นไปโดยความสมัครใจอย่างแท้จริงหรือไม่ เนื่องจากบุคคลมักเข้าร่วมหลังจากมีการข่มขืนใจ ข่มขู่ เพราะความกลัว หรือไม่ก็เป็นเพราะถูกย้ายตัวจากการควบคุมของตำรวจหรือทหารไปยังค่ายฝึกอบรมดังกล่าว

 

ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาจากหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายของทหาร และการที่กองทัพไม่ได้รับการฝึกในกิจการด้านพลเรือน จำเป็นต้องมีการตั้งคำถามอย่างหนักแน่นว่า กองทัพเป็นสถาบันที่ดีที่สุดในการดำเนินงานค่ายฝึกอบรมดังกล่าวหรือไม่ หากค่ายฝึกอบรมที่ดำเนินการด้วยความสมัครใจเช่นว่านี้มีจริง

 

แม้ว่าบุคคลจะเข้าร่วมค่ายฝึกอบรมโดยสมัครใจในระยะแรก ก็ไม่จำเป็นเสมอไปว่า พวกเขาต้องสมัครใจอยู่ค่ายฝึกอบรมนั้น นานตราบเท่าที่ทางการต้องการจะควบคุมตัวพวกเขาไว้ สิทธิในเสรีภาพหมายความถึงสิทธิที่ไม่ต้องถูกควบคุมตัวไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยฝืนความต้องการของบุคคล ดังนั้นคำถามที่สำคัญคือ ทุกคนมีอิสระที่จะออกจากค่ายฝึกอบรม เมื่อพวกเขาต้องการจะออกไปหรือไม่? หากคำตอบที่ตรงไปตรงมาคือ ไม่ แล้ว ก็กล่าวได้ว่า ทั้งในแง่เจตนาและในแง่ความมุ่งหมาย บุคคลดังกล่าวกำลังถูกคุมขังอยู่อย่างแน่นอน

 

อย่างไรก็ดี เข้าใจว่าผู้ถูกควบคุมตัวบางคนได้รับอนุญาตให้ออกจากค่ายฝึกอบรมเพื่อไปประกอบศาสนกิจ หรือได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้เป็นครั้งคราว สิ่งนี้นับเป็นเหตุผลด้านมนุษยธรรมที่ดี แต่ก็ไม่ได้ทำให้การคุมขังนั้นกลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยสมัครใจ

 

ตรงกันข้าม การที่ต้องขออนุญาต แสดงให้เห็นว่ามีการควบคุมเสรีภาพเด็ดขาด และบุคคลไม่ได้เข้าร่วมค่ายฝึกอบรมโดยสมัครใจ ในบางครั้ง แม้กระทั่งผู้ต้องขังที่กำลังรับโทษจำคุก ก็ยังสามารถได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมเช่นกัน แต่การอนุญาตให้มี "เสรีภาพ" ชั่วคราว นี้ ก็มิได้ทำให้สถานภาพของ "นักโทษ" ในฐานะผู้ต้องขังเปลี่ยนไป

 

 

หลักประกันเพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบ

การใช้ "ค่ายฝึกอบรมอาชีพ" แทนการควบคุมตัวตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย เป็นการปฏิเสธไม่ให้ผู้ต้องขังได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักประกันในกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมถึงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย มาตรการคุ้มครองเฉพาะที่หายไป ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการคุมขัง ย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกทรมาน และได้รับการปฏิบัติไม่ดี ในค่ายฝึกอบรมดังกล่าวคือ


  • มูลเหตุและกระบวนการของการควบคุมตัว และระยะเวลาของการควบคุมตัว ไม่มีการบัญญัติไว้ในกฎหมาย

  • การที่ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องขังไปปรากฏตัวต่อหน้าศาลในช่วงเวลาใดก็ตามระหว่างกระบวนการคุมขัง เพื่อตัดสินว่าการคุมขังนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

