Skip to main content
sharethis

กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา


 


 



 


เกลือ-โปแตช ทรัพยากรธรณีสมบัติชาติ


 


ปริญญา นุตาลัย (1) กรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าวว่า ธรณีอีสานมีลักษณะเป็นเหมือนชั้นขนมเค้กและมีโครงสร้างดินที่ประกอบด้วยเกลือหินมหาศาลในหมวดหินมหาสารคาม ภาคอีสานเกือบทั้งภาคเรื่อยไปจนจรดประเทศลาวจะเป็นดินในหมวดหินมาหาสารคาม ที่มีเกลืออยู่มากมายซึ่งมีความหนากว่า 600 ม. บางแห่งที่เป็นโดมเกลือหนา 2-3 กม. ที่หนาที่สุดเกือบ 6 กม. คิดคร่าวๆ เป็นพื้นที่ที่มีเกลือหินกว่า 40,000 ตร.กม. คิดเป็นปริมาณ 800 ล้านๆ บล.ม.หรือประมาณ 1,600 ล้านๆ ตัน นี่เป็นทรัพยากรที่มีปริมาณมหาศาลในอีสาน


 


"เริ่มต้นกรมทรัพยากรธรณีเจาะสำรวจเมื่อราวปี 2520 มีรายงานการเจาะเกือบ 200 หลุม เมื่อเจาะที่อุดรฯ ก็พบว่ามีโปแตชคุณภาพดีของประเทศ ต่อจากนั้นก็ให้ยกเลิกการเจา ะบอกว่ายกให้เอกชน ให้เลิกเจาะ อันนี้ไม่ชอบมาพากล ก็ในเมื่อเราใช้งบประมาณแผ่นดินเจาะสำรวจเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง แต่พอเจาะก็คาบไปบอกนักลงทุน นอกจากนี้ไม่พอ หลอกรัฐบาลสมัยนั้นต่ออีกเรื่อง ให้รัฐบาลทำเหมืองโปแตชอาเซียนบำเหน็จณรงค์ซึ่งมีแร่คุณภาพไม่ดี ทำไปแล้วใช้เงินไปแล้วกว่าพันล้านก็เจ๊ง และถ้าทำต่อไปก็ยังจะเจ๊งต่อไป ปัจจุบันนี้กำลังขยายการขออาชบัตรสำรวจอีกประมาณ 650,000 ไร่ ที่ จ.นครราชสีมา 2 แห่ง จ.มหาสารคาม จ.ขอนแก่น จ.สกลนคร และ จ.ชัยภูมิ (ไม่รวมจังหวัดอุดรธานี)"


 


 


ผู้ประการเกลือรายย่อย หมาล่าเนื้อให้เจ้านาย


 


หลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นเรื่อง "เกลืออีสาน" ถูกนำมาถกเถียงในด้าน สิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจ, สังคม, ประวัติศาสตร์และการเมืองเรื่องเกลือ และหนักหน่วงขึ้นเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายแร่ปี 2545 ชนิดที่เรียกได้ว่ายุคนี้เป็นยุค "สงครามแย่งชิงเกลือ"


 


เมื่อ พ.ร.บ.แร่ 2545 มีสาระอนุญาตให้มีการทำเหมืองแร่ใต้ดินได้ ฝ่ายทุนรุกเข้าผลักดันให้เกิดเหมืองแร่โปแตชและเกลือหินใต้ดินอีสานเกือบ 7 แสนไร่ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคอีสาน


 


คำถามก็คือ เกลือจากเหมืองแร่โปแตชมหาศาล หากเหมืองเกิดขึ้นในอนาคตใครจะได้ครอบครองและกุมทองคำขาวนี้ไว้?


