Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550 เวลา 9.00 น. โครงการภูมิภาคศึกษา (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งประเทศไทย (สกว.), ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง "รังนกแอ่น: ดินแดนลับแห่ง นก คน และธุรกิจแสนล้านในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ขึ้นที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยมีนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้าร่วมเสวนาจำนวนมาก


 


โดยในช่วงบ่าย มีการเสวนาหัวข้อ "สงครามแย่งชิงรังนกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: นิเวศวิทยา เงินตรา ชาติพันธุ์" นำเสนอโดย ดร.โมฮัมเหม็ด ยูซุป บิน อิสมาอิล จากมหาวิทยาลัยเปิดแห่งประเทศมาเลเซีย) ศ.ดร.อนี อินี มาดิอาสตูตี จากมหาวิทยาลัยเกษตร โบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ดร.ลิม ชาน คุก นักวิจัยอิสระ จากประเทศมาเลเซีย และ กมลศักดิ์ เลิศไพบูลย์ นายกสมาคมผู้ค้าสัตว์น้ำประมงอวนลาก นครศรีธรรมราช ดำเนินรายการโดย ดร.แพทริค โจรี จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


 


 


ชาวอีดาฮัน กับวิถีการเก็บรังนกแอ่นอย่างยั่งยืน


โดย ดร.โมฮัมเหม็ด ยูซุฟ อิสมาอิล นำเสนอ "การจัดการถ้ำรังนกอย่างยั่งยืนในกลุ่มชาวอีดาฮัน แห่งรัฐซาบาร์" โดยเป็นการนำเสนอกรณีศึกษา ชาวอีดาฮัน ในด้านตะวันออกของรัฐซาบาห์ (Idahan) (อยู่ในส่วนบอร์เนียว มาเลเซีย) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวที่ได้รับสิทธิโดยชอบธรรมในเก็บรังนกที่ถ้ำหินปูนอย่างน้อยสามแห่ง


 


ผลจากศึกษาแสดงให้เห็นว่าการเก็บรังนกเป็นจำนวนสามรอบต่อปีไม่ส่งผลทำให้จำนวนรังนกลดลงแต่อย่างใด โดยชาวอีดาฮันได้มีการพัฒนากลุ่มประชาสังคม โดยมีข้อตกลงในกลุ่มว่าด้วยการไม่เก็บรังนกในจำนวนที่มากเกินไป เพื่อเป็นการช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์นกแอ่นกินรัง งานวิจัยได้อธิบายถึงหลักการประจำตระกูลที่ใช้ในการกำหนดและวางระเบียบเรื่องสิทธิต่อรังนกของชาวอีดาฮันที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยในการใช้การควบคุมทางสังคมนี้ไม่มีกลุ่มใดที่จะได้รับสิทธิหรือมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของรังนกอย่างต่อเนื่อง


 


นอกจากนี้ถ้ำรังนกทั้งหมดถูกกำหนดให้เป็นสมบัติล้ำค่าของชาวอิดาฮันเท่านั้น โดยสิทธิในการเข้าไปเก็บรังนกเป็นสิทธิที่มีความตกลงกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งเผ่า โดยการได้สิทธิเข้าไปเก็บรังนกที่สืบทอดกันมาจะเป็นแบบการผลัดกันเป็นวงกลม โดยแต่ละรอบจะใช้เวลา 3 - 5 ปี จึงวนครบรอบ แนวคิดเรื่องการเป็นเจ้าของร่วมกันของคนในชุมชนเหมือนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้มั่นใจได้ว่านกแอ่นกินรังจะไม่มีวันสูญพันธุ์


 


 


รังนกที่ลดลง และการทำฟาร์มรังนกในมาเลเซีย


ด้าน ดร.ลิม ชาน คุน นักวิจัยอิสระ จากประเทศมาเลเซีย พูดถึงงานวิจัยหัวข้อ "ธุรกิจรังนกและการพัฒนาการการทำฟาร์มรังนกในประเทศมาเลเซีย" ระบุว่างานวิจัยฉบับนี้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสองหัวข้อใหญ่ของการศึกษาธุรกิจรังนก หรือเรียกว่า การจัดการการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชากรนกแอ่นกินรังป่าที่อาศัยอยู่ในถ้ำและการศึกษาการทำฟาร์มรังนก


 


ในส่วนแรกของงานวิจัยเป็นการกล่าวย้อนไปถึงความเป็นมาของธุรกิจรังนกในมาเลเซีย รวมถึงสาเหตุที่นกแอ่นกินรังป่าจำนวนลดลงอย่างมากอันเนื่องมาจากการเก็บเกี่ยวรังนกที่มากเกินไป โดยมีเรื่องผลประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับจากทรัพยากรธรรมชาตินี้เป็นกรณีตัวอย่าง ตลอดจนการศึกษาเรื่องวิธีการเก็บเกี่ยวรังนกที่จะส่งผลเสียต่อการทำธุรกิจรังนกในอนาคต และการแนะนำแผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตใหม่ด้วย


 


โดยงานวิจัยของ ดร.ลิม ชาน คุน ได้ยกสามกรณีศึกษาขึ้นมานำเสนอ คือ กลุ่มนกแอ่นกินรังชนิดรังขาว ในตอนกลางของเขตบารัม และกล่าวถึงการเก็บรังนกแอ่นกินรังชนิดรังดำ ที่บูกิตซารัง และที่อุทยานแห่งชาตินีอะห์ ในรัฐซาราวัค และกล่าวถึงที่มาที่ไปและการเผยแพร่ขยายของธุรกิจรังนกในมาเลเซีย โดยศึกษาในคาบสมุทรมาเลเซีย รัฐซาบาร์ และซาราวัค โดยการแบ่งตามกฎหมายที่ใช้ในแต่ละรัฐของมาเลเซีย


 


 


"บ้านนกแอ่น" ธุรกิจการเลี้ยงนกแอ่นในประเทศไทย


ด้าน นายกมลศักดิ์ เลิศไพบูลย์ นายกสมาคมผู้ค้าสัตว์น้ำประมงอวนลาก นครศรีธรรมราช นำเสนองานวิจัย "ธุรกิจการเลี้ยงนกแอ่นในประเทศไทย" ระบุว่าที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีนกแอ่นเข้ามาอยู่อาศัยกับผู้คนในชุมชนนานกว่า 80 ปี โดยในขณะนั้นไม่มีใครสนใจว่า นกแอ่นบินเข้ามาอยู่อาศัยได้อย่างไร และต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้นกเข้ามาอยู่ในบ้านเรือนของตนได้ รังนกแอ่นซึ่งเชื่อว่าเป็นของบำรุงร่างกายชั้นเลิศ จึงมีราคาแพงมากและหายาก


 


นอกเหนือจากรังนกที่อยู่ในธรรมชาติแล้ว ก็คงจะมีแต่รังนกแอ่นที่อยู่ตามบ้านเท่านั้น จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ความพยายามที่จะหาวิธีให้นกแอ่นเข้ามาอยู่ร่วมกับผู้คนหรือสร้างบ้านให้นกแอ่นทำรังคล้ายฟาร์มเลี้ยงสัตว์จึงเกิดขึ้น


 


ที่อำเภอปากพนัง จึงมีสิ่งก่อสร้างที่แปลกหูแปลกตาเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะมากที่สุดในประเทศไทย นั่นก็คือตึกหรืออาคารสำหรับเลี้ยงนกแอ่น บ้างก็เป็นอาคารเดี่ยวๆโดยเฉพาะ บ้างก็เป็นอาคารที่ประกอบการค้าร่วมด้วย หรืออยู่อาศัยร่วมกัน คาดว่า ณ ปัจจุบัน อำเภอปากพนังมีอาคารลักษณะเหล่านี้มากกว่า 200 หลัง ขณะเดียวกันอาคารเหล่านี้ในหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศไทยคาดว่าจะมีมากถึง 500-600 หลังแล้ว


 


สำหรับสัมมนา  "รังนกแอ่น: ดินแดนลับแห่ง นก คน และธุรกิจแสนล้านในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นและทบทวนงานวิจัยเรื่องนกแอ่นกินรังตั้งแต่ปี 1957 ภายใต้ 5 ประเด็นหลักคือ ความเป็นมา, ระบบและชีวภูมิศาสตร์ของนกแอ่นกินรัง, การกำหนดทิศทางในมืดและการหาตำแหน่งด้วยเสียงสะท้อน, วงจรการสืบพันธุ์และพฤติกรรมของนกแอ่นกินรัง, การหาประโยชน์จากนกแอ่นกินรัง โดยในแต่ละประเด็น จะพยายามให้รายละเอียดโดยสรุปเกี่ยวกับภูมิหลัง ด้วยเป้าหมายเพื่อเป็นการใช้ข้อมูลและหนุนเสริมแก่วิทยากรผู้เชี่ยวทั้งหลายที่จะนำเสนอต่อไปในการสัมมนาครั้งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net