  • การกักตัวผู้ต้องขังไว้ที่ค่ายทหารที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ปรกติหรือกระบวนการที่มีกฎเกณฑ์เช่นที่ใช้ในเรือนจำ สถานีตำรวจ หรือสถานที่จองจำอื่นๆ

  • การปราศจากพันธกรณีที่จะแจ้งผู้ต้องขังเกี่ยวกับสิทธิที่ได้รับความช่วยเหลือด้านกฎหมาย

  • การปราศจากกฏเกณฑ์ระบุชัดเจนในการอนุญาตให้ครอบครัวเข้าเยี่ยม (แม้ไอซีเจ เข้าใจว่า ในทางปฏิบัติแล้ว มีการอนุญาตดังกล่าว)

  • การไม่มีการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอในช่วงเวลาที่ถูกควบคุมตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งงในตอนเริ่มต้นและตอนเสร็จสิ้นกระบวนการควบคุมตัว

 

กล่าวโดยสรุป กลไกตรวจสอบและถ่วงดุลตามปกติที่จำเป็นต่อการคุ้มครองผู้ต้องขังไม่ให้เสี่ยงต่อการปฏิบัติไม่ดีนั้นหายไปเมื่อถูกนำตัวมาควบคุมตัวใน "ค่ายฝึกอบรมอาชีพ"

 

 

การขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาล

ข้อที่ 9 (4) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง บัญญัติไว้ว่า บุคคลใดที่ถูกคุมขังมีสิทธิที่จะนำความขึ้นสู่ศาล เพื่อให้ศาลตัดสินโดยไม่รีรอ ถึงความชอบด้วยกฎหมายของการคุมขัง หลักการเช่นนี้เป็นที่รู้จักกันว่า สิทธิในการขอให้ศาลสั่งให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาปรากฎตัวต่อหน้าศาล (Habeas Corpus) สิทธินี้ใช้ได้กับทุกๆ คนที่ถูกจับ หรือกักขังด้วยเหตุใดก็ตาม และสิทธินี้ไม่สามารถละเว้น หรือลิดรอนได้ แม้ในภาวะฉุกเฉิน

 

การที่ศาลต้องพิจารณาโดยเร่งด่วน ทันที ย่อมเป็นการสร้างหลักประกันว่า การควบคุมตัวนั้นจะต้องดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายและมีความจำเป็น และเป็นการให้การคุ้มครองที่สำคัญเพื่อป้องกันการทรมานหรือการปฏิบัติไม่ดีในลักษณะต่างๆ และการบังคับให้คนสูญหาย กระบวนการนี้เปิดโอกาสให้ศาลได้เห็นตัวผู้ต้องขังด้วยตา ได้เห็นร่องรอยว่ามีการปฏิบัติไม่ดีหรือไม่ หรือได้รับฟังคำกล่าวอ้างในส่วนของผู้ต้องขัง มีเพียงกรณีที่จำเป็นที่ไม่อาจเข้าถึงศาลได้เท่านั้น เช่นในยามที่กระบวนการยุติธรรมล่มสลายเพราะสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงจะหาเหตุผลมาอธิบายความล่าช้าของการนำตัวผู้ต้องขังไปปรากฏตัวต่อหน้าผู้พิพากษาได้ ซึ่งมิใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ประเทศไทย ที่ศาลยังคงดำเนินงานได้ตามปกติ ในกรณีใดก็ตาม การทำให้สิทธิสำคัญดังกล่าวนี้ต้องล่าช้าไปเกินกว่า 48 ชั่วโมงเป็นเรื่องที่หาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลได้ยาก

 