 


นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักวิจัยเรื่องนโยบายสาธารณะเพื่อการจัดการเหลืออีกสาน กล่าวว่า เกลือทั้งอีสานส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมเคมี คือส่วนของปิโตรเคมี และเม็ดพลาสติกที่ต้องใช้เกลือเป็นวัตถุดิบ และบริษัทอุตสาหกรรมเคมีมีวัตถุดิบที่สำคัญ 2 อย่างคือน้ำมันหรือก๊าช และเกลือ แต่บริษัทเหล่านี้ให้ความสำคัญกับน้ำมันและก๊าชมาก แต่เกลือกลับพยายามกดราคาให้ต่ำเท่าที่จะทำได้เหมือนเป็นของที่ได้มาเปล่า ทำนองเดียวกันกับอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกที่ราคาต้นทุนจะขึ้นอยู่กับน้ำมัน แต่กดราคาเกลือ ทำให้เกลือที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เป็นปัญหาของผู้ประกอบการเกลือรายย่อยที่เจอภาวะขาดทุนจนละเลยไม่แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่มีหลักประกันจากการขายเกลือ ไม่มีกฎหมาย ไม่มีสหกรณ์ที่เข้มแข็งพอจะต่อรองได้จริง ไม่มีกองทุนแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนาเกลือ


 


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ประกอบการรายย่อยก็เป็นเพียงเครื่องมือของพ่อค้าคนกลางและอุตสาหกรรมเคมีเท่านั้น กำไรอาจจะมี แต่ตกอยู่ที่พ่อค้าคนกลางและกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีและปัจจุบันนี้บริษัทอุตสาหกรรมเคมีหันมาลงทุนทำเกลือ เช่น เข้ามาถือหุ้นในบริษัทเกลือรายใหญ่ และอาจรวมถึงเหมืองแร่โปแตช เพราะเกลือมีความสำคัญมากขนาดฝ่ายอุตสาหกรรมเคมีดังกล่าวมุ่งหมายที่จะเข้ายึดกุมแหล่งวัตถุดิบเกลือไว้อย่างเบ็ดเสร็จ


 


ด้านผู้ประกอบการเกลือรายย่อยท่านหนึ่งระบุโดยสงวนนามว่า ปัญหาเรื่องอุตสาหกรรมเกลือและแผ่นดินอีสานเป็นเรื่องที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมานาน นับตั้งแต่มีการเจาะน้ำเกลือใต้ดินอีสานขึ้นมาเพื่อต้มและตากเกลือตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมาที่บริเวณลุ่มน้ำเสียว อ.บรบือ จ.มหาสารคาม จากนั้นไม่นานวิกฤติน้ำเค็มดินเค็มในลำน้ำเสียวทั้งสาย ได้ทำให้ประชาชนลุ่มน้ำเสียวลุกฮือต่อต้านการทำเกลือที่น้ำเสียวจนต้องยุติ กลุ่มทุนเกลือได้ย้ายฐานการผลิตเกลือไปที่จังหวัดอื่นในอีสาน


 


"ในเรื่องราคาเกลือตั้งแต่ปี 2525 น้ำมัน 8 บาท แรงวันละ 80 ค่าเก็บเกลือ เข่งละ 1 บาท ราคาเกลือก็อยู่ที่ 300 บาท ทุกวันนี้ปี 2550 น้ำมันราคา 26 บาทค่าแรงวันละ 150 บาท ค่าเก็บเกลือเข่งละ 4 บาท ผู้ประกอบการรายย่อยยังต้องขายเกลือตันละ 300 บาทเหมือนเดิม ทั้งที่เกลือสำคัญมากในอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมฟอกย้อม ปิโตรเคมี จะเติบโตไม่ได้ถ้าไม่มีเกลือแต่ราคาเกลือก็ไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของการลงทุนทำเกลือ ไม่ว่าจะเงินต้นทุน ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้งในสังคม"


 



 


