รายงาน: ทีวีสาธารณะ ช่อง "ประชาธิปไตย" หรือ ช่อง "คุณธรรม"


ครั้งหนึ่ง ในสมัย 'รัฐบาลชั่วคราว' ที่นายอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรี เกิดกระแสเรียกร้องว่าประเทศไทยต้องมีทีวีสาธารณะดังเช่น 'บีบีซี' ความต้องการในครั้งนั้นได้ก่อรูปให้เกิด 'ไอทีวี' ขึ้น ทว่า อายุอันสั้นของการเป็นรัฐบาล ไม่อาจทำให้ไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะเต็มรูปแบบดังฝัน กลายเป็นเพียงการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ที่เอกชนมาแข่งขันประมูลเช่าสัมปทานไปจาก 'สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี' (สปน.)
 
จากนั้นก็เป็นที่รู้กันว่าชะตากรรมของไอทีวีนั้นเป็นเช่นไร ล่าสุด บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ตกอยู่ในฐานะบริษัทที่ล้มละลายเพราะไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานย้อนหลังจำนวนแสนล้านบาทได้ ส่งผลให้ สปน. ต้องยกเลิกสัญญาร่วมงานและดำเนินกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟกับไอทีวี เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา
 
ส่วนสถานีโทรทัศน์ไอทีวีนั้น เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องต่อสังคม ที่ไม่ต้องให้ไอทีวีหลัง สปน.บอกเลิกสัญญาต้องกลายเป็น 'ทีวีจอมืด' ไป จึงปรับเปลี่ยนใหม่ จนปัจจุบัน ไอทีวียังคงทำงานเดิม มีพนักงานทีมข่าวเหมือนเดิม ทำงานในชื่อ 'ทีไอทีวี' ภายใต้ 'สำนักนายกรัฐมนตรี โดยการกำกับของกรมประชาสัมพันธ์'
 
อย่างไรก็ดี เรื่องเก่าของไอทีวียังไม่จบดี เพราะมีการตั้งคำถามต่อมาว่า ด้วยหลักการตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ว่า"คลื่นความถี่เป็นของประชาชน" นั้น ไฉนเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับไอทีวี ฝ่ายรัฐ โดยกรมประชาสัมพันธ์จึงเข้ามาดำเนินการเสียเอง ทั้งที่ กสช. หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ป็นองค์กรเดียวที่มีอำนาจตามกฎหมายในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ แถมยังเป็นการดำเนินการโดยใช้สำนักงานและอุปกรณ์ของเอกชนเขาเสียนี่
 
นอกจากนี้ อีกความค้างคาที่ยังอยู่ คือผู้ถือหุ้นรายย่อยของไอทีวีที่ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลาง ฟ้อง สปน. และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้ถอนร่างกฎหมายแปลงทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะออก และให้ สปน.คืนทรัพย์สิน เครื่องมือ รวมถึงใบอนุญาตประกอบกิจการแก่ไอทีวี ข้อพิพาทนี้ เรื่องก็ยังคงค้างคาอยู่ที่ศาลจนวันนี้
 
มายุคนี้ 'รัฐบาลชั่วคราว' ที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ความพยายามผลักดันให้ ประเทศไทยมีทีวีสาธารณะดังเช่น 'บีบีซี' ก็กลับมาอีกครั้ง ครั้งนี้คนชงประเด็นคือนักวิชาการหนุ่มนักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ "ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับสื่อสาธารณะ ในหัวข้อ "การปฏิรูปโครงสร้างสื่อวิทยุและโทรทัศน์" พร้อมทั้งเป็นคีย์แมนหลักในการผลักดันให้เกิดกฎหมายนี้ขึ้นโดยเร็ว
 
โดยเร็วในที่นี้คือ ฉวยใช้โอกาสของสภาแต่งตั้งนี้ เป็นช่องทางผลักดันกฎหมายให้ผ่านได้ง่าย ผ่านการร่วมลงชื่อของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอกฎหมาย 'ร่างพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย' หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่า "กฎหมายทีวีสาธารณะ"
 