ผู้ต้องขังใน "ค่ายฝึกอบรมอาชีพ" ต้องได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิสำคัญดังกล่าว ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยก็รับรองไว้ จึงเป็นไปได้ที่การใช้สิทธิตามหลัก Habeas Corpus สามารถดำเนินการโดยปราศจากขีดจำกัดหรือข้อจำกัด นอกจากนี้ การยืดเยื้อ หรือความล่าช้าของกระบวนการไต่สวน ยังต้องถูกพิจารณาว่า ไม่มีความสอดคล้องกับข้อที่ 9 ของ กติการะหว่างประเทศฯ ที่กล่าวว่า เพื่อให้การเยียวยามีประสิทธิภาพ จะต้องมีการนำตัวผู้ต้องขังไปปรากฎตัวต่อหน้าศาลโดยพลัน ให้เขาเลือกทนายความเป็นตัวแทนในชั้นศาลได ให้เขาได้ปรึกษาทนายเป็นการส่วนตัว และมีทนายผู้นั้นเป็นตัวแทนของเขาในศาล ในกรณีที่มีการปฏิเสธ หรือจำกัดไม่ให้มีทนายความ ฝ่ายที่สามที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยชอบธรรมสามารถดำเนินการทางกฏหมายเพื่อประโยชน์ หรือในนามของผู้ต้องขังนั้นได้

 

 

ภาวะฉุกเฉิน

มีการประกาศภาวะฉุกเฉินในภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 48 โดยมีการต่ออายุประกาศดังกล่าวทุกๆ สามเดือน อย่างไรก็ดี แม้กระทั่งภายใต้ภาวะฉุกเฉิน รัฐบาลก็ไม่สามารถกักขังผู้คนได้ตามอำเภอใจ หรือไม่สามารถปฏิเสธสิทธิตามกฎหมายในระหว่างถูกควบคุมตัวของผู้ต้องขัง รวมถึงสิทธิตามหลัก Habeas Corpus กฏหมายจะต้องระบุชัดเจนถึงมูลเหตุที่อนุญาตได้สำหรับการควบคุมตัว และให้หลักประกันทางกฎหมายเพื่อไม่ให้มีการละเมิด

 

แม้จะถ้อยคำที่คลุมเครือใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ก็ยังให้มีการคุมขังตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อหาได้อย่างมากที่สุดไม่เกิน 30 วันเท่านั้น แต่ผู้ถูกคุมขังใน "ค่ายฝึกอบรมอาชีพ" ถูกคุมตัวนอกกฎหมายมาแล้วนานกว่าสองเดือน และเป็นที่เข้าใจกันว่าพวกเขาจะถูกควบคุมตัวไว้ได้ถึงสี่เดือน โดยปราศจากกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลในประเด็นความชอบด้วยกฎหมาย หรือเงื่อนไขของการควบคุมตัว ตามที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ แม้กระทั่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

 

ข้อสรุป

- ผู้ที่กระทำความผิดอาญาร้ายแรงในภาคใต้ควรถูกตั้งข้อหาและนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมภายหลังจากมีการไต่สวนที่ยุติธรรมและเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้ว พวกเขาไม่ควรถูกคุมขังชั่วคราวโดยวิธีนอกฎหมายใน"ค่ายฝึกอบรมอาชีพ"

 

- "ค่ายฝึกอบรมอาชีพ" หรือโครงการทำนองเดียวกัน เทียบเท่ากับการควบคุมตัวตามอำเภอใจ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ตาม ข้อที่ 9 (1) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

 

- การเข้าร่วม "ค่ายฝึกอบรมอาชีพ" ไม่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นเรื่องของความสมัครใจ เว้นแต่ว่าบุคคลนั้นมีเสรีภาพอย่างแท้จริงในการปฏิเสธไม่เข้าร่วม หรือ ขอออกจากโครงการ โดยปราศจากการข่มขืนใจ ข่มขู่ หรือความหวาดกลัวผลร้ายอื่นที่อาจตามมา

 

- การใช้วิธีการควบคุมตัวตามอำเภอใจ เป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล และเป็นการบั่นทอนหลักนิติธรรม การกระทำดังกล่าวเป็นการนำผู้ต้องขังออกนอกระบบกฎหมายปกติ และสร้างเงื่อนไขให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เช่น การทำให้บุคคลไร้ซึ่งเสรีภาพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การทรมาน การปฏิบัติที่ทารุณ ไร้มนุษยธรรมและย่ำยี่ และการบังคับให้บุคคลสูญหาย

