Skip to main content
sharethis

เหลือเวลาเพียง 1 เดือนก่อนจะถึงวันที่รัฐบาลทั่วโลกจัดการประชุมที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซียเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการขั้นต่อไปเพื่อต่อสู่กับภาวะโลกร้อน กรีนพีซได้เปิดเผยการตรวจสอบสินค้ายี่ห้อชั้นนำของโลกจำนวนหนึ่งที่เป็นสาเหตุของทำลายป่าพรุในอินโดนีเซีย และทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่การทำลายป่าพรุนั้นทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศโลกไปแล้ว 4%


 


รายงานของกรีนพีซที่ชื่อ ปรุงโลกให้ร้อน Cooking the Climate (2) แสดงให้เห็นว่าบริษัท เช่น ยูนิลีเวอร์ (Unilever) เนสท์เล่ (Nestlé) และพร็อกเตอร์ แอนด์ แกมเบิ้ล (Procter & Gamble) เป็นตัวการของการทำลายป่าพรุในอินโดนีเซียจากสาเหตุการใช้น้ำมันปาล์มในอาหาร เครื่องสำอาง และเชื้อเพลิง ป่าพรุในอินโดนีเซียเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไว้มากที่สุดในโลก ดังนั้นการทำลายป่าพรุเหล่านี้จึงเป็นตัวการที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อนอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


 


ริอาลซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆ บนเกาะสุมาตรา และเป็นจังหวัดที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 25% ของประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้มีการกำหนดแผนขยายการปลูกปาล์มน้ำมันให้ครอบคลุมครึ่งหนึ่งของจังหวัด หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านเฮกเตอร์ การทำเช่นนี้เป็นการทำลายป่าพรุในริอาลซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอน 14.6 พันล้านตัน (3) ซึ่งเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ปีทั่วโลก นับเป็นการซ้ำเติมป่าพรุของริอาลที่มีอยู่เดิมซึ่งได้เสื่อมสภาพอย่างรุนแรงจากการพัฒนาอุตสาหกรรม


 


การตรวจสอบล่าสุดของกรีนพีซ ที่ได้ไปตั้งค่ายพิทักษ์ป่าในริอาล พบข้อมูลในเบื้องต้นว่าผู้ผลิตปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียมีส่วนในการผลาญทำลายป่าพรุจนราบเรียบเป็นพื้นที่กว้างขวาง ซึ่งเป็นการละเมิดการบังคับใช้กฎหมายของประธานาธิบดีและกฎระเบียบด้านป่าไม้ของประเทศอย่างโจ่งแจ้ง


น้ำมันปาล์มจากการทำลายป่าพรุถูกส่งโดยปิดบังแหล่งที่มาผ่านทางเครือข่ายเชื่อมโยงอุตสาหกรรม(supply chain) ของยี่ห้อสินค้าระดับโลกอย่างเช่น ฟลอร่า พริงเกิ้ล และคิทแคท บริษัทข้ามชาติหลักๆ ได้แก่ ยูนิลีเวอร์ เนสท์เล่ และพร็อกเตอร์ แอนด์ แกมเบิ้ล กรีนพีซระบุว่าบริษัทเหล่านี้ได้ "ปรุงโลกให้ร้อน" โดยไม่สนใจการทำลายป่าพรุเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำมันพืชราคาถูก


 


"การตรวจสอบนี้แสดงให้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้ว บริษัทนานาชาติเพียงไม่กี่แห่งเหล่านี้เป็นผู้ทำลายและเผาป่าพรุของอินโดนีเซียเพื่อนำไปผลิตอาหาร น้ำมัน และน้ำยาซักผ้า สินค้ายี่ห้อที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดบางยี่ห้อได้กำลังเพิ่มความร้อนให้กับภูมิอากาศอย่างแท้จริง" เอ็มมี่ ฮาฟิลด์ ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว


 


นอกจากนี้ รายงานยังแสดงให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้ได้สวนทางกับความตระหนักในระดับโลกเรื่องภาวะโลกร้อนโดยการลงทุนส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อเป็น "เชื้อเพลิงชีวภาพ" ในขณะที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังกำหนดเป้าหมายสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและใช้แทนน้ำมันเบนซิลและดีเซลที่ใช้กันทั่วไป การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพแทนน้ำมันนั้นช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ก็จริง แต่เทียบกันไม่ได้เลยกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมหาศาลจากการทำลายป่าพรุเพื่อทำปาล์มน้ำมัน