ในกฎหมายนี้ระบุให้มีองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือที่เรียกกันจนชินปากแล้วว่า 'Thai Public Broadcasting Service - TPBS (ทีพีบีเอส)'
 
 
ยังไม่ตกผลึก มาตรา 55 ไอทีวี ใช่คำตอบสุดท้าย?
แล้วก็มาถึงวันรุกฆาตชะตาอนาคตทีวีสาธารณะ ซึ่งรวมไปถึงอนาคตของไอทีวีด้วย เพราะวันนี้ (31 ต.ค.) กฎหมายทีวีสาธารณะ จะเข้าสู่วาระด่วนของ สนช. เป็นการพิจารณาในวาระ 3 ซึ่งสภาจะพิจารณารายงานการศึกษาของกรรมาธิการ หลังจากนำกฎหมายไปปรับแก้นับแต่วันที่เสนอกฎหมายในวาระแรกไปเมื่อ 18 ก.ค. 50
 
เมื่อ สนช.เห็นชอบ ก็เป็นอันว่า 'ทีพีบีเอส' ทีวีสาธารณะของ สนช. ก็จะเริ่มต้นขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นไป
 
"นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี ถ้ากฎหมายนี้ผ่านในรูปแบบปัจจุบัน จะเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทยที่จะมีการกระจายเสียงสถานีวิทยุโทรทัศน์สาธารณะ" นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และแกนนำคนหนึ่งที่เคยชักชวนภาคประชาชนเข้าไปบุกยึดสถานีโทรทัศน์ไอทีวีให้มาเป็นของประชาชน กล่าว
 
สิ่งที่ยังค้างคาในเนื้อหากฎหมายนี้อยู่ที่มาตรา 55 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับ "ไอทีวี" ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันว่า จะใช้ช่วงคลื่นใดมาทำทีวีสาธารณะ บ้างเสนอให้หาช่วงคลื่นใหม่ บ้างเสนอให้ใช้ช่อง 11 ซึ่งอยู่ภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ ขณะที่เสียงอันดังก็บอกว่า ควรนำไอทีวี มาทำเป็นทีวีสาธารณะ เพราะเป็นคลื่นความถี่ระบบยูเอชเอฟ อีกทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมเตรียมรอเอาไว้อยู่แล้ว
 
โดยเนื้อหาล่าสุดที่กรรมาธิการแก้ไขในมาตรา 55 มีความว่า
 
"ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ คลื่นความถี่ และภาระผูกพันของสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ และของสำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ เฉพาะกิจ (หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ) ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและกรมประชาสัมพันธ์ ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไปเป็นขององค์การ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทบรรดาที่มีอยู่ หรืออาจจะมีขึ้นระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือบุคคลอื่นใด อันเนื่องจากหรือเพราะเหตุแห่งสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและบริษัท สยามอินโฟเทนเมนท์ จำกัด ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการหรือชั้นศาล แต่ให้องค์การสนับสนุนค่าใช้จ่ายอันเนื่องจากการดำเนินการเกี่ยวกับข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทดังกล่าวให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด"
 
ข้อความในมาตรา 55 นี้ ระบุชัดว่า กฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อกำหนดให้ไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะ นั่นคือ เมื่อกฎหมายนี้ผ่าน ทั้งคลื่นความถี่ที่เคยใช้ ทรัพย์สิน อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ จะโอนไปเป็นของทีพีบีเอสทันที
 
สิ่งที่น่าจินตนาการต่อไปคือ หากมาตรา 55 นี้ถูกถอนหรือแก้ไขให้ออกมาในลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับไอทีวีแล้ว ทั้งคลื่นความถี่ รวมไปถึงเครื่องมือต่างๆ ที่ทีไอทีวีใช้อยู่นั้น จะถูกแปรรูปไปในลักษณะใด ภายใต้การควบคุมของใคร แล้วหน้าตาของทีวีสาธารณะตามกฎหมายนี้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้หรือไม่
 