 

- ทุกคนที่ถูกควบคุมตัวใน "ค่ายฝึกอบรมอาชีพ" ต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิที่พวกเขาพึงมีในเรื่องการช่วยเหลือทางกฎหมาย และได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิใน Habeas Corpus โดยการนำความขึ้นสู่ชั้นศาลเพื่อให้ศาลตัดสินโดยไม่ชักช้า เกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว

 

 

ข้อเสนอแนะจากไอซีเจ

1. รัฐบาลควรให้ทรัพยากรอย่างเต็มที่และเน้นความสำคัญของการดำเนินดีทางอาญาที่สำเร็จและเป็นธรรมต่อผู้ก่อความรุนแรงทั้งหมดในภาคใต้

 

2. รัฐบาลควรหยุดวิธีปฏิบัติที่มีการควบคุมตัวบุคคลตามอำเภอใจไว้ใน "ค่ายฝึกอบรมอาชีพ"หรือโครงการอื่นๆทำนองเดียวกันนี้

 

3. บุคคลทุกคนที่ถูกควบคุมตัวไว้ใน "ค่ายฝึกอบรมอาชีพ"ในภาคใต้ควรได้รับการปล่อยตัวทันที ในกรณีที่มีหลักฐานแท้จริงด้านความผิดทางอาญา ผู้ต้องสงสัยควรถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายอาญาปกติ และถูกนำไปปรากฎตัวต่อหน้าผู้พิพากษาให้ตัดสินความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว

 

4. ไอซีเจ สนับสนุนข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติว่า "ต้องมีการเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัดในระหว่างที่ผู้ต้องสงสัยถูกควบคุมตัว" ผู้ถูกควบคุมตัวทุกคน ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม จะต้องมีสิทธิได้รับหลักประกันว่าจะไม่มีการละเมิด เช่น สิทธิที่จะได้รับการบอกกล่าวถึงสาเหตุการควบคุมตัว สิทธิที่จะถูกนำตัวไปปรากฎต่อหน้าผู้พิพากษาทันทีที่ถูกจับ และสิทธิในการที่จะมีการทบทวนการคุมขังเป็นระยะๆ สิทธิในการเข้าถึงทนายความภายใน 24 ชั่วโมงภายหลังการจับกุม สิทธิการติดต่อญาติ ตามกฎหมายไทยและมาตรฐานระหว่างประเทศ

 

5. รัฐบาลควรทบทวนอย่างรอบคอบถึงกรอบนโยบายการควบคุมตัวในภาคใต้ และให้หลักประกันว่าครรลองยุติธรรมดำเนินไปตามกฎหมายไทย กฎหมายระหว่างประเทศ และมาตฐานสากลอย่างเคร่งครัด ไอซีเจ สนับสนุนข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติว่า สิ่งนี้เป็นเรื่อง "สำคัญสูงสุดในการสร้างความมั่นใจและความไว้วางใจในระบบของยุติธรรม สำหรับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้"

 

 

………………………………….

1> เช่น มาตรา 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ General Comment No.31 (Nature of the General Legal Obligation Imposed on States Parties to the Covenant), paras.8 and 15.( ข้อสังเกตทั่วไปที่ 31 พื้นฐานของพันธกรณีทางกฏหมายทั่วไปของรัฐที่เป็นภาคีในข้อตกลง ย่อหน้าที่ 8 และ 15); The UN Basic Principles and Guidelines on the Right to a Remedy and Reparation for Victims of Gross Violations of International Human Rights Law and Serious Violations of Human Rights Law (หลักการและแนวทางพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิต่อการเยียวยาและชดเชยให้หยื่อของการละเมิดกฏหมายสิทธิมนุษยชนสากลและการละเมิดอย่างรุนแรงของกฏหมายมนุษยธรรมสากล) ซึ่งได้รับการรับรองและประกาศโดยมติสมัชชาสหประชาชาติที่ 60/147 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม คศ.2005; และหลักการ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง) ของการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนผ่านการกระทำเพื่อต่อสู้การทำผิดแล้วไม่ต้องรับผลของการกระทำเลขที่ E/CN.4/2005/102/Add.1, หลักการที่ 19

