Skip to main content
sharethis

วันนี้ (24 ต.ค.) "โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ" ทำหนังสือลงวันที่ 24 ตุลาคม ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตากชี้แจงกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลคุกคามพระสงฆ์-ประชาชนชุมนุมเพื่อสันติภาพในพม่า ที่แม่สอด เมื่อวันที่ 27 และ 30 กันยายน ที่ผ่านมา


 


โดยก่อนหน้านี้โครงการดังกล่าวได้ทำหนังสือร้องเรียนแล้ว เมื่อวันที่ 28 กันยายน แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ทำหนังสือตอบแบบไม่ชี้แจงอะไร แถมส่อเจตนาล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและคุกคามประชาชน เพราะส่งจดหมายโดยใช้ที่อยู่ของโครงการ แต่ตอบกลับแบบส่งไปตามภูมิลำเนาของคนลงชื่อร้องเรียน


 


โดยหนังสือฉบับล่าสุด "โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ" ยังชี้แจงเจตนาของจดหมายร้องเรียนฉบับลงวันที่ 28 กันยายน 2550 ที่ส่งถึง อ.แม่สอด และจ.ตาก ว่า "มิได้มุ่งหวังให้มีการสอบสวนเพื่อดำเนินการเอาผิดลงโทษบุคคล กลุ่มบุคคล หรือหน่วยงานใด ดังที่ทาง จ.ตาก ขอให้ทางโครงการฯ ระบุตัวบุคคล หากแต่ทางโครงการฯ เห็นว่า การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายของบุคคลซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่รัฐไทยในฐานะนิติรัฐยึดมั่น ควรได้รับการบังคับใช้ ดังนั้น ทางโครงการฯ ขอเรียกร้องให้ จ.ตาก ดำเนินการตรวจสอบถึงข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่ทางโครงการฯ เรียนมาข้างต้น เพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจถึงเหตุการณ์การห้าม คุกคาม ขัดขวางเสรีภาพในการชุมนุมฯลฯ ทั้งต่อสาธารณะ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดความระมัดระวังในการดำเนินการ การปฏิบัติต่อการชุมนุมโดยสงบและสันติ รวมถึงทางโครงการฯ ขอเรียกร้องให้จ.ตากดำเนินการสนับสนุน เอื้ออำนวยความสะดวกต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพฯ ดังกล่าว ตามแนวทางแห่งนิติรัฐ"


 


 






โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ Stateless Watch Project (SW)


341/23 ซอยจรัลสนิทวงศ์ 31/1 ถนนจรัลสนิทวงศ์ แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700


341/23 SoiJaransanitvong 31/1 Jaransanitvong Road Bangkhunsri Bangkoknoi Bangkok 10700


 


 


วันที่ 24 ตุลาคม 2550


 


เรื่อง                  ชี้แจง และขอให้จังหวัดตากชี้แจง เกี่ยวกับกรณีการเรียกร้องให้จังหวัดตากยุติการคุกคามเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและสันติของพระสงค์และประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก


เรียน                  ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก


สำเนาถึง             1) คุณวสันต์ พานิช คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


                        2) คุณไพโรจน์ พลเพชร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


3) คุณสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ


                        4) สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ


                        5) รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์





สืบเนื่องจากหนังสือ ที่ ตก 00 17.3/14822 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ที่ทางจังหวัดตากมีถึงดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล และผู้ลงนามในท้ายจดหมายที่เรียกร้องให้จังหวัดตากยุติการคุกคามเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและสันติของพระสงฆ์และประชาชนในพื้นที่อ.แม่สอด จ.ตาก ฉบับลงวันที่ 28 กันยายน 2550 นั้น โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch) ขอชี้แจง และเรียนขอให้ทางจังหวัดตากชี้แจง ดังต่อไปนี้


 


1. สืบเนื่องจาก โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ได้รับแจ้งจากเครือข่ายและเพื่อนแรงงานข้ามชาติในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน เวลาประมาณ 18.00 น. ในขณะที่ประชาชน พระสงฆ์กำลังชุมนุมโดยสันติที่บริเวณริมแม่น้ำเมย อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อสวดมนต์ภาวนาเพื่อให้เกิดสันติภาพในประเทศพม่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐ นำโดยนายสุชาติ สุวรรณกาศ นายอำเภอแม่สอดได้เข้ามาขอให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม โดยอ้างว่าเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อประเทศไทย (ซึ่งต่อมาสื่อมวลชนได้รายงานถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย) นอกจากนี้ ยังปรากฎว่ายังมีบุคคลที่คาดว่าน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบเดินถ่ายรูปผู้ร่วมชุมนุม ฯลฯ


 


และในวันที่ 30 กันยายน ที่บริเวณหน้าโรงงาน TK เวลาประมาณ 13.30 น. และเวลาประมาณ 14.00 น. ที่บริเวณหน้าสำนักงาน UNHCR ได้มีการชุมนุมอย่างสงบและสันติอีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงในประเทศพม่า แต่ปรากฎว่า เจ้าหน้าที่รัฐ ได้แก่ อส. ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ ได้เข้าดำเนินการห้าม ขอให้ยุติการชุมนุม มีการจับกุมตัวผู้ชุมนุมบางคน ด้วยข้อหาขาดเอกสารแสดงตน ยิ่งไปกว่านั้น ทางโครงการฯ ได้รับแจ้งว่า ภาพข่าวโทรทัศน์ ได้รายงานภาพเจ้าหน้าที่รัฐดึง ยึดและกระชากป้ายอย่างรุนแรงจากมือผู้ชุมนุม ฯลฯ


 


2. ทางโครงการฯ ได้เรียนไว้ในจดหมายฉบับลงวันที่ 28 กันยายน 2550 แล้วว่า การชุมนุมโดยสงบและสันติเป็นสิทธิในเสรีภาพที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ฉบับปี 2540 จนถึงฉบับปัจจุบัน ทั้งประเทศไทยก็เป็นภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง พ.ศ.2509 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 นอกจากนี้การชุมนุมโดยสันติดังกล่าว ยังมีกิจกรรมการสวดมนต์ภาวนาเพื่อให้เกิดสันติภาพในประเทศพม่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มนุษย์ องค์กร สมาคมต่างๆ ทั่วโลกต่างก็ดำเนินการ และหากทางจ.ตาก ติดตามสถานการณ์จะเห็นว่ามีการดำเนินกิจกรรมลักษณะเดียวกันรวมถึงกิจกรรมลักษณะอื่นๆ อีกมากมาย ที่บริเวณหน้าสถานฑูตพม่าในกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2550 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวได้รับการอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดียิ่งจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยและสถานฑูตพม่า


 


3. ทางโครงการฯ มีความเข้าใจถึงเงื่อนไขของสถานการณ์พื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก อย่างไรก็ดี ทางโครงการฯ มีความเห็นว่าสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานแห่งความเป็นมนุษย์ที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่ถูกริดรอนจำกัดโดยกฎหมายลำดับรอง นอกจากนี้ สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสันติและเพื่อสันติภาพ สมควรได้รับการคุ้มครอง สนับสนุน และได้รับการอำนวยความสะดวกโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หากบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าว


 


4. เจตนาของจดหมายของโครงการฯ ฉบับลงวันที่ 28 กันยายน 2550 ที่ส่งถึงอ.แม่สอด และจ.ตากนั้น มิได้มุ่งหวังให้มีการสอบสวนเพื่อดำเนินการเอาผิดลงโทษบุคคล กลุ่มบุคคล หรือหน่วยงานใด ดังที่ทาง จ.ตาก ขอให้ทางโครงการฯ ระบุตัวบุคคล หากแต่ทางโครงการฯ เห็นว่า การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายของบุคคลซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่รัฐไทยในฐานะนิติรัฐยึดมั่น ควรได้รับการบังคับใช้ ดังนั้น ทางโครงการฯ ขอเรียกร้องให้ จ.ตาก ดำเนินการตรวจสอบถึงข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่ทางโครงการฯ เรียนมาข้างต้น เพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจถึงเหตุการณ์การห้าม คุกคาม ขัดขวางเสรีภาพในการชุมนุมฯลฯ ทั้งต่อสาธารณะ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดความระมัดระวังในการดำเนินการ การปฏิบัติต่อการชุมนุมโดยสงบและสันติ รวมถึงทางโครงการฯ ขอเรียกร้องให้จ.ตากดำเนินการสนับสนุน เอื้ออำนวยความสะดวกต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพฯ ดังกล่าว ตามแนวทางแห่งนิติรัฐ


 


5. อีกประเด็นที่สำคัญ ทางโครงการฯ ขอเรียกร้องให้ จ.ตาก ชี้แจงถึงการส่งจดหมาย ที่ ตก. 0017.3/14822 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ที่จ.ตาก ส่งถึง "ผู้ลงนามในท้ายจดหมาย" ที่เรียกร้องให้จ.ตากยุติการคุกคามเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและสันติฯ


 


ทางโครงการฯ ขอชี้แจงว่า จดหมายที่ทางโครงการฯ ส่งถึงจ.ตาก เพื่อเรียกร้องให้จ.ตาก ยุติการคุกคามเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและสันติฯ นั้น โครงการฯ ออกโดยใช้หัวจดหมายและที่อยู่ของโครงการฯ แต่ปรากฎว่า จดหมายจาก จ.ตาก ที่ชี้แจงกลับมานั้น กลับส่งถึงผู้ลงนามในท้ายจดหมายโดยตรง โดยส่งไปยังที่อยู่ตามภูมิลำเนาของแต่ละคน ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูลที่อยู่ในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร


 


ทางโครงการฯ ขอเรียกร้องให้ จ.ตาก ชี้แจงถึงที่มาของที่อยู่ตามภูมิลำเนาดังกล่าว และเหตุผลของการส่งจดหมายไปยังผู้ลงนามในท้ายจดหมายตามภูมิลำเนาของแต่ละคน เพราะการกระทำดังกล่าว อาจถูกตีความได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และคุกคามประชาชน


 


จึงเรียนมาเพื่อทราบและขอให้ดำเนินการชี้แจง


 


ด้วยความสมานฉันท์


 


(ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล)


นักกฎหมายและนักวิจัย


โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net