Skip to main content
sharethis

รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังหาทางทำข้อตกลงทางการค้าในระดับนานาชาติใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งสินค้าและซอฟท์แวร์ เนื่องจากข้อตกลงระหว่างองค์การการค้าโลก ไม่มีประสิทธิภาพพอ ส่วนบรรษัทสื่อยักษ์ใหญ่รวมตัวกดดันการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต


23 ต.ค. เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นได้ออกมาชี้แจงในประเด็นนี้ว่า กฎระเบียบที่ใช้อยู่ในขณะนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน ที่มีการทำการค้าและเผยแพร่สินค้าไปทั่วโลกผ่านทางสื่อใหม่ต่าง ๆ  เช่น อินเทอร์เน็ต โดยญี่ปุ่นอาจจะต้องทำข้อตกลงใหม่กับประเทศคู่ค้า เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์


ในขณะนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก และยังเป็นผู้ส่งออกหลัก ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นอาจจะหารือถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับการร่างข้อตกลงเกี่ยวกับการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ใหม่ที่เจนีวาในปีนี้

"เราจะต้องพูดคุยในรายละเอียดกันมาก สำหรับการต่อสู้กับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์" --- เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นกล่าว "ขณะนี้สถานการณ์ในระดับโลก สินค้าปลอมแปลงและการละเมิดลิขสิทธิ์กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันไม่ใช่แค่ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่มันอาจสร้างปัญหาให้ผู้บริโภค ทั้งเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในด้านต่างๆ"


ส่วนประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตรวดเร็วอย่างจีน ก็ถูกมองว่ามีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์สูงประเทศหนึ่ง โดยประเทศคู่ค้ากับจีน กำลังพยายามกดดันจีนให้ออกนโยบายต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์ในจีนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่พยายามกดดันจีนตามกรอบข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งสหรัฐอเมริกามองว่าจีนเอาเปรียบตนเอง ในเรื่องของสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านั้น


ทั้งนี้อดีตนายกรัฐมนตรี จุนอิชิโร่ โคอิซูมิ (Junichiro Koizumi) ได้เสนอให้กลุ่ม G-8 ทำข้อตกลงใหม่เกี่ยวกับเกี่ยวกับการต่อสู้กับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ในปี ค.ศ.2005 ที่ผ่านมา


ส่วนบรรษัทสื่อยักษ์ใหญ่ของโลกก็อาจจะมีการรวมตัวกดดันปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์บนโลกไซเบอร์ ซึ่งมีทั้ง เวียคอม (Viacom Inc), วอลท์ ดิสนีย์ (Walt Disney Co), ไมโครซอฟท์ (Microsoft Corp) และบรรษัทด้านสื่ออื่นๆ ส่วนกูเกิล (Google) ผู้ให้บริการวีดีโอบนอินเตอร์เน็ตใหญ่ที่สุด ก็กำลังลังเลใจกับจุดยืนของตนเองอยู่


โดยบรรษัททั้งหลายอาจจะรวมตัวกันเพื่อกำหนดแนวทางสำหรับปกป้องลิขสิทธิ์เนื้อหาในอินเทอร์เน็ต โดยมีแผนใช้เทคโนโลยีในการป้องกันการเผยแพร่เนื้อหาต่างๆ ที่ละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ รวมทั้งตั้งเป้าหยุดยั้งการลักลอบเผยแพร่ข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต



"แนวทางนี้จะนำไปสู่การปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่มากมายของวีดิโอออนไลน์ และการสร้างเนื้อหาโดยผู้ใช้งานเอง" --- CEO ของวอลท์ ดิสนีย์ บ๊อบ อีเกอร์ (Bob Iger) กล่าว


ส่วนฟิลลิปส์ ดูแมน CEO ของเวียคอม กล่าวว่า "แนวทางนี้จะช่วยพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยี, เนื้อหาและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด"


ทั้งนี้คาดว่าบรรษัทใหญ่ๆ ทางด้านสื่ออย่าง ฟ็อกซ์ (News Corp's Fox), มายสเปซ (MySpace), ซีบีเอส (CBS Corp) และเอ็นบีซี ยูนิเวอร์แซล (NBC Universal) อาจจะเข้าร่วมด้วย



ส่วนกูเกิ้ล (Google) ผู้ให้บริการวีดีโอออนไลน์ใหญ่ที่สุดผ่านยูทูบ (You Tube) ยังมีท่าทีที่นิ่งเฉยต่อการเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่

เจมส์ แมคควิวีย์ (James McQuivey) นักวิเคราะห์ของฟอร์เรสเตอร์ รีเสิร์ช (Forrester Research) กล่าวว่า กูเกิล จะถูกกดดัน ซึ่งท้ายที่สุดจะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อใช้รูปแบบเดียวกันในการจัดการปัญหาเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ แทนที่จะใช้วิธีของตัวเอง

โดยผลประกอบการไตรมาส 3 ของกูเกิ้ล เพิ่มมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาด โดยกำไรสุทธิทะยานขึ้น 45% เป็น 1,070 ล้านดอลลาร์ หรือ 3.91 ดอลลาร์ต่อหุ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของรายได้จากโฆษณาออนไลน์ ขณะที่รายรับเพิ่มขึ้น 57% เป็น 4,230 ล้านดอลลาร์


ทั้งนี้กูเกิ้ลเองก็ถูกเคยเวียคอมฟ้องร้องเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์

 


ที่มา:


Japan calls for new treaty to crack down on counterfeit goods (Thomson Financial News - 23 ตุลาคม 2550)


Media companies in copyright pact, Google absent  (Reuters - 18 ตุลาคม 2550)


 


 


  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net