"ผู้ประกอบการเกลือรายย่อยเป็นเหมือนหมาล่าเนื้อให้เจ้านาย ฝ่ายรัฐต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เติบโต ฝ่ายทุนต้องการเกลือใช้ แต่ทั้งสองฝ่ายลอยตัวอยู่เหนือปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ร่วมกับผิดชอบใดๆ ต่อต้นทุนที่เกิดขึ้นจากต้นทางของวัตถุดิบเกลือ พอได้เนื้อแล้วก็ไม่สนใจหมา ปล่อยมันหิวโซ ใช้มาตรการทางกฎหมาย การตลาด ทุน หนี้สินข่มขู่ให้มันเชื่อง จำยอมรับใช้เหมือนทาส แต่ไร้ศักดิ์ศรี"


 


ปัจจุบันผู้ทำเกลือรายย่อยลำบากมากต้องกู้เงินจากนายทุนมาลงทุน ในรูปแบบการตกเขียวเกลือ ทำเกลือให้เขาใช้หนี้ ไม่ทำก็ไม่ได้เพราะที่ดินที่เป็นนาเกลือมันก็เค็มไปแล้ว เหมือนข้าราชการที่ไม่อยากทำงานแต่ต้องทนทำต่อไปหาเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย คนทำเกลือรายย่อยก็ต้องอดทนอยู่ในห่วงโซ่ของนายทุนที่ชักใยอยู่ข้างหลัง หาเงินใช้หนี้ดอกเบี้ย


 


ตลอดประวัติศาสตร์ราคาเกลือตั้งแต่เริ่มทำเกือบ 30 ปีเกลือเคยขึ้นราคาตันละ 500 ในปี 2530 ราคาตันละ 1000 ในปี 2540 และตันละ 700 ในปี 2545 นอกนั้นไม่เกินตันละ 300บาท และเคยตกต่ำมากที่สุดในปีประมาณ 2541-2542 เพราะเหมืองแร่โปแตชอำเภอบำเหน็จณรงค์ทดลองทำเหมืองและได้เกลือหินออกมาตีตลาด ทำให้ผู้ประกอบการต้องเดือดร้อนจนต้องมารวมตัวเรียกร้องให้มีการยุติการขายเกลือจากเหมืองโปแตชและให้รัฐบาลมาช่วยพยุงราคาเกลือ


 


ตามจริงเกลือมีลักษณะเหมือนน้ำตาล ถ้าเค็มมากโซเดียมคอไรด์เข้มข้น เมื่อแยกแล้วจะได้คลอรีนชั้นดี กรดเกลือ โซดาไฟเกรดดี ต้องดูที่ว่าคุณภาพแค่ไหน เมื่อมีผลกำไรเท่าไหร่ก็ต้องปันคืนให้กับผู้ผลิตเกลือด้วย เหมือนกับค่าความหวานของน้ำตาล เช่น อ้อยตันละ 800 บาท พอขายน้ำตาลได้กำไรก็จะจ่ายค่าความหวานกลับคืนมาที่ชาวไร่อ้อย 70% และเขารับกำไรไป 30 % เป็นต้น แต่เกลือไม่ว่าจะดีแค่ไหนก็ไม่มีการจ่ายกลับมา นายทุนเจ้าของอุตสาหกรรมสบายไป แต่ฝ่ายผู้ผลิตรายย่อยเผชิญหน้ากับความขัดแย้งทางสิ่งแวดล้อม และสังคมตามชะตากรรม เขาไม่เห็นคุณค่าของเกลือ ชาวนาเกลือไม่มีปัญญาตั้งราคาเกลือเอง ถ้าไม่มีกลุ่มอุตสาหกรรมเกลือรายย่อยอุตสาหกรรมปิโตเคมีอื่นๆ ก็เสวยสุขไม่ได้ ขณะที่บริษัทอุตสาหกรรมเคมีเหล่านี้มีกำไรปีละ 3-4 พันล้านแต่ผู้ประกอบการรายย่อยแทบจะหาเงินใช้หนี้ไม่ได้


 



 