ทั้งนี้ ในมาตรา 55 นี้เป็นมาตราที่มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติเอาไว้ คือนายอรรคพล สรสุชาติ สนช. และกมธ. (สงวนคำแปรญัตติ หมายถึง ขอแก้ไขกฎหมายแล้ว กรรมาธิการส่วนใหญ่ไม่เห็นคล้อยตามให้แก้ตามนั้น ผู้ขอแก้ไขมีสิทธิสงวนคำแปรญัตติ เพื่ออภิปรายต่อในสภาเป็นครั้งสุดท้าย) โดยเขาเสนอให้ตัดทั้งมาตราออก เพราะเห็นว่าเรื่องทีวีสาธารณะ ควรมองให้กว้างกว่าเพียงสถานีโทรทัศน์ไอทีวีหรือทีไอทีวี อีกทั้งสถานีดังกล่าวยังมีข้อติดขัดในกฎหมายอีกหลายเรื่อง
 
นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงไปถึงมาตรา 59 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของกฎหมายนี้ที่ระบุว่า ระหว่างที่ยังไม่มี กสช. ก็ให้ใช้คลื่นความถี่ตามที่ได้รับโอนในมาตรา 55 และได้รับยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งอาจจะกลายเป็นการออกกฎหมายเพื่อยกเว้นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
 
จอน มีความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า การนำโครงสร้างพื้นฐานที่ไอทีวีมีอยู่เดิมจะทำให้ทีวีสาธารณะเกิดขึ้นได้เร็ว และแม้ว่าร่างกฎหมายทีวีสาธารณะฉบับนี้จะมีแนวโน้มที่ไม่ใช่ทีวีสาธารณะที่ดีเลิศตามอุดมการณ์ แต่หากในวันนี้ (31) บทเฉพาะกาลในมาตรา 55 และ 59 ถูกเปลี่ยน จะเป็นการชะลอ และเราคงไม่ได้เห็นทีวีสาธารณะเกิดได้ในระยะใกล้ๆ นี้
 
 
ทีพีบีเอสจะเป็นทีวีของประชาชนไหม?
ปัญหาที่ผ่านมาของสื่อโทรทัศน์นั้น ทำให้หลักเกณฑ์ใหญ่ที่คาดหวังกันเกี่ยวกับทีวีสาธารณะ คือต้องปราศจากการแทรกแซงจากทั้ง "อำนาจรัฐ" และ "อำนาจทุน"
 
จอนกล่าวว่า นิยามทีวีสาธารณะ คือต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติรัฐบาลโดยตรง ไม่อยู่ใต้ธุรกิจโดยตรง ซึ่ง 'หัวใจ' อยู่ที่โครงสร้าง
 
เมื่อดูโครงสร้าง ทีพีบีเอสที่ถูกออกแบบไว้ในกฎหมายนี้กำหนดให้มี 'คณะกรรมการนโยบาย' 9 คน (สายกิจการสื่อ2 คน, สายบริหารจัดการองค์กร 3 คน, สายส่งเสริมประชาธิปไตย พัฒนาชุมชน การเรียนรู้และศึกษา การคุ้มครองพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัว หรือ ส่งเสริมสิทธิผู้ด้อยโอกาส 4 คน)
 
คณะกรรมการนโยบายจะแต่งตั้ง 'ผู้อำนวยการทีพีบีเอส' และแต่งตั้ง 'คณะกรรมการบริหาร' ซึ่งมาจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารขององค์การไม่เกิน 6 คน และมีกรรมการบริหารอื่นอีก 4 คน ซึ่งมาจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีผลงานปรากฏในทางสาธารณะทางด้านสื่อมวลชน การบริหารจัดการ สังคม วัฒนธรรม หรือนิติศาสตร์ ทั้งนี้ ผู้อำนวยการพีบีเอส ถือเป็นประธานกรรมการบริหารโดยตำแหน่ง
 
