Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วันนี้ (24 ต.ค. 50) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ร่วมกับนายสุรพล ดวงแข อดีตเลขามูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ตัวแทนมูลนิธิการศึกษาเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าและธรรมชาติ (อยู่ในระหว่าดำเนินการยื่นจดทะเบียน) และนายสมชาย อามีน กรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ จัดอภิปราย "คัดค้านการเปิดเหมืองแร่ตะกั่วรอบเขตทุ่งใหญ่นเรศวร" พร้อมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยมีนายสมเกียรติ จันทรสีมา จากสำนักข่าวชาวบ้าน ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ


จากกรณีกรมป่าไม้ได้พิจารณาอนุญาตให้ บริษัท กาญจนบุรีเอ็คซ์โพลเรชั่น แอนด์ไมนิ่ง (เค็มโก) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ใช้พื้นที่ดำเนินการแต่งแร่ตะกั่ว จำนวน 60,429 ตัน ซึ่งขนย้ายมาจากเหมืองคลิตี้ หลังเกิดปัญหาการปนเปื้อนของตะกั่วจากหางแร่ตะกั่วที่โรงแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ในบริเวณใกล้กับพื้นที่ปัญหาเดิมซึ่งอยู่ในเขตเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติลำคลองงู เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุดการยื่นขอดำเนินการแต่งแร่ตะกั่วอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใบอนุญาตจากกรมอุสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)


นายสุรพงษ์ กองจันทึก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวถึงข้อบกพร่องอันนำไปสู่ความไม่เห็นด้วยในการอนุญาติให้เปิดเหมืองแร่เค็มโกใน 4 ข้อ คือ 1.การที่เหมืองแร่เค็มโก ประกอบกิจการแต่งแร่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535- พ.ศ.2545 ซึ่งอาจจะผิดกฎหมายแต่ยังไม่มีการตรวจสอบหาข้อสรุป 2.การทรุดตัวของพื้นดินของสนามฟุตบอลโรงเรียนบ้านเหมืองสองท่อเหนือบริเวณที่มีการทำเหมืองยังไม่มีข้อสรุปการแก้ไขและสอบสวนการกระทำความผิด รวมไปถึงการสร้างปล่องนอกเหนือเขตพื้นที่อนุญาตก็ยังไม่มีการตรวจสอบ 3.กรณีก้นบ่อเหมืองเค็มโกพังทลายเมื่อปี 2548 ยังไม่มีการตรวจสอบสาเหตุและผลกระทบที่แท้จริง 4.การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ซึ่งเต็มไปด้วยตะกั่วยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ


ส่วนด้านสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จากผลตรวจสอบทางการแพทย์ระบุได้ว่าชาวบ้านในหมู่บ้านคลิตี้ล่างป่วยเป็นโรคพิษตะกั่วเรื้องรังจากสิ่งแวดล้อม และยังพบผู้เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าว เนื่องจากการใช้น้ำและกินปลาในลำห้วยคลิตี้ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักของหมู่บ้านที่ใช้อุปโภคบริโภค นอกจากนี้สารตะกั่วจำนวนมากในร่างกายยังมีผลกระทบต่อไอคิวและระบบพันธุกรรมของเด็กๆ ด้วย


แต่เมื่อสอบถามถึงจำนวนที่แน่นอนของผู้ได้รับผลกระทบทั้งในส่วนที่เจ็บป่วยและเสียชีวิต นายสุรพงษ์ ได้ให้ข้อมูลถึงปัญหาอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งทำให้มีการปิดกันข้อมูลในส่วนนี้ โดยกล่าวว่าชาวบ้านคลิตี้ล่างโชคดีที่เป็นหมู่บ้านที่ห่างไกล ส่วนพื้นที่ใกล้เหมืองนั้นมีกลุ่มอิทธิพลท้องที่ดูแลอยู่รวมทั้งชาวบ้านเองก็เป็นคนงานของเหมือง ทำให้ไม่มีใครกล้าออกมาเรียกร้องเพราะเกรงผลกระทบที่อาจตามมา