"ปัจจุบันรัฐส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกลือขนาดใหญ่ และเหมืองแร่โปแตชใต้ดิน แต่คุมกำเนิดรายย่อย โดยอ้างว่าเทคโนโลยีชั้นสูงเท่านั้นจะสามารถควบคุมมลภาวะได้ ไม่มีปัญหาดินเค็ม มีหลักวิชาการไม่มีปัญหาดินทรุด แต่หากมองกลับกัน การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกลือขนาดใหญ่คือการส่งเสริมให้มีการใช้เกลือมากขึ้นๆ แต่ผลประโยชน์ที่ได้กลับตกอยู่ในมือของนักลงทุนไม่กี่กลุ่มเท่านั้น ยิ่งเหมืองแร่โปแตชเราไม่เชื่อเด็ดขาดว่าเจ้าของเหมืองแร่โปแตชในอนาคตจะไม่ขายเกลือที่ได้จากการทำเหมือง"


 


"เกลือหินบริสุทธิ์จากเหมืองปริมาณมหาศาลที่ได้ หากถมกลับลงไปอย่างที่กล่าวอ้าง บริษัทจะมีค่าใช้จ่าย แต่หากเอาไปขายเขาได้เงินรายเพิ่มตันละ 500- 1,200 บาทและเกลือที่ได้จากเหมืองหนึ่ง 4-5 ล้านตันต่อปีจะขายเกลือเป็นมูลค่าอย่างน้อย 2 หมื่นล้านบาทต่อปีโดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าภาคหลวงเพราะมันเป็นผลพลอยได้จากการทำเหมืองแร่โปแตช และปริมาณเกลือดังกล่าวก็จะเกิดความต้องการภายในประเทศกว่า 3-5 เท่าของอัตราการบริโภคในปัจุบัน ไม่รวมถึงแร่โปแตชคุณภาพดีที่เขาจะได้ ดังนั้นเขาจึงเร่งอยากทำเหมืองทำทุกทางให้รัฐกรุยทางให้ ให้ชาวบ้านยอม เกลือที่เขาอาจจะถมกลับคือเกลือปนเปื้อนสารเคมีที่อาจจะฟอกให้สะอาดได้เท่านั้น"


 


หากต้องการพัฒนาเศรษฐกิจจริงๆ ต้องไม่ทอดทิ้งระดับล่าง ต้องให้ความสนใจแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าของปัญหา ไม่ใช่การส่งเสริมแต่นายทุนรายใหญ่ คนท้องถิ่นเห็นคุณค่าสิ่งแวดล้อม เราไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นคนท้องถิ่น แต่เราถูกมองว่าเป็นอาชญากร เป็นหมาล่าเนื้อให้เจ้านาย แต่นายทุนไม่เคยสนใจรายย่อยที่ลำบากยากเย็นอย่างไร หากจะเสนอรัฐบาลให้มาร่วมลงทุน โดยเราเป็นทุนพื้นที่ ทุนเรือนหุ้น แล้วรัฐก็ส่งเสริมเป็นรูปแบบสหกรณ์ ไม่เอานายทุนรายใหญ่คนอื่นต้องร่วมกันกับรัฐและทำมันให้ดีเอาเกลือมาใช้พอเหมาะแก่ความต้องการในประเทศ เราจะมีใช้ไปชั่วนาตาปี นี่คือข้อเสนอที่ไม่อาจละเลยได้ของผู้ประกอบการเกลือรายย่อย


 


เกลือ และความเค็มไม่ใช่ของเล่น


 


ดร. ปริญญา นุตาลัย ให้ความเห็นถึง พรบ.แร่ 2545 ว่าต้องรื้อใหม่เพราะมันยังไม่เป็นธรรมและต้องตอบให้ชัดเจนว่า ทรัพยากรแร่ที่อยู่ใต้ดินเป็นของใคร เป็นของเจ้าของที่ดินหรือเป็นของรัฐหรือของส่วนรวม


 


แร่มหาศาล ในพื้นที่อีสานจึงต้องมองในภาพใหญ่ เวลานี้ที่มันมีปัญหาไม่ลงตัวเป็นเพราะเรื่องกฎหมายแร่ แร่เป็นของใคร-เป็นเจ้าของที่ดินหรือของรัฐ? แต่รัฐกลับเขียนกฎหมายว่าแร่เป็นของรัฐ ไม่เขียนให้เป็นของประชาชนเจ้าของที่ดิน เพราะคนของรัฐเขียนและอยากได้อำนาจในการจัดการโดยไม่เห็นประโยชน์ของประชาชนของประเทศชาติ


 


- การออกประทานบัตรละเมิดสิทธิเจ้าของที่ดินโดยกฎหมายเป็นธรรมหรือไม่?