คณะกรรมการนโยบายมาจากการสรรหาและแต่งตั้งโดย 'คณะกรรมการสรรหา' จำนวน 15 คน ประกอบด้วย ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์, ประธานสภาสถาบันนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย, ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน, ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, ประธานสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระบรมราชูปถัมภ์, ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย,นายกสภาทนายความ,ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
 
จอนเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาแล้ว อาจจะเห็นได้ว่าไม่อาจเป็นตัวแทนทุกกลุ่มในสังคมไทยได้ เพราะหากจะให้ครบ ต้องรวมไปถึง กลุ่มแรงงาน เกษตรกรรายย่อย คนไร้สัญชาติ คนด้อยโอกาส ฯลฯ แต่เขาเห็นว่า นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่พอใช้ได้ และแม้องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาอาจจะดูไม่ครบ แต่อาจจะทำให้องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายครบได้
 
เขากล่าวว่า ความจริงแล้วคณะกรรมการนโยบายน่าจะมี 20 ถึง 30 คนเลยก็ได้ เพื่อจะให้ได้ตัวแทนครบจากทุกส่วนของสังคม เพราะคณะกรรมการนโยบายควรมีองค์ประกอบที่ครบทุกด้าน เช่น น่าจะมีตัวแทนจากกลุ่มคนไร้สัญชาติ ตัวแทนภาคธุรกิจ เกษตรกรรายย่อย ซึ่งทั้งหมดคือทุกคนที่ร่วมกันใช้ประโยชน์ในสังคม
 
"มันอยู่ที่ดีกรีความคาดหวัง" จอนกล่าวถึงกฎหมายฉบับนี้ในฐานะที่จะนำไปสู่สื่อสาธารณะที่น่าจะเป็นของประชาชน และเสริมว่า จากประสบการณ์สมาชิกวุฒิสภาที่เคยเข้าร่วมและพบอุปสรรคในกระบวนการร่างและแก้ไขกฎหมายนั้น เมื่อมาดูเนื้อหาล่าสุดของกฎหมายทีวีสาธารณะ ทำได้เท่านี้ก็พอจะเรียกได้ว่าน่าพอใจแล้ว
 
เขากล่าวว่า ทีวีสาธารณะจะเป็นทีวีของประชาชนจริงหรือไม่ เป็นเรื่องต้องดูกันต่อไป ถ้าเป็นองค์กรของประชาชนจริง มันต้องเป็นองค์กรที่แทนผลประโยชน์ของผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทย ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคม
 
จอนกล่าวว่า เราต้องการสถานีที่ปลอดจากรัฐโดยตรง แม้ในร่างกฎหมายฉบับนี้จะไม่สามารถให้หลักประกันร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จะปลอดจากอำนาจรัฐและทุนได้ แต่มันก็มีแนวโน้มที่ดี เพราะโครงสร้างหลักมาจากกระบวนการสรรหาที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ โดยนายกรัฐมนตรีไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธ ซึ่งถ้าการเมืองจะแทรกแซง ก็ต้องมาแทรกที่กรรมการสรรหา ซึ่งอยู่ที่ว่ากรรมการสรรหาจะเป็นตัวของตัวเองหรือยอมถูกซื้อ
 
 
ชะตากรรมแรงงานสื่อไทย 'สหภาพทีวีสาธารณะไร้อนาคต
ในมาตรา 9/1 ที่ถูกเพิ่มขึ้นมานั้น ระบุให้ทีพีบีเอส ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ พนักงาน และลูกจ้างขององค์การ ต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
 