 

2> Http://www.southpeace.go.th

 

3> รายงานด้านกฎหมายของไอซีเจเรื่องการใช้พรก.ฉุกเฉินของไทย กรกฎาคม 2550 หน้า 14-19

 

4> มาตราที่ 14 (2) ICCPR

 

5> การคุมขังโดยพลการ เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และมักถูกรจัดว่าเป็น jus cogens rule หรือกฎที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบรรทัดฐานสากล ที่ไม่ได้รับการละเว้นในการปฏิบัติในทุกกรณี ยกตัวอย่างเช่น ในเอกสาร Restatement (Third) of the Foreign Relations Law of the United States.

 

6> คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ กรณีของ van Alphen v The Netherlands (305/88) 23/7/90 ย่อหน้า 5.8

 

7> ดู คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ความเห็นทั่วไปข้อ 8 ย่อหน้าที่ 1

 

8> มาตราที่ 10 (3) ICCPR

 

9> มาตรา 9 (3) ICCPR ดูคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ข้อสังเกตสรุปเกี่ยวกับประเทศไทย CCPR/CO/84/THA (13), 28 July 2005 (ฉบับล่วงหน้า) "การคุมขังใดก็ตามที่ไม่มีการคุ้มครองจากภายนอก เกินกว่า 48 ชั่วโมงควรเป็นสิ่งต้องห้าม"

 

10> ดู ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ข้อคิดเห็นทั่วไปที่ 20 เกี่ยวกับการห้ามให้มีการทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้ายหรือการลงโทษอย่างโหดร้าย ย่อหน้าที่ 11

 

11> มาตราที่ 14 (3) ICCPR

 

12> หลักการที่ 24 ของ The UN Body of Principles

 

13> Habeas Corpus เป็นภาษาละติน หมายความว่า "การแสดงตัว" ในทางกฎหมายหมายถึงการนำบุคคลไปปรากฏตัวต่อหน้าศาลหรือผู้พิพากษา เพื่อให้ตัดสินว่าบุคคลดังกล่าวถูกคุมขังชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และให้มีการปล่อยตัวบุคคลหากเขาถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

 

14> ข้อเสนอแนะปิดท้ายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติเรื่องประเทศไทย CCPR/CO/84/THA(13), 28 July 2005 (Advanced Unedited Version)

 

15> รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 32

 

16> ข้อเสนอแนะปิดท้ายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ญี่ปุ่น CCPR/C/79?Add.102, 19 November 1998, ย่อหน้าที่ 24

 

17> ข้อเสนอแนะปิดท้ายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สาธารณรัฐโดมินิกัน CCPR/CO/71/DOM, 26 March 2001

 

18> ดูตัวอย่างที่เช่น มาตรา 14 (3)(b) และ (c) ของ ICCPR และหลักการที่ 17 และ 18 ของ The UN Body of Principles for the Protection of all Persons under Any Form of Detention or Imprisonment (ข้อตกลงว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนที่ถูกคุมขังหรือจองจำในทุกรูปแบบ) ซึ่งรับรองโดยข้อมติสมัชชาสหประชาชาติที่ 43/173 เมื่อวันที่ 9 December 1988 และดู คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติกรณีของ Berry v Jamaica (330/88),7/4/94, para.11.1 ที่เชื่อมโยงการเข้าถึงทนายความกับการใช้สิทธิตามมาตรา 9 (4)

 

19> คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอืนๆกล่าวเสมอว่า ฮาบีส คอร์ปัสจะต้องมีไว้กระทั่งในยามภาวะฉุกเฉินที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ดู เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ General Comment No. 29, paras. 14 and 16

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท