Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมจัดเสวนาวิชาการเรื่อง "สามปีตากใบกับกระบวนการยุติธรรมไทย" ในวันที่ 27 ตุลาคม 2550 เวลา 13.00-17.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 4 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อเท็จจริงและแสดงทัศนะต่อกระบวนการยุติธรรมในกรณีตากใบ 


โดยจัดเป็นเวทีเสวนาสาธารณะ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบให้เป็นที่รับรู้ในทางสาธารณะ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมุมมองทางสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และทางนิติศาสตร์ต่อบทบาทของกระบวนการยุติธรรมไทย กับการแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงและส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้จนกระทั่งปัจจุบัน


 


ทั้งนี้ในหลักการและเหตุผลของโครงการการเสวนาครั้งนี้ ระบุด้วยว่าเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เป็นเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย


 


ชาวตากใบและพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดนราธิวาสได้รวมกลุ่มประท้วงการจับกุมผู้ต้องหา  6 คนโดยได้รวมตัวกันประท้วงที่ด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ หลังจากที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามและจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงไปทั้งหมด 1,300 คน ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตที่เกิดเหตุ 6 คนและเสียชีวิตระหว่างขนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี 78 คน และยังมีมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการขนย้ายอีกจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการดำเนินคดีต่อผู้ถูกจับกุมในข้อหาร้ายแรงอีกกว่า 58 คน


ในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา ประชาชน ผู้ชุมนุมประท้วงเองและกลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้พยายามแสวงหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเรียกร้องความยุติธรรม


 


ผู้ชุมนุมและญาติได้ใช้สิทธิทางศาลฟ้องหน่วยงานของรัฐเป็นคดีเป็นคดีแพ่งทั้งหมด 3 คดี รวมถึงการฟ้องร้องคดีแพ่งเพื่อเรียกร้องให้รัฐรับชดใช้ค่าเสียหายต่อประชาชนที่เสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการ


จากการรณรงค์ ในวาระครบรอบสองปีของเหตุการณ์ตากใบเรียกร้องให้มีการถอนฟ้องคดีที่อัยการฟ้องผู้ชุมนุมจำนวน  58 คน ในที่สุดอัยการก็ได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อปลายปี 2549 ด้วยเหตุผลว่า การดำเนินคดีต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และจะทำให้เกิดการแบ่งแยกแตกต่างกันมากขึ้น


สำหรับคดีแพ่งที่ประชาชนผู้เสียหายเป็นโจทก์ ได้มีการประนีประนอมกัน โดยรัฐยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในคดีเป็นเงินจำนวนหนึ่ง


 


ปัจจุบันคดีเกี่ยวเนื่องกับคดีตากใบยังคงอยู่ในชั้นศาลอีกหนึ่งคดี  คือคดีไต่สวนการตายระหว่างการขนย้ายโดยเจ้าหน้าที่ 78 ราย ที่ได้โอนย้ายไปจากศาลจังหวัดปัตตานี ไปไต่สวนที่ศาลจังหวัดสงขลา ญาติผู้เสียชีวิตได้เข้าไปเป็นผู้ร้องขอให้มีการไต่สวนการตายเข้าไปในคดีด้วย ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสืบพยานฝ่ายญาติผู้ร้อง


 


คดีดังกล่าวซึ่งเป็นคดีสำคัญที่จะทำให้สังคมทราบตามหลักกระบวนการยุติธรรมว่าประชาชนจำนวน 78 คนนั้น เสียชีวิตด้วยเหตุใด ใครเป็นผู้ทำให้เกิดผู้เสียชีวิตจำนวนมากขณะขนย้าย และผลสุดท้ายกระบวนการยุติธรรมจะสามารถนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายไทยได้หรือไม่


 


สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมและประชาชนจะต้องรับรู้และร่วมกันติดตาม เพื่อให้ความยุติธรรมเป็นไปโดยเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อกระบวนการยุติธรรม คดีไต่สวนการตายนี้ นอกจากเป็นที่สนใจของนานาชาติ และประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังเป็นปมเงื่อนสำคัญต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย


 






ร่วมรำลึกสามปีตากใบ


โครงการเวทีสาธารณะเสวนาทางวิชาการ: สามปีตากใบกับกระบวนการยุติธรรมไทย


 


13.00 น.    ลงทะเบียน


กล่าวเปิดงานโดย ดร.ปริญญา  เทวานฤมิตร  กรรมการสถาบันสัญญา  ธรรมศักดิ์ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


13.15  น. สรุปภาพรวมของกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ตากใบ(45 นาที)


โดย       1.  คุณพุทธณี  กางกั้น นักวิจัยโครงการคุณธรรมในกระบวนการยุติธรรมกับการคอรัปชั่นเชิงอำนาจ - กรณีตากใบ


2.  คุณปรีดา ทองชุมนุม นักสังเกตการณ์คดี  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม


14.00 น. ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนและสังคมจากเหตุการณ์ตากใบ  (60 นาที)


โดย    1. คุณอังคณา  นีละไพจิตร  คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ


          2.   นายรัษฎา มนูรัษา ทนายความ


          3.   นักวิชาการท้องถิ่น (รอการยืนยัน)


          4.   ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ


           5.   ตัวแทนสื่อมวลชน


15.00 น. แนวคิดและทัศนะต่อเหตุการณ์ตากใบกับกระบวนการยุติธรรมไทย (90 นาที)


โดย      1.  ศาสตราจารย์ ดร. คณิต ณ นคร  อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต  


            2.  ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ   คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์3. นักวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ (รอการยืนยัน)


            3.  นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ (รอการยืนยัน)


            4. ตัวแทนหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรม (รอการยืนยัน)


16.30 น. ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (ประชาชนและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม  ที่เกี่ยวข้อง) (30 นาที)


17.00 น.  กล่าวปิดงาน


ดำเนินรายการ โดยอาจารย์ฉันทนา  บรรพศิริโชติ  หวันแก้ว  คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net