 


"การทำลายป่าฝนเขตร้อนเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันนั้นเป็นการทำร้ายภูมิอากาศอย่างร้ายกาจ" แพท เวนดิตติ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ด้านป่าไม้ของกรีนพีซสากลกล่าว "หากไม่มีมาตรการป้องกันเพื่อหยุดการผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำมัน นั่นแสดงว่ารัฐบาลกำลังพยายามให้เกิดการทำลายป่าฝนเขตร้อน และเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยอ้างว่าเป็นการปกป้องสภาพภูมิอากาศ"


 


การเผาทำลายป่าและป่าพรุที่กำลังจะพัฒนาเป็นปาล์มน้ำมันในประเทศอินโดนีเซียนี้เป็นตัวการหลักที่สำคัญที่ทำให้เกิดหมอกควันพิษ ซึ่งปกคลุมพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกปี


 


การทำลายป่าเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 1 ใน 5 การทำลายป่าพรุของอินโดนีเซียแห่งเดียวปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 4% ต่อปี รายงานฉบับนี้สรุปว่าการหยุดถางป่าและทำให้ป่าพรุเสื่อมสภาพเป็นหนทางที่รวดเร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดที่จะหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอินโดนีเซีย นอกจากนี้การฟื้นฟูป่าพรุที่เสื่อมสภาพแล้วยังคุ้มทุนกว่าอีกด้วย


 


"การประชุมภาวะโลกร้อนของสหประชาชาติในบาหลีในเดือนหน้า ผู้นำของโลกจะต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทรายใหญ่ของโลกบางบริษัทกำลังทำอันตรายอย่างรุนแรงต่อความสำเร็จของพวกเขาเอง การปกป้องป่าพรุและพื้นที่ป่าอื่นๆ จากการถูกทำลายเป็นวิธีหนึ่งที่ง่ายและคุ้มทุนมากที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาโลกร้อน แต่เราจะต้องลงมือทำโดยเร็ว" ซู คอนเนอร์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซสากล กล่าว


 


ข้อสรุปร่วมทางวิทยาศาสตร์ของนานาประเทศเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน คือ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน อุณหภูมิของโลกจะต้องถูกรักษาที่ระดับต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องขึ้นแตะระดับสูงสุดภายในพ.. 2558 จากนั้นต้องเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว


 


กรีนพีซต้องการให้การประชุมของรัฐบาลทั่วโลกในบาหลีตกลงเจรจาเกี่ยวกับกลไกการให้เงินทุนสนับสนุนการปกป้องป่าเขตร้อนที่เหลืออยู่ในโลก และบรรจุไว้ในสนธิสัญญาเกียวโต และผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการทำลายป่าต้องถูกเพิ่มเข้าไปในการเจรจานอกเหนือจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล


 


00000


หมายเหตุ


 


1) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าพรุอินโดนีเซียคิดเป็น 4% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ซึ่งเท่ากับ 1.3 พันล้านตัน (Gt) จากการเผาป่า 0.5 Gt ตันจากการเสื่อมสภาพอย่างต่อเนื่อง แหล่งที่มา: Hooijer et al (2006): 29.


การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกในพ..  2547 เท่ากับ 49 แหล่งที่มา: Intergovernmental Panel on Climate Change, Working Group III (2007):3


 


2) รายงานของกรีนพีซ "Cooking the Climate" สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.greenpeace.org/cookingtheclimate และบทสรุปสำหรับผู้บริหารที่ www.greenpeace.org/cookingtheclimate/summary


 


3) ป่าพรุของรีอาลกักเก็บคาร์บอน 14.6 Gt แหล่งที่มา: Wahyunto et al (2003):34


 


4) ภาพ: ภาพการทำลายป่าในอินโดนีเซีย ติดต่อขอรับได้ที่ John Novis ผู้จัดการแผนกภาพนิ่ง กรีนพีซสากล โทร.+31 6 5381 9121


 


5) วีดิโอ: วีดิโอการปลูกปาล์มน้ำมันและการทำลายป่าในอินโดนีเซียสามารถขอได้จาก Maarten van Rouveroy ผู้ผลิตวีดิโอ กรีนพีซสากล โทร. +31 6 46 19 73 22 สามารถดูตัวอย่างวีดิโอได้ที่ศูนย์ข่าวออนไลน์ www.greenpeace.org/international/press/video-previews


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net