 


การแก้ไข พรบ.แร่ 2545 เพื่อให้เหมืองใต้ดินชอนไชไปใต้ถุนบ้านชาวบ้านเขานี่ทำให้มีปัญหา "สมมติว่าผมมีบ่อน้ำบาดาลใช้น้ำอยู่ลึก 200 เมตร อยู่ดี ๆ ก็มาบอกว่าผมใช้น้ำบาดาลไม่ได้แล้วเพราะเขาให้ขุดเหมืองแร่แล้ว แล้วมันจะไปทำได้อย่างไร" อย่างนี้ทำให้ต้องรื้อขบวนการกฎหมายแร่ต้องดูใหม่ทั้งหมดเพราะมันละเมิดสิทธิเจ้าของที่ดิน


 


- อำนาจในการออกอาชญาบัตร/ประทานบัตรเป็นของใคร?


 


การขอสำรวจตามที่รัฐได้สำรวจไว้แล้วเขาขอตามข้อมูลนั้นแหละ เรื่องโปแตชกำลังจะออกอาชญาบัตรพิเศษให้สำรวจแล้ว 6 แสนกว่าไร ไม่ได้เห็นหัวดูดำดูดีชาวบ้านเลย แล้วปัญหาผลกระทบก็จะตามมาอีกมหาศาลแล้วใครจะดูแล แร่มีอยู่ก็เก็บไว้มันไม่เน่าไม่เสียมันเกิดมาเป็นล้านปีแล้ว เมื่อไหร่มีปัญญาจะขุดเอง มีปัญญาจะออกหลักเกณฑ์ วิธีการที่ดีเหมาะสม มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม ค่อยขุดก็ได้ไม่สายไปหรอก ดังนั้นภาพใหญ่ถ้าไม่ชัดหมายถึงศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ก่อนจะมาทำโครงการเล็กย่อย หากทำเล็กย่อยไปแล้วมันจะแก้ปัญหาไม่ได้ และประชาชนก็ไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นตั้งแต่ขึ้นตอนสำรวจ


 


"เกลือหินเป็นทรัพยากร ขุดออกมาแล้วบริษัทบอกจะยัดกลับหรือกองไว้จะยอมให้ขุดได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้จ่ายค่าภาคหลวง ขอทำแต่เหมืองโปแตชก็ให้ขุดแต่โปแตชจะเอาเกลือขึ้นมากองเป็นภูเขาเป็นมลพิษไม่ได้ เกลือหินไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ ทำไมเราไม่คิดถึงประโยชน์ของบ้านเมืองเรื่องอย่างนี้ยอมให้ขุดเล่นไม่ได้"


 


ทางออกของปัญหานี้จึงต้องมองการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระยะยาว ที่ผ่านมาศึกษาผลกระทบเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีเป็นแบบขอไปที จนต้องยกเลิกมีเรื่องมีราวกันไปแล้ว และผลกระทบระยะสั้นจะเกิดการปนเปื้อนเกลือและสารเคมีอย่างแน่นอนจะทำอย่างไร ระยะยาวคือดินทรุดตัว ใต้ถุนบ้านชาวบ้านอยู่ข้างบนจะเกิดทรุดแน่นอนจะทำอย่างไร


 