นั่นอาจหมายความว่า สื่อสาธารณะนี้ จะเป็นอีกสื่อหนึ่งที่ไม่ใช่ราชการ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่เอกชน แต่ดำเนินการในลักษณะพิเศษที่มีความเป็นอิสระ แม้เจตนาจะเพื่อการบริหารที่คล่องตัว และค่าตอบแทนที่แข่งขันกับบริษัทเอกชนได้ แต่อีกด้านหนึ่ง คือความเป็นอิสระนี้มาจากการไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายสำคัญหลายฉบับ ซึ่งอาจทำให้เสียสิทธิไปหลายด้าน เช่น ไม่เพียงแต่เมื่อคนในองค์กรมีปัญหาแล้วไม่อาจฟ้องร้องศาลแรงงานได้เท่านั้น แต่ยังสูญเสียสิทธิบางประการ เช่น สิทธิในการรวมตัวกันเพื่อก่อตั้ง 'สหภาพแรงงาน' ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
 
จอนกล่าวถึงกรณีนี้ว่า วิธีการเพิ่มเติมถ้อยคำแบบนี้เข้ามาในกฎหมาย ถือเป็นธรรมเนียมวิธีการเขียนกฎหมายองค์กรที่นักกฎหมายมักมีความรังเกียจมากต่อการเกิดสหภาพแรงงาน การรวมตัว เมื่อเขียนกฎหมายไว้เช่นนี้แล้ว ทำให้การรวมตัวกันของแรงงานก็เกิดขึ้นไม่ได้ จะสไตร์คก็ไม่ได้ หยุดงานก็ไม่ได้ ประกันสังคมก็ไม่ได้ หรืออาจจะมีการรวมตัวกันทำกิจกรรมได้ก็จริง แต่ก็จะไม่มีเครื่องมือในการต่อรองที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ลักษณะเช่นนี้ก็กำลังเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยที่กำลังออกนอกระบบทุกแห่ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการเห็นการเจริญเติบโตของแรงงานไทย ไม่ต้องการเห็นการผนึกกำลังของกระบวนการผู้ใช้แรงงานไทย และเป็นวิธีการที่นักร่างกฎหมายชอบทำ ที่จะไม่ยอมให้องค์กรสาธารณะ องค์กรอิสระทั้งหลายมีสหภาพ ซึ่งเป็นความคิดที่ล้าหลัง
 
 
สไตล์ทีพีบีเอส: เชยเฉิ่ม หรือ คุณธรรมจ๋า
ทีพีบีเอส ไม่ใช่ทีวีเก็บค่าสมาชิก เป็นทีวีไม่มีโฆษณา รับแต่ผู้สนับสนุน มีรายได้หลักมาจากภาษีสุราและยาสูบในอัตรา 1.5% ที่เก็บได้ในแต่ละปี แต่ให้มีรายได้สูงสุดไม่เกินสองพันล้านบาท ทั้งนี้ รายได้สูงสุด ปรับพิจารณาใหม่ทุกๆ สามปี และปรับตามอัตราเงินเฟ้อ
 
สิ่งใหม่ที่จะมีในทีพีบีเอสนั้น คือกฎหมายนี้กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้ง 'สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ'จำนวนไม่เกิน 15 คน ซึ่งก็ไม่ได้มีบทบาทอะไร นอกจากเพียงประชุมกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แล้วเสนอข้อคิดเห็น คำแนะนำเกี่ยวกับกิจการของทีพีบีเอส
 
หาก 10 ปีนับจากกฎหมายนี้ใช้บังคับ จะต้องมีการทบทวนบทบาทในการสร้างและส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะของประชาชนของทีพีบีเอส
 
จอนกล่าวถึงประเด็นใหญ่ที่เขาไม่เห็นด้วยในร่าง พ.ร.บ.นี้ คือไม่เห็นด้วยที่จะให้ที่มาของรายได้มาจากภาษีเหล้าและบุหรี่
 