นอกจากนี้นายสุรพงษ์ยังกล่าวอีกว่า เหมืองคลิตี้ ของ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และเหมืองเค็มโก ของบริษัท กาญจนบุรีเอ็คซ์โพลเรชั่น แอนด์ไมนิ่ง (เค็มโก) จำกัด เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน และมีกรรมการชุดเดียวกัน ซึ่งความเชื่อมโยงกันนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยในกระบวนการผูกขาดซึ่งอาจเกี่ยวพันกับการทำเหมืองแร่เถื่อนในพื้นที่ รวมไปถึงการที่จำนวนแร่ตะกั่วที่ขนย้ายจากเหมืองคลิตี้กว่า 140,000 ตัน ซึ่งมีเหลืออยู่และทำเรื่องขอแต่งแร่ในตอนนี้เพียง 60,429 ตัน จนเกิดข้อสงสัยในส่วนต่างที่หายไป


ในส่วนการดำเนินการทางกฎหมาย นายสมชาย อามีน ทนายความในคดีระหว่างชาวบ้านคลิตี้กับผู้ประกอบการเหมืองแร่ และกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า คดีที่ยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 46 ได้รับการพิจารณาแล้วเมื่อปี 49 ในคดีแรกซึ่งเป็นการฟ้องเยียวยาความเสียหายรายบุคคลกับชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันการได้รับผลกระทบชัดเจนจำนวน 8 ราย โดยได้รับค่าชดเชยรวมทั้งสิ้น 4 ล้านบาท แต่ในส่วนคดีที่สองการเยียวยาความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ศาลพิจารณาว่าผู้เสียหายทั้ง 8 คน ไม่ได้เป็นตัวแทนของชุมชนจึงไม่มีอำนาจยื่นฟ้อง อีกทั้งมีกรมควบคุมมลพิษที่ต้องดูแลจัดการในส่วนนี้อยู่แล้ว


นายสมชายกล่าวต่อว่า อันที่จริงมีผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองและตรวจพบปริมาณสารตะกั่วในเลือดสูงกว่า 151 ราย ได้ยื่นฟ้องในนามชุมชนให้ทางบริษัทฯ ทำการฟื้นฟูลำห้วย โดยดำเนินการแทนรัฐซึ่งก็คือกรมควบคุมมลพิษ เรียกร้องค่าเสียหายกว่า 1,041,952,000 บาท ด้วยเหตุผลการไม่ได้ใช้น้ำตามสิทธิของชุมชนเพราะน้ำเกิดการปนเปื้อนของสารตะกั่ว อีกทั้งผู้ประกอบการละเลยต่อสิ่งแวดล้อมแอบลักลอบปล่อยน้ำเสียมามากกว่า 10 ปี เพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ถือเป็นการทำอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม ขณะนี้คดีอยู่ที่ศาลปกครอง


ด้านการแก้ปัญหานายสมชาย กล่าวว่า ในส่วนกระบวนการยุติธรรมได้มีการผลักดันการตั้งศาลคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นศาลชำนาญการพิเศษขึ้นมา เพื่อพิจารณาคดีในด้านนี้โดยเฉพาะ โดยเริ่มในมีในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม และอาจมีการขยายลงสู่ในชั้นศาลปกครองต่อไป และนายสมชายยังสนับสนุนให้ใช้ระบบการไต่สวนตามกระบวนการพิจารณาคดีของศาลปกครอง โดยแสดงความเห็นว่าจะเป็นการลดแรงกดดันแก่ประชาชนตัวเล็กตัวน้อยซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ได้ดีกว่าการพิจารณาคดีในระบบกล่าวหาดังเช่นทุกวันนี้


ทั้งนี้ นายสุรพล ดวงแข อดีตเลขามูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ กล่าวว่า การพิจารณาของศาล ผลคำพิพากษาจะนำไปสู่บรรทัดฐานการจัดการกับกรณีปัญหา แต่ไม่ว่าการตัดสินของศาลจะเป็นอย่างไรการเผยแพร่ของสื่อมวลชนจะช่วยเผยแพร่ประเด็นตัวอย่างที่จะอธิบายปัญหาให้คนทั่วไปได้เข้าใจ และกล่าวถึงจุดอ่อนของการแก้ปัญหานี้ว่า คนในพื้นที่ซึ่งประสบปัญหามักอยู่ห่างไกล และต้องกลายเป็นคนด้อยโอกาส ทั้งในด้านความรู้ ข้อมูล ซึ่งต้องได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรภายนอกมาก ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการทำให้ชุมชนเข้มแข็งด้วยตัวเองและความช่วยเหลือภายนอกเป็นสิ่งที่ต้องสอดรับกัน


นอกจากนี้ นายสุรพล ยังได้กล่าวถึงปัญหาจากนโยบายที่อ่อนแออันส่งผลมาถึงการปฏิบัติว่า การจัดการของระบบราชการมีปัญหาใหญ่ในเรื่องการใช่ดุลยพินิจในการตัดสินใจโดยขาดหลักเกณฑ์ในรายละเอียดที่ชัดเจน ดังกรณีของการตัดสินใจอนุมัติให้ใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ที่ไม่ต้องผ่านความคิดเห็นของคณะกรรมการในระดับประเทศทั้งที่พื้นที่ในเขตทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งอยู่ในพันธสัญญาของคณะกรรมการมรดกโลก โดยกล่าวแสดงความคิดเห็นว่าในอนาคตทุ่งใหญ่ฯ อาจตกอยู่ในฐานนะอันตราย และถูกถอนออกจากการเป็นมรดกโลกในที่สุด ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นกว่าจะมีการตื่นตัวก็คงสายไปแล้ว


"ในวันนี้อยู่กันอย่างคลุมเครือ เจ้าหน้าที่อ้างอยู่ในดุลพินิจ ผู้ประกอบการก็หัวเราะชอบใจ" นายสุรพล กล่าว


  


 






 


 


แถลงข่าวและอภิปรายคัดค้านการเปิดเหมืองแร่ตะกั่วรอบเขตทุ่งใหญ่นเรศวร


  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ห้องประชุมชั้น 3


ถนนสามเสน  ตรงข้ามโรงพยาบาลวิชระ


 


 


 


                     ปัญหาพิษตะกั่วทั้งในถังน้ำของโรงเรียนและหม้อต้มก๋วยเตี๋ยวกำลังได้รับความสนใจและขานรับในการป้องกันแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ปัญหาที่ยิ่งใหญ่กว่าและส่งผลกระทบมากกว่า คือ พิษตะกั่วจากกิจกรรมทำเหมืองแร่ บริเวณโดยรอบทุ่งใหญ่นเรศวร ยังไม่ได้รับการแก้ไข ตรงกันข้ามกลับมีความพยายามเปิดเหมืองแร่ตะกั่วบริเวณนี้อีก


                     สืบเนื่องจาก บริษัท กาญจนบุรีเอ็คซ์โพลเรชั่น แอนด์ไมนิ่ง (เค็มโก) จำกัด ได้ยื่นคำขอใบอนุญาตแต่งแร่ตะกั่ว ที่ตะบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับกรณีปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้จากโรงแต่งแร่ ซึ่งยังไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน


                     โดยในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำกับดูแลและควบคุมการแต่งแร่ตะกั่วและฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ของบริษัทดังกล่าว ขึ้นมา เพื่อเสนอความเห็นสำหรับใช้ประกอบการพิจารณา ซึ่งกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้ บริษัทฯ ใช้พื้นที่แล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2550 และ กพร.จะนำเอามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมที่คณะทำงานฯ ได้ประชุมหารือและมีมติเห็นชอบไว้แล้วไปใช้เป็นเงื่อนไขใบอนุญาตและตรวจสอบกำกับดูแล ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใบอนุญาตของ กพร.


                     จากกรณีดังกล่าว ทางองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งได้ติดตามกรณีปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ และกรณีการดำเนินการเหมืองแร่เค็มโก มาโดยตลอดไม่เห็นด้วยต่อการที่จะอนุญาตให้มีการเปิดดำเนินการโรงแต่งแร่เค็มโก ดังเหตุผลต่อไปนี้


                     1. การขออนุญาตแต่งแร่ ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 นั้น ไม่ทราบว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะในปัจจุบันมีการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545


                     2. กรณีที่มีข่าวเหมืองแร่เค็มโกทรุดตัวบริเวณโรงเรียนสองท่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับปล่องระบายอากาศของเหมืองแร่เค็มโก ยังไม่มีการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา


                     3. การที่บริษัท กาญจนบุรีเอ็คซ์โพลเรชั่น แอนด์ไมนิ่ง (เค็มโก) จำกัด ประกอบกิจการแต่งแร่ซึ่งอาจจะผิดกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 - พ.ศ.2545 ยังไม่มีการตรวจสอบหาข้อสรุปกับเรื่องดังกล่าว


                     4. เนื่องด้วยมีมติคณะรัฐมนตรี 4 กระทรวงหลักที่จะไม่ให้มีการประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่โดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ดังนั้น การที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะอนุญาตให้บริษัท กาญจนบุรีเอ็คซ์โพลเรชั่น แอนด์ไมนิ่ง (เค็มโก) จำกัด แต่งแร่ควรจะมีการขอมติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเว้นหรือแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเดิม


                     5. กรณีการปนเปื้อนของสารตะกั่วของโรงแต่งแร่คลิตี้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงควรให้มีการแก้ไขปัญหากรณีคลิตี้ ซึ่งเกิดจากบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันให้เรียบร้อยและเป็นที่ยอมรับก่อนการอนุญาตให้บริษัท กาญจนบุรีเอ็คซ์โพลเรชั่น แอนด์ไมนิ่ง (เค็มโก) จำกัด ดำเนินการแต่งแร่


                     6. ควรมีการศึกษาการปนเปื้อนและคุณภาพน้ำในลำห้วยชะนี ซึ่งอยู่ใกล้กับเหมืองเค็มโก ให้เป็นที่แน่ชัดว่ามีการปนเปื้อนสารพิษตะกั่วหรือไม่ และหากมีการปนเปื้อนควรมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพที่ปลอดภัยก่อนการพิจารณาอนุญาตให้มีการดำเนินการแต่งแร่ในบริเวณใกล้ลำห้วย โดยในการตรวจสอบนั้นต้องดำเนินการโดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามกรณีปัญหาเหมืองแร่โดยรอบบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร


และในประเด็นเรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโรงแต่งแร่ตะกั่ว ของบริษัท กาญจนบุรีเอ็คซ์โพลเรชั่น แอนด์ไมนิ่ง (เค็มโก) จำกัด นั้น ควรที่จะมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จนได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการผู้ชำนาญการที่เกี่ยวข้อง ตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อนำมาตรการในการศึกษาดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาอนุญาต


 


                     ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีความเห็นว่าเรื่องการพิจารณาอนุญาตแต่งแร่ของบริษัท กาญจนบุรีเอ็คซ์โพลเรชั่น แอนด์ไมนิ่ง (เค็มโก) จำกัด นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ จึงควรชะลอเพื่อตรวจสอบในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องตามที่เสนอมาข้างต้นก่อนการพิจารณา


 


 


องค์กรผู้ร่วมคัดค้านการเปิดดำเนินการโรงแต่งแร่เค็มโก


- กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม


- กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์


- กลุ่มสตรีกาญจนบุรี


- เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม จังหวัดกาญจนบุรี


- โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม


- มูลนิธิการศึกษาเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าและธรรมชาติ


- มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ


- มูลนิธิโลกสีเขียว


- สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม


- สำนักข่าวชาวบ้าน


- ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net