ประเทศเราต้อง ปรับปรุงระบบการตัดสินใจ ใครเป็นคนอนุมัติการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รัฐดูแลเอกชนไม่ทั่วถึงหรอกเพราะตอนนี้รัฐก็ปล่อยให้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม( สผ.) ดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่เรื่องเหมืองแร่โปแตชมันจะกระทบคนมหาศาล คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องมาดูแล ต้องแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อม เพราะการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อี ไอ เอ) เอาไม่อยู่แล้ว การศึกษาต้องศึกษาผลกระทบภาพรวมหรือการศึกษาผลกระทบทางยุทธศาสตร์ (เอส อี เอ) จะต้องทำก่อน


 


ด้านเศรษฐศาสตร์ มีแร่อยู่มากนักเศรษฐศาสตร์ต้องดูให้ครบวงจรเรื่องการใช้เกลือหินและแร่โปแตช ว่าวิธีการเก็บค่าภาคหลวงควรเป็นอย่างไร การดูแลสิ่งแวดล้อมต้องอย่างไร ตั้งแต่เริ่มขุดจนสุดท้ายจะทำอย่างไรบ้างจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น


 


"หากเอาเกลือหินขึ้นมาผู้ประกอบการรายย่อยต้องเจ๊งหมด หากเอาเกลือจากเหมืองใต้ดินขึ้นมา ตลาดเกลือบ้านเราเปลี่ยนรูปทันที ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านอาชีพ คนทำนาข้าวที่จะได้รับผลกระทบ ผลผลิตลดลงถ้าทำเหมืองแร่ เคยสัมภาษณ์ชาวบ้านที่น้ำเสียว เขามีที่ดิน 7-8 ไร่ ได้ข้าวหลายร้อยถัง แต่เมื่อมันเค็มเขาได้ข้าวแค่ 3 ถุงปุ๋ย อีสานจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเกิดยังให้ทำเหมืองในสภาพเช่นนี้ ไม่มีทางที่จะเอาอยู่เลย เรื่องสังคมสำคัญที่สุดต้องวางให้ลงตัวให้ได้ก่อนจะอนุญาต ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ถ้ายังไม่ลงตัวก็หยุดไว้ก่อน"


 


ในท้ายที่สุด ดร.ปริญญา นุตาลัย ได้กล่าวว่า การศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) ต้องสั่งลงไปเลยว่าทุกเหมืองต้องศึกษาก่อนจึงจะดำเนินการใดๆ ได้ และหากยังไม่มีเทคโนโลยีไม่ดีพอไม่อนุญาต หากจะอนุมัติต้องเอาเงินค้ำประกันมาก่อน ปนเปื้อนเมื่อไหร่ทรุดเมื่อไหร่ปิด เพราะความเค็มนี้ไม่ได้กระทบแต่กับพืชแต่เครื่องใช้ทั้งหลายที่เป็นเหล็ก เช่น รถยนต์ บ้านที่มุงสังกะสี ต้องคิดให้ครบว่าความเสียหายทีเกิดขึ้นจะเรียกร้องความเสียหายอย่างไร ต้องปรับปรุงขบวนการ ศาลสิ่งแวดล้อมต้องเกิดขึ้น


 


"โดยสรุปแล้วเรามีทรัพยากรมหาศาล ขบวนการบริหารจัดการทั้งหมด ทุกมิติ ต้องดูให้ครบว่ามีประสิทธิภาพพอที่จะบริหารจัดการได้ อย่าปล่อยให้ขุดคุ้ยเอาโปแตชไปค้ากำไรโดยที่ทิ้งเกลือไว้กองพะเนินไม่ได้ เพราะเกลือก็มีค่ามหาศาล จะปล่อยให้ขุดเล่นไม่ได้ ระบบกฎหมาย ระบบค่าภาคหลวงต้องรื้อกันใหม่หมดก่อนจะมีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเหมืองแร่โปแตชในอีสาน"


 


 


หมายเหตุ


 


(1) บันทึกความจาก เวทีสาธารณะเรื่อง "การพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือและเหมืองแร่โปแตชบนเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียง"เมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม 2550 ณ ห้องประชุม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พญาไทย กรุงเทพฯ


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net