แทนที่จะทำแบบนั้น จอนเห็นว่าน่าจะเก็บเงินจากทีวีช่องต่างๆ ที่ได้สัมปทานไปจากรัฐ หรืออาจเก็บภาษีจากโฆษณาทางโทรทัศน์ พูดง่ายๆ คือ เอาทีวีเอกชนซึ่งมีลักษณะงมงายมาช่วย ใช้ภาษีจากความงมงายน้ำเน่าที่ขาดมิติทางการศึกษา มาส่งเสริมรายการที่มีประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมา เอกชนก็ได้ประโยชน์มหาศาลแล้ว น่าจะนำมาส่งเสริมเรื่องนี้บ้าง
 
นอกจากไม่พอใจเรื่องที่มารายได้ซึ่งมาจากภาษีเหล้าบุหรี่แล้ว จอนยังไม่เห็นด้วยนักที่มีการเติมคำว่า 'วัฒนธรรม'เข้าไปในวัตถุประสงค์
 
"ผมเข้าใจว่า คนที่โปรโมทกฎหมายนี้ คือคนที่คอยเตือนให้เราแปรงฟัน ให้เราสุขภาพดี อยู่ในร่องในรอย เป็นคนดี และผมเดาว่าการที่กฎหมายนี้มันออกมาได้ก็มีบางส่วนจากตรงนี้ แต่ใจผมอยากเห็นทีวีสาธารณะเป็นช่องประชาธิปไตย" จอนกล่าว
 
จอนขยายความว่า มีแนวคิดสองแบบเกี่ยวกับทีวีสาธารณะ คือเป็น ช่อง "ประชาธิปไตย' ไม่เช่นนั้นก็เป็น ช่อง"คุณธรรม' ซึ่งที่ผ่านมา กระบวนการของการผลักดันกฎหมายทีวีสาธารณะก็ได้อาศัยความคิดแบบช่องคุณธรรมทำให้มันเกิดขึ้นมา จนถึงขั้นนี้ เขาคิดว่าหากต้องการทีวีสาธารณะที่เป็นช่องประชาธิปไตย คงต้องมาสู้กันต่อ
 
เขากล่าวอย่างติดตลกว่า ถ้าจะสอนให้คนแปรงฟันในทีวีสาธารณะ ก็ต้องมาจากความเห็นอันหลากหลาย ไม่ใช่มาจากหมอที่มาสั่งสอน
 
"สำหรับทีวีสาธารณะนั้น ไม่ต้องการช่องแปรงฟัน" จอนกล่าว
 
เขาย้ำถึงความสำคัญของทีวีสาธารณะ ในฐานะที่ควรจะเป็นช่องประชาธิปไตยว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ประชาชนได้ตระหนักรับรู้เรื่องทางสังคมต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการพิจารณาตัดสินใจว่า จะลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่พรรคการเมืองใด
 
อย่างไรก็ตาม แม้เนื้อหาในกฎหมายนี้จะไม่ขี้ริ้วนัก แต่ทีวีสาธารณะที่อาจจะมีผู้คาดหวังว่าจะเป็นช่องประชาธิปไตย คงใช้ไม่ทันการณ์การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ธ.ค. นี้ เพราะหากกฎหมายผ่านบังคับใช้แล้ว กฎหมายระบุให้ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ทีพีบีเอสอยู่ภายใต้การดำเนินการของ "คณะกรรมการนโยบายชั่วคราว" ไปก่อนจะมีคณะกรรมการชุดจริง ซึ่งมีเวลา 180 วันในการสรรหาให้เสร็จ ช่วงเวลาสุญญากาศนี้ บังเอิญเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ทีพีบีเอส ก็จะดำเนินการภายใต้คณะกรรมการชั่วคราว 5 คน อันมาจาก "การแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี"
 
ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนหลายฝ่ายคงรู้สึกเสียดายที่สิ่งที่ร่วมผลักดันมาตลอดนั้น มาลงเอยด้วยวิธีการใช้ทางลัด ผ่านสภาแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร หาใช่กระบวนการผลักดันจากภาคประชาชนที่ต่อสู้มาตลอดทศวรรษ
 
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติม :
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท